ตัวนำให้จริยธรรมบรรจบประสานกับสัจจธรรม

20 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 7 จาก 11 ตอนของ

ตัวนำให้จริยธรรมบรรจบประสานกับสัจจธรรม

เมื่อสรุปในแง่ของสิ่งทั้งหลาย ที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่นวิชาการต่างๆ สัจจธรรม คือ ตัวแท้ตัวจริงของวิชาการหรือกิจกรรมนั้น จริยธรรม คือ การนำเอาหลักเกณฑ์ต่างๆ ของสัจจธรรมมาใช้ปฏิบัติให้สอดคล้องตามกระบวนการธรรมชาติของมันเพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตมนุษย์ พอมาถึงขั้นนี้แล้วเราจะมองเห็นองค์ประกอบสำคัญที่เชื่อมโยงสัจจธรรมกับจริธรรม อะไรเป็นตัวเชื่อมโยงสัจจธรรมกับจริยธรรม ได้พูดแล้วว่า สัจจธรรมคือตัวความจริงนั้นปรากฏแก่มนุษย์ด้วยอะไร สัจจธรรมปรากฏแก่มนุษย์ด้วยความรู้ ซึ่งเรียกว่า ปัญญา ปัญญาเป็นตัวการที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงสัจจธรรม หรือ ความจริง ถ้าไม่มีปัญญาหรือความรู้ เราก็ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ ฉะนั้น ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสัจจธรรมได้แก่ปัญญา เราได้พูดถึงความหมายของจริยธรรมว่า จริยธรรมคือการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสัจจธรรมในทางที่จะเกิดผลดีแก่ชีวิตมนุษย์ แต่เราจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสัจจธรรมได้อย่างไร เราจะปฏิบัติได้เราต้องรู้เสียก่อนว่าสัจจธรรมเป็นอย่างไร ว่ากฎเกณฑ์ของมันเป็นอย่างไร ฉะนั้น จริยธรรมจึงต้องอาศัยความรู้หรือปัญญา ปัญญาเป็นตัวเชื่อมระหว่างสัจจธรรมกับจริยธรรม ยิ่งรู้สัจจธรรมเท่าใด การปฏิบัติจริยธรรมก็ยิ่งถูกต้องขึ้นเท่านั้น และได้ผลดียิ่งขึ้น และยิ่งปฏิบัติจริยธรรมได้ผลมากขึ้นเท่าใด เราก็จะรู้เห็นสัจจธรรมยิ่งขึ้นเท่านั้น

ในทางตรงข้าม ถ้าเรารู้สัจจธรรมไม่ทั่วถึง ไม่สมบูรณ์พอ จริยธรรม คือการนำมาใช้ประโยชน์ก็จะเกิดผลไม่สมบูรณ์ บางทีก็กลายเป็นผลร้ายเพราะการที่รู้ไม่ทั่วถึง เช่น เรารู้จักไฟ รู้จักวิธีทำไฟ เช่นเอาหินมาตีกัน ตลอดจนพัฒนามาจนถึงใช้ไม้ขีดจุด รู้วิธีจุดไฟแล้ว และรู้ประโยชน์ว่า ไฟเกิดขึ้นมาแล้วจะให้แสงสว่างและความอบอุ่น แต่เรารู้แค่นี้ รู้ไม่ทั่วถึงว่า อะไรเป็นเชื้อแก่มันบ้าง และจะเกิดโทษอย่างไร ถ้าลุกลามไป เราก็จุดไฟขึ้นมาโดยมุ่งหวังว่าจะให้ความอบอุ่นและแสงสว่าง โดยมีความรู้จำกัดแค่ขอบเขตหนึ่ง ไม่รู้ว่าน้ำมันเบนซินและแก๊สเป็นต้น เป็นเชื้อเพลิงร้ายแรง ก็ไปอยู่ใกล้มัน เสร็จแล้วพอจุดไฟขึ้นมา เกิดระเบิดตูมตาม ไฟนั้นลุกลามไปไหม้บ้านเรือน ก็เกิดโทษแก่เรา นี้เป็นเพราะเรารู้สัจจธรรมไม่ทั่วถึง การปฏิบัติจริยธรรมจึงได้ผลไม่สมบูรณ์ หรือพลาดไปเกิดผลร้ายอย่างอื่น เป็นอันว่า การที่จะให้สัจจธรรมเกิดผลเป็นจริยธรรมที่สมบูรณ์ ความรู้ในสัจจธรรมต้องสมบูรณ์ด้วย เป็นเรื่องที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ปัญญานี้แหละเป็นตัวเชื่อมสัจจธรรมกับจริยธรรม

ย้อนกลับไปที่พูดไว้เมื่อกี้นี้ว่า ยิ่งรู้สัจจธรรมก็ยิ่งปฏิบัติจริยธรรมได้ถูกต้อง และในทางตรงข้าม ยิ่งปฏิบัติจริยธรรมถูกต้องก็ยิ่งรู้เห็นสัจจธรรมมากขึ้น ทั้งนี้เพราะว่า ตัวความรู้พัฒนาขึ้นตามการปฏิบัติจริยธรรมด้วย เช่น มีความใฝ่รู้ ชอบค้นคว้าทดลอง มองอะไรๆ ด้วยท่าทีของการเรียนรู้ มีความเพียรพยายาม มีความขยันอดทน มีความรอบคอบในการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ และมีระเบียบในการคิดเป็นต้น นี้เป็นตัวจริยธรรม ยิ่งปฏิบัติจริยธรรมได้ดีเท่าไร เราก็ยิ่งรู้เห็นเข้าใจสัจจธรรมยิ่งขึ้นเท่านั้น และในขั้นสุดท้ายเมื่อจริยธรรมสมบูรณ์ ก็เข้าถึงสัจจธรรม เข้าถึงความหมดทุกข์ แก้ปัญหาได้สำเร็จ และเมื่อเข้าถึงสัจจธรรมสมบูรณ์ ก็มีจริยธรรมที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นจริยธรรมที่เป็นเองตามธรรมดา โดยไม่ต้องฝึกไม่ต้องฝืน เป็นความประสานกลมกลืน และความบรรจบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างสัจจธรรมกับจริยธรรม

รวมความว่า ปัญญาเป็นตัวนำในฝ่ายจริยธรรม ในการเข้าถึงสัจจธรรม แต่มีปัญหาว่า ปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบก็คือจะต้องมีกระบวนการพัฒนาปัญญา และเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการพัฒนาปัญญา พระพุทธศาสนาก็วางหลักเกณฑ์ลงไปอีก โดยจัดเป็นระบบการฝึกฝนพัฒนาที่เรียกว่า ไตรสิกขา ซึ่งมีศีล และสมาธิเป็นฐานเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ปัญญา เป็นตัวหนุนให้ปัญญาแก่กล้าแจ่มชัดจนเข้าถึงสัจจธรรม ศีลเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ชีวิตมีระเบียบและสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ในแนวทางที่เกื้อกูลแก่การใช้ปัญญา และพร้อมกันนั้นก็ช่วยในการเสริมสร้างสภาพจิตที่ดี เช่น ความแน่วแน่มั่นคงของจิตใจ ความสงบ ความปลอดโปร่งผ่องใสของใจที่เรียกว่าสมาธิ ซึ่งทำให้การใช้ปัญญาได้ผล เพราะฉะนั้น ศีล และสมาธิ จึงเป็นองค์ประกอบหลักในการพัฒนาปัญญา เพื่อช่วยให้ปัญญาแก่กล้าสมบูรณ์ เพื่อให้รู้สัจจธรรมสมบูรณ์ เมื่อรู้สัจจธรรมสมบูรณ์แล้ว จริยธรรมก็สมบูรณ์ เรียกว่ามรรคพรั่งพร้อมถึงที่ ก็ทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ดับทุกข์ แก้ปัญหาหมดไป ปัญญาที่เจริญก้าวหน้าจนพาจริยธรรมไปบรรจบเข้าถึงสัจจธรรมนี้ เรามีชื่อเฉพาะให้หลายอย่าง เช่นเรียกว่า โพธิ หรือ โพธิญาณ ซึ่งเกิดเป็นปฏิเวธ คือแทงตลอดทะลุโล่งเข้าถึงสัจจธรรมนั้น ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการของจริยธรรม ในการพัฒนาให้เกิดโพธิญาณ ที่บรรจบเข้าถึงสัจจธรรม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ความบรรจบประสานของสัจจธรรมกับจริยธรรมจากจริยธรรมสู่บัญญัติธรรม >>

No Comments

Comments are closed.