ปัญญา ทั้งเข้าถึงธรรมชาติ ทั้งสามารถจัดสรรสังคม จึงจะสมบูรณ์ด้วยความหมาย

19 มีนาคม 2538
เป็นตอนที่ 10 จาก 18 ตอนของ

ปัญญา ทั้งเข้าถึงธรรมชาติ ทั้งสามารถจัดสรรสังคม
จึงจะสมบูรณ์ด้วยความหมาย

ต่อไปประการที่สาม เรื่องปัญญานี้ มีสองด้าน มาบรรจบประสานกัน คือ

๑. ปัญญาที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ

๒. ปัญญาที่นำความรู้ในความจริงนั้นมาใช้จัดสรรสังคมให้ดี

ปัญญาสองขั้นนี้มีความสัมพันธ์กันและสำคัญอย่างยิ่ง บางทีเราอาจมองข้ามไป

พระพุทธศาสนาสอนว่า ความจริงมีอยู่ตามธรรมชาติ พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่ก็ตาม ความจริงก็เป็นอย่างนั้น แต่พระพุทธเจ้าได้มาค้นพบความจริงนั้นแล้ว ก็นำมาเปิดเผยชี้แจงแสดงอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ความจริงนี้เรียกว่า ธัมมะ หรือ ธรรม หรือกฎธรรมชาติ

ชีวิตมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเป็นไปตามความจริงหรืออยู่ใต้กฎนี้ด้วย ฉะนั้น ชีวิตของมนุษย์จะดำเนินไปด้วยดีได้จะต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ ถ้าเราดำเนินชีวิตไม่สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ ชีวิตก็ไม่อาจเป็นไปด้วยดี แม้แต่จะอยู่รอดก็เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นการเข้าถึงความจริงในธรรมชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตได้ดี โดยเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ

มนุษย์เราอยู่กันเป็นหมู่ อยู่กันเป็นสังคม ทำอย่างไรจะให้หมู่มนุษย์จำนวนมาก ดำเนินชีวิตได้สอดคล้องกับความจริงตามกฎของธรรมชาติ คำตอบก็คือเราต้องขยายปัญญานี้ ไปให้แก่สังคมมนุษย์ ตอนนี้เป็นขั้นที่สอง ดังนั้น เพื่อให้หมู่มนุษย์ได้ประโยชน์จากความจริงในธรรมชาติ ท่านผู้รู้ความจริงแล้วจึงมาจัดตั้งแบบแผน จัดสรรดำเนินการ วางระบบระเบียบต่างๆ เพื่อให้สังคมมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่จะช่วยเกื้อกูลตะล่อมให้ชีวิตของคนทั้งหลายที่อยู่ในสังคมนั้นดำเนินไปสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ

พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบความจริงในธรรมชาติ แต่เพียงค้นพบความจริงในธรรมชาตินั้น ก็ยังไม่ใช่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าของเรานี้ เราเรียกพระนามเต็มว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผู้ที่ค้นพบความจริงในธรรมชาติแล้วความรู้นั้นจำกัดอยู่กับตัว เราเรียกว่าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความสามารถพิเศษมากกว่านั้น นอกจากรู้เข้าถึงความจริงในธรรมชาติแล้ว ยังสามารถจัดตั้ง วางระเบียบแบบแผน จัดสรรสิ่งแวดล้อม ที่จะทำให้ธรรมนั้นอำนวยประโยชน์แก่สังคมของมนุษย์จำนวนมากได้ด้วย ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตรงนี้ การจัดตั้งวางระเบียบชีวิตและระบบสังคมบนฐานแห่งความรู้ในความจริงของธรรมชาติ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่สังคมมนุษย์นี้ เรียกว่า วินัย

“วินัย” เป็นศัพท์ที่มีความหมายกว้าง แต่เวลานี้เราใช้ในความหมายแคบ ขอย้ำว่า วินัยคือการจัดตั้งวางระบบขึ้นในสังคมมนุษย์ด้วยความรู้ในหลักความจริงของธรรมชาติ ที่จะให้หมู่มนุษย์หรือคนจำนวนมากสามารถดำเนินชีวิตโดยสอดคล้องกับหลักความจริงนั้น เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงามในสังคมที่มีสันติสุข วินัยที่มนุษย์ผู้มีปัญญาจัดตั้งขึ้น จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญของพระพุทธศาสนา คู่กันกับธรรมที่เป็นตัวความจริงในธรรมชาติ ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดจากความสามารถของปัญญาสองขั้นนี้

ปัญญาขั้นที่หนึ่ง คือ ปัญญาขั้นรู้หลักความจริง ได้แก่รู้ความจริงของธรรมชาติ

ปัญญาขั้นที่สอง คือ ปัญญาขั้นจัดสรรดำเนินการ ได้แก่ความสามารถจัดตั้งวางระบบในสังคมมนุษย์บนฐานแห่งความรู้ในความจริงนั้น

พระพุทธศาสนาประกอบด้วยหลักการสองส่วนนี้ เพราะฉะนั้น ธรรมวินัย จึงเป็นชื่อเดิมของพระพุทธศาสนา เวลานี้เรามักจะมองแต่ตัวธรรม ก็เลยขาดองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งคือวินัยไป และเลยไม่เข้าใจหลักการใหญ่นี้ พระพุทธเจ้าทรงเรียกศาสนาของพระองค์ว่า ธรรมวินัย ส่วนคำว่าพุทธศาสนาเดิมไม่ค่อยมีความสำคัญอะไร แต่มามีความสำคัญชอบใช้กันมากในระยะหลัง เพราะฉะนั้น จะมองพระพุทธศาสนาให้ครบต้องมองทั้งสองด้านนั้น คือทั้งธรรมและวินัย เป็น ธรรมวินัย

ในหมู่มนุษย์ วินัยคือการจัดตั้งแบบแผน วางระบบความเป็นอยู่ และจัดระเบียบในสังคม เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง แต่ก็มีความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับวินัยที่เราจะต้องรู้ตระหนักให้ถูกต้องและชัดเจน

มองในด้านหนึ่ง ธรรม คือความจริงในธรรมชาติที่เราเข้าถึงด้วยปัญญานั้น จะเกิดประโยชน์แก่หมู่มนุษย์ได้ดีได้จริง ก็ต่อเมื่อเรานำความรู้ในความจริงนั้นมาใช้จัดตั้งวางระบบแบบแผน และจัดสรรสภาพแวดล้อม บริหาร จัดการ ดำเนินการต่างๆ ให้เอื้อต่อการที่คนที่อยู่ในสังคมนั้นจะสามารถพัฒนาชีวิตของเขาให้ดีงาม ให้เข้าถึงปัญญาที่ทำให้บรรลุอิสรภาพได้ การจัดตั้งอันนี้ก็คือวินัย ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดตั้งทางสังคม

แต่มองในทางกลับกัน การจัดตั้งวางระเบียบแบบแผนทางสังคมที่จะได้ผลอย่างจริงจังมั่นคงนั้น จะต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม คือตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงในธรรมชาติ มิฉะนั้นระบบสังคมนั้นจะไม่ได้ผลจริง และไม่มั่นคงด้วย เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะฉะนั้น วินัยคือระบบแบบแผนของสังคม จะต้องตั้งอยู่บนฐานของความจริงในธรรมชาติ คือต้องสอดคล้องกับธรรม เราจัดตั้งวินัยขึ้นเพื่ออะไร ก็เพื่อให้คนเข้าถึงธรรม คือให้แต่ละคนเข้าถึงธรรรม ดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรม และได้ประโยชน์จากธรรมนั้น

สรุปว่า ผู้ที่จะจัดตั้งวินัย ต้องมีปัญญา ๒ ชั้น คือ ปัญญาที่รู้เข้าใจเข้าถึงความจริงแห่งธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย และปัญญาที่สามารถจัดตั้งวางระเบียบระบบในสังคมมนุษย์ให้สอดคล้องกับความจริงนั้น คือ ต้องรู้ธรรมจึงจะวางวินัยถูกต้องได้ผลจริง

ปัญญาในข้อนี้ สัมพันธ์กับปัญญาในข้อก่อน กล่าวคือ การใช้วินัยจัดตั้งวางระบบของสังคมขึ้นนั้น ก็คือการทำให้คนมีสภาพความเป็นอยู่ทั้งส่วนตัวและส่วนร่วมกัน พร้อมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เอื้อเกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตของตนให้เจริญงอกงามในไตรสิกขาหรือตรีศึกษา อันมีการพัฒนาปัญญาเป็นจุดยอด เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีงามสอดคล้องกับธรรมและเข้าถึงธรรม

ถ้าใช้ศัพท์สมัยใหม่ วินัยก็คือการจัดตั้ง learning society นั่นเอง และเป็น learning society ที่มีความหมายและความมุ่งหมายชัดเจนว่า เพื่อให้คนพัฒนาไปโดยสอดคล้องกับธรรมและเข้าถึงธรรม

จากสาระที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่า ระบบแบบแผนในสังคมมนุษย์ทั้งหมดที่เรียกว่า ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง การปกครอง ระบบการบริหาร และระบบสังคมต่างๆ ทุกอย่าง ถ้าจะให้ได้ผลจริง จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจในความจริงแท้ในธรรมชาติที่ประสานเป็นอันเดียวกันทั้งหมด เพราะฉะนั้น จึงเป็นระบบแยกย่อยที่ต้องเชื่อมโยงประสานกลมกลืนเป็นระบบแห่งวินัยใหญ่อันเดียวกัน จะต้องสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บรรจบรวมกันในที่สุด แต่เวลานี้ น่าสังเกตว่า ระบบต่างๆ เช่น ระบบการเมือง และระบบเศรษฐกิจ ถูกนำมาใช้ในสังคมเดียวกัน แต่กลับตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีคนละอย่าง จึงไม่อาจจะได้ผลดีอย่างแท้จริง ซ้ำร้ายจะมาขัดแย้งกันจนทำให้เกิดปัญหา กลายเป็นหลักฐานที่ฟ้องว่า การวางวินัยไม่ตั้งอยู่บนฐานของความจริง หรือการเข้าถึงธรรม

การที่เราจัดแยกเป็นระบบต่างๆ ก็คือการย่อยระบบใหญ่อันเดียวกันออกไป เพื่อจะสร้างหลักประกันในทุกด้าน ที่จะช่วยให้มนุษย์ในสังคมนั้นมีโอกาสดีที่สุดที่จะพัฒนาชีวิตของตนให้ดำเนินไปอย่างดีงาม มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไปจนสมบูรณ์ แม้จะแยกเป็นระบบต่างๆ มากมาย ก็มีจุดหมายเดียวกัน เพราะฉะนั้น ในที่สุดทุกระบบจะต้องประสานบรรจบเป็นอันเดียว เพราะมันควรจะต้องเป็นเพียงส่วนแยกย่อยของระบบใหญ่อันเดียวกัน แต่เวลานี้มนุษย์ยังไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้ เมื่อใดระบบทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจก็ตาม ระบบการเมืองก็ตาม ระบบใดๆ ในสังคมก็ตาม ตั้งอยู่บนฐานของความรู้ในความจริง คือตัวธรรมอันเดียวกัน เมื่อนั้นระบบต่างๆ เหล่านั้นจึงจะได้ผลแท้และมั่นคง ถ้ามิฉะนั้น มันก็จะไม่ได้ผลเต็มที่และไม่ยั่งยืน

รวมความว่า ธรรมเป็นเรื่องของความเป็นจริงตามธรรมชาติซึ่งมีอยู่เป็นธรรมดา เป็นเรื่องของชีวิตจิตใจและปัญญา เป็นเรื่องของเนื้อหาสาระ และเป็นเรื่องของตัวบุคคล ที่แต่ละชีวิตจะต้องรับผิดชอบตัวเองต่อกฎธรรมชาติ ในฐานะที่ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่วินัยเป็นเรื่องของการจัดระบบสังคม ซึ่งเป็นเรื่องของสมมติ เป็นเรื่องของรูปแบบ เป็นเรื่องหนักไปทางด้านรูปธรรม และเป็นเรื่องของสังคมมนุษย์ ที่แต่ละบุคคลจะต้องรับผิดชอบต่อกฎเกณฑ์ของสังคม

เมื่อมองพระพุทธศาสนา ต้องมองให้ครบ อย่าลืมด้านวินัย พระพุทธศาสนาภาคการจัดตั้งของวินัยให้ความสำคัญกับเรื่องวัตถุมาก ขอให้ดูวินัยของพระสงฆ์เป็นตัวอย่าง วินัยของพระสงฆ์นั้น ว่าด้วยเรื่องปัจจัยสี่ และการจัดสรรปัจจัยสี่มากมาย ว่าด้วยระบบการอยู่ร่วมกันว่าจะมีความสัมพันธ์กันอย่างไร จะดำเนินกิจการส่วนรวมร่วมกันอย่างไร จะดูแลปกครองกันอย่างไร จะวินิจฉัยตัดสินคดีอย่างไร เป็นต้น

ในแง่ของธรรม บุคคลแต่ละคนรับผิดชอบต่อกฎธรรมชาติ ชีวิตรับผิดชอบต่อกรรมของตน กรรมในทางธรรมก็คือปฏิบัติการของกฎธรรมชาติ ที่กระทำต่อบุคคลแต่ละคนนั้นเป็นส่วนตัว แต่ในแง่ของวินัย บุคคลแต่ละคนรับผิดชอบต่อสงฆ์คือต่อสังคม บุคคลที่ทำความผิดจะต้องรับผิดชอบต่อกติกาของสังคม สงฆ์คือสังคม ไม่รอการให้ผลของกรรมตามกฎธรรมชาติ แต่สงฆ์มีหลักแห่งกรรมทางวินัย ซึ่งเป็นกรรมสมมติ ที่จะจัดการกับผู้ทำผิดนั้นทันที กรรมในทางวินัย ก็คือปฏิบัติการของสังคมที่กระทำต่อบุคคลนั้นในฐานะเป็นสมาชิกของสังคม

เป็นอันว่าคนรับผิดชอบต่อกรรม ๒ อย่าง ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติก็รับผิดชอบต่อกรรมที่เป็นปฏิบัติการของกฎธรรมชาติเป็นส่วนตัวแห่งชีวิตของตน และในฐานะที่เป็นสมาชิกผู้หนึ่งของสังคม ก็รับผิดชอบต่อกรรมที่เป็นปฏิบัติการของกติกาสังคมเป็นการส่วนรวมโดยไม่รอการให้ผลของกรรมที่เป็นกฎธรรมชาติ

การมองพุทธศาสนาจะต้องมองให้ครบอย่างนี้ ขณะนี้เรามองพุทธศาสนาแบบเว้าๆ แหว่งๆ เมื่อครบทั้งสองส่วนนี้แล้ว ก็จะมาบรรจบประสานกัน แนวความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องของสิ่งที่ตรงข้าม แต่เป็นสองด้านที่มาประสานกันให้เกิดความสมบูรณ์ การแก้ปัญหาของมนุษย์ในสังคมหนึ่งสังคมใดตลอดจนโลกทั้งหมดจะต้องทำให้ครบทั้งสองด้านอย่างนี้

เมื่อมองในแง่ของธรรมซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติ ตามหลักพระพุทธศาสนาถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกฝนพัฒนา และเมื่อมองในแง่ของวินัยเราก็จึงจัดสนองให้เป็นไปตามธรรมนั้น ด้วยการตั้งระบบทางสังคมขึ้นมา เพื่อให้สังคมนั้นเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการที่แต่ละคนจะได้พัฒนาตนเองให้มีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป และสาระสำคัญแห่งการพัฒนานั้นก็คือการพัฒนาปัญญานั่นเอง

เพราะฉะนั้น การที่เราจัดตั้งระบบสังคมขึ้นมา ก็เพื่อให้มนุษย์มีโอกาสพัฒนาปัญญาของตน คือให้เป็นสังคมแห่งการศึกษา วินัยจึงเท่ากับเป็นการจัดตั้งสังคมแห่งการศึกษา เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะมีการเรียนรู้อย่างเป็นที่แน่นอน สนองตามหลักการที่ถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา คือศึกษาหรือสิกขาอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น หลักการของวินัย ก็คือ จะต้องจัดระบบสังคมที่เอื้อ หรือช่วยให้บุคคลมีโอกาสเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนเพื่อให้มีชีวิตที่ดีงาม

ตัวอย่างที่เด่นชัดก็คือวินัยของสงฆ์ ซึ่งเป็นการจัดตั้งชุมชนที่เรียกว่าสงฆ์นั้นขึ้นมา เพื่อเอื้อโอกาสให้พระภิกษุแต่ละรูปพัฒนาไปในไตรสิกขา การจัดให้มีอุปัชฌาย์อาจารย์ ก็เพื่อดูแลให้พระภิกษุที่เป็นสมาชิกใหม่ได้รับการศึกษาอบรมที่ดี เรามองพระอุปัชฌาย์ว่าเป็นผู้ปกครอง แต่ที่จริงการปกครองมิได้มีความหมายในตัวของมัน การปกครองนั้นถ้าใช้ผิดก็จะเน้นที่อำนาจและการลงโทษ แต่ที่จริง การปกครองคือการจัดสรรดูแลความเป็นอยู่ ให้เอื้อต่อการที่บุคคลนั้นๆ จะพัฒนาไปสู่ความมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้น การปกครองจึงเป็นหลักประกันให้ผู้ที่อยู่ในการปกครองมีโอกาสศึกษานั่นเอง หมายความว่า การปกครองมีเพื่อการศึกษา

น่าสังเกตว่า เวลานี้คณะสงฆ์ปกครองเพื่อการปกครองจึงเน้นไปในด้านของการใช้อำนาจ แล้วก็สูญเสียความหมายที่สอดคล้องกับธรรมชาติที่แท้จริง จึงนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมและระส่ำระสายไปทั่ว จึงขอย้ำอีกว่า การปกครองที่แท้จริงเพื่อการศึกษา และการปกครองนั้นจะมีความหมายก็ต่อเมื่อเป็นการช่วยจัดสรรสภาพเอื้อให้คนมีโอกาสฝึกฝนพัฒนา นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ขอตั้งข้อสังเกตไว้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ปัญญา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปัญญา พัฒนาพร้อมปัจจัยร่วม ในระบบองค์รวมปัญญา ทำให้รู้ความจริง และอยู่อย่างรู้เท่าทัน >>

No Comments

Comments are closed.