เป็นผู้นำ หรือเพียงตามเขาทัน เพื่อติดตันอย่างเขา

3 มิถุนายน 2531
เป็นตอนที่ 11 จาก 15 ตอนของ

เป็นผู้นำ หรือเพียงตามเขาทัน เพื่อติดตันอย่างเขา

จุดเน้นที่พูดมาเมื่อกี้ ได้บอกถึงเป้าหมายว่า เราจะแก้ไขให้พ้นจากความด้อยขึ้นมาเป็นผู้นำในการศึกษา โดยเฉพาะบาลีและพระพุทธศาสนา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญในทางสร้างสรรค์ แต่เท่าที่ผมพูดมาหลายอย่างนั้น เป็นเพียงปัญหาที่เป็นข้อบกพร่อง ข้อบกพร่องนั้น เมื่อแก้ให้จบไป ก็กลายเป็นความปกติ ได้แค่นั้น แต่ความปกตินั้นก็มีความสำคัญที่ว่า มันจะทำให้เราทำอะไรได้สะดวก ส่วนในทางสร้างสรรค์นั้น สิ่งสำคัญในทางการศึกษาก็คือ ความเป็นผู้นำในทางการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาในด้านพระพุทธศาสนา จำกัดแคบเข้ามาก็คือการศึกษาบาลีและธรรมวินัย หน้าที่หลักของเรานั้น ในระยะยาว ก็หนีไม่พ้นบทบาทหลักที่พูดมาแล้วในข้อที่ ๑ คือ บทบาทในการฝึกอบรมหรือสร้างศาสนทายาท ให้การศึกษาแก่พระภิกษุและสามเณรที่จะเป็นผู้มีคุณภาพ คือเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติชอบ มีความรู้แล้วสามารถในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคม

การสร้างความเป็นผู้นำในการศึกษานี้ ผมคิดว่ามี ๓ ระดับด้วยกัน ระดับที่ ๑ ก็คือ เรื่องที่พูดมาแล้ว ที่เราได้พยายามกันมามากมาย ใช้เวลากันเป็น ๒๐-๓๐ ปี คือ การที่จะให้เขารับรองวิทยฐานะ แล้วก็ได้รับรองไปแล้วแค่ขั้นปริญญาตรี ซึ่งยังไม่จบ ภาระนี้จะต้องทำต่อไปอีก นี้ก็เป็นเรื่องของความเป็นผู้นำอย่างหนึ่ง โดยเหตุผลที่ว่า ในขณะที่สถาบันของสงฆ์เป็นหลักของพระศาสนา ควรจะเป็นผู้นำ แต่ถ้าเรามีการศึกษาเพียงปริญญาตรี จะเป็นผู้นำได้อย่างไร ฉะนั้น ในแง่ของสถานะทางสังคม เราจำเป็นต้องทำ แม้ว่าในแง่เนื้อหาสาระก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องสำคัญนัก เราอาจจะมีการศึกษาธรรมวินัยดี มีความรู้ดีมากกว่าปริญญาเอก แต่ในทางสังคมเขาไม่ยอมรับ แล้วจะไปทำอะไรได้ เพราะฉะนั้น การยอมรับของสังคมนี้ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องให้ความสนใจเอาใจใส่เหมือนกัน อย่างคนของเรานี้ เรียนจบไปแล้ว ได้ปริญญาไปแล้ว จบเปรียญ ๙ ประโยค แล้วสึกออกไป ไปสมัครเข้าทำงาน พร้อมกันนั้นก็มีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทางโลก เขาจบปริญญาโททางศาสนามาสมัครที่เดียวกัน ตอนนี้ความรู้แท้จริงไม่เกี่ยว พอไปเข้า ทางการเขาตีราคา อ้าว! ท่านประโยค ๙ เป็นปริญญาตรี อ้อ! ท่านผู้นี้เป็นปริญญาโท ผลที่สุดเป็นอย่างไร เข้าไปทำงานด้วยกัน คนที่ได้ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยทางโลกก็เป็นหัวหน้า แล้วคนที่ได้เปรียญ ๙ ก็ไปคอยช่วยรับคำสั่งให้ค้น หัวหน้าก็บอกว่า เอ้า! วันนี้ไปค้นนั่นมาให้หน่อย ก็ค้นได้ เก่งด้วย ค้นได้ดีด้วย แต่ว่ามีฐานะเป็นอะไร เป็นประจำแผนกอะไรทำนองนี้ นี้เป็นเรื่องสถานะในทางสังคม แต่อันนี้เราพูดเป็นกรณีปลีกย่อย ที่สำคัญก็คือสถานะของคณะสงฆ์โดยรวม ซึ่งเราจะต้องพยายามเชิดชูให้คณะสงฆ์มีการศึกษาระดับสูงสุด นี้ว่าในด้านรูปแบบ ซึ่งมีความสำคัญเหมือนกัน

การที่เราจะต้องยกฐานะให้คณะสงฆ์มีการศึกษาชั้นสูง ระดับปริญญาโท ปริญญาเอกนั้น เวลานี้พระเถระผู้ใหญ่ก็เห็นความสำคัญเหมือนกัน เพราะว่าการศึกษาเปรียญ ๙ ประโยคนั้น เราถือกันมาโดยประเพณีเมืองไทยแต่ไหนแต่ไรว่า เป็นการศึกษาพระธรรมวินัยที่สูงสุดแล้ว ถือเป็นเปรียญเอก แต่ปัจจุบันนี้มีฐานะเป็นเพียงปริญญาตรีเท่านั้น ต่ำต้อยมาก เพราะฉะนั้น จะต้องยกฐานะขึ้นมา จะต้องให้พระมีการศึกษาที่สูงเท่าปริญญาเอกให้ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาในด้านรูปแบบ อย่างน้อยก็ไม่ให้ด้อยกว่าสถาบันในภายนอก ก็จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับทิศทางที่ได้พูดมาเมื่อกี้ว่า ตอนนี้ก็มีการพยายามที่ว่า ทำอย่างไรจะให้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะ ของผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พุทธศักราช ๒๕๒๗ ให้พระสงฆ์ หรือสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์ สามารถจัดการศึกษาในระดับปริญญาโท ปริญญาเอกได้ และก็ได้รับการรับรองวิทยฐานะด้วย

เป็นอันว่า ประการที่ ๑ ก็เป็นความจำเป็นเกี่ยวกับสถานะในสังคม โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นแม่จะต้องเอาใจใส่ คณะสงฆ์นี้เท่ากับเป็นแม่ ซึ่งมีลูกจำนวนมาก ก็ต้องห่วงใยว่า ลูกของตนเองนั้น ทำอย่างไรจะให้มีหน้าที่ ตำแหน่ง มีฐานะไม่ตกต่ำไม่เสียหาย สามารถดำเนินชีวิตไปได้ดี ทั้งเมื่ออยู่ในวัดและเมื่อออกจากวัดไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์ ที่จะยกฐานะทางการศึกษาของพระเณรให้สูงขึ้นไป และอีกฐานะหนึ่ง ก็เป็นความรับผิดชอบในทางสังคมโดยเหตุผลว่า พลเมืองของสังคมไทยนี้จำนวนมากได้เข้ามาอยู่ในวัดเพื่อการศึกษา เมื่อเรารับเขาเข้ามาอยู่แล้ว เราจะไม่รับผิดชอบหรือ เราจะปล่อยให้เขามาอยู่อย่างเลื่อนลอย แล้วอยู่มาระยะหนึ่ง เมื่ออยู่ไปไม่ไหว เขาก็กลับออกไปสู่สังคมโดยไม่ได้อะไรออกไป และกลายเป็นคนที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อสังคม พัฒนาประเทศชาติสังคมไม่ได้ เป็นภาระต่อสังคม ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เป็นการแสดงว่า คณะสงฆ์ไม่ได้มีความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ ไม่เกื้อกูลต่อสังคม เพราะฉะนั้น ถ้าคณะสงฆ์จะเกื้อกูลต่อสังคม เมื่อรับเอาพลเมืองของเขาเข้ามาแล้ว ในเวลาที่เขาอยู่ ก็ต้องพยายามให้เขาได้รับการฝึกอบรมให้ดีที่สุด ถ้าต่อมาเขาอยู่ไม่ได้ เมื่อเขากลับออกไป ก็จะได้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป

ที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำในด้านรูปแบบ แต่ในเวลาเดียวกัน ในขณะที่เราทำการนี้ เราจะต้องตระหนักไว้ในใจด้วยว่า ถึงแม้ถ้าเราจะทำได้สำเร็จตามเป้าหมายนี้ เราก็ยังไม่ได้เป็นผู้นำหรอก เราเพียงแต่ตามเขาทันเท่านั้นเอง เพราะเขามีปริญญาเอกอยู่ก่อนแล้ว อย่าเพิ่งดีใจ เราได้แค่ตามทัน

นอกจากจะเป็นผู้ตามเขาทันแล้ว ยังมีผลตามมาอีก คือ เราจะเป็นพวกเดียวกันและเสวยผลอย่างเดียวกันกับการศึกษาของประเทศไทย หรือของสังคมไทยในปัจจุบัน หมายความว่า การศึกษาปัจจุบันของบ้านเมืองนี้ เขามีปัญหาอะไรอยู่ เราก็จะต้องประสบปัญหาแบบเดียวกับเขาด้วย เพราะเราตามไปในทางของเขา เช่นว่า ผู้สำเร็จการศึกษาในปัจจุบัน จบไปแล้วหางานทำยาก ตกงานมาก เราก็จะต้องประสบปัญหานั้นด้วย นอกจากนี้ ปัญหาอื่นที่ลึกซึ้งกว่านั้น ก็ยังมีอีกหลายอย่าง ซึ่งจะได้พูดกันต่อไป แต่การแก้ไขปัญหาที่ลึกซึ้งเหล่านั้น เป็นหน้าที่ของการศึกษาในระดับของความเป็นผู้นำที่สูงกว่านี้ ตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันนี้ การศึกษาของสังคมไทยนี้ มีปัญหามากในแง่ที่ทำให้คนของเรามีอาการอย่างที่เขาเรียกว่า ละทิ้งภูมิปัญญาของไทยไป แล้วก็ไปตามอย่างฝรั่ง ทีนี้ ถ้าการศึกษาของพระสงฆ์มาเดินตามแนวทางการศึกษาของบ้านเมือง เราก็จะมีปัญหาอย่างเดียวกัน และสร้างปัญหาอย่างเดียวกันกับการศึกษาของฝ่ายบ้านเมืองด้วย คือจะทำให้เราละทิ้งภูมิปัญญาไทยไป ดังนี้เป็นต้น ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องตระหนักไว้ แต่เป็นเรื่องที่จะพูดในข้อต่อๆ ไป เอาละตอนนี้ก็เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาในระดับรูปแบบ

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๒. ทิศทางข้างหน้า การแก้ปัญหาการศึกษาของคณะสงฆ์สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ >>

No Comments

Comments are closed.