- เขาทำร้าย เราให้ธรรม
- ตอน ๑ ล่าสุด “คำให้การ พันเอกบรรจง”
- ตอน ๒ (เรื่องใหม่) อนุสติกถา การสารภาพกรรมทุจริต ของ ชมรม(เถื่อน)ชาวพุทธสามเหล่าทัพ
- (พุทธศาสนสุภาษิต)
- ตอน ๓ (เรื่องเก่า) ขอคำตอบจาก ผบ.ทหารสูงสุด กรณีนายทหารทุจริต แห่งชมรม(เถื่อน)ชาวพุทธสามเหล่าทัพ
- จดหมายถึง ผบ.ทหารสูงสุด
- คำชี้แจงของ บก. ทหารสูงสุด
- หนังสือชี้แจงจาก เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร บก. ทหารสูงสุด
- ชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพ กับ ดร. เบญจ์ บาระกุล
- หนังสือเท็จทุจริต ของ ดร. เบญจ์-บรรจง
- กลลวง ของ ดร. เบญจ์-บรรจง
- เรื่องพระธรรมปิฎกไปต่างประเทศ
- เรื่องหนังสือพุทธธรรม
- ดร. เบญจ์-บรรจง ทำงานให้ใคร
- ทำไมตำรวจจึงว่า ดร. เบญจ์ ทำงานให้วัดธรรมกาย
- ภาคผนวก: หนังสือแจ้งมหาเถรสมาคม
- ภาคผนวก: หนังสือแจ้งเจ้าคณะจังหวัด
- ภาคผนวก: หนังสือแจ้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- ภาคผนวก: มติมหาเถรสมาคม และหนังสือนำส่งมติ
- ภาคผนวก: คำสั่งกระทรวงกลาโหม
ทำไมตำรวจจึงว่า ดร. เบญจ์ ทำงานให้วัดธรรมกาย
หนังสือของ ดร. เบญจ์-บรรจง มีแต่เรื่องเท็จที่ใช้วิธี ตัดต่อ-บิดเบือน-สวมรอย-จับโน่นชนนี่ และปั้นแต่งขึ้นมา อย่างที่ได้ชี้ให้ดู แล้วเจ้ามือก็ทุ่มทุนพิมพ์แจกจำนวนมหาศาล คนทั่วไปย่อมสงสัยว่าทำไมเขาจะต้องลงทุนทำสิ่งที่ชั่วร้ายอย่างนี้ ตำรวจสืบแล้วก็รายงานอย่างที่เล่าข้างต้นว่า เขาทำขึ้นมาเพื่อปกป้องวัดพระธรรมกาย สาธุชนฟังแล้วก็ต้องสงสัยต่อไปว่า วัดพระธรรมกายมีเรื่องอะไร เขาจะต้องไปปกป้องอย่างนั้น
ย้อนหลังไปเมื่อปี ๒๕๔๑ ตอนปลายปี ทั้งหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ (ทีวี) ออกข่าวเรื่องอื้อฉาวอยู่นานเกี่ยวกับปัญหาของวัดพระธรรมกาย จนกระทั่งกลางปี ๒๕๔๒ เรื่องก็ยังไม่เบา นอกจากข่าวเหตุการณ์แล้ว ก็มีผู้ออกมาวิพากย์วิจารณ์กันมาก
ดร. เบญจ์-บรรจง ออกมา เพื่อกลบปัญหาวัดพระธรรมกาย
ระยะแรก ปัญหาที่เด่นของวัดพระธรรมกาย เป็นเรื่องที่ผู้คนสงสัยเกี่ยวกับการยกเอาบุญและอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ขึ้นมาใช้เรี่ยไรหาเงิน การสร้างวัตถุใหญ่โต และการซื้อหาครอบครองที่ดินมากมาย เรื่องเหล่านี้กลายเป็นคดีความขึ้นศาลกับทางบ้านเมือง ว่าเป็นการหามาหรือได้มาโดยชอบหรือไม่
พร้อมกันนั้น ปัญหาบางอย่าง เช่นการโฆษณาอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และคุณวิเศษต่างๆ ก็กลายเป็นเรื่องราวขึ้นในศาลสงฆ์ว่าเป็นการละเมิดพระวินัยของสงฆ์หรือไม่
ในเวลาเดียวกันก็มีท่านผู้รู้และนักวิชาการหลายท่านออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาเหล่านั้นว่าผิดถูกดีร้ายและเสียหายอย่างไร ในแง่พระธรรมวินัยบ้าง ในแง่ผลดีผลเสียต่อพระศาสนาและสังคมบ้าง
ระหว่างนี้ก็ได้มีปัญหาเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือวัดพระธรรมกายได้เผยแพร่คำสอนต่างๆ ออกมา เช่นบอกว่าพระนิพพานเป็นสถานที่วัดได้กว้างยาวเท่านั้นเท่านี้ บอกว่าธรรมกายมีหลายขนาด เล็กใหญ่กว่ากันแค่นั้นแค่นี้ บอกว่านิพพานเป็นอัตตาโดยอ้างอาจารย์ท่านโน้นท่านนี้บ้าง กล่าวถึงพระไตรปิฎกในทางที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงบ้าง เป็นเหตุให้ชาวพุทธหลายท่าน ทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ รวมทั้งพระธรรมปิฎก เกรงว่าคำสอนของวัดพระธรรมกายอย่างนั้นจะทำให้พุทธศาสนิกชนและคนทั่วไปเกิดความสับสนและสูญเสียความมั่นใจในพระธรรมวินัย จึงเขียนหนังสือชี้แจงแสดงหลักพระธรรมวินัยให้คนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมทั้งติติงทางวัดพระธรรมกายนั้น ขอให้ตั้งอยู่ในหลักและช่วยกันรักษาพระธรรมวินัยตามมาตรฐานแห่งพระไตรปิฎก
แต่ไม่ปรากฏว่าวัดพระธรรมกายจะเอื้อเฟื้อต่อคำติติง และแทนที่จะตอบชี้แจงหรือถกเถียงตามหลักโดยเหตุผล ต่อมาก็เกิดมีหนังสือของ ดร. เบญจ์-บรรจง นี้ขึ้นมาปั้นแต่งเรื่องเท็จใส่ร้ายผู้ที่ติติง เพื่อปิดบังกลบเกลื่อนเรื่องราวและปัญหาที่แท้จริง
ปัญหาของวัดพระธรรมกายนั้นมีหลายเรื่องหลายด้าน ว่าโดยสรุป แยกได้เป็น
๑. เรื่องที่เป็นคดีความขึ้นศาลกับทางบ้านเมือง เช่น เรื่องทรัพย์สิน โดยเฉพาะที่ดิน และเงินทองที่ได้มา ว่าถูกต้องหรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่
๒. เรื่องที่เป็นความขึ้นศาลสงฆ์ เช่น เรื่องการอวดอุตริมนุสธรรม และการหาการได้ทรัพย์สินข้างต้นนั้นมา ว่าได้ละเมิดพระวินัยพุทธบัญญัติหรือไม่
๓. เรื่องที่วิพากย์วิจารณ์กันทั่วๆ ไปในแง่ผลเสียหายและความไม่เหมาะสมทางพระศาสนาและสังคม เช่น การเอาบุญมาทำเป็นเหมือนสินค้า การชักจูงประชาชนให้หมกมุ่นกับเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และเอามาโฆษณาในเชิงเรี่ยไรหาเงิน
๔. เรื่องหลักคำสอน เช่นบอกว่านิพพานเป็นอัตตา และเป็นสถานที่วัดได้กว้างยาวเท่านั้นเท่านี้ ธรรมกายมีหลายขนาดเล็กใหญ่กว่ากันแค่นั้นแค่นี้ การทำให้คนสับสนเคลือบแคลงเกี่ยวกับพระไตรปิฎก เรียกสั้นๆ ว่าการทำพระธรรมวินัยให้ผิดเพี้ยน
เมื่อปัญหาเหล่านี้เป็นข่าวออกมาแล้ว พระสงฆ์และคนทั่วไปก็มีความสนใจกระจายกันไป บ้างก็สนใจปัญหาในข้อที่ ๑. บ้างก็สนใจปัญหาในข้อที่ ๒. บ้างก็สนใจปัญหาในข้อที่ ๓. บ้างก็สนใจปัญหาในข้อที่ ๔. บ้างก็สนใจหลายข้อหรือรวมๆกันไป
เฉพาะปัญหาในข้อ ๔. คือการจาบจ้วงพระธรรมวินัยนั้น มีคนสนใจค่อนข้างน้อย คนทั่วไปมักไม่ค่อยใส่ใจ ทั้งที่แท้จริง เป็นปัญหาร้ายแรงที่บั่นทอนรากฐานของพระพุทธศาสนา ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้ ไม่ทำให้ชัดเจน จะเกิดผลเสียหายร้ายแรงต่อพระธรรมวินัย รวมทั้งทำให้เข้าใจผิดต่อองค์พระศาสดาและหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการทำลายผลประโยชน์ของประชาชนและความมั่นคงของสังคมพร้อมกันไปทั้งหมด จึงจำเป็นต้องชี้แจงทำความเข้าใจให้กระจ่างแจ้ง
สำหรับพระธรรมปิฎก ได้ให้ความสำคัญมากต่อปัญหาในข้อ ๔ ด้วยเหตุนี้ ในระยะแรกที่มีข่าวเกรียวกราวตอนปลายปี ๒๕๔๑ แม้จะสนใจได้ฟังบ้าง แต่ไม่ได้ตามข่าว
ตามปกติ เมื่อมีเรื่องราวข่าวปัญหาเกี่ยวกับพระศาสนา สื่อมวลชนก็มักไปขอถามหรือสัมภาษณ์พระธรรมปิฎกที่วัดของท่าน ดังนั้น เมื่อมีเรื่องวัดพระธรรมกาย ทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์จึงได้ไปที่วัดของท่านกันบ่อยๆ เพื่อสอบถามและขอสัมภาษณ์ แต่พระธรรมปิฎกก็ขอตัวไม่ออกมาพบเพราะอาพาธและมีงานอื่นที่ต้องทำมาก จนกระทั่งเมื่อ นสพ.และทีวีไปรอที่วัดหลายครั้งแล้ว และผู้สื่อข่าวบางคนก็เขียนคำถามฝากเข้ามา พระธรรมปิฎกจึงเขียนคำตอบฝากออกมาให้แก่ผู้สื่อข่าว นสพ. เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ ธ.ค. ๒๕๔๑ คือหลังจากมีข่าวเกรียวกราวกันมาแล้วราว ๒ เดือน
เมื่อได้ให้คำตอบแก่หนังสือพิมพ์ไปครั้งหนึ่งนี้แล้ว พระธรรมปิฎกซึ่งยังอาพาธก็หันไปทำงานเรื่องอื่นต่อไป จนกระทั่งต่อมาอีกเดือนเศษ หลังขึ้นปีใหม่แล้ว ได้มีบางท่านนำเอกสารเผยแพร่ของวัดพระธรรมกายมาให้อ่าน โดยเฉพาะ นสพ. มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ ๑๓ ม.ค. ๒๕๔๒ ซึ่งมีข้อเขียนของพระภิกษุในวัดพระธรรมกาย เกี่ยวกับเรื่องว่า นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ข้อเขียนของวัดพระธรรมกายเหล่านี้เขียนในทำนองที่จะทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจไปว่า หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องนิพพานนั้น ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เป็นเรื่องของความคิดเห็น คัมภีร์-พระไตรปิฎกก็ไว้ใจไม่ได้
ต่อมาอีกเพียง ๔ วัน ก็มีรายงานข่าวใน นสพ. มติชนรายวัน วันที่ ๑๗ ม.ค. ๒๕๔๒ กล่าวถึงอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง พูดถึงการแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกาย ตอนหนึ่งว่า “เรื่องนิพพานเป็นความคิดที่หลากหลาย”
ถึงตอนนี้ก็คือเกิดปัญหาในข้อที่ ๔ ซึ่งพระธรรมปิฎกสนใจให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นสัญญาณเตือนภัยว่ามีการจ้วงจาบพระธรรมวินัยขึ้นแล้ว และความสับสนเข้าใจผิดต่อหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนากำลังจะแผ่ขยายออกไปในหมู่ประชาชน จะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อพระพุทธศาสนา จำเป็นต้องชี้แจงสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน อย่างน้อยให้ประชาชนแยกได้ระหว่าง หลักการ(ที่แน่นอนชัดเจน) กับ ความคิดเห็น(ที่หลากหลายแตกต่างกันได้) และระหว่าง พุทธพจน์หรือข้อความในคัมภีร์(ที่มีหลักฐานตัดสินได้) กับ การตีความ(ที่ขึ้นต่อความรู้และความคิดเห็นของแต่ละคน)
ตอนนี้แหละที่หลายท่าน โดยไม่รู้กัน แต่ด้วยความรักพระศาสนา ต่างก็เขียนบทความและหนังสือกันขึ้นเพื่อแสดงหลักพระพุทธศาสนาว่านิพพานเป็นอนัตตา พระธรรมปิฎกก็เขียนหนังสือ กรณีธรรมกาย ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนรู้เข้าใจเกี่ยวกับหลักการที่ว่านิพพานเป็นอนัตตา และเรื่องความสำคัญของพระไตรปิฎก ตลอดจนหลักการสำคัญอื่นๆ ของพระพุทธศาสนา
พอดีว่าก่อนนั้นหลายปี เคยมีผู้เขียนจดหมายและบทความไปถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน (พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๗) ในวารสาร สมาธิ เกี่ยวกับเรื่องว่า นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา บางท่านก็อ้างคัมภีร์คลาดเคลื่อนสับสน ครั้งนั้นพระธรรมปิฎกได้เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการในเรื่องนิพพานเป็นอนัตตา โดยขอให้อ้างคัมภีร์กันอย่างถูกต้องตรงตามหลักฐาน จาก จม. นั้น ต่อมาได้ขยายพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ นิพพาน-อนัตตา เมื่อเขียน กรณีธรรมกาย คราวนี้ หนังสือเก่านั้นจึงมีส่วนที่ช่วยให้เขียนได้สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยได้พิมพ์เสร็จออกมาครั้งแรกเมื่อ ก.พ. ๒๕๔๒
หลังจากนั้น ปัญหาวัดพระธรรมกายในด้านนี้ (คือปัญหาในข้อ ๔.) ค่อนข้างจะเงียบๆ ไป แต่ปัญหาด้านอื่น โดยเฉพาะปัญหาในข้อ ๑. (คดีความที่ขึ้นศาลบ้านเมือง) และ ๒. (เรื่องฟ้องร้องในศาลสงฆ์) ยังครึกโครมต่อเนื่องมาอีกนาน
ระหว่างนี้เอง ในครึ่งหลังของปี ๒๕๔๒ ก็เริ่มมีหนังสือของ ดร. เบญจ์ บาระกุลเกิดขึ้น แล้วก็มี พ.อ. บรรจง ไชยลังกา ขึ้นมาตั้งตัวเป็นประธานชมรมชาวพุทธสามเหล่าทัพ เที่ยวทำการแจก-เผยแพร่หนังสือของ ดร. เบญจ์ บาระกุล อย่างที่เรียกรวมกันว่า ดร. เบญจ์-บรรจง นี้ (มีใบปลิวคล้ายๆ กันแจกและส่งไปที่ต่างๆ ด้วย)
ข้อสงสัยที่น่าถามคือ ดร. เบญจ์-บรรจง และคนอื่นๆ ที่ทำงานช่วยวัดพระธรรมกาย ทำไมจึงไม่ใช้วิธีพูดว่ากันซื่อๆ ตรงไปตรงมา เช่นชี้แจงตอบกันไปตามหลักพระธรรมวินัยและตามข้อเท็จจริง ซึ่งจะเป็นการแสดงความสุจริตใจของตน แต่ทำไมจึงใช้วิธีเลี่ยงหลบ หันไปสร้างเรื่องเท็จทำร้ายท่านผู้หวังดีต่อพระพุทธศาสนาและประชาชนส่วนรวม ที่ออกมาว่ากล่าวติงเตือนไปตามหลักพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่สุจริต และเมื่อประชาชนรู้ความจริงเห็นเบื้องหลังแล้ว ก็จะกลายเป็นการประกาศตัวว่าที่แท้เป็นคนที่หลอกลวงคิดร้ายมุ่งจะทำลายพระพุทธศาสนา และจะไม่เป็นความดีอะไรแก่วัดพระธรรมกายเองด้วย
สรุปได้ความว่า ดร. เบญจ์-บรรจง ต้องใช้วิธีสร้างเรื่องเท็จทุจริตอย่างนี้เพราะว่า
๑. หนังสือ กรณีธรรมกาย แสดงหลักพระพุทธศาสนาตรงไปตรงมาตามพระธรรมวินัย และชัดเจน คนกลุ่มนี้ไม่มีอะไรที่จะเอามาโต้เถียงโดยตรงได้ แต่เขาก็ไม่อาจจะยอมรับความจริงหรือมีน้ำใจที่จะเห็นแก่พระธรรมวินัยและพระพุทธศาสนาได้ เขาจึงไม่พอใจหรือโกรธแค้นหนังสือ กรณีธรรมกาย นั้นเป็นอย่างยิ่ง และจึงทำทุกอย่างที่จะใส่ร้ายป้ายสีทำลายพระธรรมปิฎก เพื่อหันเหคนออกไปจากหนังสือ กรณีธรรมกาย นั้น
๒. ปัญหาของวัดพระธรรมกายนั้นมีหลายเรื่องหลายด้าน โดยเฉพาะคดีความทั้งที่ขึ้นศาลบ้านเมืองและศาลสงฆ์ ล้วนเป็นเรื่องเสียหายร้ายแรงและอื้อฉาวมาก คนกลุ่ม ดร. เบญจ์-บรรจง ก็เลยฉวยโอกาสใช้วิธีเท็จทุจริตนี้ รวมเอาชื่อของคนเกือบทุกคนที่เคยว่ากล่าวติติงวัดพระธรรมกายมาประมวลเข้าด้วยกัน แล้วปั้นแต่งความเท็จผูกเป็นเรื่องราวขึ้นให้เป็นว่าคนเหล่านั้นเป็นขบวนการรับจ้างศาสนาคริสต์หรือคอมมูนิสต์มาทำลายพระพุทธศาสนา เริ่มต้นที่วัดพระธรรมกาย คนทั่วไปจะได้หันเหความสนใจออกไป เป็นการเอาความร้ายไปใส่คนอื่น กลบเกลื่อนปัญหาของตนเอง
(ที่จริง คนที่เขาจับเอามารวมกันนั้น หลายคนไม่เคยรู้จักกัน และหลายคนตามปกติก็มีความคิดเห็นไม่ตรงกันในหลายๆ เรื่อง; และพึงสังเกตด้วยว่า ที่จริงมีนายทหารหลายนายที่ตำหนิติเตียนวัดพระธรรมกาย แต่ ดร. เบญจ์-บรรจง จะยกเว้น ไม่กล้าเอาชื่อนายทหารเหล่านั้นมารวมเข้าในขบวนการที่ตนปั้นแต่งขึ้น)
ชาวธรรมกายควรสู้ความจริง คนไทยควรรู้ความจริง
เรื่องเท็จที่ ดร. เบญจ์-บรรจง ตัดต่อ-ปั้นแต่งขึ้นต่างๆ นี้ คนที่ไม่สืบค้นความจริงหรือไม่ชอบพิสูจน์ อ่านแล้วจะรู้สึกว่าน่าเชื่อ แสดงว่าเขาหลอกลวงได้เก่งมากทีเดียว แต่ที่จริงไม่ใช่ความเก่งกล้าสามารถอะไรเลย เพราะใครก็ตาม ถ้าไม่มีความละอายใจเสียอย่างเดียว ก็ทำอย่างนั้นได้
แต่คนที่ชอบสืบค้นความจริงหรือเป็นนักพิสูจน์ ใช้เวลานิดเดียวก็เห็นความเท็จของ ดร. เบญจ์-บรรจง เพราะบ่อยครั้งเขาแต่งเรื่องเท็จขึ้นมาดื้อๆ เช่น คุณสันติสุขเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ ดร. เบญจ์-บรรจง จะให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่าเป็นคริสต์ ก็เอารูปถ่ายของคุณสันติสุขไปวางรวมกับรูปถ่ายของบาทหลวงคนหนึ่งที่ชื่อเหมือนกันว่าสันติสุข (แต่นามสกุลต่างกัน) แล้วก็พูดเท็จเอาดื้อๆ (วิธีจับโน่นชนนี่) ว่าคุณสันติสุขเป็นบาทหลวงคริสต์เข้ามาในพุทธ (ดู หนังสือ “พระพุทธศาสนา ชะตาของชาติ” หน้า ๑๖๙–๑๗๐)
ไม่ว่าจะดูตรงไหนในหนังสือของ ดร. เบญจ์-บรรจง ก็เจอแต่การแต่งเรื่องเท็จและการบิดเบือน ขอยกมาอีกตัวอย่างหนึ่ง อาจจะยาวกินเนื้อที่มากหน่อย (ดู หนังสือ “พระพุทธศาสนา ชะตาของชาติ” หน้า ๖๗–๖๘; ฉบับคัดย่อ หน้า ๒๒–๒๓) เขาเขียนว่า
“…ได้มีรายงานการประชุม ‘การศึกษาพุทธศาสนา เพื่อสันติภาพ’ ซึ่งระบุว่า ‘ได้นำเงินรายได้ทั้งหมด’ หลังหักรายจ่าย (ระบุว่ารายจ่ายหนึ่งแสนกว่าบาท) ‘เข้ากองทุนพระธรรมปิฎกเพื่อเชิดชูธรรม วัดญาณเวสกวัน’ ซึ่งพระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต) เป็นเจ้าอาวาส …นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ข้อมูลรั่วไหลออกมา นอกจากนั้นยังไม่มีใครทราบแน่ชัด และโดยเฉพาะเงินที่ใช้ในการดำเนินการก็ใช้จากงบประมาณของรัฐ (เงินภาษีประชาชน) โดยผ่านทางสภาสถาบันราชภัฏนั่นเอง”
ในข้อความที่ ดร. เบญจ์-บรรจง เขียนไว้เพียงไม่กี่บรรทัดแค่นี้ ก็มีความเท็จที่แยกออกมาชี้เป็นข้อๆ ได้มากมาย (คือมีแต่เรื่องเท็จทั้งนั้น) เช่น
🢧 เขาบอกว่ารายงานการประชุมระบุว่า ‘ได้นำเงินรายได้ทั้งหมด’ … ‘เข้ากองทุนพระธรรมปิฎก…’ แม้แต่ถ้าเรื่องเป็นจริงอย่างที่เขาเขียนนี้ ก็ไม่ได้ผิดวัตถุประสงค์และไม่เสียหายอะไรเลย เพราะกองทุนทั้งสองนั้นตั้งขึ้นในชื่อของพระธรรมปิฎก ด้วยปัจจัยที่มีผู้ถวายแก่พระธรรมปิฎก เช่นเดียวกัน แต่ที่จริงเรื่องก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น
ดร. เบญจ์-บรรจง เอารายงานการประชุมมาเขียนบิดเบือน รายงานตัวจริงบอกว่า ‘เสนอโดยเงินบริจาคที่เหลือดังกล่าว จะนำไปถวาย’ … ‘เข้ากองทุนพระธรรมปิฎก…’ คือเพียงแค่มีมติว่าจะถวายแต่ยังไม่ได้นำไปถวาย และก็ไม่ได้นำไปเข้ากองทุนพระธรรมปิฎกเลย เพราะถึงให้ก็ไม่รับ เพียงแต่อนุโมทนาน้ำใจ (ที่ประชุมได้ตกลงนำเงินนั้นไปใช้ในงานอื่นของกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพเอง)
🢧 เขาบอกว่า “ข้อมูลรั่วไหลออกมา” คำพูดของเขานี้ส่อเจตนาที่จะบิดเบือนเรื่องทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเป็นเรื่องความลับ แต่ที่จริงการประชุมนั้นเปิดเผย ไม่มีเรื่องอะไรจะต้องปิดบัง ข้อมูลไม่ต้องรั่วไหล เพราะเปิดเผยอยู่แล้ว ใครอยากรู้ก็ไปดูได้ทั้งนั้น
🢧 เขาบอกว่าเงินที่ใช้ในการดำเนินการก็ใช้จากงบประมาณของรัฐ นี่ก็เท็จอีก เพราะกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพนี้ ตั้งขึ้นและดำเนินงานเป็นการกุศลโดยไม่ใช้เงินของรัฐเลย คือตั้งขึ้นด้วยเงินที่พระธรรมปิฎกมอบให้ จากเงินที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติได้ถวายแก่ท่าน และท่านไม่รับเอาเลย แต่มอบให้แก่กระทรวงศึกษาธิการทั้งหมด เพื่อตั้งเป็นกองทุนให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติส่วนรวม
ไม่เพียงเรื่องเท็จที่เขาแต่งขึ้นใส่ร้ายผู้อื่นเท่านั้น แม้แต่เรื่องทั่วไปอื่นๆ ที่เขาชอบพูดถึงฝรั่งบ้าง ใช้ภาษาอังกฤษบ้าง ก็เห็นได้ว่า ดร. เบญจ์-บรรจง ทำไปเพื่อสร้างภาพเท่านั้น คือจะให้ดูโก้น่าเชื่อตามค่านิยมตื่นฝรั่ง โดยไม่ได้มีความหวังดีที่จะให้ความรู้แก่ประชาชน เขาจึงไม่คำนึงว่าสิ่งที่เขาพูดจะจริงหรือเท็จ เพียงจับโน่นชนนี่เอามาพูดให้ดูขึงขังเท่านั้น ไม่คำนึงถึงว่าเมื่อตนเล่าเรื่องเท็จ คนที่อ่านและชาวบ้านทั่วไปจะได้ความรู้ไปผิดๆ จำไว้ผิดๆ จะทำให้เกิดความเสียหายอะไรเขาก็ไม่รับผิดชอบ
ขอให้ดูตัวอย่าง (ดู หนังสือ “พระพุทธศาสนา ชะตาของชาติ” หน้า ๖๙–๗๐) ดร. เบญจ์-บรรจง เขียนเล่าว่า โสเครติสเดินทางจากประเทศกรีกมาศึกษาที่ตักศิลา กลับไปแล้วต่อมาได้เป็นอาจารย์สอนวิชาให้กับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ (Alexzander The Great) และพูดเรื่อยเปื่อยไปถึงกับบอกว่าแม่ทัพนายกองของอเล็กซานเดอร์ บ้างก็ออกบวชมาศึกษาที่นาลันทาแล้วนำพุทธศาสนากลับไปเผยแผ่ในประเทศของตน คนที่รู้ประวัติศาสตร์อ่านก็รู้ทันทีว่าเขาเล่าเรื่องเท็จโดยเอาอะไรต่อมิอะไรมาผสมปนเปกัน
เป็นเรื่องเท็จอย่างไร ไม่ต้องแจกแจงให้เสียเวลาและเปลืองหน้าหนังสือ เอาแค่ โสเครติสกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ก็ไม่เคยพบเห็นกัน (โสเครติสตายก่อนพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ประสูติตั้ง ๔๓ ปี) อาจารย์ของอเล็กซานเดอร์ที่ถูกคืออริสโตเติลก็ไม่เคยมาถึงอินเดีย (อยู่ไกลกันเกิน ๔,๐๐๐ กม.) และในยุคของอเล็กซานเดอร์ นาลันทาก็ยังไม่ได้เจริญขึ้นมาเป็นแหล่งศูนย์กลางการศึกษา (อีกหลายร้อยปีจึงเจริญอย่างนั้น) ชื่ออเล็กซานเดอร์ เขาก็อวดเขียนภาษาอังกฤษไว้ แต่ก็เขียนไม่ถูก (ดูข้างบน) ซึ่งที่ถูกต้องเขียนเป็น Alexander the Great เท่ากับฟ้องตัวเองว่าไม่ได้เป็น ดร. จริง
ดร. เบญจ์-บรรจง ชอบยกภาษาอังกฤษมาใส่ไปเรื่อยๆ E = MOC2 บ้าง กลุ่ม Boston บ้าง Change Human Mankind Project บ้าง คือจะสร้างภาพยกตัวเองอยู่เรื่อยๆ แต่เป็นคำผิดๆ ถูกๆ และไม่มีสาระ ภาษาอังกฤษและความรู้ประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาดและว่าไปเองเรื่อยเปื่อยเหล่านี้ ทำให้ผู้ที่รู้จริง อ่านหนังสือของคนพวกนี้แล้วก็หมดความเชื่อถือ แต่เมื่อมองกว้างออกไป การที่เขาทำอย่างนี้ นอกจากเป็นการไม่มีความรับผิดชอบแล้ว ก็เป็นการดูถูกประชาชนทั่วไป เหมือนกับว่าพระสงฆ์และชาวบ้านทั้งหลายนั้นเขาเห็นเป็นเครื่องเล่นสนุก จะหลอกจะจูงไปอย่างไรก็ได้
ถ้าเราไม่หลงเชื่อง่ายเกินไป เพียงแต่เมื่ออ่านหนังสือของเขาไป ฉุกใจหยุดตรวจสอบความจริงสักหน่อย ก็จะจับความเท็จทุจริตของ ดร. เบญจ์-บรรจง นี้ได้ไม่ช้าเลย
ไม่ต้องสืบค้นอะไรมาก หนังสือ “เปิดโปงขบวนการล้มพุทธ” ที่เขาแจกนี้แหละ เอาแค่เรื่องที่เขาเขียนใส่ร้ายพระธรรมปิฎกไว้ ถ้าเราไล่พิสูจน์ไปทีละเรื่อง หนังสือ “เปิดโปงขบวนการล้มพุทธ” ของ ดร. เบญจ์ บาระกุล นี้เอง ก็จะกลายเป็นหนังสือที่เปิดโปงว่าคนกลุ่ม ดร. เบญจ์-พ.อ. บรรจง นี้แหละ คือขบวนการล้มพุทธตัวจริง
พระพุทธศาสนาเป็นหลักคำสอนแห่งความจริงความถูกต้องดีงาม อันเกิดจากพระทัยที่บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงมุ่งให้เป็นเครื่องนำประโยชน์สุขมาสู่ประชาชน การที่วัดพระธรรมกายเกิดปัญหาขึ้นนี้ ก็เป็นปัญหาแก่พระพุทธศาสนาและประชาชนด้วย จึงเป็นธรรมดาที่ชาวพุทธผู้มีความรู้สึกรับผิดชอบจะต้องพูดจาว่ากล่าวติติง ซึ่งคนที่เกี่ยวข้องอยู่กับวัดพระธรรมกาย ควรจะรับฟัง ถ้าอะไรตนได้ทำผิดพลาดไป ก็แก้ไขเสีย หรือตนมีเหตุผลอะไรก็ชี้แจงหรือตอบแจ้งไปตรงๆ ตามความเป็นจริงตามหลักตามพระธรรมวินัย
การที่คนผู้ทำงานให้วัดมาทำการเท็จเป็นเรื่องเล่ห์กโลบายอย่างที่ ดร. เบญจ์-บรรจง ทำหนังสือเท็จนี้ ไม่ใช่วิสัยของชาวพุทธ แต่เป็นบาปทุจริตในทุกประการ และมิใช่ว่าจะหลอกผู้คนไปได้นาน ไม่ช้าความเท็จทุจริตของตนก็ต้องปรากฏ ซึ่งนอกจากหนังสือเท็จนี้จะเป็นหลักฐานที่ประจานตัวเองตลอดไปแล้ว ก็จะพาให้วิญญูชนมองได้ต่อไปด้วยว่า ถ้าปัญหาต่างๆ ของวัดพระธรรมกาย ที่สื่อมวลชนและผู้คนโจษขานกับทั้งที่เป็นคดีความต่างๆ อยู่ในศาล ไม่เป็นเรื่องจริง คนที่ทำงานให้วัดพระธรรมกายจะต้องหลบหนีความจริง มาใช้วิธีเล่ห์กลไม่สุจริตอย่างนี้ไปทำไม
เพราะฉะนั้น ทางที่ดีแท้และถูกธรรมก็คือ ท่านที่สนับสนุนหรือผู้ทำงานให้วัดพระธรรมกายจะ-ต้องสู้ความจริง
พร้อมกันนั้น สำหรับพระสงฆ์และชาวพุทธทั่วไปก็มีหน้าที่จะต้องรู้ความจริง เพราะความจริงความเท็จในเรื่องนี้หลายอย่างเป็นความเป็นความตายของพระพุทธศาสนาและประเทศชาติ ผู้ที่รักชาติรักพระศาสนา ถ้ามีความรู้สึกรับผิดชอบ จะปล่อยปละละเลยหรือปล่อยให้เลยตามเลยไม่ได้ จะต้องพิสูจน์ความจริงกันให้ชัดเจนขึ้นมา
บางคนอาจสงสัยว่า ถ้าคนกลุ่มนี้ทำการเท็จทุจริต ทำไมทางการไม่ขัดขวางหรือจับกุมเอาเรื่องกับเขา ข้อนี้ตอบไม่ยาก ก็อย่างที่ชาวบ้านชาวเมืองรู้กันดี บางถิ่นบางสมัย หรือในหลายแห่งหลายที่ บางทีก็มีเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองบางกลุ่มบางคน แทนที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนตามหน้าที่ กลับเที่ยวระรานข่มเหงรังแกชาวบ้าน ก่อความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ประชาชนเสียเอง ชาวบ้านก็ได้แต่ทนทุกข์และหวาดผวา
อย่าง พ.อ. บรรจง ไชยลังกา กับพวกนี้แหละ เที่ยวเผยแพร่ความเท็จ ที่เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาและประเทศชาติ นอกจากทำการนั้นอย่างไม่มีความละอายแล้ว ยังใช้เครื่องแบบนายทหาร เอาสถาบันกองทัพไทยเป็นเครื่องมือในการทำงานทุจริตหลอกลวง และเขาก็ทำอย่างนี้มาได้อย่างลอยนวลเป็นปีๆ แล้ว
เมืองไทยของเราอยู่ในสภาพอย่างไร เอาแค่ด้านทหาร ขอให้ดูคำสั่งกระทรวงกลาโหมเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นเครื่องบ่งชี้ ดังได้คัดมาให้อ่านกัน (ดูที่ ปกหลังด้านใน)
(เมื่อกระทรวงกลาโหมออกคำสั่งนี้มาแล้ว หนังสือพิมพ์บางฉบับก็ยังวิจารณ์ว่า คำสั่งนี้มีผลในแง่เป็นการยอมรับหรือยืนยันเป็นทางการว่า ทหารที่มีพฤติกรรมอันมิชอบ อย่างที่เรียกกันว่าพวกแตกแถวนั้น มีจริงเป็นจริง แต่ในแง่ที่จะแก้ไข เกรงว่าจะไม่ได้ผล จะได้แค่ประกาศเท่านั้น)
พฤติกรรมของ พ.อ. บรรจง ไชยลังกา กับพวกนั้น เป็นการทุจริตร้ายแรงยิ่งกว่าพฤติกรรมที่ระบุในคำสั่งที่ว่านั้นด้วยซ้ำ ธรรมดาของนายทหาร จะต้องรักเกียรติของสถาบันกองทัพ จะต้องยึดถือความดำรงมั่นของชาติและพระศาสนาเป็นชีวิตจิตใจ แต่ พ.อ. บรรจง ไชยลังกา กลับทำการในทางตรงข้าม พ.อ. บรรจง ไชยลังกา นั้นอ้างตัวว่า(เคย)เป็นอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก แต่กลับนำเอาวิชาความรู้ความสามารถมาใช้ในทางทุจริต และเอายศศักดิ์มาเป็นเครื่องมือก่อการอันมิชอบ
พระพุทธศาสนาเป็นหลักสำคัญของประเทศชาติ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงและยึดเหนี่ยวสังคมไทยให้ร่มเย็นและเจริญมั่นคง พ.อ. บรรจง ไชยลังกา ควรรู้ตระหนักว่าการทำเท็จทุจริตต่อพระธรรมวินัยและต่อพระสงฆ์ผู้ดำรงรักษาพระพุทธศาสนานั้น เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา และย่อมชื่อว่าเป็นการทรยศต่อชาติ พร้อมทั้งเป็นการนำเอาเกียรติภูมิของกองทัพไทยลงมาย่ำยีไปด้วยพร้อมกัน
ถ้า พ.อ. บรรจง ไชยลังกา รักชาติ รักพระศาสนา และรักเกียรติศักดิ์ของชายชาติทหาร จะต้องไตร่ตรองทบทวนการกระทำของตน โดยยึดเอาสัจจะเป็นที่ตั้ง เมื่อมองเห็นว่าตนได้ทำผิดพลาดไป ก็ละเลิกเสีย หันมาดำเนินในทางที่ถูกต้อง ก็จะเป็นทางแห่งความเจริญงอกงามสืบต่อไป
ปัญหาของพระศาสนาและประเทศชาตินั้น คนไทยทุกคนต้องรับผิดชอบและร่วมกันแก้ไข เจ้าหน้าที่บ้านเมือง รวมทั้งนายทหาร ที่รักพระศาสนา รักชาติบ้านเมือง และมีใจเป็นธรรม ก็มีอยู่จำนวนมาก ถ้าประชาชนตั้งตนอยู่ในหลัก มีความรู้เข้าใจและวางท่าทีให้ถูกต้อง ก็จะเป็นการให้กำลังแก่เจ้าหน้าที่ทั้งทหารและพลเรือนเหล่านั้น ทำให้เข้มแข็งขึ้นมา แล้วช่วยกันดำรงรักษาประเทศชาติและพระพุทธศาสนาไว้ได้
เฉพาะกรณี ดร. เบญจ์-บรรจง นี้ ทุกคนต้องถือหลักว่าจะต้องรู้ความจริง เริ่มต้น การที่จะไม่ให้เขาหลอกหรือจูงไปได้ ก็ต้องเป็นนักพิสูจน์ความจริง เช่น เมื่อเขายกเอาหนังสือพุทธธรรม หรือหนังสืออะไรก็ตามขึ้นมาบอกว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ไปหาเอาหนังสือของจริงนั้นๆ มาอ่านเสียเองเลย ให้เห็นชัดๆ ว่าเป็นอย่างที่เขาว่าหรือไม่
อีกวิธีหนึ่งคือ พระสงฆ์หรือชาวบ้านก็ได้ ตั้งกันขึ้นเป็น “คณะสืบค้นความจริง” ให้คณะนี้ไปสืบไปค้นไปพิสูจน์เอาความจริงมาให้ได้ ผู้ที่พูดจริงและมีความจริง จะยินดีรับการพิสูจน์ ความจริงจะทนต่อการพิสูจน์ และเมื่อพิสูจน์กันไป สิ่งที่เป็นจริงจะคงอยู่ได้ (คณะผู้สืบค้นความจริงเอง ก็ต้องพร้อมที่จะให้ทุกคนตรวจสอบด้วย)
อย่างง่ายๆ เช่น ไปขอพิสูจน์ว่า ดร. เบญจ์ บาระกุล มีตัวตนเป็นคนมีชื่อจริงอย่างนั้นหรือไม่ ที่ว่าไม่ได้เป็น ดร. จริง เป็นเพียงพวกสิบแปดมงกุฎ จริงไหม
อาจไปขอพิสูจน์เรื่องของพระธรรมปิฎก เริ่มด้วยข้อที่ง่ายที่สุดเพราะเป็นเหตุการณ์ หาหลักฐานได้ง่าย คือการเดินทางไปต่างประเทศ
พอดีว่าหนังสือของ ดร. เบญจ์-บรรจง นี้ มีเจ้าคณะจังหวัดบางท่านช่วยทำหน้าที่เป็นผู้แจกด้วย ตอนที่แจกท่านก็คงหวังดีต่อพระศาสนา แต่รู้ไม่ทัน ดร. เบญจ์-บรรจง คราวนี้เพื่อให้ท่านช่วยพระศาสนา ก็อาจจะนิมนต์ท่านเจ้าคณะจังหวัดนั้นเป็นหัวหน้าคณะสืบค้นความจริงเรื่องนี้ คือเรื่องที่ ดร. เบญจ์-บรรจง เขียนไว้ในหนังสือ “เปิดโปงฯ” ของเขาว่า เมื่อปี ๒๕๑๕ พระธรรมปิฎกได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพวกคริสต์หรือคอมมูนิสต์ให้เดินทางไปร่วมสัมมนาในต่างประเทศ
พิสูจน์ว่า จริงหรือไม่ที่พระธรรมปิฎกว่าการเดินทางครั้งนี้ ไปเป็นคณะ ๓ รูป คือ
- พระธรรมคุณาภรณ์ (ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ)
- พระเทพวรเวที (ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ)
- พระศรีวิสุทธิโมลี (ปัจจุบัน คือ พระธรรมปิฎก วัดญาณเวศกวัน)
พิสูจน์ว่า จริงหรือไม่ตามข้อกล่าวหาของ ดร. เบญจ์-บรรจง ว่าการเดินทางครั้งนี้ เป็นการไปร่วมสัมมนาโดย(ได้รับทุน)สนับสนุนจากองค์กรพวกคริสต์หรือคอมมูนิสต์
พิสูจน์แค่เรื่องเดียวนี้ ก็พอแล้วที่จะรู้ว่าใครเป็นใคร และอะไรเป็นอะไร แต่ไม่เป็นไร จะพิสูจน์กี่เรื่องก็ได้ อาจจะจบปิดท้ายด้วยเรื่องแรกที่ ดร. เบญจ์-บรรจง ใช้เปิดหนังสือของเขา โดยเฉพาะ “ฉบับคัดย่อ” คือเรื่อง “คำสั่งจากวาติกัน”
พิสูจน์ว่า ที่ ดร. เบญจ์-บรรจง เขียนอะไรๆ ไว้ ถูกต้องไหม เขารู้มาอย่างไร ได้เอกสารจากไหน ใครแปลเป็นไทย เรื่องเริ่มที่ไหน เมื่อไร ตลอดเรื่องเป็นอย่างไร ฯลฯ
พิสูจน์ว่า ที่พระธรรมปิฎกว่าเรื่องนี้เป็นอานิสงส์จากสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งเป็นอย่างไร มีลำดับความเป็นมาอย่างไร (เรื่องทั้งหมดได้พูดบันทึกใส่เทปไว้แล้ว และพระได้พิมพ์เป็นเอกสารเก็บไว้ด้วยเพื่อให้พร้อมที่จะเผยแพร่ จึงพิสูจน์ได้ง่าย)
No Comments
Comments are closed.