ความบรรจบประสานของสัจจธรรมกับจริยธรรม

20 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 6 จาก 11 ตอนของ

ความบรรจบประสานของสัจจธรรมกับจริยธรรม

ตอนนี้จะขอย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่อีกที คือกลับไปหาสัจจธรรมอีกครั้งหนึ่ง เท่าที่ได้พูดมาก็ได้โยงให้เห็นแล้วว่า สัจจธรรมครอบคลุมถึงจริยธรรมด้วย และจริยธรรมก็เนื่องอยู่ในสัจจธรรม ต้องอาศัยสัจจธรรมเป็นฐาน สัจจธรรมเท่าที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในการแก้ปัญหานั้น พระพุทธศาสนาแยกออกเป็น ๔ หัวข้อ ซึ่งเรารู้จักกันดี คือที่เรียกว่าอริยสัจจ์ แปลว่า สัจจะอันประเสริฐ หมายถึง สัจจธรรมที่มีคุณค่าแก่ มนุษย์อย่างแท้จริง สัจจธรรมอันประเสริฐหรือเลิศค่านี้เกี่ยวข้องกับการดับทุกข์หรือการแก้ปัญหาของมนุษย์ มี ๔ ข้อ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

๑. ทุกข์ ได้แก่ ตัวปัญหา สิ่งที่บีบคั้นขัดข้อง ขัดขวางการที่ชีวิตจะดำรงอยู่ด้วยดีและเจริญงอกงาม ทำให้ไม่มีอิสรภาพ

๒. สมุทัย ได้แก่ สาเหตุของทุกข์ รวมทั้งกระบวนการที่ก่อให้เกิดทุกข์หรือก่อให้เกิดปัญหา

๓. นิโรธ หมายถึง ความดับทุกข์ หรือปลอดปัญหา ซึ่งรวมตั้งแต่หลักการและกระบวนการดับทุกข์ แก้ปัญหาที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไปจนถึงภาวะไร้ทุกข์เป็นอิสระที่เป็นจุดหมายของชีวิต

๔. มรรค ที่ได้พูดมาแล้วว่าเป็นระบบจริยธรรม คือ ทางดำเนินชีวิตเพื่อเข้าถึงความดับทุกข์

จะเห็นว่า ๓ ข้อแรกเป็นสภาวธรรมที่เป็นของมันอย่างนั้นเอง ส่วนข้อที่ ๔ เป็นตัวจริยธรรม หรือภาคปฏิบัติ เราจึงเห็นระบบแห่งสัจจธรรมและจริยธรรมของพระพุทธศาสนา มาครบหมดทีนี่

จากหัวข้อนี้ จะขยายไปสู่ความหมายที่กว้างขึ้น คือเราจะมองสัจจธรรมและจริยธรรมให้กว้างออกไป เริ่มแต่ทุกข์ คือตัวปัญหา เมื่อเราศึกษาเรื่องทุกข์ คำว่าทุกข์ไม่ได้จำกัดเพียงสิ่งที่เราเรียกว่าทุกข์เท่านั้น ขอให้นึกถึงแพทย์ โรคเป็นปัญหาของแพทย์ ในเวลารักษาโรค แพทย์จะต้องรู้อะไรบ้าง แพทย์จะรู้เฉพาะตัวโรคเท่านั้นไม่ได้ แต่ต้องรู้จักสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของโรค คือร่างกายของมนุษย์ด้วย เพราะโรคเกิดขึ้นที่ร่างกายของมนุษย์ การรักษาโรคก็รักษาที่ร่างกายของมนุษย์ และร่างกายของมนุษย์นั่นเองที่แปรปรวนบกพร่อง อ่อนแอ ทำให้เกิดโรคขึ้นมา ดังนั้น ตัวโรคและร่างกายมนุษย์อันเป็นที่ตั้งของโรคจึงไม่ได้แยกจากกันโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น เราจึงต้องศึกษามันทั้งหมด เพื่อที่จะรักษาโรค ต้องรู้ทั้งเรื่องของโรค ทั้งเรื่องของร่างกายมนุษย์ ตลอดจนระบบของชีวิตทั้งหมด ในทำนองเดียวกัน การศึกษาเรื่องทุกข์ ก็ขยายออกไป เพราะว่า เมื่อต้องการดับทุกข์ อะไรก็ตามซึ่งเป็นที่ตั้งของทุกข์ กล่าวคือ ชีวิตนี้ทั้งหมดตลอดจนสิ่งทั้งหลายที่ชีวิตนี้เกี่ยวข้อง เราต้องเรียนรู้ทั้งหมด ดังนั้น ในเรื่องทุกข์ ความหมายจึงขยายออกไปครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ต้องรู้จักตามความเป็นจริง แม้อริยสัจข้อที่ ๒-๓-๔ ก็มีความหมายขยายกว้างออกไปเช่นเดียวกัน จากหลักการนี้ อริยสัจ ๔ จึงโยงไปหาทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเอาอริยสัจ ๔ เป็นแม่บทในการจำแนก ทำให้มองเห็นสัจจธรรม ๔ ด้าน ซึ่งเรียกชื่อใหม่อีกชุดหนึ่ง มี ๔ อย่างเหมือนกับอริยสัจ ๔ คือ

จำพวกที่ ๑ จากทุกข์ ซึ่งรวมถึงสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของทุกข์ สิ่งที่เกี่ยวข้องในทางที่จะให้เกิดทุกข์ได้ ที่มนุษย์จะต้องรู้ในการที่จะดับทุกข์ ก็ขยายไปเป็น ปริญไญยธรรม แปลว่า สิ่งที่มนุษย์จะต้องปริญญา คือ ต้องกำหนดรู้ รู้จักตามที่มันเป็น ได้แก่จำพวกที่เกี่ยวหรือเนื่องกับปัญหา เป็นหรืออาจจะเป็นปัญหา

จำพวกที่ ๒ จากสมุทัย คือเหตุของทุกข์ ก็ขยายออกไปเป็นตัวแม่แบบใหม่ที่เข้าชุดกัน ได้แก่ สิ่งที่เรียกว่า ปหาตัพพธรรม แปลว่า ธรรมซึ่งต้องกำจัดเสีย หรือสิ่งที่ต้องกำจัด คือจำพวกเหตุที่ให้เกิดทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา

จำพวกที่ ๓ จากนิโรธ ก็ขยายออกไปเป็นสิ่งที่เรียกว่า สัจฉิกาตัพพธรรม แปลว่า สิ่งที่จะต้องเข้าถึง สิ่งที่จะต้องทำให้แจ้ง จะต้องบรรลุ เช่น ความเป็นอิสระของจิตใจ สันติ และความสุข ฯลฯ

จำพวกที่ ๔ จากมรรค ก็โยงไปหาแม่แบบที่เรียกว่า ภาเวตัพพธรรม แปลว่า ธรรมที่จะต้องทำให้เกิดให้มีขึ้น หรือ ธรรมที่จะต้องปฏิบัติทั้งหมดทุกอย่าง

เป็นอันว่า เราก็ได้แม่แบบขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง สำหรับใช้ในการเรียนรู้หรือเข้าถึงสัจจธรรมและจริยธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์รู้จักก็รวมอยู่ในแม่แบบนี้ทั้งหมด นี้เป็นการสรุปเรื่องสัจจธรรม และจริยธรรม ที่มาจัดรวมเข้าเป็นระบบอันหนึ่งอันเดียว

จากนี้ขอโยงกลับเข้ามาสู่เรื่องที่พูดไว้เมื่อกี้นี้ เป็นอันว่า สัจจธรรมเป็นเรื่องของทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของแท้ของจริง ที่มันเป็นของมันอย่างนั้น จริยธรรมเป็นการเกี่ยวข้องกับสัจจธรรมในทางที่จะทำให้เกิดผลดีแก่มนุษย์ จะเห็นว่า ไม่ว่าเราจะพิจารณาเรื่องอะไรก็ตาม จะมีเรื่องของสัจจธรรมและจริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องหมด วิชาการต่างๆ ที่มนุษย์พัฒนาขึ้นมาทุกอย่างก็เป็นเรื่องของสัจจธรรมกับจริยธรรม ส่วนใดที่เป็นตัวเนื้อหา เป็นตัวความจริงของมัน อันนั้นก็เป็นสัจจธรรม ส่วนใดที่เป็นการนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์อยู่ได้ด้วยดี อันนั้นก็เป็นจริยธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อมองไปที่วิทยาศาสตร์ เราก็จะเห็นตัวแท้ของมัน ถ้าเป็นตัวแท้ตัวจริง ที่เป็นจริง มันก็เป็นสัจจธรรม แต่ปัญหามีอยู่ว่า มันเป็นสัจจธรรมที่ครบถ้วนกระบวนความแล้วหรือไม่ คือ ถ้ารู้เพียงบางส่วน ก็ไม่ใช่สัจจธรรมที่แท้จริง แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัจจธรรม เราจะต้องรู้เพิ่มขึ้นเพื่อจะได้เข้าถึงสัจจธรรมที่แท้จริง

ในวิชาการอย่างเศรษฐศาสตร์ ตัวแท้จริงของมัน ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกต้องก็เป็นตัวสัจจธรรม แต่เราจะต้องวินิจฉัยว่า ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่นั้นเป็นความรู้ที่แท้ถูกต้องตามกระบวนการธรรมชาติหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องตามกระบวนการธรรมชาติ เศรษฐศาสตร์นั้นก็ไม่สมบูรณ์ เพราะจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของมนุษย์ได้จริง ถ้ามันจะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ มันจะต้องถูกต้องตามกระบวนการของธรรมชาติโดยสมบูรณ์ และเมื่อเศรษฐศาสตร์ถูกต้องตามกระบวนการธรรมชาติ ถูกต้องตามสัจจธรรมแล้ว เราเอามาใช้ปฏิบัติในทางจริยธรรม จริยธรรมนั้นก็จะเกิดผลโดยสมบูรณ์ คือปฏิบัติแล้วได้ผล แต่ถ้าเศรษฐศาสตร์นั้นไม่สมบูรณ์ในแง่ของสัจจธรรม เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะได้ผลไม่สมบูรณ์

อีกตัวอย่างหนึ่ง ในการเล่าเรียนเรื่องจิตใจของมนุษย์ เช่น วิชาจิตวิทยา ตอนแรกก็ต้องรู้ตัวสัจจธรรมก่อน คือรู้จักกระบวนการของธรรมชาติ เริ่มต้นแต่กระบวนการทำงานของจิต ถ้าจิตวิทยาทราบเรื่องนี้ครบถ้วน ก็แสดงว่าได้ตัวสัจจธรรม เมื่อได้ตัวสัจจธรรมมาแล้ว การนำมาใช้ปฏิบัติให้เกิดผลดีแก่ชีวิตมนุษย์ ก็มีทางได้ผลจริง แต่ถ้าจิตวิทยารู้กระบวนการของธรรมชาติไม่ครบถ้วน รู้สัจจธรรมไม่สมบูรณ์ จริยธรรมคือการนำมาปฏิบัติก็จะไม่ได้ผลสมบูรณ์ด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง จึงมีปัญหาของสัจจธรรมและจริยธรรมอยู่ตลอดเวลา และเพราะเหตุที่เราพยายามนำความรู้มาใช้ปฏิบัติเพื่อให้ออกผลดีแก่มนุษย์โดยทางจริยธรรมนั่นเอง เราจึงต้องพยายามเข้าถึงสัจจธรรม สัจจธรรมมีประโยชน์แก่มนุษย์ ก็เพราะมีคุณค่าทางจริยธรรม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การพัฒนาระบบจริยธรรมตัวนำให้จริยธรรมบรรจบประสานกับสัจจธรรม >>

No Comments

Comments are closed.