ปัญญา พัฒนาด้วยแรงจูงใจที่ใฝ่แสวงปัญญา

19 มีนาคม 2538
เป็นตอนที่ 18 จาก 18 ตอนของ

ปัญญา พัฒนาด้วยแรงจูงใจที่ใฝ่แสวงปัญญา

ทางสร้างปัญญาอีกอย่างหนึ่ง อยู่ในระบบที่ขยายปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒ อย่างออกไปเป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม หรือรุ่งอรุณของการศึกษา ๗ ประการ ซึ่งมีอยู่ข้อหนึ่งเรียกว่าฉันทะ ได้แก่ ความอยากหรือความต้องการ แต่เป็นความอยากที่ถูกต้อง

คนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าพุทธศาสนาสอนให้ไม่มีความอยาก แต่ที่จริงท่านสอนให้มีความอยากด้วย ความอยากนั้นมีสองอย่าง ในที่นี้หมายถึงความอยากที่ดีที่ถูกต้องเป็นกุศล คือ ฉันทะ อันได้แก่ความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ พูดสั้นๆ ว่า ใฝ่ธรรม คือต้องการความจริง ต้องการความถูกต้องความดีงาม เรียกเต็มว่า ธรรมฉันทะ

ธรรมฉันทะ คือความต้องการธรรมนี้ เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเป็นธรรมาธิปไตย คือการถือธรรมเป็นใหญ่ ได้แก่ถือความดีงามถือความถูกต้องถือความจริงเป็นใหญ่ การถืออย่างนี้จะสยบอัตตาได้

โดยทั่วไปในการอยู่ร่วมกัน อัตตาของแต่ละคนจะเด่น คือแต่ละคนจะยึดถือในความสำคัญของตนเอง ถ้าไม่จัดการในเรื่องนี้ให้ดี การถือตัวถือตนของแต่ละคนก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง แทนที่คนจะมุ่งและช่วยกันหาความจริง เขาก็มัวแต่จะคิดถึงผลประโยชน์ของตนบ้าง จะเอาชนะกันบ้าง คอยปกป้องตัวเองบ้าง จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาปัญญา

ในสังคมที่จะพัฒนาได้ จะต้องมีอะไรอย่างหนึ่งที่เหนืออัตตาของแต่ละคน ที่เป็นจุดรวมอันหนึ่งที่ทุกคนยึดถือสูงสุดเป็นอันเดียวกัน เมื่อนึกถึงสิ่งนี้แล้วทุกคนจะยอมตัว จะหยุดการถือความสำคัญของตน และหันมาทำเพื่อสิ่งนี้ได้ ถ้าสังคมมีสิ่งนี้ก็จะพัฒนาได้ ในพระพุทธศาสนานั้นท่านให้ถือธรรมเป็นใหญ่ จึงให้ใช้หลักธรรมาธิปไตย

เรื่องที่พูดมานี้ จะเห็นตัวอย่างเช่นในเวลาประชุมกัน บางทีคนยอมกันไม่ได้เพราะทุกคนถือเอาตนเองเป็นใหญ่ เมื่อเกิดการขัดแย้งกันขึ้น สังคมชาตินิยมก็เอาชาติเป็นใหญ่ เช่นเพื่อชาติญี่ปุ่นทุกคนยอมได้ แต่แบบนั้นไม่ปลอดภัย เพราะจะกลายเป็นว่า เพื่อความยิ่งใหญ่ของชาติของฉัน ฉันก็จะเบียดเบียนข่มเหงเอาเปรียบประเทศอื่นๆ ได้

หลักการที่ถูกต้องคือธรรมาธิปไตย เมื่อทุกคนมีธรรมฉันทะ คือใฝ่ธรรม ต้องการความจริงความถูกต้องความดีงาม มีธรรมาธิปไตย คือยึดถือธรรมเป็นใหญ่ เอาความจริงความถูกต้องความดีงามเป็นใหญ่ แม้แต่ในเวลาประชุมกัน ถึงจะขัดแย้งกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่เมื่อคำนึงถึงธรรมเป็นเป้าหมาย ใจมุ่งจะเข้าถึงความจริงความถูกต้องและสิ่งที่ดีงาม ทุกคนจะมองข้ามความขัดแย้งกระทบกระทั่งกันได้ ถ้าไม่ถึงความจริงความถูกต้อง และสิ่งที่ดีงาม จะไม่ยอมหยุด ด้วยธรรมฉันทะ และธรรมาธิปไตยนี้ การแสวงปัญญาก็จะดำเนินไปและดำเนินไปอย่างเข้มแข็งจริงจังจนบรรลุจุดหมาย

ในที่สุดนี้ ขอย้ำว่า การสร้างสรรค์ปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของระบบของการพัฒนามนุษย์ ซึ่งเป็นไตรภาคี ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา เรียกว่าไตรสิกขา ซึ่งจะต้องพัฒนาไปด้วยกัน

ขอจบท้ายด้วยจุดเน้นในการสร้างสรรค์ปัญญาเพื่ออนาคตของมนุษยชาติ ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญแก่การสร้างอนุชน คติเกี่ยวกับความสำคัญของอนุชนนี้ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ ซึ่งควรจะจำไว้สักข้อหนึ่ง ขอพูดเป็นภาษาบาลีว่า ปุตฺตา วตฺถุ มนุสฺสานํ แปลว่า ลูกๆ คือเด็กทั้งหลาย เป็นฐานรองรับมวลมนุษยชาติไว้ เพราะฉะนั้นเราจึงควรเน้นความสำคัญของการพัฒนาเด็ก เริ่มตั้งแต่ให้พ่อแม่ทำหน้าที่เป็นบูรพาจารย์กันให้จริงจัง

เวลานี้ เราให้ความสำคัญในเรื่องนี้หรือไม่ เราจะต้องเริ่มต้นที่ครอบครัว ซึ่งเป็นจุดที่เราเริ่มต้นได้ทันที มารดาบิดาเป็นพรหมของลูก เป็นครูคนแรก หรืออาจารย์ต้น พ่อแม่จะต้องทำหน้าที่เป็นครูคนแรก หรือเป็นอาจารย์ต้น ต่อจากนั้นครูอาจารย์ทั้งหลายภายนอกก็มาเสริมต่อ จนในที่สุดให้สังคมทั้งหมดเป็นสังคมแห่งกัลยาณมิตร

เป็นอันว่า ในการสร้างสรรค์ปัญญาเพื่ออนาคตของมนุษยชาติ จะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ระบบครอบครัวเป็นต้นไป และในการพัฒนาของเด็กนั้น ในเมื่อปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร จึงจะต้องใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ เด็กจะต้องพัฒนาการปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูล ทั้งในด้านรับเป็นและในด้านใช้เป็น เริ่มตั้งแต่ความรักการอ่าน และในการอ่านนั้นก็ต้องอ่านเป็นด้วย ดังจะเห็นว่า เด็กหรือคนบางคนอ่านมากแต่ไม่ได้เรื่อง การอ่านมากไม่สำคัญเท่าอ่านเป็น บางคนอ่านเป็น อ่านแค่ยี่สิบหน้าก็เป็นประโยชน์มากกว่าคนอ่านไม่เป็นแต่อ่านมากตั้งเป็นร้อยๆ หน้า

ยิ่งข่าวสารข้อมูลมีมากท่วมท้น เราไม่จำเป็นต้องอ่านหมด บางทีต้องกำจัดต้องแยกขยะข้อมูลออกทิ้งด้วยซ้ำไป แล้วก็อ่านให้เป็น เวลานี้ข่าวสารข้อมูลไหลพรั่งอย่างมาก และเด็กก็ไม่มีเวลาที่จะอ่านมาก เพราะเด็กมักเอาเวลาไปให้ทีวี และวีดีโอกันมาก ในเมื่อเด็กจำนวนมากไม่มีเวลาอ่านหนังสือ ก็ยิ่งต้องเน้นการอ่านเป็น เพราะอ่านเป็นแล้วก็ได้ประโยชน์คุ้มเวลา ต่อจากรับเป็นแล้วก็ใช้เป็นด้วย คือเอาข่าวสารข้อมูลที่รับเข้ามาเป็นความรู้แล้วนั้น มาใช้แก้ปัญหาและทำการสร้างสรรค์ให้ได้ผลจริงด้วย

เนื่องจากหมดเวลาแล้ว จึงขออนุโมทนาท่านที่เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ต้องขออภัยด้วยที่พูดเกินเวลาไปเยอะ ก็ถือว่าเป็นเรื่องของการที่เราจะมาช่วยกันสร้างสรรค์ปัญญา หากว่าที่พูดไปในวันนี้ จะมีคุณค่าเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ก็ขอให้ถือเป็นส่วนร่วมในกิจกรรมของมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ที่มีกุศลเจตนาในการที่จะสร้างสรรค์อนาคตของมนุษยชาติ ขอให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา พร้อมที่จะมาช่วยกันสร้างสรรค์ปัญญาเพื่ออนาคตของมนุษยชาติตามหัวข้อปาฐกถาที่ตั้งไว้นี้สืบต่อไป ขอทุกท่านจงมีความร่มเย็นเป็นสุขงอกงามในธรรมโดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปัญญา พัฒนาจากฐานแห่งการรู้จักใช้ปัญญา

No Comments

Comments are closed.