เรื่องพระธรรมปิฎกไปต่างประเทศ

1 กรกฎาคม 2544
เป็นตอนที่ 12 จาก 20 ตอนของ

เรื่องพระธรรมปิฎกไปต่างประเทศ

ดร. เบญจ์-บรรจง ปั้นแต่งเรื่องราว-บิดเบือนข้อมูลต่างๆ โดยพยายามจะให้คนเข้าใจว่า พระธรรมปิฎกเดินทางไปต่างประเทศในงานคอมมูนิสต์ หรือหนีคดีคอมมูนิสม์ และไปด้วยความช่วยเหลือจากองค์กรศาสนาคริสต์ หรือจากพวกคอมมูนิสต์ แต่เรื่องอย่างนี้พิสูจน์ง่ายที่สุด เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เป็นของเห็นๆ จึงไม่ต้องพูดยาว

การเดินทางที่ ดร. เบญจ์-บรรจง กล่าวหา มี ๓ ครั้ง คือ

๑. ดร. เบญจ์-บรรจง กล่าวหา (ในหนังสือ “เปิดโปงขบวนการล้มพุทธ” พิมพ์ครั้งที่ ๑ หน้า ๑๐ ครั้งที่ ๒ หน้า ๑๔) ว่า พระธรรมปิฎก เมื่อยังเป็นพระศรีวิสุทธิโมลี (ปยุตฺโต) ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิโกมลคีมทอง และ

“จากการที่ได้ร่วมกิจกรรมของมูลนิธิฯ ดังกล่าว จึงได้รับการสนับสนุนให้ไปร่วมการสัมมนาในต่างประเทศ ในปีถัดมา (พ.ศ. ๒๕๑๕)”

เจตนาของ ดร. เบญจ์-บรรจง นั้นต้องการบอกว่า มูลนิธิโกมลคีมทองเป็นพวกคริสต์หรือคอมมูนิสต์ ว่ามูลนิธิโกมลคีมทองให้ทุนพระศรีวิสุทธิโมลีไปต่างประเทศ และว่าพระศรีวิสุทธิโมลีไปร่วมการสัมมนา โดยเดินทางไปใน พ.ศ. ๒๕๑๕

ในที่นี้ ไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์ว่ามูลนิธิโกมลคีมทองเป็นพวกไหนหรือไม่ เพราะมีวิธีพิสูจน์ได้ง่ายกว่านั้น ซึ่งไม่มีมูลนิธิโกมลคีมทองมาเกี่ยวข้องด้วยเลย

ขอพูดรวบรัดว่า การเดินทางครั้งนั้น คือไปอเมริกา คณะเดินทางมี ๓ รูป คือ

  1. พระธรรมคุณาภรณ์ (ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ)
  2. พระเทพวรเวที (ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ)
  3. พระศรีวิสุทธิโมลี (ปัจจุบัน คือ พระธรรมปิฎก วัดญาณเวศกวัน)

พึงทราบว่า ตลอดเวลา ๘ ปี ตั้งแต่ท้ายปี ๒๕๑๑ ถึงต้นปี ๒๕๑๙ พระธรรมปิฎก เดินทางไปต่างประเทศเพียงครั้งเดียวนี้เท่านั้น จึงไม่มีทางจะเป็นอื่นจากนี้ (แม้แต่ในปี ๒๕๑๑ ก็ไปกับพระเทพคุณาภรณ์ คือ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ)

การเดินทางครั้งนั้น เป็นการไปในศาสนกิจเกี่ยวกับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเนื่องจากรัฐบาลอเมริกันนิมนต์ให้ไปชมประเทศของเขา ซึ่งได้ขอเลือกไปเยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัยอเมริกัน ที่มีการสอนวิชาพระพุทธศาสนา และเอเชียอาคเนย์ศึกษา เช่น โคลัมเบีย เยล คอร์เนล มิชิแกน วิสคอนซิน และนอร์ทเธอร์นอิลลินอยส์ เป็นต้น

ใน ๑ เดือนแรก คณะได้พักอยู่ในรัฐเพนน์ซิลเวเนีย เพราะพระศรีวิสุทธิโมลีบรรยายวิชาพระพุทธศาสนากับวัฒนธรรมไทย ที่มหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย

คำกล่าวหาของ ดร. เบญจ์-บรรจง ก็คือกล่าวหาพระเถระ ๓ รูปข้างต้นนี้ ซึ่งจะเป็นจริงตามที่เขากล่าวหาหรือไม่ เห็นว่าไม่จำเป็นต้องชี้แจงมากกว่านี้

๒. ดร. เบญจ์-บรรจง กล่าวหา (ในหนังสือ “พระพุทธศาสนา ชะตาของชาติ” พิมพ์ครั้งที่ ๑ หน้า ๒๖) ว่า

“พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต) (เลื่อนสมณศักดิ์จากพระศรีวิสุทธิโมลี) ซึ่งเป็นสมาชิกในมูลนิธินี้ ได้หลบหนีออกนอกประเทศ โดยความช่วยเหลือของสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย ไปอยู่ในรัฐเพ็นซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เช่นกัน (ข้อมูลรายละเอียดมีมาก ขอได้จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน สภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยอาศัย พรบ.ข่าวสารฯ)”

คำกล่าวหานี้ก็เป็นการปั้นแต่งความเท็จที่พิสูจน์ได้ง่ายเช่นเดียวกัน เรื่องที่เกิดขึ้นจริง คือสวอร์ธมอร์วิทยาลัย (Swarthmore College) ได้ติดต่อนิมนต์พระราชวรมุนี ขอให้ไปบรรยายวิชาพระพุทธศาสนาที่สถาบันแห่งนั้น ๑ ภาคเรียน โดยเริ่มนิมนต์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ แต่พระราชวรมุนีอ้างว่ามีงานทางเมืองไทยมาก จึงผัดเรื่อยมาตลอด ๓ ปี จนกระทั่งในที่สุดปี ๒๕๑๙ จึงรับนิมนต์ไป เป็นการไปตามความพอใจของตนเอง ไม่มีเหตุบีบคั้นให้ต้องรีบร้อนไปหรือหนีอะไร และไม่ต้องมีใครช่วย

เมื่อเสร็จภาระที่ Swarthmore College แล้ว ก็ได้รับนิมนต์เป็นที่ปรึกษาของวัดไทยในเมือง New York และวัดไทยเมือง Chicago ต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๒๑ จึงเดินทางกลับประเทศไทย

ดร. เบญจ์ บาระกุล บอกว่าข้อมูลรายละเอียดมีมาก ขอได้จาก กอรมน. และ สมช. ตอนนี้ก็เท่ากับเป็นการท้าทาย กอรมน. และ สมช. ให้ออกมาพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่

เมื่อ กอรมน. และ สมช. เงียบ ก็คงต้องหยอก กอรมน. และ สมช. ว่า ถ้า กอรมน. และ สมช. มีข้อมูลอย่างที่ ดร. เบญจ์-บรรจง ว่าแล้ว ก็คือสองหน่วยนั้นได้ข้อมูลเท็จ

ล้อต่อไปว่า ถ้า กอรมน. และ สมช. ได้คนเท็จทุจริตอย่าง ดร. เบญจ์-บรรจง นี้มาเป็นคนเก็บข่าวให้ ก็ต้องพูดว่าประเทศชาติของเราอยู่ในภาวะที่น่าห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง

๓. ดร. เบญจ์-บรรจง แต่งเรื่องขึ้นอีก (“พระพุทธศาสนา ชะตาของชาติ” หน้า ๒๘-๒๙) ว่า

“วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ออกประกาศอภัยโทษ เรียกว่าประกาศ ๖๖/๒๓ ให้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย โดยไม่มีความผิด ทำให้สมาชิกของมูลนิธิโกมลคีมทองสามารถกลับเข้าสู่ประเทศไทยได้ ทั้งนี้รวมถึง พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต) ก็กลับสู่ประเทศไทยด้วยเช่นกัน”

พระราชวรมุนีเป็นพระภิกษุ ไม่เป็นสมาชิกของมูลนิธิหรือองค์กรใด จะเดินทางเข้าหรือออกเมืองไทย ก็มาไปสบายๆ ตามศาสนกิจที่ได้รับนิมนต์

ในปี ๒๕๒๓ พระราชวรมุนี (ปัจจุบัน=พระธรรมปิฎก) จำพรรษาเขียนหนังสือธรรมอยู่ที่กุฏิในประเทศไทย ณ วัดพระพิเรนทร์ ตามปกติ ไม่ได้ไปไหนและไม่ต้องมาจากไหน เพราะท่านเดินทางกลับมาประเทศไทยนานกว่า ๒ ปีแล้ว คือตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ จึงไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องฟังประกาศของ พล อ. เปรม หรือจะต้องอาศัยใครๆ เข้ามาประเทศไทยแต่ประการใดทั้งสิ้น

ที่ชัดมาก คือ ปี ๒๕๒๒ พระธรรมปิฎกก็อยู่ที่วัดพระพิเรนทร์ จึงถูกท่านเจ้าคณะ กทม. ติดต่อขอให้รับเป็นเจ้าคณะเขตป้อมปราบฯ (ดูเรื่องข้างหน้า)

ทั้งที่พระธรรมปิฎกอยู่ที่วัดในเมืองไทย ไม่ได้ไปไหน ดร. เบญจ์-บรรจง ก็ยังปั้นแต่งความเท็จขึ้นมาเป็นเรื่องเป็นราวได้ถึงเพียงนี้ จะมีเรื่องอะไรในหนังสือของเขาที่ไม่เป็นเรื่องเท็จ และจะมีความเท็จอะไรที่เขาจะไม่ทำ

ไม่เฉพาะเรื่องไปต่างประเทศ แม้แต่เรื่องความเป็นไปในประเทศ เขาก็แต่งเรื่องเท็จใส่และบิดเบือนไปเรื่อยๆ เช่น (ในหนังสือ “เปิดโปงขบวนการล้มพุทธ” หน้า ๓๔) พูดขึ้นมาว่า

“พระธรรมไตรปิฎกนั้น เนื่องจากทางคณะสงฆ์มองเห็นอันตราย จึงไม่ให้เป็นเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยต่อ (มหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย) เพราะเกรงว่าจะเผยแพร่อุดมการณ์อันเป็นอันตรายต่อความมั่นคง จึงให้ไปเป็นเจ้าอาวาสอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ และไม่มีตำแหน่งทางการบริหารใดๆ ตลอดมา”

ชื่อว่าพระธรรมไตรปิฎกนี้ไม่เคยมีที่ไหน มีแต่พระธรรมปิฎก ซึ่งเมื่อครั้งเป็นพระราชวรมุนี เคยเป็นรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และท่านได้ลาออกตั้งแต่ยังเป็นรองเลขาธิการนานมาแล้ว คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗

พระราชวรมุนีที่เป็นรองเลขาธิการนั้น ได้ลาออกในขณะที่ยังมีเลขาธิการอยู่ แล้วท่านก็ทำงานด้านพระธรรมวินัยอยู่ที่วัดของท่านเรื่อยมาอีกนานตามความพอใจของท่านเอง โดยไม่ได้รอที่จะเป็นเลขาธิการแต่อย่างใด จนกระทั่งหลังจากนั้นอีกสิบกว่าปี เนื่องจากท่านมีปัญหาสุขภาพเรื่องโรคทางเดินหายใจเพราะอากาศที่วัดในกรุงเทพฯ มีมลภาวะมาก ญาติโยมจึงนิมนต์ท่านไปจำพรรษานอกกรุงเทพฯ และต่อมาญาติโยมได้ร่วมกันหาที่ดินในถิ่นที่อากาศดีและสงบสงัดเหมาะแก่งานพระศาสนาทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ แล้วสร้างวัดใหม่ถวาย และท่านก็เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดนั้นสืบมา ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการสั่งการส่งหรือการกำหนดอะไรของคณะสงฆ์ นอกจากการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่ว่าด้วยการสร้างวัด

ส่วนตำแหน่งบริหารนั้น พระธรรมปิฎกได้ขอไว้เองที่จะไม่รับตลอดมา เช่น เมื่อ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว ครั้งเป็นพระราชวรมุนี หลังลาออกจากตำแหน่งที่มหาจุฬาฯ และไปอเมริกากลับมาไม่นาน ท่านเจ้าคุณพระราชวรเวที วัดมหรรณพาราม เจ้าคณะเขตป้อมปราบฯ-ปทุมวัน ได้ถึงมรณภาพใน พ.ศ. ๒๕๒๒ ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธาธิบดี เจ้าคณะ กทม. ก็มอบหมายให้รองเจ้าคณะ กทม. ทั้ง ๒ รูป คือ ท่านเจ้าคุณพระราชรัตนโมลี วัดแก้วแจ่มฟ้า และท่านเจ้าคุณพระราชรัตนกวี วัดอนงคาราม ไปพูดกับพระราชวรมุนี ที่วัดพระพิเรนทร์ เพื่อให้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะเขตป้อมปราบฯ-ปทุมวัน เริ่มแต่เป็นรักษาการสืบไป แต่เจรจากันเป็นชั่วโมง พระราชวรมุนีก็ไม่ยอมรับ จึงเป็นที่รู้กันในหมู่พระเถระผู้ใหญ่มานานแล้วว่าพระธรรมปิฎกไม่รับตำแหน่งด้านบริหาร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< กลลวง ของ ดร. เบญจ์-บรรจงเรื่องหนังสือพุทธธรรม >>

No Comments

Comments are closed.