การพัฒนาระบบจริยธรรม

20 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 5 จาก 11 ตอนของ

การพัฒนาระบบจริยธรรม

ยิ่งกว่านั้น เมื่อมนุษย์มีความรู้อย่างนี้แล้ว มนุษย์ยังสามารถทำการต่อไปได้อีก คือพัฒนาวิธีปฏิบัติ ว่าทำอย่างไร จะให้กระบวนการของธรรมชาตินั้น เป็นไปในทางที่จะเกิดผลตามที่เราต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เช่นในการทำให้อุณหภูมิลดต่ำ ถ้าเราจะเอาน้ำมาสาดมารดมันให้ได้มากและทันการ เราก็พัฒนาให้มีรถสำหรับใส่น้ำโดยเฉพาะ ซึ่งเคลื่อนที่ไปได้เร็วตามที่ต้องการ และให้มีท่อมีสายต่อต่างๆ ที่จะทำการได้สะดวก หรือถ้าจะให้ขาดออกซิเจน เราก็อาจจะทำสารเคมีขึ้นมา แล้วเราก็ฉีดเข้าไป ถ้าไฟเกิดจากน้ำมัน เราก็ไม่ใช้น้ำ ถ้าไม่มีอะไรอื่นก็ใช้ทราย อย่างนี้เป็นต้น วิธีการทั้งหมดนี้ทำให้เราปฏิบัติได้ผลดีตามที่ต้องการ เป็นผลดีแก่ชีวิตมนุษย์ หรือสนองความต้องการของมนุษย์ได้สำเร็จ แต่ทั้งหมดนั้นก็มีหลักการเดียวกัน คือต้องทำตามกระบวนการของธรรมชาติ ต้องเอาความรู้ในธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ตัวอย่างอื่นๆ เช่นจะทำฝนเทียมก็เช่นเดียวกัน เราก็ต้องมีความรู้ในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติว่า ฝนเกิดขึ้นได้อย่างไร เมฆจะรวมตัวกันอย่างไร มีปัจจัยอะไรเกี่ยวข้องบ้าง เช่น อุณหภูมิ ฝุ่นละออง ไอน้ำ และอะไรต่างๆ แล้วก็เอาองค์ประกอบเหล่านี้เข้ามาใช้และทำให้เกิดฝนตามต้องการ นี้ก็เป็นการพัฒนาวิธีปฏิบัติของมนุษย์ ในการใช้ความรู้เกี่ยวกับความจริงของธรรมชาติ

ในด้านชีวิตจิตใจของมนุษย์ก็เช่นกัน เมื่อเรารู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แล้วนำมาใช้ปฏิบัติและพัฒนาวิธีการขึ้นมา ก็กลายเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต เรียกว่าเป็นการขยายขอบเขตของจริยธรรมออกไป เช่น กระบวนการธรรมชาติในการดับทุกข์ หรือแก้ปัญหาชีวิตมนุษย์ ปรากฏอยู่ในหลักพระพุทธศาสนา คือหลักที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งตอนแรกก็แสดง กระบวนการของเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น คือบอกว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้มีนามรูป ฯลฯ ต่อจากนั้นก็แสดงกระบวนการของการดับเหตุของทุกข์ ให้เห็นว่าจะแก้ปัญหาก็ต้องดับที่เหตุของมัน ว่าเมื่อขจัดอวิชชาได้ ทำให้อวิชชาดับไป สังขารก็ดับไป หรือว่า เมื่ออวิชชาไม่เกิดขึ้น สังขารก็ไม่เกิดขึ้น ฯลฯ ตามลำดับอย่างนี้ นี่คือกระบวนการของธรรมชาติล้วนๆ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเราก็บอกได้ว่าเราจะต้องกำจัดอวิชชา ตอนนี้เรารู้จุดแล้วว่าเราต้องทำอะไร แต่ก็เป็นความรู้ขั้นหลักการ ซึ่งเป็นความจริงของธรรมชาติเท่านั้น ปัญหายังมีต่อไปว่า ในทางปฏิบัติ การที่เราจะดับอวิชชานั้น เราจะทำได้อย่างไร จากจุดนี้ก็จึงเกิดมีการพัฒนาวิธีการในทางปฏิบัติขึ้นมา ผู้รู้อย่างพระพุทธเจ้านี้เป็นผู้ที่ดับอวิชชาได้สำเร็จ เมื่อดับอวิชชาได้แล้ว พระองค์จึงมาสอนให้คนอื่นปฏิบัติตามให้ได้ผลด้วย แต่ในการที่จะให้เขาดับอวิชชา ก็ต้องสอนวิธีปฏิบัติ อาจจะต้องขยายวิธีปฏิบัตินั้นออกไป อย่างที่เราเรียกว่าให้มีเทคนิค หรือกลวิธีต่างๆ มากมาย รายละเอียดวิธีปฏิบัติและเทคนิค หรือกลวิธีเหล่านั้น ก็มาจัดเป็นรายการปลีกย่อยของจริยธรรมนั่นเอง ดังนั้น จริยธรรมนี้ในแง่หนึ่งจึงหมายถึงวิธีปฏิบัติที่มนุษย์ได้พัฒนาขึ้นมาใช้ ในการที่จะทำให้เป็นไปตามกระบวนการของธรรมชาติ เพื่อให้เกิดผลขึ้นตามความต้องการของตนเอง

ในแง่ของการแก้ปัญหามนุษย์หรือการดับทุกข์นี้ เมื่อเรารู้กระบวนการของปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติแล้ว และต้องการช่วยให้คนจำนวนมากที่มีภูมิธรรมภูมิปัญญาต่างๆ กันสามารถดับทุกข์แก้ปัญหาได้ตามกระบวนการนั้น ก็จึงได้พัฒนาวิธีปฏิบัติพร้อมทั้งรายละเอียดต่างๆ ขึ้น ก็จึงได้หลักจริยธรรมขึ้นมาที่เรียกว่า มรรค จึงพูดง่ายๆ ว่า มรรคเกิดขึ้นจากการรู้ปฏิจจสมุปบาทแล้วพัฒนาวิธีปฏิบัติขึ้นมา เพื่อจะทำให้ได้ผลตามนั้น วิธีปฏิบัติทั้งหมดนั้น ว่าโดยสาระแท้ๆ จึงไม่มีอะไรมาก คือเป็นวิธีปฏิบัติที่มีความมุ่งหมายเพียงเพื่อทำให้เกิดผลตามกระบวนการของธรรมชาติ ในการดับทุกข์ให้ถึงต้นตอที่ว่าดับอวิชชานั่นเอง แต่วิธีการที่จะเข้าถึงการดับอวิชชานั้นอาจจะมีขั้นตอน และเทคนิคต่างๆ มากมาย และรายละเอียดในการปฏิบัตินั้น ก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมแก่บุคคลกับสภาพแวดล้อมเป็นต้น จึงทำให้รายละเอียดวิธีในการปฏิบัติยักเยื้องออกไปมากมาย เพราะฉะนั้น ภายในมรรคนี้ ท่านจึงได้พัฒนาระบบจริยธรรมขึ้นมา ซึ่งมีรายละเอียดแยกย่อยออกไปต่างๆ ดังที่ได้มีหัวข้อจริยธรรมจำนวนมาก จนจำกันแทบไม่ไหว แต่รวมความแล้ว มรรคก็คือตัวจริยธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางหลักไว้ หรือได้พัฒนาขึ้นมาจากความรู้ความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาท มรรคนี้เป็นระบบใหญ่ ที่สามารถขยายแยกย่อยออกไปได้กว้างขวางตามต้องการ

ขอหันกลับไปพิจารณาความหมายของคำว่า “มรรค” นั้นเอง มรรค แปลว่าทาง ซึ่งหมายถึงทางเดินของชีวิตไปสู่การดับทุกข์หรือการแก้ปัญหา ก่อนหน้านี้ เราได้พูดกัน ถึงคำว่า “จริยะ” จริยะก็แปลว่าการเดินทาง จึงเข้ากันกับคำว่ามรรค ซึ่งแปลว่า ทางที่เดิน หรือทางเดินนั่นเอง นอกจากนั้น หลักจริยธรรมที่ใช้คำว่ามรรค ยังมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ปฏิปทา เช่นในคำว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งแปลว่าทางสายกลาง มัชฌิมา แปลว่ากลาง ปฏิปทา ก็แปลว่าทางเหมือนกัน เพราะฉะนั้น คำว่ามรรคก็ดี ปฏิปทาก็ดี ก็แปลว่าทาง คู่กับคำว่ามรรคและปฏิปทา ก็คือคำว่าปฏิบัติ ปฏิบัติ แปลว่าเดินทาง ก็มาตรงกับจริยะ ที่แปลว่าการเดินทางเหมือนกัน เราใช้คำว่าปฏิบัติกันจนลืมความหมายเดิม ปฏิบัติเราแปลว่า ลงมือทำ แต่ขอให้ดูภาษาบาลีเดิม ปฏิบัติมีความหมายอะไรบ้าง ความหมายอย่างหนึ่งของการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมแท้เดิมก็คือ ความหมายว่าเดินทาง เช่นในคำว่า มคฺคํ ปฏิปชฺชติ แปลว่า เดินทาง ซึ่งแสดงว่า คำว่ามรรคคือทาง กับคำว่าปฏิบัติคือเดินหรือดำเนิน เป็นคำที่มาคู่กันอยู่แล้วแต่เดิมในความเป็นอยู่ของมนุษย์ ต่อมาจึงได้ใช้กันในความหมายว่า ลงมือทำ

เป็นอันว่า เรื่องจริยธรรมนี้ พระพุทธศาสนามองในแง่ที่เป็นทาง ทางนี้ก็คือวิธีการที่จะทำให้เกิดผลตามที่เราต้องการ และวิธีการนั้นก็พัฒนาขึ้นจากความรู้ความเข้าใจในตัวสัจจธรรม จึงต้องตั้งอยู่บนฐานของความเข้าใจในตัวสัจจธรรม ถ้าไม่มีความรู้สัจจธรรมเป็นพื้นฐานแล้ว จริยธรรมก็ไม่จริงไม่แท้และจะไม่ได้ผลจริง เพราะเมื่อเราปฏิบัติโดยไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสัจจธรรมแล้ว กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยก็จะไม่ดำเนินไปในทางที่จะให้เกิดผลที่เราต้องการได้ นี้คือจุดของความสัมพันธ์ระหว่างสัจจธรรมกับจริยธรรม

เป็นอันว่า มรรคนี้ เป็นจริยะ และเป็นปฏิปทา แต่เราอาจจะต้องการความกระชับยิ่งขึ้นไปอีก เพราะว่า จริยะคือการดำเนินชีวิตก็ดี ปฏิปทาคือการปฏิบัติหรือเดินทางนั้นก็ดี ยังไม่มีคำจำกัดลงไปให้เห็นว่าเป็นการเดินทาง หรือดำเนินชีวิตที่ถูกหรือที่ผิด ท่านจึงเพิ่มคำเข้ามาเสริมให้ชัด คำว่ามรรคก็มีคำเพิ่มเข้ามา ให้เห็นว่าทางที่ถูกต้องต้องมีองค์ประกอบ ๘ ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่าทางมีองค์แปดประการอันประเสริฐ เป็นภาษาบาลีว่า อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค เมื่อเป็นมรรคอันประเสริฐมีองค์แปดประการแล้ว ก็เป็นจริยะที่ถูกต้อง ที่ประเสริฐ ซึ่งเรียกว่า พรหมจริยะ ฉะนั้น จริยธรรมในพระพุทธศาสนาจึงมีคำว่าพรหมเสริมเข้ามาจำกัดความเป็น พรหมจริยะ และเป็นปฏิปทา คือทางเดินที่ถูกต้อง โดยมีคำว่าสัมมาเติมเข้ามาเป็น สัมมาปฏิปทา

สรุปว่า ทางปฏิบัติหรือวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่เรียกว่า พรหมจริยะ บ้าง สัมมาปฏิปทา บ้าง มรรคมีองค์ ๘ บ้างนี้เอง คือจริยธรรมที่ถูกต้องสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติที่เรียกว่าสัจจธรรม ดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรคว่า อยเมว โข ภิกฺขุ อริโย อฏฺฐฺงฺคิโก มคฺโค พฺรหฺมจริยํ แปลว่า มรรคา หรือ มรรค มีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐนี้แหละ เป็นพรหมจริยะ คือจริยธรรมอันประเสริฐ หรือจริยธรรมที่ถูกต้องจริงแท้ เป็นอันว่า เราได้จริยธรรมในพระพุทธศาสนาแล้ว เป็นพุทธพจน์เลยทีเดียวว่า ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งถ้าจะเรียกให้เต็มก็ต้องว่าเป็นระบบจริยธรรมหรือประมวลจริยธรรม

สัมมาปฏิปทาก็เช่นเดียวกัน ก็มีพุทธพจน์ยืนยันเป็นหลักฐานว่าตรงกับมรรค ดังพระบาลีในสังยุตตนิกายมหาวารวรรคนั่นแหละอีกแห่งหนึ่งว่า กตมา จ ภิกฺขเว สมฺมาปฏิปทา…แปลว่า สัมมาปฏิปทาหรือทางปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นเป็นไฉน แล้วก็มีพุทธพจน์ขยายความต่อไปว่า ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ไปจนกระทั่งถึงสัมมาสมาธิ ก็คือมรรคมีองค์แปดประการนั่นเอง นี้ชื่อว่าเป็นสัมมาปฏิปทา

บัดนี้ เราได้โยงจากจริยธรรมทั่วไปมาถึงจริยธรรมในพระพุทธศาสนาแล้ว โดยได้แสดงให้เห็นว่าตัวจริยธรรมอยู่ที่ไหน เมื่อเราจับจริยธรรมในพระพุทธศาสนาได้ว่าคืออันนี้ และมีความหมายอย่างนี้แค่นี้ แล้วก็จะขอพักเรื่องจริยธรรมไว้ก่อน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ความหมาย คุณค่า และขอบเขตของจริยธรรมความบรรจบประสานของสัจจธรรมกับจริยธรรม >>

No Comments

Comments are closed.