รู้จักไทย เข้าใจฝรั่ง ทั้งในข้อด้อยข้อดี แล้วปรับให้เข้าที่เข้าดุล

1 ตุลาคม 2538
เป็นตอนที่ 12 จาก 17 ตอนของ

รู้จักไทย เข้าใจฝรั่ง ทั้งในข้อด้อยข้อดี
แล้วปรับให้เข้าที่เข้าดุล

ทีนี้ก็เลยพูดเรื่องวัฒนธรรมน้ำใจนิดหนึ่งว่า สังคมไทยนี้ปฏิบัติผิดไปสุดข้างหนึ่ง

สังคมไทยกับฝรั่งนั้น คล้ายกับเป็นตัวอย่างที่ให้เห็นสุดทางสองข้าง สังคมไทยมีวัฒนธรรมน้ำใจสูง ช่วยเหลือกันดี ส่วนสังคมฝรั่งคนไม่ค่อยช่วยกัน เหมือนไม่มีน้ำใจ ตัวใครตัวมัน แกต้องดิ้นเอง ถ้าไม่ดิ้นก็มีหวังตาย ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ของไทย ข้อดี ก็คือ คนไทยมีน้ำใจ ก็อยู่ด้วยกันอบอุ่น แต่ข้อเสีย ก็อย่างที่ว่าแล้ว คือทำให้บางคน หรือเยอะทีเดียว หวังพึ่งผู้อื่น ไม่ดิ้นรน แล้วก็อ่อนแอลง

แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมักจะเลยเถิด จนกระทั่งมองข้ามกฎเกณฑ์กติกา หลักการ ความถูกต้องชอบธรรมไม่เอา จะช่วยกันส่วนตัวท่าเดียว ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเด่นเกินไป จะช่วยกันเรื่อย มีอะไรก็ต้องช่วย เออ เป็นพวกเรา เป็นน้องเรา ความถูกต้อง กฎเกณฑ์กติกาไม่เอาแล้ว มองข้าม

นี่คือเสียความเป็นธรรม หลักการ ความถูกต้องชอบธรรม และกติกาสังคมไม่อยู่ เสียหมด ทำท่าจะกลายเป็นว่า ไม่มีมาตรฐานในสังคมไทย เพราะเลือกปฏิบัติไปตามความสัมพันธ์ส่วนตัว

ส่วนในสังคมฝรั่งนั้นตรงข้าม ที่ว่าตัวใครตัวมัน ก็คือเอากฎเกณฑ์กติกาหลักการเป็นใหญ่ เอากฎหมายเป็นมาตรฐาน คุณจะทำอะไรก็ทำไป ถือว่าเป็นเรื่องของคุณ แต่อย่าผิดกฎนะ ถ้าผิดกฎ จะถูกจัดการทันทีเลยนะ ตัวใครตัวมัน แต่เอากติกาเป็นใหญ่

สภาพอย่างนี้ นอกจากจะทำให้คนเข้มแข็งแล้ว หลักการ ความถูกต้อง ความเป็นธรรม ก็คงอยู่ได้ เอากฎหมายเข้าว่า นี้คือกฎเกณฑ์กติกาเป็นใหญ่ ดังที่เขาภูมิใจว่าเป็น rule of law ก็เป็นสังคมที่ถือหลักการ และรักษาความชอบธรรมไว้ได้ แต่ชีวิตแห้งแล้ง เครียด แต่ละคนต้องดิ้นเหลือเกิน จิตใจเหงา ว้าเหว่ กดดันมาก ก็เสียอีก ตกลงว่าเสียดุลทั้งคู่

พระพุทธเจ้าตรัสหลักพรหมวิหาร เพื่อรักษาดุลยภาพของสังคมนี้ไว้ แต่คนไทยไม่ได้ปฏิบัติ คนไทยรู้มาว่าพรหมวิหารมี ๔ ข้อ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่คนไทยเราจับเอามา ๒ ข้อ คือ เมตตา กรุณา เราได้ยินบ่อย จนพูดควบกันว่าเมตตากรุณา

ส่วนข้อ ๓ มุทิตา นานๆ จะพูดสักที แทบไม่มีพูดถึง และไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร

ยิ่งข้อ ๔ คือ อุเบกขา ไม่รู้เรื่องเลย ใช่ไหม ทั้งๆ ที่ธรรมต้องครบชุด ถ้าไม่ครบชุดแล้วเกิดผลร้ายได้ แม้แต่สิ่งที่ดี ถ้าปฏิบัติผิดก็จะต้องเกิดผลร้าย อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนอย่างเมื่อกี้ที่ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว นั้นดี แต่กลายเป็นทำให้เกิดความอ่อนแอไป

เราเอาเมตตากรุณามาเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่ช่วยเหลือกัน

สังคมไทยนี้เด่นไปด้วยเมตตากรุณา เมตตา ทำให้มีน้ำใจช่วยกันในแง่ของการอยู่ร่วมกันด้วยดี เป็นมิตร กรุณา ก็สงสารช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ แต่ข้อสาม มุทิตา ไม่ค่อยคิดถึง จึงไม่ค่อยส่งเสริมคนดี คนทำอะไรถูกต้องดีงาม ไม่ค่อยเอาใจใส่ แสดงว่ามุทิตาไม่ค่อยขึ้นมาสู่ความคิด แต่ข้อสี่ อุเบกขา ไม่รู้เรื่องเลย และเข้าใจผิดด้วย ลองมาดูความหมาย

๑. เขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา แสดงไมตรี หวังดี อยากให้เขาเป็นสุข

๒. เขาตกทุกข์เดือดร้อน เราก็มีกรุณา คิดช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ของเขา

๓. เขาประสบความสำเร็จ ทำสิ่งที่ดีงามถูกต้อง เราก็มีมุทิตา พลอยยินดี ส่งเสริมสนับสนุน

ท่านให้ไว้ ๓ ข้อสำหรับ ๓ สถานการณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ครบ คือ ปกติ ตกต่ำ ขึ้นสูง

นี้คือหลักของพรหมวิหารสามข้อแรก ใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ดูเหมือนจะครบแล้ว

แต่มนุษย์ไม่ได้อยู่เฉพาะกับมนุษย์ด้วยกันเอง สิ่งที่รองรับโลกมนุษย์ หรือค้ำชูสังคมมนุษย์ไว้ ก็คือ “ธรรม” ได้แก่หลักการของกฎธรรมชาติ ความเป็นไปตามหลักเหตุปัจจัยที่แน่นอน

อันนี้สำคัญมาก มนุษย์จะอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างมนุษย์ได้อย่างไร ถ้าไม่นำพาความจริงของกฎธรรมชาติ ปฏิบัติผิดต่อหลักการแห่งธรรมชาติ หรือกฎธรรมชาติ สังคมมนุษย์ก็จะพินาศ อยู่ไม่ได้

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงข้อ ๔ นี้ไว้ว่า เธอจะสัมพันธ์กันดีระหว่างบุคคลด้วยเมตตา กรุณา มุทิตาอย่างไร ก็อย่าให้เสียธรรม ถ้าเธอละเมิดธรรม ทำธรรมให้เสียหาย สังคมนี้จะอยู่ไม่ได้เลย เพราะว่าธรรมนี้รองรับสังคมทั้งหมด จึงใหญ่กว่าความสัมพันธ์กับคนด้วยกัน เพราะฉะนั้นก็ให้ข้อ ๔ มาคุมไว้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถ้ามัวอ่อนแอ เอาแต่สุขสบาย ก็ต้องไปเข้าสูตร “ทุกข์ง่าย สุขได้ยาก”คนไทยต้องมีปัญญา รู้จักอุเบกขาให้เป็น >>

No Comments

Comments are closed.