สังคมไทย: ฐานเดิม และทิศทางในการสร้างสรรค์ปัญญา

19 มีนาคม 2538
เป็นตอนที่ 3 จาก 18 ตอนของ

สังคมไทย: ฐานเดิม
และทิศทางในการสร้างสรรค์ปัญญา

แท้จริง ในสังคมของเราก็มีข้อที่น่าเป็นห่วงมาก สังคมไทยมีสภาพซึ่งเป็นที่น่าสังเกต ตามหลักพระพุทธศาสนาบอกว่า เราจะต้องให้เด็กรู้จักคิด รู้จักพิจารณา ท่านเรียกว่า โยนิโสมนสิการ คือ การรู้จักคิด คิดเป็น คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล คิดในทางที่จะเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย คิดในทางที่ทำให้รู้จักใช้สิ่งทั้งหลายให้เป็นประโยชน์ แต่น่าสังเกตว่า การเลี้ยงดูเด็กในสังคมไทยไม่ค่อยส่งเสริมโยนิโสมนสิการนี้

จะเห็นได้อย่างง่ายๆ เช่น เราพาเด็กไปตามสถานที่ค้าขายต่างๆ เมื่อพ่อแม่พาเด็กไปเจอของเล่นต่างๆ เด็กย่อมชอบของเล่นเป็นธรรมดา และเด็กก็จะถามเรื่องของเล่นอย่างโน้นอย่างนี้ แสดงความอยากรู้อยากเห็น แต่ในสถานการณ์อย่างนี้ พ่อแม่ไทยเรามักจะนำเด็กให้สนใจในแง่ที่ว่าอันนี้ซิดี อันนั้นซิสวย อันโน้นสวยกว่า น่าดูกว่า อันนั้นสู้อันนี้ไม่ได้ แทนที่จะกระตุ้นปัญญาให้เด็กรู้เข้าใจหรือกระตุ้นความคิดเชิงหาความจริงและเหตุผลว่า เออ อันนี้คืออะไร เป็นอย่างไร มันใช้เพื่อประโยชน์อะไร เขาทำมันมาได้อย่างไร มันทำงานอย่างไร เป็นต้น ทั้งๆ ที่เด็กมีเค้าที่จะพัฒนาปัญญา โดยมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่แล้ว แต่พ่อแม่กลับไปดับปัญญาของเด็กเสีย แล้วก็โน้มนำให้เด็กเบนไปสู่ตัณหา

อันนี้เป็นภาพที่น่าสังเกตในสังคมไทย ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นไปมาก แสดงว่า เริ่มตั้งแต่การเลี้ยงดูเด็ก เราก็ไม่ค่อยกระตุ้นทางปัญญา เพราะฉะนั้น สังคมไทยของเราก็ควรแก้ไขปรับปรุงตัวเอง ตอนนี้จะกลายเป็นการพูดในรายละเอียดมากเกินไป ขอกลับไปพูดในแง่ของการช่วยกันสร้างสรรค์ปัญญาเพื่ออนาคตของมนุษยชาติทั้งหมด

เราไม่ควรลืมว่า ในเวทีโลกปัจจุบัน มีการแข่งขันกันสูง และเราก็ต้องไม่มองข้ามความเป็นจริงว่า ในทางปฏิบัติเราก็ละเว้นไม่ได้ที่จะแข่งขันกับเขาด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะต้องแข่งขันในการที่จะเป็นผู้ชนะเขา หรือทันเขา ตามกระแสของโลก แต่เราจะต้องยืนอยู่ในวัตถุประสงค์สูงสุดว่า ในที่สุดเราจะต้องทำเพื่อมนุษยชาติทั้งหมด เพื่อความดีงามร่วมกัน มิฉะนั้นเราจะเป็นเพียงผู้มีส่วนร่วมในการสร้างปัญหาแก่โลก

ถ้าจะพูดในแง่ว่าเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ก็คงจะต้องวางเป็นสองชั้น คือต้องมียุทธศาสตร์ชาติสองชั้นด้วยกัน ได้แก่

ชั้นที่ ๑. ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อชาติ คือยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสร้างสังคมไทยให้ดีให้งาม มีความเจริญทันเขา ไม่แพ้เขา ตลอดจนชนะเขา อย่างน้อยไม่ให้ถูกเขาครอบงำ

ชั้นที่ ๒. ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อโลก อันนี้ก็ต้องมีด้วย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นการริเริ่มที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การอยู่รอดปลอดภัย และสันติสุขของมนุษยชาติ

ในขั้นต้น เราต้องแข่งขันให้ชนะเขา แต่เหนือกว่านั้นก็คือ เราควรจะขึ้นไปเหนือการชนะ เหนือกว่าการแข่งขัน มาสู่สถานะที่จะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลโลก เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติอย่างแท้จริง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ข้อสังเกต เกี่ยวกับฐานที่จะสร้างสรรค์ปัญญาข่าวสาร: ช่วยเสริมปัญญา หรือว่าใช้ล่อเหยื่อ >>

No Comments

Comments are closed.