ใช้วิธีรูปธรรม ศึกษาและพัฒนานามธรรมได้จริงหรือไม่

16 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 4 จาก 25 ตอนของ

ใช้วิธีรูปธรรม ศึกษาและพัฒนานามธรรมได้จริงหรือไม่

ที่จริงเรื่องทางจิตใจนี้เรามีคำถามกันมานานตั้งแต่ต้นแล้วว่า เราจะเข้าถึงความจริงทางจิตหรือสภาพนามธรรมด้วยวิธีการทางวัตถุได้จริงหรือไม่

ถ้ามองให้กว้างออกไป ในทางพุทธศาสนาสอนว่า การที่จะเข้าถึงความจริงนั้นเราใช้อายตนะหรืออินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

การที่จะพิสูจน์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทางวิทยาศาสตร์บอกว่าต้องพิสูจน์ด้วยอินทรีย์ แต่อินทรีย์นั้นหมายถึง อินทรีย์ ๕ ที่เป็นด้านรูปธรรม คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่นับใจ อันนี้เป็นข้อที่แตกต่างกับพุทธศาสนา

พุทธศาสนารวมใจเข้าด้วย เป็น อินทรีย์ ๖ โดยถือว่าใจก็มีการรับรู้ ซึ่งต่างจากด้านรูปธรรม

ถึงตอนนี้ก็มีคำถาม ๒ อย่าง คือ

๑. การรับรู้ทางอินทรีย์ต่างๆ ทั้ง ๕ นั้นเอง ถ้าไม่ตรงอายตนะกัน ก็ไม่สามารถรู้ได้ สิ่งที่ควรจะรู้ทางหู จะรู้ด้วยตาได้หรือไม่ สิ่งที่ต้องรับรู้ด้วยตาจะรู้ด้วยหูได้ไหม สิ่งที่รับรู้ด้วยตา คือ รูปร่าง สัณฐานต่างๆ สีเขียว สีแดง กลม เหลี่ยม อะไรต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเราจะเอาหูไปรับรู้ย่อมไม่มีทาง หูรับรู้ว่าเป็นสีเขียวสีแดงเป็นต้นไม่ได้ ส่วนการรับรู้ทางหูว่า เป็นเสียงดัง เสียงทุ้ม เสียงแหลม เสียงเบา เสียงเพราะ เสียงไม่เพราะนี่ จะเอาตารับรู้ได้ไหม ก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้น ที่วิทยาศาสตร์บอกว่า สิ่งต่างๆ จะต้องรับรู้และพิสูจน์ด้วยอายตนะ หรืออินทรีย์ทั้ง ๕ เหล่านี้ ความจริงแม้แต่ต่างอายตนะกันมันก็รับรู้กันไม่ได้แล้ว

ทีนี้ถ้าเราถือว่าการรับรู้ทางใจก็มีคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่ง เราจะเอาอินทรีย์อย่างอื่น เช่น ตา หู จมูก ลิ้นไปรับรู้ ก็ไม่ได้ เช่น ความรู้สึกรัก ความรู้สึกโกรธ เราจะวัดได้อย่างไรด้วยวิธีการทางวัตถุ หรืออินทรีย์ ๕ ที่เป็นรูปธรรม

๒. ถ้าเราไม่ยอมรับเรื่องทางด้านจิตใจที่เป็นนามธรรม จะกลายเป็นจุดอับของวิทยาศาสตร์หรือไม่ มันไม่มีจริง หรือเราเข้าไม่ถึงมัน

นามธรรมนี้มันยิ่งกว่าน้ำอีก น้ำที่คว้าไม่ติดมือ ก็ยังติดมาได้เป็นหยดๆ ลม แม้เราจะรู้ว่ามีเราก็จับไม่ได้ นามธรรมคือจิตนี้ยิ่งจับไม่ได้ใหญ่ แต่เราก็ถือว่าความรู้สึกอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เช่น ความรัก ความโกรธ มันมีในใจของมนุษย์ และเป็นของจริงอย่างหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ แต่เราจะวัดอย่างไรด้วยวิธีการทางวัตถุ

ในเมื่อเราไม่สามารถวัดความรู้สึกอย่างนั้นได้ วิทยาศาสตร์และจิตวิทยาที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ก็ต้องพยายามใช้วิธีการทางรูปธรรมมาพิสูจน์ จนกระทั่งต้องมาวัดกันว่า เวลามีความรู้สึกรัก มีความรู้สึกโกรธ ในสมองหลั่งสารเคมีอะไรออกมา และเราก็จะรู้จากสารเคมีที่ออกมานี้ว่าเวลานี้คนนั้นมีความรู้สึกอย่างไร หรืออาจจะใช้วิธีวัดคลื่นสมองอะไรต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นวิธีการที่จะใช้รูปธรรมหรือวัตถุมาพิสูจน์หาความรู้ทางด้านจิตใจ

แต่การพิสูจน์แบบนี้ ไปๆ มาๆ นักวิทยาศาสตร์ก็สงสัยตัวเอง และก็ได้มีนักวิทยาศาสตร์ใหญ่ๆ หลายคนที่พูดถึงเรื่องนี้ว่า วิทยาศาสตร์ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ และใช้คำว่าเราจะเข้าถึงความจริงแบบนี้ได้โดยเห็นแต่เพียงเงา คือสิ่งที่เห็นนั้นไม่ใช่ตัวจริงของความรู้สึกนั้น แต่เห็นแค่สารเคมีที่เป็นตัวบ่งบอกว่าขณะนั้นมีความรู้สึกอย่างไร หรือแม้จะวัดคลื่นสมอง ก็ไม่ใช่การสัมผัสกับตัวจริง

เคยอุปมาว่า การที่เราใช้วิธีการวิทยาศาสตร์นั้น ก็เหมือนกับว่า เมื่อมีเสียงดังป๋อมลงไปในน้ำ เราก็ไปวัดที่คลื่น ซึ่งพลิ้วไปหรือเป็นระลอกบนผิวน้ำ แล้วเราก็มาทำสถิติว่า เออ คราวนี้เป็นคลื่นที่แรง มีความหนาของลูกคลื่น หรือระลอกเท่านี้ แล้วก็ขยายวงออกไปได้เท่านั้นจึงหมดแรง แล้วก็เอามาเทียบกันกับครั้งต่อๆ มา แล้วก็วางเป็นหลักลงไปว่า เสียงดังป๋อมที่มีระลอกพลิ้วขนาดนี้ มีความสูงหนาขนาดนี้ มีวงกว้างออกไปได้เท่านี้นั้น จะเป็นมวลสารที่มีขนาดใหญ่และมีความแรงเท่านั้นเท่านี้ ทำเป็นอัตราส่วนขึ้นมา แต่ไม่เคยไปดูก้อนที่มันตกลงไปสักทีว่ามันเป็นก้อนอะไร เป็นก้อนดิน ก้อนหิน หรือก้อนอะไร นี้คือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งคำนวณหรือคาดหมายจากปรากฏการณ์ที่วัดขึ้นมาต่อจากตัวของจริงนั้นอีกที แต่ไม่ได้ดูของจริงเลย

ในที่สุดก็จึงเป็นอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ผู้ใหญ่บางท่านบอกว่า โดยวิธีนี้เราจะเข้าถึงความจริงแต่เพียงเงา คือเห็นแต่เงาของความจริง ไม่ได้เข้าถึงความจริง

เวลานี้วิธีการวิทยาศาสตร์ทำให้เราเป็นเช่นนั้นหรือไม่ อันนี้เป็นคำถามข้อหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็เข้าไม่ถึงความจริง ถ้าเข้าไม่ถึงความจริงแท้ มันก็เป็นเครื่องหมายบ่งบอกอย่างหนึ่งว่าจะไม่ยั่งยืน เพราะว่าสิ่งที่จะยั่งยืน ก็ต้องเป็นความรู้ที่แท้จริงที่เข้าถึงความจริง

การทดลองอะไรๆ ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์เดี๋ยวนี้ก็มีการตั้งข้อสงสัยกัน เช่นเรามีการทดลองเพื่อหาความรู้และพิสูจน์ทฤษฎีทางจิตวิทยาโดยใช้สัตว์ทดลอง และทดลองในห้อง lab ปัญหาก็เกิดขึ้นดังที่เดี๋ยวนี้ก็เถียงกันแล้วว่า การใช้สัตว์ทดลองจะทำให้เกิดความรู้ไปถึงความจริงในตัวบุคคลหรือในชีวิตมนุษย์ได้หรือไม่ เพราะชีวิตของสัตว์ โดยเฉพาะสมองของสัตว์ต่างๆ นั้นไม่ซับซ้อนเหมือนของมนุษย์

อีกอย่างหนึ่ง การทดลองในห้อง lab นั้นสภาพแวดล้อมย่อมไม่เหมือนกับของจริง จะเชื่อถือไว้ใจว่าเข้าถึงความจริงได้แน่นอนหรือไม่ ตอนนี้ นักจิตวิทยาเองก็มีปัญหาแก่กันและกัน

ที่ว่านี้ก็เป็นเรื่องต่างๆ ที่เป็นด้านของวิธีการที่จะเข้าถึงความจริง ว่าเราจะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ต่อไปไหวไหม และเมื่อเราพยายามเข้าถึงความจริงด้วยวิธีการทางวัตถุอย่างนี้ เวลาออกมาปฏิบัติการในการใช้ประโยชน์หรือในการแก้ไขปัญหา เมื่อมันเป็นวิธีการทางวัตถุ เราก็จะต้องให้ปฏิบัติการทางจิตวิทยานี้ออกมาเป็นรูปธรรมหรือออกมาเป็นเรื่องวัตถุให้ได้

อันนี้ก็เป็นข้อดีข้อเด่นของวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ด้วย เพราะว่าอะไรก็ตามที่เป็นรูปธรรมเป็นวัตถุจับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอันแล้ว มันก็ดูแน่นอนเป็นจริงเป็นจัง ทำได้ชัดเจน ดีกว่าสิ่งที่เป็นลมๆ แล้งๆ คือจับต้องไม่ได้ จัดการอะไรไม่ได้

ในเมื่อจิตใจนั้นยิ่งกว่าลมอีก เพราะฉะนั้นมันก็เป็นของที่ทำท่าจะเหลว และถ้าเลยจากเหลวก็เป็นเหลวไหลไป ก็เป็นของไม่แท้ไม่จริง อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่าของเหลวก็มีจริง และของไหลก็มีจริง แล้วเราจะไม่ยอมรับมันได้อย่างไร เราจะเอาเฉพาะส่วนที่เราจับต้องได้เท่านั้นหรือ

อย่างที่ว่าเราจะใช้วิธีการทางวัตถุไปแก้ไขปัญหาทางจิตใจ ดังที่เวลานี้ได้มาถึงขั้นที่ว่า เราสามารถวัดความรู้สึกในจิตใจด้วยการตรวจดูสารเคมีที่หลั่งออกมา ซึ่งวงการแพทย์ก็มาร่วมด้วย โดยดูว่า เวลามีความรู้สึกอย่างที่พูดเมื่อกี้ว่ารู้สึกรัก แล้วมีสารเคมีอะไรหลั่งออกมา เวลามีความโกรธมีสารเคมีอะไรหลั่งออกมา เราก็จับได้

ต่อมา เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราก็สังเคราะห์สารเคมีนั้นขึ้นมา เวลาคนมีปัญหา เช่นรู้สึกสับสน มีความกระวนกระวายใจ เราก็ฉีดสารที่จะทำให้เกิดความรู้สึกสบายใจหรือครึ้มใจใส่เข้าไป ก็ทำให้ครึ้ม ใจก็สบาย นอนไม่หลับก็หลับได้ มีความรู้สึกเหมือนเป็นคนฝันหวาน ก็ดีเหมือนกัน ดูท่าจะมีความสุขดี

แต่น่าสงสัยว่าการทำอย่างนี้จะเป็นวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่ เรายอมรับว่ามันมีประโยชน์ อย่างน้อยก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเช่นในการรักษาโรคไปได้ แต่ในระยะยาวมันจะเป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่ เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดแท้ๆ ไหม หรือแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

มองในแง่หนึ่ง ก็เหมือนกับการที่เราจะบำรุงดินด้วยปุ๋ยเคมี เรามีปัญหาเรื่องการเกษตร เราก็บอกว่าไม่กลัวละ เราสามารถชนะธรรมชาติ ปุ๋ยในดินไม่มีก็ไม่เป็นไร ฉันสังเคราะห์ปุ๋ยได้ เราก็ใส่ปุ๋ยเคมีเข้าไป ไปๆ มาๆ นานๆ เข้าก็รู้ตัวว่า โอ! นี่มันเกิดโทษแล้ว ปุ๋ยเคมีมันทำลายดินมากกว่า แล้วในที่สุดมันก็ไปไม่รอด นี่เรียกว่าไม่ยั่งยืน การพัฒนาแบบนี้ไม่ยั่งยืนฉันใด การใช้ปุ๋ยเคมีกับมนุษย์ก็ไม่ยั่งยืนฉันนั้น การที่จะใช้สารเคมีมาใส่เข้าไปในสมองคนก็เหมือนกับใส่ปุ๋ยเคมีในดิน เพราะฉะนั้น การพัฒนาแบบนี้ไม่ยั่งยืนแน่ นี่ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่ง มันเป็นการทำให้มนุษย์สูญเสียอิสรภาพ มนุษย์ไม่เป็นตัวของตัวเอง ต่อไปมนุษย์เราจะติดจะเคยชินจนไม่รู้ตัวว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้ มนุษย์แก้ปัญหาของตัวเองไม่ได้ แต่ต้องอาศัยเทคโนโลยี ต้องอาศัยวัตถุ เราไม่สามารถแก้ไขความทุกข์ในจิตใจของตัวเอง ไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์ความรู้สึกที่ดีงามในตัวเอง ศักยภาพที่มีอยู่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่พัฒนาเลย ในที่สุดต้องขึ้นต่อวัตถุหมด

เมื่อต้องการจะมีความสุขอย่างนั้น ก็ไปเอาหลอดนี้มาฉีด ต้องการความรู้สึกอย่างนี้ ก็ไปเอาอีกหลอดมาฉีด ต่อไปก็ต้องมีเข็มฉีดเต็มไปหมด หมอก็ต้องบริการเต็มที่ คนไข้บางคนก็ไปซื้อยาฉีดมาไว้ที่บ้าน อะไรต่ออะไรก็เป็นเข็มๆๆๆ หมด แม้แต่ทางด้านจิตใจ อยากจะมีอารมณ์ดีก็ฉีดกันเรื่อยไป

สภาพอย่างนี้ย่อมแสดงถึงการที่ความเป็นมนุษย์ได้สูญเสียไป ถ้าพัฒนาไปในรูปนี้ก็สูญเสียความเป็นมนุษย์ มนุษย์ทำลายศักยภาพของตนเอง และที่สำคัญก็คือ อิสรภาพของมนุษย์จะหมดไป มนุษย์จะขึ้นกับเทคโนโลยีและวัตถุไปหมด และการเจริญขึ้นต่อไปก็คือการทำลายตัวของมนุษย์เอง เพราะฉะนั้นวิธีการแบบนี้เห็นจะไม่ไหว ถือว่าเป็นการที่เรามีจิตวิทยาแบบไม่ยั่งยืนแล้ว

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จิตวิทยาอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ยั่งยืนหรืออย่างไรเจาะลึกเฉพาะด้าน กับโยงสัมพันธ์เป็นระบบ จะเลือกอย่างไหน >>

No Comments

Comments are closed.