จากสัจจธรรมสู่จริยธรรม

20 กันยายน 2531
เป็นตอนที่ 3 จาก 11 ตอนของ

จากสัจจธรรมสู่จริยธรรม

ลำดับต่อไปก็คือ เมื่อมนุษย์รู้สัจจธรรมหรือรู้ความจริง คือรู้ตัวสภาวธรรม พร้อมทั้งความเป็นไปของมัน อันได้แก่กฎเกณฑ์ที่ว่ามันเป็นไปได้โดยอาศัยเหตุปัจจัย และมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันแล้ว ถ้าเราจะใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเราเอง แก่การดำเนินชีวิตของเรา ก็คือ เราจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ หรือทำโดยประการที่ว่า กฎของธรรมชาตินั้นจะดำเนินไปในทางที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา การดำเนินชีวิตแบบนี้หรือการปฏิบัติแบบนี้มีชื่อเรียกว่า จริยธรรม นี่คือตอนที่สัจจธรรมมาเชื่อมโยงกับจริยธรรม ดังนั้น จริยธรรมก็คือการที่เราทำให้สัจจธรรมเกื้อกูลแก่ชีวิตมนุษย์ จะเกื้อกูลได้อย่างไร ก็โดยที่เรารู้กฎเกณฑ์ของมัน แล้วปฏิบัติโดยใช้ความรู้นั้นทำให้มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของมันในทางที่จะเกิดผลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา อันนี้ก็คือจริยธรรม ดังนั้น จริยธรรมจึงเป็นสิ่งที่อิงอาศัยสัจจธรรม การอิงอาศัยนั้น ถ้าประมวลจากที่พูดมาก็จะแบ่งเป็น ๓ ข้อคือ

๑. เราจะต้องทำหรือปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์หรือหลักการของสัจจธรรมนั้น

๒. การที่เราจะทำ หรือปฏิบัติโดยสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของสัจจธรรม ให้เกิดผลดีแก่ชีวิตของเราได้นั้น เราจะต้องมีความรู้ในสัจจธรรมคือในกฎเกณฑ์ และในเหตุปัจจัยที่จะทำให้เป็นไปอย่างนั้น แล้วเราจึงจะสามารถทำให้มันเกิดผลที่เราต้องการ

๓. การปฏิบัติของมนุษย์ที่ได้ผลตามต้องการนั้น ก็เพราะว่ามันเป็นไปตามกระบวนการของสัจจธรรมนั่นเอง กล่าวคือ การที่ผลที่เราต้องการเกิดขึ้น ก็เพราะว่า สิ่งที่เราทำนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ และเราทำถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของเหตุปัจจัยนั้น ผลก็เลยเกิดขึ้นแก่เราตามที่ต้องการ

ยกตัวอย่างเช่น จะปลูกพืชสักอย่างหนึ่ง ก็ต้องรู้องค์ประกอบ และเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกระบวนการเจริญเติบโตของพืชนั้น ซึ่งจะทำให้พืชงอกขึ้นอยู่รอด และเจริญงอกงาม เช่น ต้องมีเมล็ดพืชที่สมบูรณ์ ดิน น้ำ ปุ๋ย อากาศ อุณหภูมิ เป็นต้น ที่ถูกกัน ยิ่งรู้ธรรมชาติของมันมาก เช่นว่า เมล็ดพืชอย่างไรพันธุ์ดี ดินอย่างไรเหมาะกัน ปุ๋ยอะไรที่ต้นไม้เช่นนั้นต้องการ อุณหภูมิแค่ไหนพอเหมาะ จะต้องปลูกในฤดูไหน ช่วงไหน ในระยะเวลาเท่าใด ความเปลี่ยนแปลงของพืชจะเป็นอย่างใด เช่น มีช่อ มีดอก ออกผล นานเท่าไรเก็บได้ ฯลฯ ตลอดจนปัจจัยฝ่ายลบ เช่น แมลงชนิดไหนเป็นอันตราย ยิ่งรู้ชัดเจนละเอียดเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะปลูกให้ได้ดีเพียงนั้น แต่นอกจากรู้แล้ว จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องพอเหมาะพอดีด้วย ถึงฤดูจะปลูก ก็ต้องปลูก จะต้องพรวนดิน ก็ต้องทำ ยังไม่ถึงเวลาที่จะทำเรื่องใด ก็ต้องรอได้ในเรื่องนั้น พอถึงตอนนี้ องค์ประกอบทางจิตใจก็เข้ามาเกี่ยว ต้องขยัน มีความเพียรพยายาม ต้องอดทน ต้องบังคับใจตนเองได้ ตลอดจนรู้จักพิจารณาตัดสินใจ และละเอียดลงไปอีก ในทุกขั้นทุกตอน ก็จะมีเหตุการณ์ปลีกย่อย และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้น ในทางที่ถูกใจบ้าง ไม่เป็นอย่างใจบ้าง ถ้าควบคุมตนเองและวางใจไม่ถูกต้อง ก็อาจจะเกิดความหงุดหงิดขัดเคืองกลุ้มใจกังวล แล้วอาจจะทำอะไรพลาดพลั้งด้วยความหุนหันพลันแล่น ไม่เอื้อต่อความเป็นไปด้วยดี ของปัจจัยต่างๆ ที่จะให้พืชได้ผลดี ทำอย่างไรจะทำงานดำเนินอาชีพไปด้วยจิตใจที่ผ่องใสเบิกบาน มีความสุขกับการทำงาน หรือมองกว้างออกไป จะทำอย่างไรให้การปลูกพืชนี้เกิดผลดีแก่ชีวิตของตนเอง เป็นเครื่องอาศัยในการรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัว ทำอย่างไรจะให้งานปลูกพืชของตนเกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์และสังคม เป็นส่วนช่วยให้องค์ประกอบส่วนอื่นๆ ในธรรมชาติและในสังคมประสานกลมกลืนกัน บังเกิดผลดีไปทั่วทุกด้าน ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของจริยธรรมทั้งสิ้น ซึ่งสัมพันธ์กันไปตลอดทุกเวลากับการรู้ความจริง และการปฏิบัติให้ถูกต้องพอดี ที่จะให้กระบวนการของธรรมชาติดำเนินไป ตามกฎเกณฑ์ของมันในทางที่จะเกิดผลดีแก่ชีวิตของมนุษย์

รวมความว่า จริยธรรมไม่แยกจากสัจจธรรม เพราะเหตุว่า จริยธรรมเนื่องอยู่กับสัจจธรรม โดยอาศัยสัจจธรรมเป็นฐาน ในทางพุทธศาสนาถือว่าจริยธรรมก็เป็นสัจจธรรมด้วยส่วนหนึ่ง เพราะเป็นการปฏิบัติที่กลายเป็นความจริงตามธรรมชาติได้ โดยที่ว่ามนุษย์นำตัวเข้าไปเป็นปัจจัยหรือเป็นตัวแปรอย่างหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติ และผลักดันให้ปัจจัยทั้งหลายเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ แต่ก็เกิดผลตามที่เราต้องการ เพราะทำด้วยความรู้ว่าเมื่อทำอย่างนั้นแล้วก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลขึ้นอย่างนั้น และกระบวนการปฏิบัตินั้นก็กลายเป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่เป็นความจริงตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น จริยธรรมเองจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของสัจจธรรม เป็นอันว่า มีสัจจธรรมที่เป็นเรื่องของสภาวธรรม ซึ่งเป็นไปตามธรรมดาธรรมชาติของมันเองอย่างหนึ่ง กับจริยธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติของมนุษย์โดยอาศัยความรู้ในกฎธรรมชาติแล้ว ปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎของธรรมดานั้น ในทางที่จะเกิดผลดีงามแก่ตนอย่างหนึ่ง นี่ก็คือ สัจจธรรมนั่นเองเป็นแหล่งที่มาของจริยธรรม จริยธรรมต้องเป็นไปตามสัจจธรรม ถ้าจริยธรรมไม่เป็นไปตามสัจจธรรม จริยธรรมนั้นก็ไม่ถูกต้อง เพราะจะไม่มีผลดีงามที่เป็นจริง ถ้าจริยธรรมเป็นไปตามสัจจธรรม ก็เรียกว่าเป็นจริยธรรมสากล รวมความในตอนนี้ก็คือ จริยธรรมเป็นส่วนหนึ่งของสัจจธรรม คือมันต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสัจจธรรม และมีผลขึ้นตามกฎเกณฑ์นั้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ความหมายและฐานะของสัจจธรรมความหมาย คุณค่า และขอบเขตของจริยธรรม >>

No Comments

Comments are closed.