หน้าที่ของปัญญาชนชาวพุทธ

1 กรกฎาคม 2525
เป็นตอนที่ 8 จาก 10 ตอนของ

หน้าที่ของปัญญาชนชาวพุทธ

ตอนนี้ในเมื่อพูดถึงปัญญา เราก็มาพูดถึงเรื่องใกล้ตัว ใกล้ตัวที่สุด คือ ท่านนิสิตนักศึกษาทั้งหลายที่มานั่งกันอยู่ ณ ที่นี้ นิสิต นักศึกษานี่ก็ถือว่าเป็นชนในระดับผู้นำทางปัญญา มีศัพท์ใหม่เรียกว่า ปัญญาชน ปัญญาชนก็แปลว่า ชนผู้มีปัญญา หรืออาจจะใช้อย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือ เป็นผู้นำทางปัญญา การเป็นผู้นำทางปัญญานี้มีความสำคัญมาก ในขณะที่ยังเป็นนิสิตนักศึกษาก็มีความเป็นผู้นำนี้ เพราะเป็นที่เชื่อถือของคนเป็นจำนวนมากทีเดียว ว่าเป็นผู้มีภูมิความรู้สติปัญญาระดับสูง และที่สำคัญอีกตอนหนึ่ง คือเมื่อสำเร็จออกไปแล้ว ในอนาคตนิสิตนักศึกษาจะเป็นผู้นำของสังคมนี้ต่อไป เป็นผู้กำอนาคตของชาติ

ทีนี้ ถ้ามองแคบเข้ามา คือ นิสิตนักศึกษาชาวพุทธ ถ้าเราพูดถึงนิสิตนักศึกษาทั้งหลายว่าเป็นผู้นำทางปัญญาสำหรับสังคมส่วนรวม และเป็นผู้รับผิดชอบต่ออนาคตของประเทศชาติ นิสิต นักศึกษาชาวพุทธเล่าจะเป็นอย่างไร นิสิตนักศึกษาชาวพุทธก็ต้องเป็นผู้นำทางปัญญาของชาวพุทธทั้งหลาย แล้วก็จะเป็นผู้รับผิดชอบชะตากรรมของพระพุทธศาสนาต่อไปด้วย

ถ้ามองอย่างนี้แล้วก็จะเห็นว่า นิสิตนักศึกษานี่มีความสำคัญไม่น้อยทีเดียว และโดยเฉพาะท่านที่มานั่งอยู่ในที่นี้ ที่ว่าเป็นนิสิตนักศึกษาชาวพุทธนี่ ก็จะมีฐานะเป็นผู้นำในหมู่ชาวพุทธ เมื่อมีฐานะเป็นผู้นำของชาวพุทธก็จะต้องรับผิดชอบในการนำชาวพุทธไปในทางที่ถูกต้องแล้ว ก็จะต้องเตรียมพร้อมที่จะกุมชะตากรรมของสังคมพุทธต่อไป อาตมาว่า ข้อนี้เป็นจุดที่ควรจะได้ให้ความสำคัญ

ในการทำหน้าที่ผู้นำในหมู่ชาวพุทธและจะรับผิดชอบสังคมพุทธต่อไป หรือว่าจะรับผิดชอบอนาคตของพระพุทธศาสนานั้น หน้าที่บางอย่างที่ควรจะยกมาพูดก็เช่นอย่างที่อาตมาพูดเมื่อกี้ว่า มีความเข้าใจผิด มีความเชื่อผิดๆ หรืออย่างที่เรียกว่ามีภาพพจน์ผิดๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จะในคนนอกในประเทศนี้ หรือคนนอกในต่างประเทศก็ตาม ในฐานะเป็นผู้นำในหมู่ชาวพุทธ นิสิตนักศึกษาน่าจะมีส่วนรับผิดชอบในการแก้ไขสิ่งเหล่านี้และ เอาใจใส่ด้วย

เช่น ติดตามว่าวงการพระพุทธศาสนานี้เป็นอย่างไร อยู่ในภาวะเสื่อมหรือเจริญ คนข้างนอกเขามองดูเราอย่างไร แล้วควรแก้ไขอย่างไรให้มันถูกต้อง แม้แต่ภาพพจน์ต่อชุมชนย่อยๆ คือ ตัวเราเอง อาตมาเกิดความรู้สึกและก็ได้ยินได้ฟัง ก็ยังนึกอยู่ บางทีมีผู้มองว่า กลุ่มนิสิตนักศึกษาชาวพุทธ หรือชมรม ชุมนุมพุทธนี่เป็นส่วนที่แยกตัวออกไปภายในสถาบันเป็นกลุ่มต่างหาก มีระบบชีวิต ความประพฤติ ความเป็นอยู่แตกต่างจากเขา แตกต่างนั้นมีได้ทั้งดีและไม่ดี ถ้าแตกต่างในแง่เป็นที่น่าชื่นชมที่เขาควรจะเอาอย่าง หรืออย่างน้อยให้เขาเห็นว่าสำคัญ ถึงแม้เขาเอาอย่างไม่ได้ แต่ก็เป็นภาพพจน์ในทางที่เขาต้องยอมรับนับถือ นี่ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าแตกต่างในทางให้เขาเห็นประหลาด น่าตลก หรือเป็นตัวจำอวด ก็คงไม่ดี ถ้าภาพพจน์ไม่ดีก็ต้องเริ่มที่จะช่วยกันแก้ ในฐานะผู้นำในหมู่ชาวพุทธจะต้องช่วยกันแก้ไข

ภาพของชาวพุทธในขณะนี้เป็นอย่างไร ภาพต่อชาวพุทธ ต่อพุทธศาสนาของสังคมส่วนรวม เขามองเราอย่างไร เราจะต้องยอมรับว่ามีไม่น้อยที่เขามองไม่สู้ดี ในทางที่ไม่สู้น่าสบายใจ เมื่ออยู่ในระดับมหาวิทยาลัยหรือในวิทยาลัย สถาบันศึกษาใหญ่ๆ เราเป็นผู้นำชาวพุทธแล้ว ก็น่าจะแก้ไขปัญหานี้ในระดับสถาบันได้ก่อน แล้วจึงแก้ไปได้จนกระทั่งภายนอกทั่วๆ ไปด้วย นี้ก็เป็นข้อหนึ่ง คือ เรื่องแก้ไขความเข้าใจผิด ภาพพจน์ผิดๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนา และเกี่ยวกับชาวพุทธ ซึ่งก็รวมอยู่ด้วยกัน

อีกเรื่องหนึ่ง คือ แก้ไขความประพฤติผิดๆ ในหมู่ชาวพุทธเอง อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของชาวพุทธส่วนหนึ่ง แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะละเลยประโยชน์ส่วนตน อัตตหิตสมบัติ คือการที่จะฟื้นฟูชีวิตจิตใจของตนให้เจริญก้าวหน้าไว้ ส่วนนั้นก็เป็นส่วนสำคัญที่ละเว้นไม่ได้ ความพรั่งพร้อมในคุณสมบัติส่วนตนเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอยู่เสมอ และก็ในหมู่ชาวพุทธนั้น อะไรที่เป็นหลักธรรมที่เป็นความประพฤติแกนกลาง ที่เป็นพื้นฐาน ก็ควรที่จะได้มีกันทั่วๆ ไป ส่วนที่เป็นความแตกต่างหลากหลายนั้น เราก็มีความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน ใครประพฤติได้อย่างไร เช่น ศีล กับ วัตร ศีล คือข้อปฏิบัติส่วนรวมที่เหมือนๆ กัน ที่ทุกคนควรจะมี วัตร คือ ข้อปฏิบัติให้เคร่งครัดเป็นพิเศษ ซึ่งบุคคลบางกลุ่ม บางคณะ หรือแม้แต่บางบุคคล ประพฤติให้เป็นพิเศษต่างจากคนอื่น เพื่อฝึกตนเองให้หนักพิเศษบ้างหรือเพื่อความมุ่งหมายประโยชน์แก่สังคมในบางแง่บางประการบ้าง เราก็แยกได้ว่า อะไรเป็นศีล อะไรเป็นวัตร แล้วก็มีความเคารพนับถือกันในทางที่ถูกต้อง

ก็มาถึงอีกเรื่องคือว่า เมื่อพูดถึงความรับผิดชอบของนิสิตชาวพุทธ นักศึกษาชาวพุทธในฐานะที่เป็นผู้นำ นิสิตนักศึกษาชาวพุทธได้ตั้งกันเป็นกลุ่มขึ้นมาเรียกว่าชุมนุมบ้าง ชมรมบ้าง นี้มีความหมายเป็นอย่างไร คืออะไร

ในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่า กลุ่มหรือชุมนุมนิสิตนักศึกษาชาวพุทธก็คือ แหล่งที่ชุมนุมของนิสิตนักศึกษาชาวพุทธ นี่ตรงตามชื่อ หมายความว่าคนอื่นที่ไม่ได้มาเข้าชุมนุมนี้ ก็ไม่ได้เป็นชาวพุทธ นี่เป็นความหมายที่หนึ่ง เอ…แต่มองดูไป ความหมายนี้เห็นจะไม่ใช่ เราไม่อาจพูดได้ว่า นิสิตนักศึกษาอื่นไม่ใช่ชาวพุทธเพราะว่า คนที่ไม่ได้มาเข้าชุมนุม เขาอาจประพฤติปฏิบัติดี เป็นชาวพุทธที่ไปได้ไกลแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้น ความหมายที่หนึ่งนี้คงจะไม่ใช่

ความหมายที่สองบอกว่า เป็นแหล่งที่นิสิตนักศึกษาเข้ามารับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา จะมองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า เป็นแหล่งให้บริการ หรือว่าผู้ที่จะมาเข้าชมรมพุทธ ก็คือผู้ที่มารับประโยชน์จากพุทธศาสนา ไม่ว่าตัวมีทุกข์ทางใจ มีปัญหาอะไรต่ออะไร ถ้าเห็นว่าพระพุทธศาสนาช่วยทำประโยชน์แก้ปัญหาให้ได้ ก็เข้ามาสู่ชุมนุมนี้ มาเป็นชาวชุมนุมนี้ สมาชิกชุมนุมนี้ เพื่อที่จะแก้ปัญหาทางจิตใจของตัวเองเป็นต้น นี้เรียกว่า ชุมนุมของชาวพุทธ คือ ชุมนุมของนิสิตนักศึกษาที่เข้ามารับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา แง่ที่สองถือเป็นข้อพิจารณา จะใช่หรือไม่ก็ตาม ขอผ่านไปก่อน

ในแง่ที่สาม แปลว่า แหล่งที่นิสิตนักศึกษาเข้ามาทำงาน เพื่อเชิดชูส่งเสริมพระพุทธศาสนา เข้ามาช่วยกันทำให้พระพุทธศาสนาเป็นประโยชน์กว้างขวางออกไป คือ จะได้มีที่รวมคนที่มีความสนใจ เอาใจใส่กิจการพุทธศาสนา เข้ามาช่วยกันทำงาน เพื่อเชิดชูยกย่องหรือเผยแพร่หลักการของพระพุทธศาสนา

ความหมายที่สี่บอกว่า เป็นแหล่งที่แสดงออกของความเป็นชาวพุทธ หรือพูดอย่างสมัยใหม่ หมายความว่า เป็นที่ชุมนุมของคนที่เป็นตัวแทนของชาวพุทธ เพื่อทำหน้าที่ของชาวพุทธ ทำหน้าที่ของชาวพุทธต่ออะไรบ้าง ก็ต่อตนเองและต่อสังคม อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ ต่อตนเองก็คือดำเนินชีวิตแบบชาวพุทธ ต่อสังคมคือหลักการของพระพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมนี้เป็นอย่างไร ชุมนุมนี้เป็นตัวแทนที่จะทำหน้าที่นั้นต่อสังคม

ตอนนี้อาตมานึกได้เท่านี้ก่อน มีความหมายสี่ข้อ เราจะยอมรับข้อไหนในบรรดาความหมายสี่ข้อนั้น ข้อที่หนึ่งบอกว่า เป็นชุมนุมของนิสิตนักศึกษาทั้งหลายที่เป็นชาวพุทธ ถ้าใครไม่มาเข้าชุมนุมนี้ ก็ไม่ใช่ชาวพุทธ ข้อนี้อาตมาคงไม่ยอมรับ

ต่อไปข้อที่สอง สาม สี่ นี่คิดว่าควรจะรับได้หมด แต่ว่าจุดเน้นอาจจะต่างกันไป แม้แต่ผู้ที่เข้ามาในชุมนุมเอง บางคนก็อาจเข้ามาเพื่อรับประโยชน์แก้ปัญหาในจิตใจตนเอง บางคนก็อาจเข้ามาเพื่อช่วยทำงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาเผยแพร่พุทธศาสนา บางคนเข้ามาเพื่อที่จะทำหน้าที่ชาวพุทธ เป็นตัวแทนของชาวพุทธทำหน้าที่ต่อสังคมก็คือทำหน้าที่ของชาวพุทธนั่นแหละ ทำอย่างไร หน้าที่ของชาวพุทธมีอะไรบ้าง ก็ได้บอกไว้แล้ว คือ ใช้ปัญญา และกรุณาสร้างเสริมอัตตหิตสมบัติและปรัตถปฏิบัติ เอาละ…เราจะยอมรับอันไหนและถืออันไหนเป็นหลัก บางคนอาจจะเอาทั้งสาม ทั้งได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนาด้วย ซึ่งมันก็ควรจะได้แล้วก็ส่งเสริม ในเมื่อเราเห็นว่าพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ดีงามก็ส่งเสริมเผยแพร่ออกไป แล้วก็ทำหน้าที่ของชาวพุทธต่อตนเอง ต่อสังคมไปด้วย

แต่อันไหนควรจะเป็นข้อหลัก? ถ้าหากเราถือว่าการตั้งชุมนุม หรือชมรม นี่ ในเมื่อไม่จำเป็นว่าคนที่เข้ามาเท่านั้นจึงจะเป็นชาวพุทธ คนที่ไม่เข้ามานั้นก็เป็นชาวพุทธได้ แต่ผู้ที่เข้ามานี่ก็คือผู้ที่พร้อมจะมาเป็นตัวแทนของชาวพุทธ จะเป็นอย่างนั้นได้หรือไม่ ในเมื่อตั้งเป็นชุมนุมหรือกลุ่มขึ้น กลุ่มนี้น่าจะเป็นตัวแทนของชาวพุทธ เมื่อเป็นตัวแทนของชาวพุทธแล้ว ก็เป็นที่แสดงออกของความเป็นชาวพุทธ และทำหน้าที่ของชาวพุทธ ถ้าอย่างนี้หน้าที่ของชาวพุทธมีอะไรบ้าง ชุมนุม ชมรม กลุ่มนิสิต นักศึกษา ชาวพุทธก็คงจะต้องทำหน้าที่เหล่านั้น ซึ่งมีทั้งอัตตหิตสมบัติ และปรัตถปฏิบัติ นี้เป็นเพียงข้อสังเกต

ทีนี้ ขอเชื่อมโยงไปถึงเรื่องเมื่อกี้ ที่อาตมาพูดถึงว่า คนข้างนอกเขามีสายตามองเราว่าอย่างไร ในสังคมไทยของเราปัจจุบันนี้ มีเสียงพูดอันหนึ่งว่า คนรุ่นใหม่ไม่คอยเข้าใจสังคมของตน ไม่ค่อยเข้าใจวัฒนธรรมของตน เมื่อได้สำเร็จการศึกษาไปแล้วไปทำงานทำการ รับราชการ หรือไปอยู่ในแวดวงอะไรก็ตาม กิจการต่างๆ ที่เรียกว่า พัฒนาประเทศชาติ หรือพัฒนาสังคมอะไรนี่ไม่ได้ผลดีด้วย เพราะว่าไม่เข้าใจชีวิตจิตใจของคน ไม่เข้าใจรากฐานวัฒนธรรม ไม่เข้าใจสังคมของตนเอง นี้เป็นเสียงตำหนิที่มีมานานพอสมควร เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่ คือว่าในระบบการศึกษาของเรานี้ เราฝึกคนไป ในลักษณะที่ว่าทำให้ห่างไกลจากพื้นฐานวัฒนธรรมของตน ไม่ค่อยได้เรียนรู้เพียงพอ

รากฐานวัฒนธรรมของสังคมไทยนั้น ส่วนสำคัญมาจากพระพุทธศาสนา มีส่วนมากทีเดียวที่ได้มาจากพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ในการศึกษาสังคมไทยนี่เมื่อคนนอกเขามาศึกษา เขาจะจับพุทธศาสนานี้เป็นจุดหนึ่งที่สำคัญมาก สิ่งเหล่านี้ เราจะสังเกตได้ไม่ยากเลย ถ้ามองดูพวกที่เขามาจากต่างประเทศเข้ามาศึกษาสังคมไทยนี่ เขาจะศึกษาองค์ประกอบและสถาบันต่างๆ ของสังคมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่ง

อาตมาคิดว่า กลุ่มนิสิตนักศึกษาชาวพุทธนี่ ในเมื่ออยู่ในสภาวะนี้ มีฐานะเหมาะทีเดียวที่จะทำหน้าที่นี้ได้ คือ ทำตนให้เป็นผู้ที่มีความรู้เท่าทัน เข้าใจสังคมไทยวัฒนธรรมไทยดีเป็นพิเศษ ยิ่งกว่านิสิตนักศึกษาโดยทั่วไป เพราะว่าพุทธศาสนานี้มีส่วนสำคัญต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่อาตมาพูดอย่างนี้ ขยายความว่า พุทธศาสนาที่เกี่ยวกับประเทศไทยนั้น มีส่วนที่จะพึงศึกษาแยกออกเป็นสองด้าน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปลาเป็นว่ายทวนกระแสน้ำพุทธศาสนาในสังคมไทย >>

No Comments

Comments are closed.