- เกริ่นนำ
- อารยธรรมไทย ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา
- ตอน ๑: ปัญหาการพัฒนาของประเทศไทย
- เริ่มฉากใหม่ของการพัฒนา
- ย้อนสู่ต้นกระแสของการพัฒนา
- พ้นจากทำให้ทันสมัย กลายเป็นกำลังพัฒนา
- ปัญหาจากการพัฒนาไม่สมดุล
- สภาพการศึกษา: ดัชนีชี้ชัดของปัญหาการพัฒนา
- เบื้องหลังปัญหาการพัฒนาของไทย
- การพัฒนาอุตสาหกรรม: ความคับแคบของความคิดในการพัฒนา
- ทางเลือกในการพัฒนา หรือทางเลือกออกจากการพัฒนา
- ตอน ๒: ปัญหาการพัฒนาของโลก และทางออก
- ไม่พัฒนาก็ติดขัด พัฒนาแล้วก็ติดตัน
- ชีวิตและสังคมเสียสมดุล
- โลกแห่งธรรมชาติ ก็คลาดจากดุล
- เบื้องหลังปัญหาการพัฒนาระดับโลก
- เทคโนโลยี: ผู้แปลกหน้า มาดีหรือมาร้าย
- เทคโนโลยี: ปัจจัยนอกระบบ เพียงแปลกหน้า หรือว่าแปลกปลอม
- ออกจากยุคพัฒนา ด้วยการพัฒนาให้สมดุล
- ถ้าไม่ถึงธรรม ก็ไม่พ้นภัยของการพัฒนา
- ทางเลือกที่รอการเริ่ม
- อนุโมทนา
อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา1
เกริ่นนำ
ปาฐกถาปาจารยสาร ได้จัดมาเป็นประจำทุกปี เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นต้นมา ถึงบัดนี้ เป็นปีที่ ๓ ในปีนี้ทางปาจารยสาร ได้จัดร่วมกับสถาบันสันติประชาธรรม ซึ่งทั้ง ๒ หน่วยงานนี้ สังกัดอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป สำหรับการปาฐกถาในปีนี้ ทางเราได้รับความเมตตาจาก พระเดชพระคุณท่านพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ซึ่งท่านจะได้แสดงปาฐกถาในหัวข้อที่ชื่อว่า อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา ก่อนที่ท่านจะได้กล่าวปาฐกถา ก็ขอเรียนเชิญ อาจารย์อุทัย ดุลยเกษม มากล่าวนำสักเล็กน้อย ขอเชิญครับ
ดร. อุทัย ดุลยเกษม
กราบนมัสการท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวที พระคุณเจ้า ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และสาธุชนที่นับถือทุกท่าน
ก่อนที่กระผมจะกล่าวแนะนำองค์ปาฐก กระผมใคร่ขอประทานอนุญาต กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดปาฐกถา ประจำปีของปาจารยสาร และขอแนะนำหน่วยงานที่เป็นผู้ร่วมงานจัดปาฐกถาประจำปีนี้สักเล็กน้อย เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธุชน ซึ่งอาจจะไม่คุ้นเคยกับกิจกรรมของหน่วยงานทั้งสองนี้
หน่วยงานแรกที่ใคร่ขอแนะนำ คือ วารสารปาจารยสาร วารสารปาจารยสารนั้น ถือกำเนิดในบรรณภพ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นผู้กรุณาคิดชื่อให้ เมื่อแรกที่วารสารเล่มนี้เกิดขึ้นนั้น โดยนิตินัย เป็นของสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (ก่อนที่จะมาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) และบรรณาธิการคนแรกก็คือ นายพิภพ ธงไชย แนวของวารสารฉบับนี้ในยุคแรกได้เน้นหนักการวิเคราะห์และเสนอแนะแนวคิดเกี่ยวกับระบบการศึกษา ต่อมาเมื่อเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัยและเปลี่ยนตัวบรรณาธิการ แนวของหนังสือก็ให้การเน้นหนักในเรื่องที่แตกต่างกันออกไป เป็นเรื่องอหิงสธรรม เรื่องนิเวศวิทยา และเรื่องจริยธรรม เป็นอาทิ แต่ที่คงเส้นคงวาอยู่ตลอดมา ก็คือ วารสารเล่มนี้ มุ่งที่จะเสนอแนวความคิดใหม่ เพื่อแสวงหาทางออกอันงดงามให้แก่สังคมไทยในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษา ด้านการเมือง และด้านวัฒนธรรม
ล่วงมาถึงคณะบรรณาธิการชุดปัจจุบัน ซึ่งมีนายอาทร เตชะธาดา เป็นบรรณาธิการบริหาร ก็ได้ดำริให้มีการจัด ปาฐกถาปาจารยสารประจำปีขึ้น นอกเหนือไปจากการออกวารสารปาจารยสารราย ๒ เดือน และการจัดพิมพ์หนังสือเล่ม
การจัดปาฐกถาประจำปีของปาจารยสารนั้น มีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ ๓ ประการ คือ
ประการแรก มุ่งหมายให้นำเสนอความคิดความอ่าน ที่เกิดแต่การทำความเข้าใจถึงการประสานกลมกลืนทางสังคม สิ่งแวดล้อม และนิเวศวิทยา
ประการที่สอง หวังที่จะให้มีส่วนร่วมในการกระตุ้นหรือผลักดัน ให้ช่วยกันแสวงหาคำตอบต่อปัญหา อันเนื่องกับชีวิตและสังคมร่วมสมัย โดยการเห็นแง่มุมต่างๆ อย่างรอบคอบ รอบด้าน ด้วยการแสวงหาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยเราเอง ยิ่งไปกว่าการหาคำตอบจากอัสดงคตประเทศที่หลายกรณีไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมไทย คนไทย ซึ่งบางส่วนถลำลึกไปถึงขั้นที่ขาดความคิดพึ่งตนเอง กระทั่งเป็นการขาดศักดิ์ศรีตามธรรมชาติที่มนุษย์พึงจะมี
ประการที่สาม มุ่งหมายในประโยชน์จากการเกื้อกูลให้ร่วมกัน โดยพยายามมองไปถึงอนาคตการณ์ของสังคมที่พึงประสงค์อย่างรอบด้าน อีกทั้งยาวไกลว่าสภาพสังคมไทยต่อไปจะเป็นอย่างไร ในถ้วนทั่วปริมณฑล อาทิ ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม เป็นต้น ทั้งนี้ ด้วยการคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงจากอดีต และปัจจุบันของเราเองเป็นพื้นฐาน ผนวกเข้ากับเจตนารมณ์ที่มุ่งหมายความไพบูลย์ในภายหน้า ยังประโยชน์ให้รู้จักใช้เงื่อนไขที่เป็นคุณ และขจัดปัจจัยอันเป็นโทษ สืบสานสร้างสังคมที่ดีงามในยุคสมัยของเรา และจากชั่วชีวิตของเรานี้เอง
การจัดปาฐกถาปาจารยสารได้มีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบอายุ ๘๐ ปี ของพระเดชพระคุณท่านอาจารย์ พุทธทาสมหาเถระ ผู้แสดงปาฐกถาประจำปีนั้น ได้แก่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ โดยแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “การสร้างสรรค์สติปัญญาอย่างไทย” และได้ใช้พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เป็นที่แสดง
การจัดปาฐกถา ครั้งที่ ๒ จัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ และองค์ปาฐกก็คือ พระเดชพระคุณท่านอาจารย์ พุทธทาสมหาเถระ ในหัวข้อ “พุทธศาสนากับคนรุ่นใหม่และสังคมไทยในอนาคต” ซึ่งจัดขึ้นที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
การจัดปาฐกถาครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓
หน่วยงานอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งได้มีโอกาสเข้าร่วมในการจัดปาฐกถาครั้งนี้ คือ สถาบันสันติประชาธรรม พระคุณเจ้าและท่านสาธุชนทั้งหลายอาจจะไม่คุ้นเคย หรือได้ยินชื่อของสถาบันแห่งนี้มาก่อน กระผมจึงขอประทานอนุญาตแนะนำพอเป็นสังเขป ดังนี้
สถาบันสันติประชาธรรม เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ภายใต้การบริหารงานของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ สถาบันแห่งนี้มั่นหมายที่จะแสวงหาและเกื้อกูลต่อความพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมไทยที่มีลักษณะเป็นธรรมาธิปไตย โดยให้ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมได้มีส่วนร่วมในระดับต่างๆ ในกระบวนการกำหนดอนาคตของสังคมไทย ผ่านวิธีการแบบอหิงสธรรม อันอาจนำไปสู่สภาวะการพึ่งพาตนเองได้ในทุกมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และสติปัญญา สถาบันแห่งนี้ได้พยายามจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนโยงใยกับการหนุนเนื่องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปในทิศทางดังกล่าวแล้ว กิจกรรมด้านการแสวงหาแนวความคิดและเผยแพร่แนวความคิดด้านต่างๆ ก็เป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของสถาบัน ในปัจจุบันนี้ เจ้าหน้าที่ของสถาบันเองก็ตระหนักดีว่า ยังขาดทั้งสติและปัญญาพอที่จะมองเห็นทางออกให้แก่สังคมไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของวิธีการ ด้วยเหตุนี้ ทางคณะผู้จัดทำวารสารปาจารยสาร และเจ้าหน้าที่ของสถาบันสันติประชาธรรม จึงได้ร่วมมือกันจัดให้มีการปาฐกถาในครั้งนี้
กระผมควรจะได้กล่าวด้วยว่า ทั้งวารสารปาจารยสาร และสถาบันสันติประชาธรรม ต่างก็อยู่ภายใต้การสนันสนุนของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป มูลนิธิแห่งนี้ได้ดำเนินการมาในแนวทางที่ช่วยเกื้อกูลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่ความเป็นธรรมาธิปไตยเด่นชัดกว่ามูลนิธิอื่นๆ ในยุคนี้ ไม่จำเพาะแต่การสนับสนุนวารสารปาจารยสาร และสถาบันสันติประชาธรรมเท่านั้น แต่มูลนิธิแห่งนี้ยังได้สนับสนุนโครงการอื่นๆ เช่น โครงการของคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา อาศรมวงศ์สนิท และกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย
และในปีนี้ ซึ่งเป็นวาระสำคัญที่สุดวาระหนึ่งของสังคมไทย ที่สามัญชนได้รับการยกย่องจากทั่วโลก นั่นคือวาระการครบรอบอายุ ๑๐๐ ปีของพระยาอนุมานราชธน หรือ เสฐียรโกเศศ ในโอกาสฉลองอายุครบรอบ ๑๐๐ ปี ของพระยาอนุมานราชธนปีนี้ ทั้งรัฐและเอกชนในประเทศนี้และในต่างประเทศจะจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ มากมายตลอดปี และในปีหน้าก็จะเป็นโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีของพระสารประเสริฐ หรือนาคะประทีป ซึ่งจะมีการฉลองต่อเนื่องกันไป
สำหรับองค์ปาฐกประจำปีนี้ ทางวารสารปาจารยสารและสถาบันสันติประชาธรรม ได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวที เป็นอย่างมาก ที่รับอาราธนาเป็นองค์ปาฐกให้ ทั้งๆ ที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์มีภารกิจสำคัญๆ อื่นๆ อีกมากมาย แท้ที่จริง ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวที ได้ให้ความเมตตาแก่ทางเราตลอดมาทั้งโดยทางตรงและโดยอ้อม สำหรับพวกเราที่ทำงานกับมูลนิธิเด็ก มูลนิธิโกมลคีมทอง วารสารปาจารยสาร สถาบันสันติประชาธรรม และคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา ล้วนแล้วแต่ได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณอาจารย์ มาแต่ครั้งที่ยังมิได้ดำรงสมณศักดิ์ชั้นราชาคณะด้วยซ้ำ
นอกเหนือจากการรับอาราธนาเป็นองค์ปาฐกประจำปีให้วารสารปาจารยสารและสถาบันสันติประชาธรรมแล้ว ท่านเจ้าคุณอาจารย์ยังเคยเมตตารับเป็นองค์ปาฐก เนื่องในโอกาสครบรอบอายุ ๘๔ ปีของพระสารประเสริฐ เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๖ โดยได้แสดงปาฐกถาในหัวข้อที่สำคัญยิ่งคือ เกณฑ์วินิจฉัยพุทธธรรม และในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ศกนี้2 ท่านเจ้าคุณอาจารย์ยังได้เมตตารับอาราธนาเป็นองค์ปาฐก เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบอายุ ๑๐๐ ปีของพระยาอนุมานราชธน ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นโดยมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย
กระผมจะขอประทานอนุญาตไม่กล่าวถึงประวัติ หรืองานนิพนธ์ของท่านเจ้าคุณอาจารย์ เพราะปัจจุบันนี้ ท่านสาธุชนทั้งหลายสามารถหาอ่านได้โดยทั่วไป แต่กระผมจะขอประทานอนุญาตกล่าวถึงท่านเจ้าคุณอาจารย์ในทัศนะของกระผม ซึ่งถือตนว่าเป็นลูกศิษย์นอกกุฏิของท่าน และมีสติปัญญาและความรู้ห่างไกลจากท่านหลายหมื่นลี้ เพราะฉะนั้น หากกระผมกล่าวพลาดพลั้งไปก็หวังจะได้รับการอภัยด้วย
สำหรับกระผมแล้ว โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ เห็นว่า ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นเพชรน้ำเอกในวงการสงฆ์ไทย และเป็นสกอร์ล่าทางพุทธธรรม อย่างยากที่จะหาผู้ใดเทียบได้ในยุคปัจจุบัน ต้องนับเป็นบุญของบ้านนี้เมืองนี้และของพวกเราทั้งหลาย ที่ได้มีท่านเจ้าคุณอาจารย์เป็นบุคคลร่วมสมัย เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ท่านรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง ได้กล่าวกับกระผมว่า ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวทีนั้น มีความรู้ความสามารถและระดับสติปัญญาเสมอดั่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทีเดียว กระผมเองไม่อยู่ในวิสัยที่จะลงความเห็นในเชิงเปรียบเทียบเช่นนั้นได้ เพราะกระผมขาดความรู้และข้อมูลในเรื่องนี้ แต่การที่กระผมนำเอาถ้อยคำของท่านรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการมากล่าวถึง ก็เพียงเพื่อประสงค์ให้เห็นว่าทัศนะของผู้ใหญ่ในแวดวงของการศึกษาไทย ที่มีต่อท่านเจ้าคุณอาจารย์ เป็นเช่นไรเท่านั้น
กระผมเห็นว่า สังคมไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตในหลายๆ ด้าน เพราะเผชิญปัญหาต่างๆ มากมาย และปัญหาแต่ละอย่างก็มีความซับซ้อน และยากต่อการเข้าใจ เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ จำต้องอาศัยทั้งสติปัญญาที่ลึกซึ้งและมั่นคง หาไม่การแก้ปัญหาก็จะสำเร็จได้ยาก ในภาวะเช่นนี้ พวกเราที่มีความอาทรต่อความเป็นอยู่ของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม และความอยู่รอดอย่างมีศักดิ์ศรีของประเทศชาติ ย่อมมองหาบุคคลที่มีสติปัญญาลึกซึ้งและแหลมคมมาเป็นกัลยาณมิตร เพื่อจะได้ช่วยชี้แนะให้พวกเราได้มองเห็นช่องทาง ที่จะช่วยผลักดันให้สังคมไทยเปลี่ยนไปสู่สังคมธรรมาธิปไตย ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวทีเป็นผู้หนึ่ง ที่พวกเราเห็นพ้องต้องกันอย่างปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ ว่าท่านเป็นกัลยาณมิตรที่แท้ของพวกเราเสมอมา ข้อคิดและคำแนะนำของท่านเจ้าคุณอาจารย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และวัฒนธรรมนั้น ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงความเป็นเลิศทางสติปัญญา อย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมอได้ ดังที่ปรากฏในงานนิพนธ์ของท่าน เช่น ทางสายกลางของการศึกษาไทย มองอเมริกามาแก้ปัญหาไทย เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ รากฐานพุทธจริยศาสตร์ทางสังคมเพื่อสังคมไทยร่วมสมัย เป็นอาทิ ทั้งนี้โดยมิจำเป็นต้องเอ่ยถึงผลงานชิ้นเอกของท่าน คือ พุทธธรรม
ถ้าหากมองกันอย่างผิวเผิน ก็ดูประหนึ่งว่าบุคคลร่วมสมัยกับท่านเจ้าคุณอาจารย์ คอยจ้องแต่จะเรียกร้องเอาจากท่าน โดยไม่พยายามคิดค้นเอาด้วยตนเอง ต่อเมื่อพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนแล้วก็จะพบว่า แม้ข้อสังเกตดังกล่าวจะมีมูลความจริงอยู่มาก แต่ที่เป็นจริงยิ่งกว่านั้น ก็คือว่า ในยุคสมัยนี้ จะหาผู้ที่มีสติปัญญาอย่างลึกซึ้งแหลมคมนั้น หาได้ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร และคงจะเป็นสิ่งปรกติธรรมดากระมัง ที่ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง ย่อมจะมีผู้ที่มีสติปัญญาล้ำเลิศอยู่เพียงส่วนน้อย คนส่วนใหญ่นั้น อย่าว่าแต่จะมีสติปัญญาคิดเรื่องที่ลึกซึ้งนักเลย เอาแค่ระดับที่พอจะเข้าใจถึงประเด็นสำคัญที่ผู้มีสติปัญญากล่าวถึงและเสนอแนะก็หายากเสียแล้ว ที่ว่านี้ก็มีพวกเรารวมอยู่ด้วยโดยมาก กระผมก็ได้แต่หวังว่า สติปัญญาของท่านเจ้าคุณอาจารย์และความเป็นกัลยาณมิตรของท่าน จะช่วยเกื้อกูลให้พวกเราได้มีความเจริญทั้งทางด้านสติ และทางด้านปัญญามากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และกระผมจึงหวังอีกว่า ข้อคิดและข้อแนะนำของท่านเจ้าคุณอาจารย์ จะช่วยขจัดมิจฉาทิฐิของพวกเราทั้งที่อยู่ในที่นี้ และที่กำลังรับผิดชอบต่อชะตากรรมของบ้านเมือง ให้หมดสิ้นหรือลดน้อยลงด้วย
สำหรับหัวข้อปาฐกถาประจำปีนี้ คือ
อารยธรรมไทย: ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา
กระผมขอนมัสการและขอเรียนเชิญท่านสาธุชนทั้งหลายได้สดับในอันดับต่อไป ในโอกาสนี้ขอกราบอาราธนาท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวที ได้แสดงปาฐกถาประจำปี ของปาจารยสารต่อไป ขอกราบนมัสการ
No Comments
Comments are closed.