- คาถานำ: “เงินทอง ไม่ทำให้หมดกิเลส”
- ชีวิตยาวนาน ที่ผ่านประสบการณ์มากหลาย
- เงินจำนวนใหญ่ คนได้ยินตื่นใจ แต่ควรสนใจว่า สร้างมา และได้ใช้ไปอย่างไร
- เงินทองเป็นของสำคัญ มีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์
- ดูชาวบ้านดี ที่การหา รักษา และใช้ทรัพย์
- ทรัพย์ไม่อาจครอบงำจิต หรือบังปัญญา ของอารยชน
- ปุถุชนมุ่งมั่น จะมีทรัพย์และอำนาจ
- อารยชนมีจุดสนใจ ที่วิธีใช้ทรัพย์และอำนาจ
- ทรัพย์และอำนาจ เพื่อเป็นเครื่องมือของกิเลส หรือเพื่อเป็นอุปกรณ์ของธรรม
- ทรัพย์ภายนอกมีคุณค่าและความหมาย เมื่อมีทรัพย์ภายในเป็นฐาน
- ทรัพย์สินสำคัญ แต่เราต้องรู้ทัน และข้ามพ้นจุดอ่อนของมัน
- มนุษย์ที่พัฒนา รู้จักสัมพันธ์ ทำให้ทรัพย์ทั้งนอกทั้งในเป็นปัจจัยแก่กัน
- หลักประกันชีวิตขั้นสุดท้าย คือทรัพย์ภายในแห่งความมีธรรม
- นักพัฒนาที่แท้ เจอทุกข์ยิ่งได้ธรรม เจอปัญหายิ่งได้ปัญญา
- ชัยชนะสูงสุด ที่ทำชีวิตให้สมบูรณ์
- คำอนุโมทนา ในการพิมพ์ครั้งแรก
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
น หิรญฺญสุวณฺเณน ปริกฺขียนฺติ อาสวาติ1
ณ บัดนี้จะได้แสดงพระธรรมเทศนาอนุโมทนาในการบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่ คุณน้ำทอง คุณวิศาล และ น.ส. เอิบสิริ คุณวิศาล ผู้ได้ล่วงลับไป ในวาระอันสำคัญ ก่อนที่จะถึงวันพระราชทานเพลิงศพ
ณ โอกาสนี้ คณะท่านเจ้าภาพ ประกอบด้วยคุณโยมบุษยา คุณวิศาล เป็นประธาน แม้ว่าท่านจะมิอาจมาในที่ชุมนุมนี้ได้เพราะชราภาพ ก็มีคุณหมออรวรรณ คุณวิศาล เป็นผู้แทน พร้อมด้วยน้องๆ ทั้งน้องชายน้องหญิง เขยและสะใภ้ กับทั้งหลานๆ และผู้ที่เคารพนับถือมาร่วมกันบำเพ็ญกุศล เป็นการแสดงออกซึ่งน้ำใจที่ประกอบด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม
โดยความเป็นพุทธศาสนิกชน ในฐานะที่เป็นอุบาสกอุบาสิกา ย่อมมีความรู้ตระหนักในหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่แสดงถึงคติธรรมดาของสังขารว่า ชีวิตของเรานี้เป็นสิ่งที่เป็นไปตามหลักของพระไตรลักษณ์ คือมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นอนิจจัง และเป็นสิ่งที่คงทนอยู่ในสภาพเดิมตลอดไปไม่ได้ เป็นทุกขัง ไม่มีตัวตนที่ยั่งยืนถาวร เป็นไปตามเหตุปัจจัย เรียกว่าเป็นอนัตตา
พุทธศาสนิกชนมีความรู้เข้าใจตระหนักในหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นนี้แล้ว แม้มีการพลัดพรากจากไป มีความเศร้าโศกเสียใจ แต่ก็ทำใจได้ ด้วยคำนึงถึงหลักความจริง โดยมีความเข้าใจอันประกอบด้วยสติปัญญา ดังที่กล่าวมา
No Comments
Comments are closed.