การศึกษาเป็นศาสนกิจหลัก: ฐานะที่สูญเสียไป

3 มิถุนายน 2531
เป็นตอนที่ 8 จาก 15 ตอนของ

การศึกษาเป็นศาสนกิจหลัก: ฐานะที่สูญเสียไป

ประการต่อไป ก็คือ ฐานะของการศึกษาเอง ในพระพุทธศาสนาทั้งหมด บรรดากิจกรรมในพระพุทธศาสนานั้น อะไรสำคัญที่สุด ขอตั้งเป็นคำถามขึ้นมา ถ้าผู้บริหารการพระศาสนาถืออะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ก็จะเน้นในเรื่องนั้นๆ และเอาใจใส่ในเรื่องนั้นๆ ถ้าบอกว่าการปกครองสำคัญที่สุด ก็ต้องให้ความสำคัญแก่การปกครอง เอาใจใส่ พยายามที่จะออกกฎหมายคณะสงฆ์ ตรากฎมหาเถรสมาคม ออกระเบียบอะไรต่างๆ เพื่อจะจัดการปกครองให้ได้ผล ถ้าพระประพฤติไม่ดีก็ออกกฎหมายมาลงโทษ และพิจารณาหาทางว่าทำอย่างไรจะลงโทษให้ได้ผล วางระเบียบในการพิจารณาอธิกรณ์ หรือการดำเนินคดีของพระ ให้รัดกุมอะไรทำนองนี้ แต่ถ้าเราบอกว่า การศึกษาเป็นกิจกรรมสำคัญที่สุดของพระศาสนา เราก็หันมาเอาใจใส่ในการศึกษา

ในความเป็นจริง ศาสนกิจส่วนไหนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในพระศาสนา ขอให้เรามองภาพในอดีตว่า ในระบบการปกครองพื้นฐานทางพระธรรมวินัย มีองค์ประกอบและหลักการอย่างไร การปกครองพื้นฐานแต่เดิมก็มีอุปัชฌาย์อาจารย์ กับลูกศิษย์ แยกเป็นอุปัชฌาย์กับสัทธิวิหาริก อาจารย์กับอันเตวาสิก นี้เป็นระบบความสัมพันธ์พื้นฐานที่เป็นการปกครองในพระศาสนา และในการปกครองนี้ หน้าที่หลักของผู้ทำหน้าที่ปกครองคืออะไร ก็คือ การให้การศึกษา อุปัชฌาย์อาจารย์มีความสัมพันธ์กับศิษย์ในการให้การศึกษาอบรม นี้แหละคือพื้นฐานอันดับหนึ่ง ซึ่งเริ่มมาจากบทบัญญัติในพระวินัย ที่ให้พระบวชเข้ามาแล้วต้องถือนิสัย ๕ พรรษา เป็นนวกะ อยู่กับอุปัชฌาย์ หรืออยู่กับอาจารย์ ก็คือได้รับการฝึกอบรมในธรรมวินัยหรือให้การศึกษานั่นเอง การศึกษานั้นก็เป็นการปกครองไปด้วย แต่การศึกษาเป็นกิจกรรมหลัก โดยที่ว่าเมื่อมีการศึกษา ก็จะมีความสัมพันธ์ในแง่ที่เป็นครูอาจารย์กับศิษย์ ซึ่งมีการปกครองไปในตัว คุณค่าที่เกิดจากการศึกษานั้นให้ทุกๆ สิ่งแก่ชีวิต การศึกษาสร้างคน สร้างชีวิตจิตใจ พัฒนาบุคคลนั้นขึ้นมา ให้สามารถที่จะดำรงอยู่ ดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี มีความเจริญงอกงาม เป็นการให้สิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดแก่ชีวิต ซึ่งมีความหมายเชิงพระคุณอย่างมาก ฉะนั้น การศึกษาซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติเรื่องการถือนิสัย ให้มีการอยู่โดยสัมพันธ์กันระหว่างอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ จึงเป็นเรื่องของการให้สิ่งที่มีคุณค่าแก่ชีวิตที่ผูกจิตใจของกันและกันไว้ ทำให้มีการปกครองอย่างเป็นไปเอง โดยไม่ต้องตั้งหน้าตั้งตาปกครอง

ในระบบการศึกษาในวัดของไทยเราแต่โบราณ การเป็นอยู่ในวัดเป็นชีวิตแห่งการศึกษา พระอาจารย์เป็นเจ้าวัด ลูกวัดก็คือลูกศิษย์ ทุกวัดมีการศึกษา โดยเจ้าอาวาสเป็นผู้ให้การศึกษาแก่ลูกวัด ดังจะเห็นว่า แม้ในปัจจุบัน ก็ยังเรียกเจ้าอาวาสว่าอาจารย์ ทั้งที่ไม่ได้ทำหน้าที่อาจารย์กันแล้ว ความเป็นอาจารย์กับศิษย์นี้ เป็นฐานะที่ลึกซึ้งยิ่งใหญ่กว่าการเป็นเจ้าวัดกับลูกวัด และจะติดไปกับตัวจนกระทั่งว่า แม้ผู้นั้นจะคืนสิกขาลาเพศไปไหนก็ตาม ก็จะมีความผูกพันกับอาจารย์ของตน และไม่ทิ้งสำนัก เพราะอาจารย์และสำนักได้ให้สิ่งที่มีคุณค่าแก่ชีวิตของเขา เป็นผู้สร้างชีวิตของเขามา จนกระทั่งตายเขาก็ไม่ทิ้งวัด การปกครองก็ได้ผล เพราะมีเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ อยู่ด้วยกันในฐานะอาจารย์กับศิษย์ ก็ปกครองกันได้ เมื่อออกไปแล้วก็มาช่วยเกื้อกูลวัดนั้นอีก

แต่มาในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร ปัจจุบันนี้ เจ้าอาวาสมีฐานะเป็นผู้ปกครอง แต่ไม่มีฐานะเป็นอาจารย์ผู้ให้ความรู้แก่ศิษย์ ไม่ได้ทำหน้าที่ให้การศึกษาอบรมสั่งสอน สภาพนี้กำลังเป็นไปอย่างมาก การศึกษากำลังกลายเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่เป็นเรื่องของความชำนาญพิเศษ ผู้ที่มีหน้าที่ให้การศึกษาก็ให้การศึกษาไป ผู้ทำหน้าที่ปกครอง ก็ปกครองไป แยกกันต่างหาก พระเณรอาศัยวัดเป็นเพียงที่อยู่ ออกไปเรียนหนังสือที่อื่น ถ้าอย่างนี้แล้ว มันก็จะต้องเกิดปัญหาขึ้น ฝ่ายการศึกษาก็แยกตัวต่างหากออกไป แล้วลูกวัดกับผู้ปกครองคือเจ้าอาวาส ก็อาจจะมีปัญหาซึ่งกันและกัน มีความขัดแย้งกัน ไม่อยู่ในโอวาท ว่ากล่าวกันไม่ได้ ในปัจจุบันนี้ เอาการปกครองมาเป็นหลัก ให้ความสำคัญอันดับสูงสุด โดยไม่สัมพันธ์กับการศึกษา เพราะฉะนั้น ประเพณีนี้ก็เปลี่ยนไป แล้วโทษก็เกิดขึ้นแก่พระศาสนาทั้งหมด

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ ในการวางนโยบายและแผนการศึกษาซึ่งเป็นทิศทางของการศึกษาต่อไป จึงกำหนดว่า จะต้องให้การศึกษากลับฟื้นขึ้นมาสู่ฐานะเป็นกิจกรรมสำคัญอันดับสูงสุดในกิจการพระศาสนา และจะต้องให้ผู้บริหารการพระศาสนา มีฐานะเป็นผู้ให้การศึกษาแก่พระเณรทั่วไป มีการศึกษาเป็นหลักในการยึดเหนี่ยวจิตใจ คือมีสิ่งสัมพันธ์ยึดเหนี่ยวจิตใจระหว่างครูอาจารย์กับศิษย์ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเรียกว่าผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง เพราะเดิมนั้น คำนี้ก็คงจะไม่มีในระบบสงฆ์ด้วยซ้ำไป เพราะเราอยู่ในฐานะอาจารย์กับศิษย์มาแต่ไหนแต่ไร แต่เวลานี้เรากำลังไปดำเนินตามอย่างทางโลก ฐานะและความสัมพันธ์แบบนี้ก็หมดไป ทำให้การศึกษากับการปกครองแยกจากกัน แล้วการปกครองก็ไม่ได้ผลดี เจ้าอาวาสกับลูกวัด มีฐานะและความสัมพันธ์แบบผู้ปกครอง กับผู้อยู่ใต้ปกครอง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ง่ายต่อการที่จะเกิดความรู้สึกแบบเป็นฝ่ายตรงข้าม เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เมื่อการปกครองเสียหลักแล้ว ความเสื่อมโทรมก็เกิดขึ้นแก่พระศาสนา เมื่อปกครองกันไม่ได้ ความประพฤติเสื่อมโทรมก็ปรากฏแพร่หลายทั่วไป เพราะฉะนั้น จึงจะต้องนำการศึกษากลับขึ้นมาสู่ฐานะศาสนกิจอันดับสูงสุด นี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ถ้าว่าโดยสรุปก็คือ ต้องเอาการศึกษามานำการปกครอง มิใช่เอาการปกครองมานำการศึกษา

การปกครองควรเป็นเปลือกหุ้มการศึกษา ที่ว่าหุ้มการศึกษา ก็คือหุ้มพระศาสนานั่นเอง ขอให้พิจารณาดู พระศาสนาอยู่ที่ไหน ที่เราบวชเข้ามาก็เพื่อการศึกษา เพื่อ ไตรสิกขา มีศีล สมาธิ ปัญญา หมายความว่า ระบบความเป็นอยู่ การเป็นอยู่ในพระศาสนา ก็คือการศึกษาฝึกฝนอบรม ฉะนั้น เนื้อหาของพระศาสนาก็คือการศึกษา การปกครองเป็นเปลือกห่อหุ้ม เพื่อให้การศึกษาที่เป็นเนื้อหานี้ คงอยู่และดำเนินไปได้ ถ้าไม่มีเนื้อหาคือการศึกษา การปกครองก็ไม่มีความหมายอะไรทั้งสิ้น ฉะนั้น ต้องให้การศึกษามานำการปกครอง

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ความอ่อนแอของศาสนศึกษาในชนบท: ผลกระทบทั้งต่อพระศาสนาและการพัฒนาประเทศความขาดเอกภาพ: ลักษณะเด่นแห่งการศึกษาของคณะสงฆ์ >>

No Comments

Comments are closed.