ปัญญา นำสัตว์ผู้ต้องศึกษา จากชีวิตที่เสี่ยงภัย สู่อิสรภาพ

19 มีนาคม 2538
เป็นตอนที่ 8 จาก 18 ตอนของ

ปัญญา นำสัตว์ผู้ต้องศึกษา
จากชีวิตที่เสี่ยงภัย สู่อิสรภาพ

โดยธรรมชาติของปัญญาที่สัมพันธ์กับมนุษย์อย่างแท้จริง เบื้องต้นเราจะเห็นได้ชัดว่า ปัญญาเป็นปัจจัยตัวเอกที่จะทำให้มนุษย์อยู่รอดปลอดภัยได้ หลุดพ้นเป็นอิสระ หรือพูดง่าย ๆ ว่า นำมนุษย์ไปสู่อิสรภาพ ถ้ามนุษย์ไม่มีปัญญา ก็ไม่มีอิสรภาพ แม้แต่จะมีชีวิตอยู่ก็ไม่รอด

มนุษย์นั้นเมื่อเกิดมาก็ยังไม่รู้อะไร และเมื่อเจออะไรที่ยังไม่รู้ ก็ไม่รู้จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไร จึงติดขัด คับข้องเป็นภาวะบีบคั้น ทำให้เกิดทุกข์เกิดปัญหา แต่ถ้าเรารู้ เราก็ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เราก็รอดพ้นปัญหาได้ ฉะนั้น เพื่อให้รู้ มนุษย์ก็ต้องเรียนรู้ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มากับตัวที่จะเรียนรู้และฝึกฝนพัฒนาทำให้เกิดปัญญาขึ้น มนุษย์มีปัญญารู้ในสิ่งนั้นยิ่งขึ้นๆ จนทำให้มีตำรา และวิชาการต่างๆ ซึ่งเป็นความรู้ในเรื่องนั้นๆ รู้เรื่องใดก็แก้ปัญหาในเรื่องนั้นได้ จนกระทั่งเข้าใจโลกตามความเป็นจริง ทำให้จัดวางชีวิตได้ลงตัวกับโลกนี้

การที่มีปัญญาแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ จัดการ ดำเนินการต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วง โปร่งโล่งไปได้นี้เรียกว่า หลุดพ้นเป็นอิสระ นั่นคืออิสรภาพ ซึ่งมีทั้งอิสรภาพทางร่างกายที่ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำของสิ่งแวดล้อม และมีปัจจัยสี่หล่อเลี้ยงให้เป็นอยู่ได้ อิสรภาพทางสังคม ที่แก้ไขลุล่วงปัญหาที่เกิดขึ้นในการอยู่ร่วมกัน มีความสัมพันธ์ที่ดี ไม่กดขี่เบียดเบียนบีบคั้นกัน ทำสังคมให้อยู่รอดปลอดภัย อิสรภาพทางจิตใจ ที่โปร่งโล่ง สงบสุข มีความพึงพอใจ

ถ้าเรามีปัญหาและยังไม่เกิดความรู้ ติดขัด แก้ปัญหาไม่ตก จิตใจก็บีบคั้นหวาดหวั่นระแวง ว้าวุ่นสับสน แต่พอปัญญารู้เข้าใจก็เกิดทางออกขึ้นมา ใจก็หายสับสนวุ่นวาย หายกระสับกระส่าย สงบได้ ปลอดโปร่งโล่งไป ปัญญาจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดอิสรภาพทางจิตใจ ในที่สุดจึงต้องมีอิสรภาพทางปัญญา ที่ปัญญาไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลส ตัณหา และอคติ

อิสรภาพทั้งหมดนี้ต้องอาศัยปัญญาทำให้เกิด มนุษย์ที่ไม่มีปัญญาจะทำอย่างไร ก็ต้องอาศัยกิเลสไปก่อน กิเลส เช่น ความกลัวทำให้เราหนีภัย ไม่ยอมเข้าไปหาสิ่งที่เป็นอันตราย ทำให้เอาตัวรอดไว้ก่อน เช่น กลัวภัยธรรมชาติ กลัวสัตว์ร้าย กลัวคนที่มีอำนาจมากกว่า ความกลัวเป็นต้นนี้ช่วยพยุงคนในขณะที่ยังไม่มีปัญญา ยังไม่รู้เหตุรู้ผล เมื่อมีปัญญาแล้วก็พ้นจากการอยู่รอดด้วยกิเลส มาอยู่ด้วยปัญญา การพัฒนาคนก็เพื่อให้เขาอยู่ดีด้วยปัญญา เมื่อแต่ละคนมีปัญญา ก็มาช่วยกันสร้างสรรค์สังคมของมนุษยชาติให้มีความเจริญ ให้อยู่ดีมีสันติสุขได้ นั่นคือความหมายของปัญญาในแง่ที่นำมนุษย์ไปสู่อิสรภาพ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หลักการสร้างสรรค์ปัญญาปัญญา พัฒนาพร้อมปัจจัยร่วม ในระบบองค์รวม >>

No Comments

Comments are closed.