เมื่อพัฒนาผิดทาง แม้แต่ความสุขพื้นฐานเดิมก็เสื่อมหาย แต่พอพัฒนาถูกต้อง ทุกอย่างเอื้อประสานกัน ความสุขก็ทวี

16 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 23 จาก 25 ตอนของ

เมื่อพัฒนาผิดทาง แม้แต่ความสุขพื้นฐานเดิมก็เสื่อมหาย
แต่พอพัฒนาถูกต้อง ทุกอย่างเอื้อประสานกัน ความสุขก็ทวี

ทีนี้ก็มาดู ความสุขแบบที่ ๓ ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ เป็นความสุขแบบง่ายๆ ธรรมดาๆ ที่มนุษย์ทั่วไปมักมองข้ามและบังตาตนเอง คือ ความสุขในการดำเนินชีวิตถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติ

มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ ได้สร้างโลกของมนุษย์ซ้อนขึ้นมาท่ามกลางโลกของธรรมชาติ แล้วโลกมนุษย์นี้ไปๆ มาๆ ก็แปลกแยกจากโลกของธรรมชาติ อย่างที่เห็นได้ชัดเจนในเวลานี้ ถ้าเราไม่สามารถหาจุดประสานให้โลกมนุษย์สมานกลมกลืนกับโลกของธรรมชาติได้ โลกมนุษย์จะมีปัญหามากขึ้นทุกที

เวลานี้โลกมนุษย์มีปัญหามาก ก็เพราะมนุษย์ได้พัฒนาโลกนี้ในแนวทางที่ทำให้ยิ่งแปลกแยกออกไปๆ จากโลกธรรมชาติ เมื่อตัวเองสามารถสร้างโลกมนุษย์ขึ้นมาได้แล้ว มนุษย์กลับขาดความสามารถที่จะทำให้โลกของตนนี้ประสานกลมกลืนกับโลกของธรรมชาติ

โลกที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมา เป็นโลกแห่งเทคโนโลยี โลกแห่งสีสันวิจิตรพิสดาร ที่แปลกแยกจากโลกของธรรมชาติ ซึ่งนอกจากทำให้มนุษย์ทะยานเพ้อไปไขว่คว้าความสุขที่ไม่สมใจจริงแล้ว ยังพรากมนุษย์ออกจากความสุขพื้นฐานที่มีอยู่เดิมเสียด้วย ทำให้มนุษย์สูญเสียความสุขที่สำคัญอย่างหนึ่งไปด้วยความแปลกแยกนั้น และโดยบังตาตัวเอง

ตัวการกั้นบังความสุขอันนี้คืออะไร คือ การรู้ไม่ทันและหลงติดในสมมติ

โลกของมนุษย์นั้นเป็นโลกแห่งสมมติทั้งสิ้น เป็นโลกที่มนุษย์แต่งสรรซ้อนขึ้นมาบนความจริงของธรรมชาติ แม้แต่กฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ในโลกมนุษย์นี้ ก็เป็นกฎสมมติ เป็นกติกาสมมติ ซึ่งมนุษย์ส่วนมากไม่รู้ตัวและมักจะหลงหลอกตนเองว่านี้คือกฎที่มีอยู่จริง เหมือนเป็นกฎธรรมชาติ โดยนึกเพลินไปกับภาพของความเป็นเหตุเป็นผล

ความเป็นเหตุเป็นผลที่ไม่เป็นจริงในโลกมนุษย์ ที่มนุษย์หลอกตัวเองนี้มีมากมาย จะขอยกตัวอย่างที่พูดแล้วพูดอีก เพราะมันชัดดี และคิดว่าคงไม่น่าเบื่อ

มนุษย์เรานี้ฉลาดสามารถสร้างกฎของมนุษย์ซ้อนขึ้นมาบนกฎธรรมชาติ เป็นกฎสมมติ แต่ความฉลาดนั้นมาพลาดตอนที่หลงไปว่ากฎที่ตนตั้งขึ้นมานั้นเป็นความจริงมีความเป็นเหตุเป็นผลจริงๆ

ตัวอย่างที่ยกให้ฟังบ่อยๆ ว่า เราจ้างคนผู้หนึ่งมาทำความสะอาด จะมากวาดบ้านหรือกวาดถนนก็ได้ แล้วก็ให้เงินเดือนสามพันบาท เขากวาดบ้าน ๑ เดือนได้เงิน ๓,๐๐๐ บาท นี้คือกฎเกิดขึ้นแล้ว การกวาดบ้าน ๑ เดือนเป็นเหตุ การได้เงินสามพันบาทเป็นผล ถามว่าจริงไหม ตอบว่าจริงขั้นหนึ่ง คือจริงโดยสมมติ

กฎเกณฑ์ประเภทสมมตินี้มนุษย์มักหลงว่าเป็นจริงแท้ เพราะดูมันสมจริง ก็เห็นๆ อยู่ถึงความเป็นเหตุเป็นผลว่า การกวาดบ้านเป็นเหตุ การได้เงินสามพันบาทเป็นผล กฎเกณฑ์ในทางสังคมศาสตร์จำนวนมากเป็นแบบนี้ ซึ่งที่จริงเป็นจริงตามเงื่อนไข เรียกว่าจริงโดยสมมติ

ที่ว่าจริงโดยสมมติ หรือจริงในระดับสมมติ หมายความว่ากฎเกณฑ์อย่างนี้เป็นจริง โดยการยอมรับร่วมกัน ขึ้นต่อเงื่อนไขคือการยอมรับ

ทำไมเรียกว่าสมมติ “สมมติ” มาจาก “สํ” บวกกับ “มติ” มติ แปลว่า การยอมรับ หรือตกลง บวกกับ สํ แปลว่าร่วมกัน สมมติ จึงแปลว่า มติร่วมกัน หรือการยอมรับร่วมกัน

สมมติไม่ใช่เรื่องเหลวไหล แต่เป็นเงื่อนไขรองรับกฎเกณฑ์ของมนุษย์ ซึ่งทำให้เป็นจริงและมีผลจริง แต่เป็นความเป็นจริงที่เกิดจากการยอมรับร่วมกัน ถ้าไม่ยอมรับและไม่ถือตามเมื่อไร ก็เหลวและหมดความหมายไปเมื่อนั้น

ที่ว่าการกวาดบ้านเป็นเหตุให้ได้เงินสามพันบาทนี้ ก็เป็นเหตุเป็นผลตามความจริง แต่เป็นจริงตามสมมติ และเพราะมีสมมติคือการยอมรับร่วมกัน ถ้าหมู่มนุษย์หรือคนสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ยอมรับ ความเป็นเหตุเป็นผลก็หายไป กฎก็หายไป ผลก็ไม่เกิดขึ้น นี้แหละเรียกว่า กฎสมมติ

มนุษย์มักจะหลงไม่รู้ตัวว่าภายใต้กฎเกณฑ์กติกาของมนุษย์นี้ มีอะไรที่ซ้อนลึกลงไปกว่านั้น เรียกว่าอยู่เบื้องหลังหรือซ้อนอยู่ คือมีกฎธรรมชาติเป็นฐานรองรับ ซึ่งเราจะต้องแยกให้ได้ระหว่าง ๒ กฎนี้ คือ กฎที่แท้ของธรรมชาติ กับ กฎสมมติของมนุษย์

ได้บอกแล้วว่า การกวาดบ้านเป็นเหตุ การได้รับเงินเดือนสามพันบาทเป็นผล นี่เป็นกฎสมมติ ซึ่งขึ้นต่อการยอมรับร่วมกัน ถ้าไม่ยอมรับก็เหลว ในกรณีที่คนที่จ้างไม่ยอมรับ คนกวาดถนนกวาดไปก็ไม่ได้เงินเดือน หรือคนที่กวาด ทำงานครบแล้ว แต่ไม่เอาเงินนั้น กฎก็ล้ม เป็นอันว่าขึ้นต่อการยอมรับร่วมกัน แต่เบื้องหลังกฎนี้มีกฎธรรมชาติเป็นฐานอยู่ก่อน

ทำไมเราจึงวางกฎเกณฑ์ว่ากวาดบ้านได้เงินเดือนสามพันบาท เพราะเราต้องการอะไร เพราะเราต้องการความสะอาด ใช่ไหม เราจึงตั้งกฎของมนุษย์ซ้อนขึ้นมา เพื่อให้ความสะอาดเกิดเป็นผลขึ้นอย่างมั่นใจ

ความสะอาดนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการกวาด เพราะฉะนั้นการกวาดนั้นจึงเป็นเหตุ และผลที่แท้โดยธรรมชาติของการกวาดนั้น ก็คือความสะอาด ตรงนี้แน่นอน อันนี้แหละเหตุผลแท้จริงที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือ การกวาดเป็นเหตุ ความสะอาดเป็นผล เราต้องทำอย่างนั้น ถ้าไม่ทำแล้ว ผลก็ไม่เกิดจริงๆ กฎอย่างนี้ไม่ใช่สมมติ แต่เป็นของจริงแท้

มนุษย์เราวางกฎสมมติขึ้นด้วยความฉลาดของเรา ก็เพื่อจะช่วยให้เราได้ผลตามกฎธรรมชาตินี้แหละ เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงต้องใช้กฎสมมตินี้อย่างรู้เท่าทัน และใช้มันเป็นตัวเชื่อมโยงเราให้ถึงกฎธรรมชาติให้ได้ อย่าหลงติดอยู่แค่กฎสมมติของมนุษย์เท่านั้น

ขอให้ดูความต่อเนื่องสัมพันธ์กันของกฎ ๒ ชั้นนี้

๑. กฎธรรมชาติ/กฎแท้ของธรรม: การกวาดเป็นเหตุ ความสะอาดเป็นผล

เราต้องการความสะอาด ซึ่งเป็นผลของการกวาด

๒. กฎมนุษย์/กฎสมมติ: การกวาดเป็นเหตุ เงินเดือนเป็นผล

เพื่อให้มีการกวาด ที่จะเป็นเหตุให้เกิดผลคือความสะอาดที่ต้องการ เราจึงวางกฎสมมติขึ้นมา เพื่อโยงคนสู่การกระทำเหตุคือการกวาด ที่จะให้ได้ความสะอาด ที่เป็นผลตามกฎของธรรมชาติ

เวลานี้โลกอยู่ด้วยกฎสมมติมาก เราใช้ระบบสมมตินี้เป็นเครื่องควบคุมบังคับคน และคนก็อยู่ด้วยกฎเกณฑ์กติกาอย่างนี้จนชักจะเพลินไปแล้วหลงลืมกฎธรรมชาติ ถ้ามนุษย์เข้าไม่ถึงกฎธรรมชาติ กฎสมมตินี้ก็ไม่ให้ความสุขแก่มนุษย์ เพราะโดยตัวของมันเองกฎสมมติไม่สามารถให้ความสุขแก่มนุษย์ ต่างจากกฎธรรมชาติที่ว่าถ้าเราปฏิบัติตรงตามมันแล้วเราก็ได้ความสุขไปในตัวเลย ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น

ถ้าเรากวาดบ้านด้วยความต้องการผลตามกฎสมมติ คือจะเอาเงินสามพันบาท ผลที่แท้จริงคือความสะอาด ซึ่งเป็นผลตามธรรมชาติของการกระทำเหตุนั้น ก็ไม่ตรงกับความต้องการของเรา คือเราไม่ต้องการความสะอาด แต่เราต้องการเงินต่างหาก นี่ก็หมายความว่าผลที่เราต้องการ กับตัวเหตุไม่ตรงกัน เท่ากับว่าเราทำเหตุคือการกวาด โดยไม่ต้องการผลของมันคือความสะอาด แต่อ้อมไปต้องการผลตามเงื่อนไขคือเงินสามพันบาท เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทนทำงานกวาดด้วยความจำใจ เพราะว่าเรากวาดเพียงเพราะต้องการเงินสามพันบาท แต่ผลของการกระทำเหตุนั้นคือความสะอาด เราไม่ได้ต้องการ

ถ้าเราต้องการเงินสามพันบาท โดยมิได้ต้องการความสะอาด การกวาดนั้นก็เป็นเรื่องจำใจ ซึ่งจำเป็นต้องทำตามเงื่อนไขที่จะให้ได้เงินเดือนสามพันบาท เมื่อเราจำใจทำเราก็ไม่มีความสุขในการทำเหตุคือการกวาด และทั้งไม่ตั้งใจทำ จึงทั้งทุกข์และไม่ได้ผลดีด้วย เป็นอันว่าเสียหมด

ถ้าการศึกษาไม่สามารถให้ปัญญาที่ช่วยให้มนุษย์โยงโลกของตนเองให้เข้ากับโลกแห่งความเป็นจริงของกฎธรรมชาติได้แล้ว การศึกษาก็เสียดุลอีก มนุษย์ก็จะสูญเสียความสุขที่ควรจะได้จากเหตุปัจจัยที่เป็นไปตามความจริงของธรรมชาติ กลายเป็นอยู่ด้วยความทุกข์มากขึ้น และกติกาของสังคมเองก็จะวิปริตผันแปร ต้องตั้งระบบควบคุมอะไรต่ออะไรขึ้นมาๆ ให้วุ่นวาย เพื่อบังคับคนที่ไม่มีความสุข ให้ฝืนใจทำงานด้วยความทุกข์ยิ่งขึ้น

วิถีชีวิตของมนุษย์ปัจจุบันเป็นอย่างนี้ มนุษย์อยู่กันโดยหลอกตัวเองด้วยระบบการคิดที่ตัวตั้งขึ้น แล้วตันอยู่แค่นั้น มองไม่ถึงความจริงของธรรมชาติ ที่เป็นเหตุผลให้แก่ระบบความคิดของตนเอง สังคมจึงวิปริตและโลกจึงวุ่นวาย เพราะมนุษย์มีโลกของมนุษย์ที่แปลกแยกจากโลกของธรรมชาติ คนอยู่กันด้วยกฎของมนุษย์ โดยไม่โยงตัวให้เข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ

เป็นอันว่า คนที่กวาดบ้านเพื่อเงินสามพันบาทที่เป็นผลตาม(เงื่อนไขของ)กฎมนุษย์ ไม่ได้ต้องการความสะอาดที่เป็นผลตาม(เหตุปัจจัยของ)กฎธรรมชาติ เขาจึงกวาดด้วยความจำใจ ทำให้มีความทุกข์เพราะฝืนใจทำ และทำไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

ในทางที่ถูกต้อง ถ้าเราปฏิบัติตามกฎธรรมชาติที่เป็นกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลที่ตรงกัน ผลเกิดจากเหตุ เหตุเป็นไปเพื่อผล เราต้องการผลจึงทำเหตุ เมื่อต้องการผลคือต้องการความสะอาด เราก็จะต้องทำเหตุคือกวาด อันนี้ผลเรียกร้องเหตุเอง ไม่ต้องมีคนอื่นคุมเราก็ทำ

ถ้าเมื่อไรเด็กต้องการความสะอาด เมื่อนั้นเด็กจะทำการกวาดเช็ดถูเอง และจะทำด้วยความสุขความพอใจ ครูไม่ต้องไปบังคับควบคุม นอกจากช่วยดูแลแนะนำเพื่อให้ทำอย่างได้ผลดี คือ เพียงแต่ช่วยบอกวิธีให้ และแนะนำว่าจะกวาดอย่างไรดี แต่ตัวเด็กเองนั้นพร้อมจะกวาดอยู่แล้ว เขาจึงตั้งใจทำ พร้อมทั้งเต็มใจทำ เมื่อทั้งเต็มใจและตั้งใจ จึงทำได้ผลดี และมีความสุขในการกระทำ

ในเวลาที่เขากวาดบ้านนั้น เขาจะกวาดด้วยความสุข เพราะตลอดเวลาที่กวาดนั้น เขาจะเห็นผลคือความสะอาดเกิดขึ้นทันที กวาดไปได้เท่าใดก็เห็นผลที่ต้องการคือความสะอาดเกิดขึ้นเท่านั้น เมื่อเห็นผลที่เขาต้องการเกิดขึ้น ความสุขก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ดังนั้นการทำงานอย่างนี้จึงทำให้ได้ปีติและความสุข

นี้คือปฏิบัติการของมนุษย์ที่ซื่อตรงตามกฎธรรมชาติ และเป็นการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ความต้องการจะซื่อตรงตามกฎธรรมชาติหรือไม่ และสอดคล้องกับความจริงหรือไม่ ต้องอาศัยปัญญาของมนุษย์ ซึ่งเกิดจากการพัฒนา และการสนองความต้องการนี้แหละเป็นตัวกำหนดความสุขชนิดที่แท้หรือเทียม ชนิดที่ก่อหรือแก้ปัญหาแก่เขา จึงควรรู้จักชื่อของมันไว้ คือ ในกรณีนี้

๑. ความต้องการผลที่ตรงตามกฎธรรมชาติ = ฉันทะ

๒. ความต้องการผลตามเงื่อนไขที่มนุษย์กำหนดขึ้น = ตัณหา

โดยทั่วไปมนุษย์ขณะนี้แปลกแยกจากความจริงของกฎธรรมชาติ ติดอยู่แค่ระดับสมมติ จึงประสบปัญหาที่ตนเองสร้างขึ้นมากมาย และไม่พบความสุขจริง มนุษย์จะต้องตื่นตัวขึ้นมาพัฒนาชีวิตให้ถูกทาง

วิธีดำเนินชีวิตที่จะทำให้มนุษย์มีความสุขขั้นพื้นฐาน ก็คือการดำเนินชีวิตให้ตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ

เมื่อมนุษย์ทำอะไรโดยต้องการผลที่แท้ของการกระทำนั้นเอง การกระทำที่เป็นเหตุนั้นก็จะทำให้เขามีความสุข และการที่ทำด้วยความเต็มใจ ก็จะทำให้ได้ผลดี พร้อมกับที่มีความสุขเกิดคู่ไปด้วยตลอดเวลา

ฉะนั้น ในโลกของสมมติ เราจะต้องหาทางว่า ทำอย่างไรจะให้มีการศึกษาชนิดที่ช่วยมนุษย์ให้โยงประสานโลกแห่งสมมติเข้าไปถึงโลกแห่งความเป็นจริง เช่น เราจะต้องฝึกเด็กให้ทำกิจกรรมต่างๆ มิใช่เพียงเพราะต้องการรางวัลหรือผลตอบแทน แต่ต้องฝึกให้เขาทำงานเพราะต้องการผลแท้ๆ ที่ตรงไปตรงมาตามความจริงแท้ของกฎธรรมชาติ แล้วโลกของสมมติกับโลกแห่งความเป็นจริงของธรรมชาติก็จะมาประสานกลมกลืนกัน

เมื่อเด็กไม่ใช่ต้องการแต่เพียงเงินรางวัล (ตัณหา) แต่ต้องการความสะอาด (ฉันทะ) ด้วย ตอนนี้แหละโลกสองด้านจะไม่แปลกแยกกัน นี้ก็เป็นวิธีการพัฒนามนุษย์ที่จะทำให้โลกของมนุษย์กับโลกแห่งความเป็นจริงของธรรมชาติเข้ากันได้ ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งแก่สังคม และแก่ชีวิตของบุคคล นับว่าเป็นวิธีสร้างสุขแบบที่ ๓

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เมื่อเป็นการศึกษาจริงแท้ บูรณาการก็ก้าวไป องค์รวมก็ขยายดุลยภาพ คุณภาพชีวิตของคนก็ยิ่งเพิ่ม ในระบบที่ยิ่งเอื้อประสานกลมกลืนคนที่ไม่พัฒนา ไปหาสุขข้างนอก แต่ข้างในสร้างทุกข์ ส่วนคนที่พัฒนาแท้ ข้างในสร้างสุข เจอทุกข์ก็พลิกเป็นสุขได้ >>

No Comments

Comments are closed.