ปัญญา สร้างความพอดี ให้ชีวิตและโลกนี้อยู่ยั่งยืน

19 มีนาคม 2538
เป็นตอนที่ 12 จาก 18 ตอนของ

ปัญญา สร้างความพอดี ให้ชีวิตและโลกนี้อยู่ยั่งยืน

ข้อต่อไปคือ เรื่องปัญญานำไปสู่การประสานประโยชน์ และการอยู่ร่วมกันด้วยดี ของระบบองค์รวมใหญ่ในโลก หรือการดำรงอยู่ของมนุษย์

ปัจจุบันนี้ เมื่อมนุษย์แต่ละคนหาความสุขให้แก่ตน ก็ส่งผลกระทบกระเทือนก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย นอกจากต่อสังคมแล้ว สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติก็กลายเป็นปัญหาอย่างหนักด้วย ถ้าจะให้มนุษยชาติอยู่รอดปลอดภัย จะต้องให้ทั้งสามส่วนประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกันให้ได้ คือให้บุคคล สังคม และธรรมชาติ อยู่ดีด้วยกัน แต่ขณะนี้เราต้องประสบปัญหาจากความขัดแย้งกันระหว่างสามส่วนนี้ คือ ถ้าบุคคลได้ประโยชน์ก็มักจะเกิดผลเสียต่อสังคม หรือต่อธรรมชาติ หรือทั้งสองอย่าง ถ้าจะให้สังคมอยู่ดี บุคคลก็หาประโยชน์และความสุขไม่ได้เต็มที่ ถ้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือสังคมก็ตามจะได้ประโยชน์ ก็มักจะก่อผลเสียแก่ธรรมชาติ ถ้าจะให้ธรรมชาติอยู่ด้วยดี มนุษย์ก็ต้องสูญเสียผลประโยชน์ ต้องขาดประโยชน์หรือความสุข อะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นระบบของความขัดแย้ง คือผลประโยชน์และความอยู่ดีมีสุขของแต่ละฝ่ายขัดแย้งกัน

เวลานี้มนุษย์ยังหาทางออกในเรื่องนี้ไม่ได้ ว่าทำอย่างไรจะประสานประโยชน์ของทั้งสามส่วนหรือสามองค์ประกอบนี้ให้ได้ คือ ทำอย่างไรจะให้สิ่งที่เป็นผลดีเอื้อประโยชน์แก่บุคคลก็ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย อะไรที่ดีมีประโยชน์ต่อมนุษย์ก็ดีต่อธรรมชาติด้วย อะไรที่ดีต่อธรรมชาติก็ดีต่อมนุษย์ด้วย

ในการแก้ปัญหานี้ มนุษย์จะต้องเข้าถึงการศึกษาที่จะทำให้จุดหมายนี้สำเร็จให้ได้ คือสำเร็จจุดหมายของการประสานประโยชน์ระหว่างองค์ประกอบสามส่วนนี้ แต่เวลานี้มนุษย์ยังติดตัน ยังไม่มีความคิดที่จะเห็นทางออกนี้ ทางออกอย่างดีที่สุดที่มนุษย์มองเห็นในปัจจุบัน คือระบบที่เรียกว่าการประนีประนอม

เวลานี้มนุษย์ก็ใช้วิธีนี้ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม คือประนีประนอมกับธรรมชาติ ประนีประนอมอย่างไร คือมนุษย์เข้าใจว่าตนจะมีความสุขด้วยการเสพวัตถุให้มาก เพื่อจะให้มีเสพมากก็ต้องไปเอาทรัพยากรธรรมชาติมาจัดสรรหรือผลิตเป็นสิ่งเสพสิ่งบริโภคบำรุงบำเรอความสุขของตน เมื่อถือคติว่ามนุษย์จะสุขที่สุด เมื่อเสพมากที่สุด เขาก็ต้องจัดการเอาธรรมชาติมาใช้สนองความต้องการของตนให้เต็มที่ตามความพอใจ แต่เวลานี้ได้เกิดสภาพติดตัน คือ ถ้ามนุษย์จะเสพสุขให้มากที่สุด ทรัพยากรธรรมชาติก็พินาศ สิ่งแวดล้อมก็เสียหาย แล้วมนุษย์เองก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไร มนุษย์ก็บอกว่าเราจะต้องอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่เมื่อจะให้ธรรมชาติอยู่ดี ตัวมนุษย์เองก็ไม่สามารถเสพสุขได้เต็มที่ ก็กลายเป็นความติดตันทั้งสองทาง คือ ถ้ามนุษย์จะเสพให้สุขที่สุด ธรรมชาติก็พินาศ ถ้าไม่ให้ธรรมชาติพินาศ มนุษย์ก็อดความสุขที่ต้องการ นี่คือการเกิดลัทธิประนีประนอม ซึ่งหมายถึงการที่มนุษย์จะต้องยอมอดไม่ได้ความสุขบางส่วน เพื่อยอมให้ธรรมชาติอยู่ได้

แต่ระบบประนีประนอมนี้ไม่มั่นคง เพราะว่าจำใจ หรือไม่เต็มใจ

การประนีประนอม คือ การที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ยอมเสียบ้างเพื่อว่าแต่ละฝ่ายก็จะได้บ้าง เวลานี้มนุษย์ในโลกตะวันตกได้พัฒนาระบบจริยธรรมอย่างหนึ่งขึ้นมา เรียกว่าจริยธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจริยธรรมแห่งการประนีประนอม เป็นการกระทำด้วยความจำใจ ซึ่งทำให้มนุษย์ไม่สุขสมหวัง ไม่มีความสุขจริง จึงไม่เป็นการประสานกลมกลืน

รวมความว่า ถ้ามนุษย์ไม่เข้าถึงจุดหมายแห่งการประสานกลมกลืนแห่งผลประโยชน์ ระหว่างบุคคลกับสังคม และธรรมชาติที่เป็นสามฝ่ายนี้ มนุษยชาติจะอยู่ด้วยดีไม่ได้ การสร้างสรรค์ปัญญาของมนุษยชาติจะต้องทำอันนี้ให้สำเร็จ

เรื่องนี้ทางพุทธศาสนามีคำตอบ และถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ คือเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เมื่อมนุษย์ฝึกฝนพัฒนาก็คือเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในตัวมนุษย์ในทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้อะไรๆ ที่เกี่ยวกับมนุษย์เปลี่ยนไปหมด แม้แต่ความสุขก็เปลี่ยนไปโดยมีช่องทางที่จะมีความสุขได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นจะต้องรอความสุขจากการเสพวัตถุเพียงอย่างเดียว เราจึงไม่ติดตัน

ถ้าเราติดอยู่กับแนวความคิดว่าความสุขจะเกิดจากการเสพวัตถุสิ่งเสพบริโภค เราก็ติดตันแน่นอน เพราะการเสพสิ่งเหล่านี้หมายถึงการที่เราจะต้องทำลายธรรมชาติ แล้วเราก็หนีระบบจริยธรรมแห่งการประนีประนอมไม่พ้น

จริยธรรมที่แท้จะต้องเป็นจริยธรรมแห่งความประสานกลมกลืน และเป็นจริยธรรมแห่งความสุข ในระบบที่สามส่วน คือบุคคล สังคม และธรรมชาติประสานประโยชน์กัน ในระบบนี้ องค์ประกอบที่เป็นหัวใจของการแก้ปัญหา ก็คือตัวบุคคลหรือคน เพราะคนเป็นองค์ประกอบที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับธรรมชาติ กล่าวคือในด้านหนึ่ง คนเป็นองค์ประกอบของสังคม คนมาอยู่รวมกันเป็นสังคม และคนก็อยู่ในสังคม และในอีกด้านหนึ่ง คนก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ หรือเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง และเป็นชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าเราจัดการคนให้ถูกต้อง คนจะเป็นตัวประสานสังคมและธรรมชาติได้ แล้วทั้งสามส่วนก็จะอยู่ด้วยกันด้วยดี

คนในฐานะที่เป็นส่วนของสังคมก็คือบุคคล ในฐานะที่เป็นส่วนของธรรมชาติก็คือชีวิต แต่เวลานี้มีความแปลกแยกกันแม้แต่ในตัวคนเอง ระหว่างส่วนที่มาอยู่ในสังคมกับส่วนที่เป็นธรรมชาติ คือบุคคลกับชีวิตแปลกแยกกัน และถึงกับมีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ในเรื่องนี้คนทั่วไปมองไม่ค่อยเห็นว่าแปลกแยกจากกันอย่างไร

คนในฐานะที่เป็นบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกของสังคม กับคนนั้นในฐานะที่เป็นชีวิตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ได้แปลกแยกกัน คือบุคคลต้องการอย่างหนึ่ง แต่ชีวิตต้องการอีกอย่างหนึ่ง ท่านเชื่อไหม? แต่ละคนนี่แหละเวลานี้เป็นปัญหา ปุถุชนจะเป็นอย่างนี้แทบทั้งนั้น

ยกตัวอย่างเช่นการกินอาหาร บุคคลต้องการกินอาหารเพื่อเอร็ดอร่อย แต่ชีวิตร้องทุกข์ เพราะบุคคลนั้นไปกินอาหารที่อร่อย แต่เป็นอันตรายแก่ชีวิต เสียคุณภาพชีวิต เวลานี้เป็นกันมาก ชีวิตต้องการอย่างหนึ่ง แต่ตัวตนของคนต้องการอีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลต้องการแล้วไปกิน แต่กลับได้สิ่งที่ชีวิตไม่ต้องการ ส่วนสิ่งที่ชีวิตต้องการ บุคคลนั้นไม่เอา

ทีนี้ ถ้าเราพัฒนาคนให้สามารถประสานประโยชน์ในตัวเขาเอง ระหว่างตัวคนในฐานะที่เป็นบุคคล กับตัวคนในฐานะที่เป็นชีวิต ถ้าเพียงเขาประสานอันนี้ได้ นี้คือการพัฒนาคนขั้นพื้นฐาน แล้วเขาจะประสานสังคมกับธรรมชาติให้เข้ากันได้ จะเห็นว่าแค่กินอาหารก็ยุ่งแล้ว

ปัจจุบันนี้ คนมักกินอาหารเพื่อสนองความต้องการของตัวตน แต่ทำให้ชีวิตแย่ แต่ครั้นจะสนองความต้องการของชีวิต ให้ชีวิตเป็นอยู่ด้วยดี ให้ได้คุณภาพชีวิต คนบอกว่าฉันไม่ชอบ ไม่อยากจะกิน ฉะนั้น เราจึงต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมา ดังจะเห็นว่าในพระพุทธศาสนา ท่านเริ่มการฝึกฝนพัฒนาเบื้องแรก คือ การกินตามหลัก โภชเนมัตตัญญุตา คือความรู้จักประมาณในการบริโภค ให้กินพอดี เป็นหลักเบื้องต้น

การพัฒนาที่จะต้องไปด้วยกันกับการฝึกกิน ก็คือ การใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม นี่เป็นระบบการศึกษาพัฒนามนุษย์ที่สำคัญ ซึ่งเรามักจะมองข้าม

บุคคลออกมาจากสิ่งที่เรียกว่าอัตตา คำว่าบุคคลกับอัตตานี่เป็นตัวเดียวกัน ในทางพระท่านถือว่าเป็นศัพท์ไวพจน์ (synonym) จากการยึดติดถือมั่นในชีวิต ก็เกิดมีบุคคลเป็นตัวตนขึ้นมา แล้วคนก็มีตัวตนที่ต้องสนองความต้องการ แต่ตัวตนอันนี้ไม่ใช่ชีวิต ชีวิตเป็นสิ่งที่มีตามธรรมชาติ ส่วนตัวตน (อัตตา) นี้เราปรุงแต่งขึ้นมา

ทีนี้ ทำอย่างไรจะให้เจ้าตัวบุคคลหรืออัตตานี้ เข้าไปรู้ความจริงของมันที่เป็นชีวิตอันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แล้วประสานประโยชน์ระหว่างตัวบุคคลที่เป็นอัตตานั้น กับชีวิตคือกายกับใจที่แท้ซึ่งมีตามธรรมชาติ ถ้าเราสามารถประสานประโยชน์นี้ได้ เราก็จะทำให้องค์ ๓ ในระบบการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์มากลมกลืนกันอย่างประสานประโยชน์ หมายความว่า ถ้าตัวบุคคลกับชีวิตประสานกลมกลืนเข้าด้วยกัน สังคมกับธรรมชาติก็จะอยู่ร่วมกันด้วยดี และเมื่อนั้น มนุษยชาติก็จะอยู่รอดปลอดภัย ฉะนั้น ในการสร้างสรรค์ปัญญา จะต้องแก้ไขปัญหานี้ให้ได้

หน้าที่สำคัญที่ปัญญาทำในตอนนี้ก็คือ เมื่อปัญญารู้ความจริง เช่น รู้ความมุ่งหมายของสิ่งต่างๆ แล้ว ปัญญานั้นจะเป็นตัวปรับให้เกิดความพอดี เช่น ในการกิน ถ้าเราไม่เข้าใจความมุ่งหมายของการกิน แต่มีมิจฉาทิฏฐิ คือมีความเห็นผิดว่ากินเพื่อเอร็ดอร่อยลิ้น เราก็จะกินจนกระทั่งท้องกาง อาหารไม่ย่อย หรือกินสักว่าเพื่ออร่อย ทั้งที่เป็นโทษต่อร่างกาย เช่น มีสารเคมีปรุงแต่งกลิ่น สี รส เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่พอเรารู้ความมุ่งหมายของการกินว่า เรากินเพื่อซ่อมแซมร่างกาย บำรุงหล่อเลี้ยงให้เรามีสุขภาพดี แข็งแรง แล้วจะได้ใช้ชีวิตร่างกายนี้ไปทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ หรือดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า พอเรารู้ความมุ่งหมายแค่นี้ ก็คือปัญญาเกิดขึ้น มีความเข้าใจถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ การกินพอดีก็เกิดขึ้นทันที คือ กินอาหารได้ปริมาณและคุณค่าที่ตรงกับความต้องการของชีวิตร่างกาย

สัมมาทิฏฐิเป็นตัวปรับทำให้เกิดความพอดีขึ้น ฉะนั้น ในการสร้างวิถีชีวิตที่ถูกต้อง ที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ปัญญาที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิจึงเป็นองค์ประกอบข้อแรกของชีวิตที่ดีงามตามหลักพระพุทธศาสนา เพราะปัญญาเข้ามากำหนดวิถีชีวิตแทนอวิชชาและตัณหา ช่วยให้สนองความต้องการที่เป็นความจริงของชีวิต แทนที่จะสนองความต้องการของตัวตนที่ปรุงแต่งขึ้นมา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปัญญา ทำให้รู้ความจริง และอยู่อย่างรู้เท่าทันปัญญา พาพ้นวงจรแห่งความเจริญและความเสื่อม >>

No Comments

Comments are closed.