ข้อสังเกต เกี่ยวกับฐานที่จะสร้างสรรค์ปัญญา

19 มีนาคม 2538
เป็นตอนที่ 2 จาก 18 ตอนของ

ข้อสังเกตเกี่ยวกับฐานที่จะสร้างสรรค์ปัญญา

ในการสร้างสรรค์
ปัจจุบันมีแต่บทเรียน ไม่มีแบบอย่าง

เมื่อเราจะทำการพัฒนาอะไร เรามักจะมองไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น มองไปที่ประเทศอเมริกา บางทีก็อาจจะมองต่อไปที่ประเทศญี่ปุ่น บางทีก็ขยายไปถึงประเทศเยอรมัน เรื่องนี้ต้องขอทำความเข้าใจกันตั้งแต่ต้นว่า การที่เรามองนั้นไม่ใช่เพื่อเอาเป็นแบบอย่าง แต่เรามองเพื่อเป็นบทเรียน เพื่อการเรียนรู้ เพื่อศึกษาข้อดีข้อเสีย ส่วนเด่นส่วนด้อย ในการที่จะปรับใช้ให้เป็นประโยชน์เข้ากับสังคมไทยของเรา

ตามที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ในการสร้างสรรค์มนุษยชาตินั้น แม้ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังมีแนวความคิดที่มุ่งสร้างสรรค์สังคมของตนเองในลักษณะที่แข่งขันกันเพื่อความยิ่งใหญ่กว่าผู้อื่น คือ มุ่งจะเอาชนะ ซึ่งอาจหมายถึงการที่จะต้องครอบงำหรือบั่นทอนกำลังของผู้อื่นด้วย

นอกจากนี้ยังมีแง่คิดอีกหลายอย่าง เช่น ประเทศที่พัฒนาเหล่านั้น บางทีแม้ว่าขณะนี้จะอยู่ในความยิ่งใหญ่ แต่เขาอาจอยู่ในทางเดินที่ต่ำลงก็ได้ หมายความว่า กำลังเสื่อมลง ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา เวลานี้ก็มีปัญหามากมาย ท่านผู้รู้ทั้งหลายก็คงทราบกันอยู่ ตำรับตำราและหนังสือที่ออกมามากมายแสดงถึงความวิตกทุกข์ร้อน เกี่ยวกับความเสื่อมโทรมในสังคมของตน บางรายถึงกับทำนายว่าประเทศอเมริกาจะกลายเป็นประเทศในโลกที่สาม ภายในปี ๒๐๒๐ คือภายใน ๒๕ ปีข้างหน้า

ในแง่นี้เราคงเอาอเมริกามาเป็นแบบอย่างไม่ได้ และเราก็ควรจะมีความคิดในทางเกื้อหนุนอเมริกาด้วย ว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อช่วยพยุงประเทศอเมริกา แต่ไม่ใช่พยุงในฐานะผู้ยิ่งใหญ่เพื่อมีอำนาจครอบงำใคร แต่ในแง่ที่จะมาเป็นส่วนร่วมที่ดี ในการช่วยสร้างสรรค์โลกมนุษย์นี้ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอเมริกาก็เป็นประเทศที่มีแง่ที่ดีงามหลายอย่าง แต่ที่อเมริกาเสื่อมลง ก็มีเหตุปัจจัยที่น่าศึกษา อันจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการสร้างสรรค์ปัญญา

ในเรื่องความเสื่อมของอเมริกานั้น ขอยกตัวอย่างเป็นข้อสังเกต เช่น ในระยะเวลาที่ผ่านมาใกล้ๆ นี้ ในทางการศึกษา นักการศึกษาอเมริกันเน้นการทำบทเรียนและกิจกรรรม ให้เป็นที่น่าสนใจแก่เด็ก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ตอนนี้ชักจะเกินเลยไปจนเป็นระดับที่เอาใจเด็ก ทำให้เกิดความอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นหนทางแห่งความเสื่อม ในเวลาเดียวกัน อเมริกาก็โอดครวญว่าการศึกษาในสังคมของตัวเสื่อมลงมาก ผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาต่ำ สู้ประเทศอื่นหลายประเทศไม่ได้ เวลาเอาเด็กมาแข่งกันในระดับนานาชาติ บางทีแทบเป็นอันดับโหล่ ตรงข้ามกับบางประเทศ ที่สร้างเด็กให้มีความเข้มแข็ง สู้บทเรียนที่ยาก สู้กิจกรรมที่ยาก ให้มีความใฝ่รู้อย่างสูง กลับมีผลสัมฤทธิ์ในการศึกษาสูง

ความจริงแต่เดิมในอเมริกาก็ฝึกเด็กให้เข้มแข็ง เป็นนักสู้ แต่เวลานี้อเมริกากำลังเอียงไปในทางสนองความต้องการแบบเอาใจเด็ก เอาใจเด็กจนกระทั่งว่า เด็กไม่อยากเรียนก็ไม่ต้องเรียน ครูก็หาทางที่จะทำให้บทเรียนน่าสนใจ เอาใจเด็กเข้าไว้ ถ้าการศึกษาเป็นไปในวิถีทางนี้นานๆ เข้า ก็จะเป็นแนวโน้มสู่ความเสื่อมลง นับว่าเป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่เราไม่น่าจะเอาเป็นแบบอย่าง แต่ควรสังเกตเอาไว้เป็นบทเรียน เอามาใช้ประโยชน์ แต่ที่พูดเช่นนี้มิใช่หมายความว่าสังคมของเราจะดี จะเก่ง แต่เรากำลังพูดกันในเรื่องที่จะเป็นการสร้างสรรค์ปัญญา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (กล่าวนำ)สังคมไทย: ฐานเดิม และทิศทางในการสร้างสรรค์ปัญญา >>

No Comments

Comments are closed.