ความหมายและฐานะของสัจจธรรม

20 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 2 จาก 11 ตอนของ

ความหมายและฐานะของสัจจธรรม

ตอนต้นนี้ควรเริ่มด้วยสัจจธรรมก่อน ประการแรก จะพูดถึงความหมายง่ายๆ ว่า พุทธศาสนามองสัจจธรรมอย่างไร สัจจธรรม แปลง่ายๆ ว่า ความจริง ความแท้ ภาวะที่เป็นอย่างนั้น หรือภาวะที่เป็นของมันอย่างนั้น นี้เรียกว่าสัจจธรรม ความจริง จะมีคำว่าธรรมต่อท้ายหรือไม่ก็ตาม ก็มีความหมายเหมือนกัน คำว่าธรรมในที่นี้เหมือนกับเติมเข้าไปเป็นสร้อยคำให้น่าฟังยิ่งขึ้น ตัวแท้ก็คือ ความจริง และภาวะที่เป็นอย่างนั้น ซึ่งในหลักการของพระพุทธศาสนาก็หมายถึงธรรมชาติ และความเป็นไปของธรรมชาติที่เราเรียกว่าธรรมดา หรือกฎของธรรมชาติ จะเห็นได้ว่า พุทธศาสนานั้นมองสัจจธรรมในฐานะที่เป็นความจริงซึ่งมีอยู่ตามธรรมดา อย่างที่เราเรียกว่ากฎธรรมชาติ โดยนัยนี้ สัจจธรรมนั้นก็แยกได้เป็นธรรมชาติกับกฎของธรรมชาติ หรือพูดให้สั้นเข้าอีกว่า ธรรมดากับธรรมชาติ ทั้งนี้จะเห็นได้ชัดจากพุทธพจน์ที่ตรัสแสดงหลักความจริงต่างๆ ว่า ไม่ว่าตถาคตทั้งหลาย (คือ พระพุทธเจ้า) จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ก็มีหลักที่ตายตัวเป็นธรรมนิยาม คือ ความเป็นไปที่แน่นอนของธรรมดาหรือกฎธรรมชาติว่าดังนี้ๆ ขอยกตัวอย่างแห่งหนึ่งว่า

“ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ก็มีหลักยืนตัว เป็นธรรมนิยามว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงคงทนอยู่ไม่ได้ ที่เรียกว่าเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”

อีกแห่งหนึ่ง ตรัสอย่างอื่นแต่ข้อความเริ่มต้นแบบเดียวกันว่า

“ตถาคตทั้งหลายจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ก็คงเป็นหลักยืนตัว เป็นธรรมนิยามว่า เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนั้นจึงมี เมื่อสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนั้นก็ไม่มีด้วย เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นสิ่งนั้นก็เกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ดับสิ่งนั้นก็ดับ ฯลฯ”

ที่ยกมา ๒ อย่างนี้ กฎข้อแรก คือหลักไตรลักษณ์ กฎที่สอง คือ หลักปฏิจจสมุปบาท พุทธพจน์นี้แสดงถึงทัศนะหรือท่าทีการมองสัจจธรรมของพระพุทธศาสนา ที่ถือว่า สัจจธรรมคือความจริงนั้น เป็นภาวะที่เป็นของมันอย่างนั้น โดยไม่ขึ้นกับตัวผู้สอนผู้บอกผู้กล่าว หรือใครทั้งสิ้น ไม่มีผู้สร้างสรรค์ ปรุงแต่ง บันดาล พระศาสดามีฐานะเป็นเพียงผู้ค้นพบและนำมาประกาศเผยแพร่ ซึ่งในพระสูตรข้างต้นนี้เองก็มีข้อความต่อไปว่า “ตถาคตได้ตรัสรู้ ได้ค้นพบแล้ว จึงบอกกล่าว แสดง ประกาศ เปิดเผย จำแนกแจกแจง ทำให้เข้าใจง่าย” นี่คือฐานะของศาสดา นี่คือความจริงในทัศนะหรือท่าทีการมองของพุทธศาสนา

ลักษณะที่เด่นอย่างหนึ่งของความจริง หรือสัจจธรรมในพระพุทธศาสนาก็คือ มีสิ่งที่เรียกว่า สภาวธรรม สภาวธรรมนี้ แปลว่า สิ่งที่มีภาวะของมันเอง ถ้าแปลอย่างง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่มีอยู่นั่นเอง สิ่งที่มีเรียกว่าสภาวธรรม การมีสภาวธรรมเป็นลักษณะเด่น ในแง่ที่ทำให้ตัดเรื่องการสร้างโลก ตัดเรื่องเทพยิ่งใหญ่ผู้สร้างสรรค์บันดาลสรรพสิ่ง ออกไปได้เลย อย่างไรก็ดี พึงสังเกตว่า ความมีอยู่ของสภาวธรรมนั้นไม่ใช่มีในฐานะที่เป็นตัวเป็นตน แต่มีอยู่โดยเป็นภาวะ ซึ่งไม่มีใครจะอาจยึดเป็นเราเป็นของเราได้ หรือมีอยู่โดยความสัมพันธ์และเป็นเหตุปัจจัยกับสิ่งอื่น ไม่ได้ดำรงอยู่โดยตัวของมันเอง สภาวธรรมทั่วไปนั้นจะพูดถึงโดยลำพังตัวมันเองไม่ได้ ต้องพูดพร้อมไปกับกฎที่เกี่ยวข้องกับมัน หรือความเป็นไปของมัน กล่าวคือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และความอิงอาศัยกันกับสิ่งอื่นๆ เพราะฉะนั้น สัจจธรรมจึงได้แก่สภาวธรรมพร้อมด้วยความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และความสัมพันธ์อิงอาศัยกัน ในเวลาที่สัจจธรรมมาสัมพันธ์กับมนุษย์ เราจึงแยกมองได้เป็น ๒ ด้าน คือตัวสัจจธรรมที่เป็นสภาวธรรมกับกฎเกณฑ์ของมัน

สัจจธรรมหรือความจริงนั้น ปรากฏแก่มนุษย์ได้อย่างไร มันปรากฏแก่มนุษย์ได้ด้วยความรู้ ความรู้นี้เรียกว่า ปัญญา ปัญญาเป็นตัวที่ทำให้มนุษย์สัมพันธ์กับสัจจธรรม และเข้าถึงสัจจธรรม ในเวลาที่เข้าถึงสัจจธรรมเราอาจใช้คำว่าปฏิเวธ ซึ่งแปลว่าการแทงตลอด การแทงตลอดก็คือมีปัญญารู้แจ้งนั่นเอง ลักษณะของการเข้าถึงสัจจธรรม ก็คือการเข้าถึงด้วยปัญญาหรือความรู้ ดังนั้น ตัวเชื่อมโยงมนุษย์กับสัจจธรรมก็คือ ตัวความรู้หรือปัญญา นี้เป็นด้านหนึ่ง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< คำกล่าวนำ ของคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาจากสัจจธรรมสู่จริยธรรม >>

No Comments

Comments are closed.