บทพิเศษ – หลักการทั่วไปบางประการของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ

9 มีนาคม 2531
เป็นตอนที่ 6 จาก 6 ตอนของ

๔. สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์

สภาพจิตหรือแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องอย่างมากกับเรื่องเศรษฐกิจ ก็คือความอยากได้ ที่เรียกว่า ความโลภ (greed)

นักเศรษฐศาสตร์บางท่านถือว่า ความโลภเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้น จึงไม่เป็นความเสียหายอย่างใดที่จะให้คนทำกิจกรรมเศรษฐกิจด้วยความโลภ

ยิ่งกว่านั้น บางท่านก็เห็นว่า ควรสนับสนุนความโลภ เพราะจะเป็นเครื่องกระตุ้นเร้าให้คนขยันขันแข็ง มีการแข่งขันอย่างแรงเข้ม ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างมีพลัง เช่น เพิ่มผลผลิตได้มาก เป็นต้น

ที่ว่าความโลภเป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้น ก็ถูกต้อง แต่บกพร่อง คือขาดการจำแนกแยกแยะ และเป็นการมองด้านเดียว เป็นความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่เพียงพอ เป็นได้เพียงการทึกทักในทางการพูดและการคิดเห็น โดยมิได้มีการศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เศรษฐศาสตร์ยากที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้

ข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับความบกพร่องของคำกล่าวว่า “ความโลภเป็นธรรมชาติของมนุษย์” นั้น คือ

ก) ความโลภเป็นธรรมชาติของมนุษย์ก็จริง แต่เป็นเพียงธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์นั้น มนุษย์ยังมีคุณสมบัติอย่างอื่นอีกมาก รวมทั้งคุณสมบัติที่ตรงข้ามกับความโลภนั้น เช่น ความมีเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตลอดจนเสียสละ ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

ข) บางคนมองความโลภที่ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้น เหมือนอย่างที่เห็นว่าความโลภเป็นธรรมชาติของสัตว์ทั้งหลายอื่นทั่วๆ ไป เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย สุนัข หนู หมู แมว เป็นต้น แต่ความจริงหาเหมือนกันไม่

ความอยากได้ของสัตว์อื่น (ดิรัจฉาน) เหล่านั้น เป็นไปตามสัญชาตญาณ เมื่อได้สนองความต้องการในการกิน อยู่ สืบพันธุ์ ขั้นพื้นฐานแล้ว ก็จบ

แต่ความโลภของมนุษย์ มีการปรุงแต่งด้วยศักยภาพในการคิด ทำให้ขยายขอบเขต ทั้งด้านปริมาณ และขีดระดับ เช่นทำให้เกิดความรุนแรงอย่างไม่จำกัด ดังที่ความโลภของคนคนเดียว อาจเป็นเหตุให้ฆ่าคนอื่นเป็นจำนวนล้าน อาจทำให้เกิดการทำลายล้าง ก่อความพินาศแก่เพื่อนมนุษย์ แก่สังคม และแก่ธรรมชาติ หรือโลกนี้ อย่างคำนวณนับมิได้

ยิ่งกว่านั้น ในการที่จะสนองความโลภ มนุษย์อาจใช้ความพลิกแพลงยักเยื้องด้วยวิธีการต่างๆ ในทางทุจริตได้ซับซ้อนพิสดารอย่างที่ไม่มีในสัตว์อื่นทั้งหลาย ความโลภถ้าจัดการไม่ถูกต้อง จึงก่อปัญหาใหญ่ยิ่ง

ค) นักเศรษฐศาสตร์บางท่านถึงกับเข้าใจว่าความโลภเป็นสิ่งที่ดี โดยเข้าใจว่าทำให้ขยันขันแข็งอย่างที่กล่าวแล้ว เป็นต้น บางทีพาลไปนึกว่าวงการเศรษฐศาสตร์เห็นอย่างนั้น

แต่นักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ๆ ที่สำคัญ แม้แต่ในกระแสหลักเอง ก็รู้ว่าความโลภเป็นความชั่ว

ดังเช่น เคนส์ (John Maynard Keynes) มองว่าความโลภเป็นความชั่วอย่างหนึ่ง เพียงแต่มนุษย์ยังต้องอาศัยใช้ประโยชน์จากมันไปก่อนอีกสักระยะหนึ่ง (“อย่างน้อย อีก ๑๐๐ ปี”) โดยเขาเข้าใจว่า ความโลภ อยากได้เงินทองนี้ จะต้องมีต่อไปก่อน จนกว่าเศรษฐกิจจะเติบโต สนองความต้องการของมนุษย์ได้เพียงพอ และทำให้มีศักยภาพที่จะกำจัดความยากไร้ให้หมดไป

[“For at least another hundred years we must pretend to ourselves and to every one that fair is foul and foul is fair; for foul is useful and fair is not. Avarice and usury and precaution must be our gods for a little longer still.” – Essays in Persuasion, ch.5, “The Future” (1931)]

(หลายคนคงบอกว่า สำหรับเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่ ถ้าจะรออย่างเคนส์ว่านี้ ให้เวลาอีก ๕๐๐ ปี หรือให้เศรษฐกิจโตอีก ๕๐๐ เท่า ก็ไม่มีทางขจัดความยากไร้ได้สำเร็จ)

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ๒ ข้อต่อไป ได้แก่

ง) นักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้น ไม่เข้าใจธรรมชาติของความโลภ ไม่รู้จักความหมายของมันจริง มองเห็นคลุมเครือและพร่ามัว เริ่มแต่ไม่รู้ว่าความต้องการ ที่เรียกว่าความอยาก มีความแตกต่างกัน แยกในระดับพื้นฐานก็มี ๒ ประเภท ซึ่งจะเห็นได้จากตัวอย่าง

  • เด็กชาย ก. กวาดเช็ดถูบ้าน เพราะอยากให้บ้านสะอาด
  • แต่เด็กชาย ข. กวาดเช็ดถูบ้าน เพราะอยากได้ขนมเป็นรางวัล
  • คนในวงวิชาการคนหนึ่ง เขียนหนังสือหรือทำงานวิจัยขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เพราะอยากให้คนรู้เข้าใจเรื่องนั้น จะได้ช่วยกันแก้ปัญหาหรือทำการสร้างสรรค์แก่สังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง
  • แต่คนในวงวิชาการอีกคนหนึ่ง เขียนหนังสือหรือทำงานวิจัยขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เพราะอยากได้คะแนนมาเลื่อนขั้น หรือได้ค่าตอบแทนจำนวนหนึ่ง

ในตัวอย่าง ๒ แบบ ๒ ข้อนี้

๑. ความอยากแบบแรก เป็นความต้องการทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดมีขึ้น ซึ่งเป็นความต้องการผลโดยตรงของการกระทำ

ความต้องการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดการกระทำโดยตรง ได้แก่ความอยากทำ (ในที่นี้หมายเอาการทำเพื่อผลที่ดี หรือทำให้ดี ที่เรียกว่าการสร้างสรรค์ = ใฝ่สร้างสรรค์) ด้วยความต้องการผลของการกระทำนั้น

๒. ความอยากแบบที่สอง เป็นความต้องการได้สิ่งสำเร็จแล้วอย่างหนึ่งมาครอบครอง หรือเพื่อเสพบริโภค แต่ตนยังไม่มีสิทธิในสิ่งนั้น และมีเงื่อนไขว่าจะต้องทำอะไร (อีกอย่างหนึ่งต่างหาก) จึงจะได้รับสิ่งที่ตนต้องการ

ความต้องการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่เป็นเหตุให้เกิดการกระทำ (สร้างสรรค์) โดยตรง แต่ทำให้หาทางดิ้นรนขวนขวายอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้มา โดยเฉพาะถูกกำหนดด้วยเงื่อนไข ให้ต้องทำ (งานนี้) จึงจะได้ (สิ่งนั้น) เรียกว่า ความอยากได้ ซึ่งจะทำเพราะถูกกำหนดโดยเงื่อนไข เพราะไม่ต้องการผลของการกระทำนั้นโดยตรง (เช่น ไม่ต้องการความสะอาด) แต่ต้องการผลตามเงื่อนไข (เช่น อยากได้ขนมรางวัล)

ความอยากที่เรียกว่า ความโลภ หรือโลภะ นั้น ได้แก่ความอยากในข้อที่ ๒ คือ ความอยากได้

ส่วนความอยากในข้อที่ ๑ มีชื่อเรียกต่างหากว่า ฉันทะ แปลว่า ความอยากทำ หมายถึงอยากทำให้เกิดผลดีอย่างใดอย่างหนึ่ง บางทีจึงเรียกว่าอยากสร้างสรรค์ (รวมทั้งอยากทำให้รู้ด้วย)1

เนื่องจากความโลภเป็นเพียงความอยากได้ คนที่โลภนั้น เขามิได้อยากทำ และมิได้ต้องการผลของการกระทำนั้น เขาจะทำต่อเมื่อมี เงื่อนไข ว่า “ต้องทำจึงจะได้” ถ้าได้โดยไม่ต้องทำ ย่อมจะตรงกับความต้องการมากที่สุด

ดังนั้น เมื่อต้องทำ เขาจึงทำด้วยความจำใจหรือไม่เต็มใจ คือทำด้วยความทุกข์ และไม่เต็มใจทำ ทำให้ต้องจัดตั้งระบบการบังคับควบคุม ซึ่งอาจจะซับซ้อนและฟอนเฟะ

นอกจากนั้น ถ้าหลีกเลี่ยงได้เขาจะไม่ทำ แต่จะหาทางได้โดยไม่ต้องทำ จึงเป็นเหตุให้เกิดการทุจริต และการเบียดเบียนต่างๆ ในสังคมได้ทุกรูปแบบ

ในเมื่อความโลภ คือความอยากได้ (และความอยากทำที่เรียกว่า ฉันทะ) มีบทบาทสำคัญมากในชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะเป็นตัวนำและขับดันกิจกรรมเศรษฐกิจ จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ถ้าเศรษฐศาสตร์จะให้เศรษฐกิจก่อผลดีแก่ชีวิตและสังคมมนุษย์ ก็จะต้องทำความรู้จักและจัดการกับมันให้ถูกต้อง ซึ่งในขั้นนี้จะสัมพันธ์กับข้อต่อไปด้วย

จ) แนวคิดตะวันตกมองธรรมชาติของมนุษย์แบบนิ่ง หรือตายตัว (static) เศรษฐศาสตร์ปัจจุบันซึ่งเจริญมาตามแนวคิดตะวันตกนั้น จึงมองความโลภ และความต้องการต่างๆ เป็นแบบเดียว หรือเหมือนว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป และมุ่งแต่จะสนองความต้องการในแบบหนึ่งแบบเดียวนั้นดิ่งไป

แต่ที่จริง ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงได้ และตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุด

ธรรมชาติของมนุษย์ คือ เป็นสัตว์พิเศษที่ฝึกศึกษาพัฒนาได้ และการฝึกศึกษานี้เป็นหน้าที่ของทุกชีวิต พร้อมกับเป็นภารกิจของสังคม

การฝึกศึกษา เป็นหัวใจของการจัดการเกี่ยวกับชีวิตและสังคมมนุษย์ทั้งหมด ในการที่จะให้มีชีวิตที่ดี และให้สังคมมีสันติสุข เป็นคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้มนุษย์สามารถเป็นสัตว์ประเสริฐ และมีวัฒนธรรม มีอารยธรรมเจริญงอกงามได้

โดยเฉพาะจุดที่สำคัญยิ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์มาก คือ เรื่องความต้องการ รวมทั้งความอยาก ๒ แบบข้างต้น ซึ่งปรับเปลี่ยนพัฒนาได้

ความต้องการนี้ เมื่อพัฒนาปรับเปลี่ยนไป นอกจากทำให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งรวมทั้งพฤติกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ก็เป็นปัจจัยนำการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นอีกมากมาย รวมทั้งการพัฒนาความสุขด้วย

การพัฒนาคุณสมบัติเช่นว่านี้แหละ คือการพัฒนาคุณภาพคน ซึ่งสัมพันธ์สอดคล้องไปด้วยกันกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ชนิดที่เป็นปัจจัยแก่กันและกันกับการพัฒนามนุษย์ในความหมายที่ถูกต้อง

ขอยกตัวอย่างเล็กน้อย เช่นในเรื่องการทำงาน เมื่อเราพัฒนาความต้องการโดยมีฉันทะในการทำงาน หรือเปลี่ยนจากความอยากแบบโลภะ มาเป็นความอยากแบบฉันทะ ความหมายของงานและท่าทีต่องานก็เปลี่ยนไป

อยากได้ (โลภะ)

อยากทำ (ฉันทะ)

• การทำงานเป็นเงื่อนไข เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ • การทำงานเป็นการทำให้เกิดผลที่ต้องการ
• ทำงานด้วยจำใจทุกข์ รอเวลาไปหาความสุข • ทำงานเป็นความสุขเสร็จไปในตัว
• ทำงานด้วยทุกข์ เพื่อให้ได้เงินไปซื้อความสุข (วิธีอ้อม) • ทำงานเป็นความสุข ได้เงินมายิ่งเพิ่มความสุข (วิธีตรง)
• งานเป็นการตอบแทนกันในระบบผลประโยชน์ • งานเป็นการสร้างสรรค์และแก้ปัญหาเพื่อชีวิตและสังคม

 

เรื่องนี้ขอพูดไว้เป็นหลักการทั่วไปก่อน ยังไม่ลงไปในรายละเอียด

แต่เพียงเท่าที่พูดมานี้ ก็บ่งชี้ถึงการปฏิบัติในการบริหารจัดการในทางเศรษฐกิจว่า ผู้บริหารเศรษฐกิจ และผู้ปกครองบ้านเมือง เริ่มต้นก็ต้องมอง และยอมรับความจริงว่า:

ในเวลาหนึ่งเวลาใดก็ตาม มนุษย์ในสังคมนี้ อยู่ในระดับการพัฒนาที่แตกต่าง ไม่เท่ากัน มีพฤติกรรม มีสภาพจิตใจ มีปัญญาความรู้ความเข้าใจ มีความต้องการ และระดับความสามารถในการมีความสุขไม่เท่ากัน ซึ่งผู้บริหารหรือผู้ปกครอง

๑. จะต้องจัดสรรเศรษฐกิจ เอื้ออำนวยบริการและสิ่งเกื้อหนุนต่างๆ ให้เหมาะกับระดับการพัฒนาที่ต่างกันของคนเหล่านั้น โดยสนองความต้องการของคนที่ต่างกันเหล่านั้น เท่าที่ไม่ก่อความเบียดเบียนเสียหาย ไม่เสียความชอบธรรม

๒. กับทั้งพร้อมกันนั้น ก็เกื้อหนุนให้ทุกคนก้าวขึ้นสู่การพัฒนาในระดับที่สูงขึ้นไป ไม่ใช่ถอยหลังหรือย่ำอยู่กับที่

แน่นอนว่า ตามหลักการนี้ ผู้บริหารผู้ปกครองย่อมรู้เข้าใจด้วยว่า ในเวลาหนึ่งๆ นั้น คนที่พัฒนาในระดับสูงขึ้นไปมีจำนวนน้อยกว่า แต่คนที่พัฒนาในระดับต่ำมีจำนวนมากกว่า

ยกตัวอย่าง เช่นในเรื่องความโลภ ผู้บริหารย่อมรู้เข้าใจว่า ในสังคมนี้มีคนอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนน้อย ที่เป็นผู้มีความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ มีความอยากทำแบบฉันทะแรงเข้ม และมีความสุขอยู่กับการค้นคว้าหาความรู้แสวงปัญญา และการทำงานสร้างสรรค์

คนกลุ่มนี้แม้จะมีจำนวนน้อย แต่เป็นผู้สร้างความเจริญงอกงามแก่ชีวิตและสังคม เป็นผู้พัฒนาอารยธรรมที่แท้จริง

แต่คนส่วนมาก ซึ่งยังพัฒนาคุณภาพน้อย ยังขาดฉันทะ มีความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์น้อย มุ่งหาความสุขจากสิ่งเสพบริโภค มีโลภะคือความอยากได้เป็นแรงขับนำ ซึ่งทำให้โน้มเอียงไปในการที่จะหลีกเลี่ยงการทำ คืออยากได้โดยไม่ต้องทำ

เมื่อมีความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ ผู้บริหารที่ฉลาด ก็จะจัดสรรตั้งวางระบบและดำเนินการจัดการสังคม ให้สอดคล้องกับความจริงแห่งความแตกต่างกันนี้ ให้ได้ผลดี

๑. คนจำนวนมากหรือส่วนมาก อยู่ด้วยความโลภ ก็จะอยากได้ แต่ไม่อยากทำ และหาทางให้ได้โดยไม่ต้องทำ ด้วยวิธีต่างๆ เช่น

ก. บนบานอ้อนวอน รอผลดลบันดาล

ข. หวังผลจากลาภลอยคอยโชค เช่นการพนัน

ค. เป็นนักขอ รอรับความช่วยเหลือหยิบยื่นให้จากผู้อื่น

ง. ทำการทุจริต หาทางให้ได้มาด้วยการหลอกลวงฉ้อฉล ตลอดจนลักขโมย

จ. ใช้อำนาจครอบงำ ข่มเหง เบียดเบียน บีบคั้นเอาจากผู้อื่น

ฉ. ดำเนินชีวิตแบบฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ลุ่มหลงมัวเมาในการเสพบริโภค

สำหรับคนจำนวนมากที่เป็นอย่างนี้ ผู้บริหารจะดำเนินการ โดย

ก. จัดตั้งระบบเงื่อนไข เพื่อให้ทุกคนจะได้ต่อเมื่อทำ หรือต้องทำงานจึงจะได้เงิน

ข. วางมาตรการเสริมประกอบ เช่น

– จัดวางระบบตรวจสอบบังคับควบคุมลงโทษ ต่อผู้ละเมิดกติกาในระบบเงื่อนไขนั้น

– ป้องกันแก้ไขการทุจริตอย่างจริงจัง และมิให้มีการบังคับข่มเหงคุกคามกัน

– กำจัดแหล่งอบายมุข แหล่งการหลอกลวงและล่อเร้าให้คนหวังผลได้โดยไม่ต้องทำ

– ดำเนินกลวิธีต่างๆ ที่จะกระตุ้นเร้าปลุกคนให้ไม่เฉื่อยชา ไม่ตกอยู่ในความประมาท

กลไกสำคัญยิ่ง ที่จะให้ระบบเงื่อนไขนี้ดำเนินไปอย่างได้ผล คือ

๑) กฎกติกาหรือกฎหมายจะต้องศักดิ์สิทธิ์ มีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ได้ผลจริงจัง

๒) เงื่อนไขนั้นจะต้องจัดวางอย่างฉลาด เพื่อคุมและเบนความโลภ ให้เป็นเงื่อนไขให้เกิดผลงานในทางสร้างสรรค์มากที่สุด อย่างชนิดที่ว่า ถ้ายิ่งโลภ ก็ยิ่งต้องเกิดการทำงานที่เป็นเป้าหมายมากที่สุด

๒. คนที่มีฉันทะ ทำงานด้วยความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ มีความสุขด้วยการค้นคว้าหาความรู้แสวงปัญญา และทำงานสร้างสรรค์อย่างอุทิศตัว แม้จะมีจำนวนน้อย แต่เป็นกำลังสร้างสรรค์สังคมที่แท้จริง

ผู้บริหารจะต้องใส่ใจ สนใจ ค้นหาคนประเภทนี้ และส่งเสริมเกื้อหนุนอย่างจริงจัง

๓. ดังได้กล่าวแล้วว่า ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกศึกษาพัฒนาได้ และคนทั่วไปย่อมมีธรรมชาติแห่งศักยภาพทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้ายปะปนกันอยู่ในตัว โดยเฉพาะความอยาก หรือความต้องการ ๒ ประการนี้ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก

ถ้าคนมีความอยากทำ คือฉันทะ ก็จะพัฒนาความรักงาน และนิสัยนักผลิต พร้อมทั้งความเข้มแข็ง และมีวินัย เป็นต้น

แต่ถ้าคนมีความอยากได้ คือโลภะ กันมาก สังคมก็จะประสบปัญหาจากค่านิยมเสพบริโภค ความฟุ้งเฟ้อ การทุจริต ความอ่อนแอ ความขาดระเบียบวินัย ความผิวเผินฉาบฉวย และความเสื่อมเสียทุกอย่าง

ถ้าคนขาดฉันทะ และมีโลภะกันมากแล้ว หากกฏหมายก็ยังไม่ศักดิสิทธิ์ มีระบบเงื่อนไขที่ขาดประสิทธิภาพอีกด้วย สังคมนั้นก็จะง่อนแง่นอย่างมาก

ดังนั้น รัฐหรือผู้บริหารจะต้องส่งเสริมเอื้ออำนวยโอกาสและจัดสรรปัจจัยเกื้อหนุนให้ประชาชนมีการศึกษา ที่จะกระตุ้นโลภะให้เป็นปัจจัยแก่ฉันทะบ้าง ให้ลดละโลภะเพิ่มกำลังฉันทะบ้าง โดยเฉพาะส่งเสริมฉันทะ คือความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ให้แรงเข้ม และมีระบบเงื่อนไขอันรัดกุมศักดิ์สิทธิ์ ที่จะก่อเกิดผลในการพัฒนาชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง

ลักษณะคืบเคลื่อนคลี่ขยาย (dynamic) ของธรรมชาติมนุษย์ ที่เป็นสัตว์ผู้ศึกษาพัฒนาได้นี้ ยังมีที่ควรกล่าวถึงอีกมาก

ตัวอย่างเช่น เมื่อมนุษย์ยังหย่อนการพัฒนา ความสุขของเขาขึ้นต่อการเสพบริโภควัตถุมาก แต่มนุษย์ยิ่งมีพัฒนาการทางจิตปัญญาสูงขึ้นไป ความสุขของเขาก็พึ่งพาขึ้นต่อวัตถุเสพบริโภคน้อยลง เป็นอิสระมากขึ้น การบริหารจัดการสังคมจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติมนุษย์ที่เป็นเช่นนี้

ข้อที่ควรย้ำอีกอย่างหนึ่งคือ โดยธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อไม่มีทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ถ้าอยู่สุขสบาย มนุษย์จะมีความโน้มเอียงที่จะเฉื่อยชา ลุ่มหลงระเริงมัวเมาประมาท

จึงถือเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะจัดวางมาตรการกระตุ้นเร้าให้สังคมตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ซึ่งเป็นปัจจัยตัวเอกในการป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญ

ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงตัวอย่างของการบริหารจัดการในทางสังคม ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงแห่งธรรมชาติของมนุษย์

๕. บูรณาการในระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติ

หัวข้อนี้ มีความหมายกว้างขวางครอบคลุม แม้ยังมิใช่โอกาสที่จะอธิบายอย่างจริงจังในที่นี้ แต่เมื่อมีเรื่องเกี่ยวข้องหรือโยงถึง ก็ได้พูดแทรกไว้ในหัวข้ออื่นๆ ที่ผ่านมาบ้างแล้วหลายแห่ง ในที่นี้จึงจะพูดไว้เพียงเป็นแนว

สาระสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ พุทธศาสนามองเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างดำรงอยู่และดำเนินไป ในระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติ

แม้แต่เรื่องราวด้านภาวะทางจิตใจ ที่เป็นอัตวิสัย ความคิดคำนึงและจิตนาการของคน ก็ดี เรื่องราวและกิจกรรมทางสังคมของมนุษย์ ก็ดี ที่ปัจจุบันถือว่าไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติ ไม่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ และแยกออกมาศึกษาต่างหาก เป็นมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์นั้น พุทธศาสนาก็มองเห็นว่าเป็นเรื่องในขอบเขตของธรรมชาตินั่นเอง เพียงแต่มีความซับซ้อนในอีกระดับหนึ่ง

ข้อสำคัญก็คือ เรื่องของคนและสังคมนั้น ในที่สุดเราจะต้องรู้เข้าใจมองเห็นความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยต่อกัน ที่โยงเป็นระบบอันเดียวกับธรรมชาติส่วนอื่นทั้งหมด

ถ้ารู้เข้าใจมองเห็นไม่ถึงขั้นนี้ ความรู้และวิทยาการทั้งหลายของมนุษย์ นอกจากจะเป็นศาสตร์ที่แยกส่วนจากกันแล้ว แต่ละอย่างก็จะบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ เช่นอย่างวิทยาศาสตร์ ที่เป็นการศึกษาธรรมชาติด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว โดยพรากจากองค์ประกอบด้านอื่นที่อิงสัมพันธ์กับมันอยู่ ทำให้แม้แต่ความเข้าใจทางวัตถุเองก็พลอยไม่เพียงพอและไม่ชัดเจนจนบัดนี้

เมื่อพูดอย่างนี้ ก็เหมือนกับบอกให้รู้ด้วยว่า เศรษฐศาสตร์แนวพุทธมีลักษณะเป็นองค์รวม โดยบูรณาการกับสรรพวิทยาการและกิจกรรมด้านอื่นๆ ของมนุษย์ ตรงนี้จะถือเป็นคำสรุปก็ได้

จุดโยงที่ว่าเรื่องของคนและสังคมของมนุษย์รวมอยู่ในระบบสัมพันธ์ของธรรมชาตินั้น ก็อยู่ที่ตัวคนนั่นเอง กล่าวคือ

มนุษย์เองนี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งหรือส่วนหนึ่ง แต่เป็นธรรมชาติส่วนที่มีคุณสมบัติพิเศษ

คุณสมบัติพิเศษของมนุษย์นั้นมีมาก แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ เจตจำนง (เจตนา) และปัญญา (บางทีบางขั้นถึงกับเรียกกันว่า ปรีชาญาณ และแม้กระทั่งเป็นโพธิญาณ แต่ก็คือปัญญานั่นแหละ) และคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้ ก็เป็นธรรมชาติทั้งนั้น

โลกมนุษย์หรือสังคมที่เป็นไปต่างๆ ก็มาจากคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้ของมนุษย์ ที่สัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยกับองค์ประกอบอย่างอื่นในระบบสัมพันธ์ทั้งหมดของธรรมชาติ

มนุษย์จะต้องรู้เข้าใจธรรมชาติส่วนที่เป็นคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้ของมนุษย์ และมองทะลุปัจจยาการของมันในระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติทั้งหมด แล้วศาสตร์ทั้งหลายก็จะบรรจบประสานกันได้ พร้อมกับที่การแก้ประดาปัญหาของมนุษย์จึงจะสำเร็จแท้จริง และการสร้างสรรค์ต่างๆ รวมทั้งอารยธรรมของมนุษย์จึงจะบรรลุจุดหมาย

เศรษฐกิจก็เป็นส่วนร่วมหรือเป็นองค์ร่วมอย่างหนึ่งในระบบสัมพันธ์แห่งปัจจยาการ อันเป็นองค์รวมที่ว่านั้น

ดังนั้น เศรษฐศาสตร์จะต้องหยั่งเห็นปัจจยาการของเศรษฐกิจในระบบสัมพันธ์นั้น อย่างน้อยใน ๒ ระดับ หรือ ๒ ขอบเขต คือ

๑. ความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยต่อกัน ระหว่างเศรษฐกิจกับกิจกรรมและความเป็นไปด้านอื่นๆ ในสังคมมนุษย์ เช่น ค่านิยม วัฒนธรรม ศีลธรรม สุขภาวะ การเมือง การศึกษา (ที่ผ่านมา เอาใจใส่การเมืองมาก แต่มองข้ามเรื่องอื่นๆ ส่วนใหญ่) ให้เศรษฐกิจกลมกลืนเข้าไปในวิถีชีวิตและเกื้อกูลแก่ชีวิตที่ดีงามมีความสุขที่เป็นอิสระมากขึ้น

๒. ความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยต่อกันระหว่างเศรษฐกิจกับองค์ร่วมใหญ่ทั้ง ๓ แห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ คือ ชีวิตบุคคล สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งก็คือ การที่เศรษฐกิจจะต้องเกื้อหนุนให้มนุษย์มี ชีวิตที่เป็นสุขดีงาม ท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมที่รื่นรมย์ ในสังคมที่เกษมศานต์ อันจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนได้แท้จริง

เศรษฐศาสตร์จะต้องมองเห็นและสามารถช่วยเกื้อหนุนให้ระบบสัมพันธ์ในระดับต่างๆ ประสานปัจจัยทั้งหลายสู่ความพอดีที่จะบูรณาการให้เกิดภาวะแห่งจุดมุ่งหมายที่กล่าวมานั้น และนี่ก็คือหลักการสำคัญของเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่าเป็นมัชฌิมา

หลักทั่วไปของเศรษฐศาสตร์มัชฌิมา ยังมีอีก เช่น การประสานให้เกื้อหนุนกัน ระหว่างความเจริญแบบปลายเปิดของสังคม กับความเจริญแบบปลายปิดของชีวิตบุคคล แต่เห็นว่าควรกล่าวไว้เท่านี้ก่อน

 

 

หมายเหตุ: บทพิเศษนี้ เป็นการเขียนสรุปรวบรัด จึงไม่ได้เน้นการแสดงหลักฐานอ้างอิง

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สรุป

เชิงอรรถ

  1. ในที่นี้ยังไม่ได้พูดถึงความต้องการ คือความจำเป็นที่พึงต้องมีต้องได้ ที่ฝรั่งเรียกว่า need

หน้า: 1 2

No Comments

Comments are closed.