จุดบรรจบสมบูรณ์ของสัจจธรรมกับจริยธรรม

20 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 11 จาก 11 ตอนของ

จุดบรรจบสมบูรณ์ของสัจจธรรมกับจริยธรรม

ทีนี้ ขอพูดย้อนกลับมาหาตัวสัจจธรรมและจริยธรรมเอง อีกครั้งหนึ่ง ดังได้บอกเมื่อกี้แล้วว่า โดยสาระที่แท้แล้ว สัจจธรรมกับจริยธรรมนั้นเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ออกมาจากแหล่งเดียวกัน จริยธรรมอิงอาศัยสัจจธรรม เป็นการนำเอา (ความรู้ใน) สัจจธรรมมาใช้ในทางที่จะเกิดคุณค่าเป็นประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์ ในขั้นสุดท้าย จริยธรรมนั้นก็จะไปบรรจบกับสัจจธรรมอีกครั้งหนึ่ง ถ้าจริยธรรมบรรจบกับสัจจธรรมเมื่อไร ก็จะเกิดความสมบูรณ์ขึ้นเป็นจริยธรรมที่สมบูรณ์ ในขณะแห่งการรู้แจ้งสัจจธรรมอย่างสมบูรณ์ และก็เป็นความสมบูรณ์แห่งชีวิตของมนุษย์เองด้วย ซึ่งเราเรียกว่า เป็นการบรรลุจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อมนุษย์เข้าถึงสัจจธรรมนั้น มนุษย์ก็รู้สัจจธรรม คือ มีปัญญาที่รู้ความจริง รู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติตามความเป็นจริง เมื่อรู้สัจจธรรม ก็ปฏิบัติได้ถูกต้องสมบูรณ์ คือปฏิบัติได้ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้น ซึ่งเรียกว่าเป็นจริยธรรมดังได้กล่าวมาแล้ว ทีนี้ เมื่อปฏิบัติได้ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว เราก็แก้ปัญหาของมนุษย์ได้ ดับทุกข์ได้ มนุษย์ก็เข้าถึงจุดหมายที่เรียกว่าภาวะไร้ทุกข์หรือมีความสุขสมบูรณ์ ความสุขที่แท้จริงก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ตอนนี้จริยธรรมกับสัจจธรรมก็มาบรรจบกัน ณ จุดหมายที่มนุษย์ต้องการ ถ้าเราจะเรียกว่าความสุข มันก็เป็นความสุข ถ้าจะเรียกว่าอิสรภาพ มันก็เป็นอิสรภาพหรือวิมุตติ ถ้าจะเรียกว่าเป็นความสงบ มันก็เป็นสันติ ถ้าจะเรียกว่าเป็นความบริสุทธิ์ มันก็เป็นวิสุทธิ์ เป็นต้น คือจะเรียกว่าอะไรก็ได้หลายอย่าง แต่มันเป็นจุดบรรจบสูงสุดของชีวิตมนุษย์หรือคุณค่าที่มนุษย์จะพึงเข้าถึงได้

เป็นอันว่า สัจจธรรมกับจริยธรรมนั้นมาบรรจบกันครั้งสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง ตรงที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงจุดหมายสูงสุดของชีวิต ชีวิตที่สมบูรณ์ก็จึงเป็นที่บรรจบร่วมกันขององค์ประกอบสามอย่างนี้ คือ ปัญญาที่รู้สัจจธรรม แล้วก็จริยธรรมที่เป็นการปฏิบัติตามสัจจธรรมนั้นโดยถูกต้องสมบูรณ์ แล้วก็ความสุขหรือภาวะไร้ทุกข์ที่แก้ปัญหาได้ เนื่องจากการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ขอให้สังเกตว่า หลักการนี้ต่างจากมติของจริยศาสตร์ตะวันตก ในจริยศาสตร์ตะวันตก มีความเห็นเกี่ยวกับสิ่งดีงามสูงสุดหรือภาวะสมบูรณ์ ที่เรียกว่า the highest good นั้น แยกเป็น ๓ พวก และแต่ละพวกก็ยึดถือคนละอย่าง พวกหนึ่งว่า สิ่งดีงามสูงสุด คือความสุข อีกพวกหนึ่งว่าคุณธรรมหรือหน้าที่ อีกพวกหนึ่งว่าการพัฒนาเต็มบริบูรณ์แห่งศักยภาพ แต่ในพระพุทธศาสนา ท่านชี้ให้เห็นว่า ทั้งสามอย่างนี้ ในที่สุดก็ต้องมีพร้อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้ามันยังไม่มาบรรจบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแท้จริง เวลานั้นตราบนั้นเราถือว่า การรู้สัจจธรรมยังไม่สมบูรณ์ การปฏิบัติตามจริยธรรมยังไม่สมบูรณ์ และชีวิตของมนุษย์ก็ยังไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อไรมาบรรจบเป็นหนึ่ง สัจจธรรมปรากฏแก่ปัญญาโดยสมบูรณ์ จริยธรรมประพฤติถูกต้องตามกฎธรรมชาติ หรือตามสัจจธรรมโดยสมบูรณ์ ก็เกิดชีวิตที่สมบูรณ์ คือ ภาวะไร้ทุกข์เป็นความสุขที่เป็นจุดหมายของชีวิต และนี่ก็คือ จุดบรรจบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของความสมบูรณ์ ๓ ประการที่เนื่องอยู่ด้วยกัน คือ สัจจธรรมที่สมบูรณ์ หมายถึง สัจจธรรมซึ่งสมบูรณ์อยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว มาปรากฏแก่ปัญญาของมนุษย์ที่รู้แจ้งธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ จริยธรรมที่สมบูรณ์ คือ ความดีงามในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสังคมและธรรมชาติอย่างถูกต้อง ซึ่งมนุษย์พัฒนาขึ้นมาในการพยายามเข้าถึงสัจจธรรม และเกิดมีพรั่งพร้อมกลายเป็นการดำเนิน และปฏิบัติได้ถูกต้องสมบูรณ์ขึ้นมา เมื่อมนุษย์เข้าถึงสัจจธรรมนั้น และชีวิตที่สมบูรณ์ ได้แก่ การที่มนุษย์ผู้มีปัญญารู้แจ้งความจริงโดยสมบูรณ์ และมีความดีงามในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติได้ถูกต้องสอดคล้องกับสัจจธรรมแล้วนั้น เข้าถึงภาวะไร้ปัญหาปลอดพ้นจากความทุกข์ เป็นอิสระโดยสมบูรณ์ รวมสามอย่างเป็น ปัญญาที่สมบูรณ์ ความดีงามที่สมบูรณ์ และ อิสรภาพที่สมบูรณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เป็นผลแห่งการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์อย่างสมบูรณ์นั่นเอง เพราะฉะนั้น บุคคลที่ถือว่าสูงสุดในอุดมคติของพระพุทธศาสนา จึงมีคุณสมบัติสามประการนี้ ดังที่เราจะเห็นว่า พระพุทธเจ้ามีพระคุณสามประการ คือ

๑. ปัญญาคุณ ปัญญาที่รู้สัจจธรรม รู้ความจริงที่เป็นธรรมดา เมื่อรู้ความจริงสมบูรณ์แล้ว ก็มี

๒. กรุณาคุณ มีความดีงาม ทั้งคุณธรรมและจริยธรรมสมบูรณ์ จนกระทั่งตนเองไม่มีปัญหา คุณธรรมและจริยธรรมนั้นจึงแสดงออกไปภายนอก มีแต่ไปช่วยแก้ปัญหาให้แก่คนอื่น เรียกว่ากรุณา

๓. วิสุทธิคุณ ซึ่งท่านมักเรียกว่าวิมุตติ ได้แก่ ความเป็นอิสระของจิตใจ ความหลุดพ้น ความบริสุทธิ์ ปลอดพ้นสิ่งขุ่นมัวเศร้าหมอง เป็นความสุขสมบูรณ์ หรือภาวะไร้ทุกข์นั่นเอง

นี่คือคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ๓ ประการ ซึ่งทำให้มนุษย์เป็นบุคคลในอุดมคติ โดยเป็นที่บรรจบรวมของสัจจธรรมและจริยธรรม โดยปรากฏผลแก่มนุษย์ เป็นชีวิตที่สมบูรณ์

อาตมาได้พูดมาในเรื่องของสัจจธรรมกับจริยธรรม เป็นข้อใหญ่บ้าง ข้อย่อยบ้าง มีเนื้อหาต่างๆ ไม่ได้บรรจบประสานต่อเนื่องกันโดยสมบูรณ์ เป็นแต่เพียงว่า บางอย่างก็พูดให้เห็นหลักการทั่วไป บางส่วนก็เอาประเด็นปลีกย่อยมาพูด เพื่อให้เห็นแง่ต่างๆ ที่ควรพิจารณา

บัดนี้ ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอถือเอาเรื่องสัจจธรรมกับจริยธรรมนี้แหละมาเป็นคำอวยพรแก่ที่ประชุมนี้ ขออาราธนา คุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พรแก่ทุกท่าน ขอจงได้พัฒนาให้เกิดความเจริญของจริยธรรมอันมีปัญญาเป็นตัวนำ เพื่อเข้าถึงสัจจธรรม แล้วก็ทำให้เกิดความสัมฤทธิ์ในจุดหมายแห่งชีวิตของมนุษย์ ที่เรียกว่าเป็นความสุข เป็นภาวะไร้ทุกข์ ความเป็นอิสรภาพโดยสมบูรณ์ โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จริยธรรมต่อสิ่งที่ดำรงรักษาสัจจธรรม

No Comments

Comments are closed.