ความเป็นผู้นำที่แท้จริง: ทิศทางที่ควรจะเป็น

3 มิถุนายน 2531
เป็นตอนที่ 13 จาก 15 ตอนของ

ความเป็นผู้นำที่แท้จริง: ทิศทางที่ควรจะเป็น

ข้อสุดท้าย เรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นตัววัตถุประสงค์ของการศึกษาแท้ๆ และเป็นตัวความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาด้วย ก็คือว่า เราจะนำเอาพระพุทธศาสนา นำเอาพุทธธรรม หรือนำเอาการศึกษาที่เราได้รับจากพระพุทธศาสนา มาช่วยแก้ปัญหาวิกฤตกาลทางการศึกษาของสังคมไทย และของโลกทั้งหมดได้อย่างไร ถ้าทำอันนี้ได้ จึงจะเป็นผู้นำที่แท้จริง และก็จะต้องตั้งเป้าว่าจะต้องมาให้ถึงขั้นนี้

ปัจจุบันนี้ การศึกษาในประเทศไทยก็ดี หรือมองออกไปทั่วโลกก็ดี ได้มาถึงระยะที่ยอมรับกันว่าเข้าสู่ขั้นวิกฤตกาล ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ นักการศึกษาก็ตำหนิพวกกันเอง ตำหนิระบบการศึกษากันเองมาก เสียงติเตียนอย่างนี้เราจะได้ยินทั่วไปทีเดียว นับเป็นสิ่งหาได้ยากที่ว่า นักการศึกษาผู้อยู่ในวงการศึกษา ผู้รับผิดชอบการศึกษาของชาติ จะมาตำหนิผลงานในวงของพวกตัวเอง แต่ปัจจุบันนี้ ก็ได้เกิดสภาพเช่นนี้ขึ้นแล้ว ขณะนี้ นักการศึกษาได้ตระหนักถึงปัญหาการศึกษาของสังคมไทย ถึงขั้นที่บอกว่า เราได้ดำเนินการศึกษาผิดๆ กันมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ การศึกษาของไทย ได้สร้างปัญหาให้สังคมไทยเป็นอันมาก แล้วก็กำลังคิดจะแก้ไข แม้แต่แนวโน้มที่ว่า จะมาเกื้อกูลสัมพันธ์กันกับทางพระศาสนาอีก ก็มีส่วนอยู่ในเรื่องนี้ด้วย และการที่จะวางแผนการศึกษากันใหม่ ก็คงจะมาจากความคิดเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ถ้าเรามองกว้างออกไปในโลก เราก็จะเห็นสภาพอย่างนี้เหมือนกัน การศึกษาระดับโลกก็กำลังอยู่ในระยะประสบวิกฤตกาล อยู่ในระยะของความอุดตัน ความอับจน และไม่ใช่เฉพาะแต่การศึกษาเท่านั้น วิทยาการแทบทุกแขนง กำลังอยู่ในสภาพอย่างนี้ ทั้งนี้เพราะว่า วิทยาการต่างๆ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาในด้านของตนเองให้สำเร็จได้ นักเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ นักการศึกษาไม่สามารถแก้ปัญหาทางการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ก็ประสบปัญหาในแบบเดียวกันนี้ สังคมกำลังจะก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ในอดีตนั้น สังคมเคยเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาแล้ว เขาเรียกว่า การเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมมาสู่สังคมอุตสาหกรรม แต่ขณะนี้ในโลกนี้ อารยธรรมมนุษย์กำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีก ยุคอุตสาหกรรมกำลังจะสิ้นสุดลง ในบางประเทศก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งมีคนพยายามขนานชื่อกันไปต่างๆ บ้างก็เรียกง่ายๆ ว่า post-industrial society คือ ยุคสังคมหลังอุตสาหกรรม บ้างก็เรียกว่ายุค super-industrial society คือ สังคมอภิอุตสาหกรรม บ้างก็เรียกว่า information society คือ ยุคสังคมข่าวสารสนเทศ หรือยุคสังคมสารสนเทศ ยุคสังคมข่าวสารข้อมูล ชื่อหลังนี้นิยมใช้กันมาก เพราะว่า information คือ สารสนเทศ หรือข่าวสารข้อมูล กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตและสังคมของมนุษย์ ทีนี้ ในตอนที่เปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรมมาเป็นยุคใหม่ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาก่อน ในช่วงเวลานี้ วิทยาการต่างๆ ก็พากันประสบปัญหา แก้ไขปัญหาของโลกไม่ได้ การศึกษาก็เป็นด้านหนึ่งที่กำลังประสบปัญหานี้และกำลังหาทางออก

ทีนี้ ถ้าหากว่า การศึกษาของคณะสงฆ์เราไปมุ่งตามการศึกษาของโลก มีปริญญาโท ปริญญาเอก อย่างเขา ก็คือตามเขาไปในแนวทางของปัญหา และจะสร้างปัญหาแบบเขานั้นเอง ซึ่งก็เท่ากับว่าไปช่วยเพิ่มปัญหาให้แก่โลกและสังคม ฉะนั้น เราจึงควรจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือ ช่วยเขาแก้ปัญหา หรือสามารถชี้ทางเดินใหม่ให้แก่อารยธรรมของโลกต่อไป อันนี้เป็นภารกิจของความเป็นผู้นำที่แท้จริง เพราะฉะนั้น การที่เราพยายามดำเนินการศึกษาให้มีปริญญาโท ปริญญาเอกนั้น ก็เป็นงานเพียงด้านหนึ่งเท่านั้น อย่าถือว่าเป็นการจบสิ้นหรือบรรลุวัตถุประสงค์ จะต้องมองว่า ภารกิจที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ซึ่งเป็นภารกิจของผู้สืบต่อพระศาสนาโดยตรง เป็นภารกิจของชาวพุทธหรือพระภิกษุผู้ทำหน้าที่สืบต่อพระศาสนา ได้แก่ ภารกิจของผู้นำเอาพุทธธรรมมาให้แก่สังคมหรือแก่มนุษยชาติ ซึ่งหมายถึงภารกิจในการชี้ทางออกให้แก่อารยธรรมของมนุษย์ เริ่มตั้งแต่การศึกษาของประเทศไทยเป็นต้นไป

การศึกษาของประเทศไทยนี้ มีปัญหาอะไรที่ทำให้นักการศึกษาปัจจุบันเห็นไปว่า เป็นการศึกษาที่ได้ดำเนินการมาอย่างผิดพลาด มีตัวอย่างมากหลาย เช่น ที่เห็นง่ายๆ ก็คือ การศึกษาของเราได้ทำให้เด็กแปลกแยกจากชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญมาก กล่าวคือ เมื่อมีการศึกษาสมัยใหม่เข้าไปในชุมชนไหน เด็กลูกหลานชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น เมื่อเข้ามาสู่โรงเรียนสมัยใหม่แล้ว จะมีความรู้สึกแปลกแยกจากวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตัวเอง เข้ากับชุมชนไม่ค่อยได้ แล้วจะต้องหาทางออกจากชุมชนนั้น เข้ามาหาความก้าวหน้าในสังคมเมือง เข้ามาเรียนให้สูงขึ้นไป มีงานมีการทำในกรุงเทพฯ แล้วก็กลับสู่ชุมชนเดิมไม่ได้ เพราะมีสภาพการดำเนินชีวิตที่ไม่กลมกลืน ไม่สอดคล้องกัน แต่มาถึงปัจจุบันนี้ การเลื่อนสถานะทางสังคมด้วยการศึกษากำลังประสบภาวะอุดตัน คือ จบไปแล้วไม่มีงานทำ แต่ในเวลาเดียวกันตัวเองก็แปลกแยกจากชุมชนเดิมในท้องถิ่นแล้ว จะกลับไปอยู่ในชุมชนท้องถิ่นก็ไม่ได้ กลับไปทำอาชีพเดิมก็ทำไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ต้อยต่ำ และทำก็ไม่เป็น เพราะฉะนั้น ก็อยู่ในภาวะที่ทางพระเรียกว่า อุภโตภัฏฐะ เคยได้ยินไหม อุภโตภัฏฐะ แปลว่า เสียทั้งสองด้าน เป็นคำที่มาในชาดกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่เล่าชาดกนี้ เดี๋ยวจะเสียเวลามาก

อุภโตภัฏฐะ เสียสองด้านก็คือว่า เข้ามาอยู่ในกรุงก็ไม่มีงานทำ ทำประโยชน์แก่สังคมกรุงไม่ได้ จะกลับไปบ้านเดิมก็ทำงานในท้องถิ่นไม่ได้ อยู่กับท้องถิ่นก็ไม่ได้ เลยกลายเป็นคนเคว้งคว้างเลื่อนลอย เข้าไม่ได้ทั้งสองทาง อันนี้เป็นปัญหาทางการศึกษาที่ปรากฏขึ้นแล้ว และในเวลาเดียวกันก็เป็นการขุดทรัพยากรออกจากท้องถิ่น การศึกษาของเราในประเทศไทยที่เป็นมานี้ ได้ทำให้คนที่มีปัญญา ทำให้เด็กที่เรียนเก่งในท้องถิ่น เข้ามาสู่ระบบของการสร้างความแปลกหน้า เมื่อเข้ามาแล้วก็ออกจากชุมชนนั้น ออกจากท้องถิ่นนั้นแล้วไม่กลับเข้าไปอีกเลย ท้องถิ่นก็ขาดแคลนกำลังคน ไม่มีกำลังคนที่จะพัฒนา ยิ่งตอนนี้ภาวะทั้งในด้านการศึกษา และในด้านการหาเลี้ยงชีพ ช่วยกันดึงดูดคนเข้ามาสู่ส่วนกลางทั้งหมด คือ พวกที่ ๑ คนที่มีปัญญา สมองดี เข้ามาด้วยการศึกษา ออกจากชุมชนไปหมด พวกที่ ๒ คนที่มีกำลัง มีร่างกายแข็งแรง เมื่อไม่มีงานจะทำในท้องถิ่น หาเลี้ยงชีพยาก ก็เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ผลที่สุด ในชนบทเหลือใคร ก็เหลือผู้เฒ่าผู้แก่ เหลือเด็กๆ ที่ยังทำงานไม่ได้ ท้องถิ่นก็ขาดแคลนกำลังคน เสื่อมโทรม อ่อนแอ ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ เรียกว่าเป็นการขุดทรัพยากรออกจากชนบท ซึ่งหมายถึงทรัพยากรคน ทั้งนี้ ก็เพราะว่าการศึกษา ได้มีความหมายเป็นเครื่องมือเลื่อนสถานะทางสังคม

การศึกษาในสังคมไทยนี้ ได้มีความหมายเป็นเครื่องมือเลื่อนสถานะทางสังคมไปเสียแล้ว ไม่ได้มีความหมายว่าเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาชีวิตของบุคคล หรือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนมีความสามารถ ในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาศักยภาพของตน และพัฒนาชุมชนของตน ความหมายที่แท้จริงของการศึกษา คือ การเสริมสร้างความสามารถที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาศักยภาพ แต่ปัจจุบันนี้ ชาวบ้านแทบไม่มีใครมีความรู้สึกว่าการศึกษามีความหมายนี้เลย แต่จะมองว่า การศึกษาก็คือช่องทางเลื่อนสถานะทางสังคม ถ้าการศึกษาช่วยเขาให้เลื่อนสถานะทางสังคมไม่ได้ เขาก็ผิดหวัง และเห็นการศึกษาไม่มีประโยชน์ ทีนี้ปัจจุบันนี้ เมื่อเราได้ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือเลื่อนสถานะทางสังคมมาเป็นเวลานาน จนมาถึงจุดที่ว่า เด็กสำเร็จการศึกษาแล้วหางานทำไม่ได้ เลื่อนสถานะทางสังคมไม่สำเร็จ ชาวบ้านก็ผิดหวังต่อการศึกษา มองเห็นว่าการศึกษาไม่มีประโยชน์ ก็เสื่อมศรัทธาต่อการศึกษา จึงจะต้องสร้างความเข้าใจใหม่ ให้ชาวบ้านเข้าใจความหมายของการศึกษาอย่างถูกต้องแท้จริงว่า ไม่ใช่เป็นเครื่องมือเลื่อนสถานะทางสังคม แต่เป็นเครื่องช่วยให้เราสามารถพัฒนาชุมชนของเรา พัฒนาชีวิตของเราให้ดีงาม และสามารถอยู่ในท้องถิ่นได้ เป็นต้น อันนี้เป็นทิศทางใหม่ของการศึกษาของชาติทีเดียว ไม่ใช่เฉพาะของคณะสงฆ์เท่านั้น ทีนี้ ถ้าเราไม่ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ เราก็จะเข้าสู่กับดักแห่งการสร้างปัญหาให้แก่สังคมไปด้วย

นอกจากนี้ ในเมื่อการศึกษามีความหมายเป็นเครื่องมือเลื่อนสถานะในทางสังคม การศึกษาก็เลยทำให้เกิดช่องว่างในทางสังคมเป็นอันมาก เพราะแต่ละคนต่างก็พยายามที่จะก้าวขึ้นสู่สถานะที่สูงยิ่งขึ้นไป มียศตำแหน่งสูงขึ้น มีทรัพย์สินเงินทองมากขึ้น รวยมากขึ้น แก่งแย่งช่วงชิงเอาเข้ามาหาตน ช่องว่างระหว่างคนยากคนจนกับคนมั่งมีก็กว้างขึ้น ช่องว่างในการพัฒนาคุณธรรมกับพัฒนาวัตถุ ก็ห่างไกลกัน ทำให้มีความรู้สึก ที่ไม่ประสานกลมกลืนกันในสังคมไทยนี้สูง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและไปสัมพันธ์กับปัญหาอีกข้อหนึ่ง คือ การศึกษาของเราได้สร้างสิ่งที่เรียกกันว่า ค่านิยมบริโภคขึ้นมา เมื่อเรามุ่งไปในการเลื่อนสถานะทางสังคม มันก็ไปสอดคล้องและหนุนเสริมกันกับค่านิยมบริโภคว่า เมื่อเรามีสถานะทางสังคมสูงขึ้น มียศตำแหน่งสูงขึ้น มีเงินมีทองมากขึ้น เราก็จะได้มีของใช้มีสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอความสุข มีสิ่งของหรูหราฟุ่มเฟือยมากขึ้น เรามีความรู้สึกต่อความเจริญว่า คือการมีสิ่งของเครื่องใช้วัตถุบริโภคมากขึ้น มีความฟุ้งเฟ้อได้มากขึ้น พูดง่ายๆ ว่า มีสิ่งบริโภคมากขึ้น ซึ่งเป็นความหมายของความเจริญที่ผิด ความหมายของความเจริญที่ถูกต้องก็คือ ความสามารถทำหรือผลิตได้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงว่ามีกินมีใช้มากขึ้น แต่สามารถทำของกินของใช้ได้ดีขึ้น เมื่อพูดว่า เราเจริญอย่างฝรั่งนั้น คนไทยส่วนมากมีความรู้สึกอย่างไร เรามีความรู้สึกว่า ถ้าเราเจริญอย่างฝรั่ง เจริญทัดเทียมฝรั่ง ก็คือว่า เรามีกินมีใช้อย่างฝรั่ง ฝรั่งมีของใช้ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรมา เราก็มีกินมีใช้อย่างนั้น แต่เราไม่ได้คิดว่า เราทำได้อย่างฝรั่งหรือไม่ แต่ในประเทศที่เขาพัฒนาได้รวดเร็วนั้น ความหมายของความเจริญ คือการทำได้อย่างเขา ไม่ใช่มีกินมีใช้อย่างเขา การสร้างภาพความเจริญว่ามีกินมีใช้อย่างเขา ก็คือการมีค่านิยมบริโภค การมีค่านิยมบริโภค ก็นำมาซึ่งการเป็นผู้ตามเขาอยู่ร่ำไป และการที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่สามารถพัฒนาประเทศให้สำเร็จ เพราะเราจะมองแต่เพียงว่า เขามีอะไรใหม่ เราก็มีบ้าง เอามาอวดพวกกันเอง ฉันมีอันนี้แล้ว คุณมีอย่างฉันไหม ก็มาอวดโก้กัน กลายเป็นคอยรอสิ่งที่เขาผลิตสำเร็จแล้ว แล้วก็พยายามหาซื้อมา วิธีนี้ก็คือ การสร้างความยากจน มีแต่จะไปกู้ทรัพย์สินเงินทองเขามาซื้อ เสร็จแล้วตัวเองก็ไม่สามารถผลิตสิ่งนั้นได้ ทางแก้ไขก็คือจะต้องสร้างค่านิยมผลิตขึ้นมาแทน แต่การศึกษาปัจจุบันของไทย เท่าที่ดำเนินมา ได้สร้างปัญหานี้ คือ เป็นตัวส่งเสริมค่านิยมบริโภค ซึ่งทำให้สังคมไทยไม่สามารถพัฒนาได้สำเร็จ

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เฉพาะในประเทศไทย การศึกษาก็ได้สร้างปัญหาอย่างนี้ ซึ่งในวงการศึกษาปัจจุบันก็ต้องพยายามแก้ไขกัน ถ้าเรามุ่งแต่จะดำเนินการศึกษาของเราไปให้ทันเขาอย่างเดียว โดยไม่ตระหนักถึงสภาพความเป็นไปนี้ เราก็จะกลายเป็นเพียงผู้ตามสร้างสภาพปัญหาให้แก่สังคมเท่านั้น ฉะนั้น จึงจะต้องเตรียมตัวเป็นผู้นำช่วยหาทางออกให้แก่การศึกษาของรัฐด้วย เพราะว่าการศึกษาปัจจุบันนี้ ก็กำลังหาทางออกว่าจะแก้ปัญหาทางการศึกษาเหล่านี้ได้อย่างไร ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า เวลานี้ วงการการศึกษาฝ่ายบ้านเมือง ก็ได้โน้มน้อมหันมามองเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องให้วัดและพระสงฆ์มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศชาติ และในการหันมาสนใจครั้งนี้ มิใช่ว่าเขาจะมองเฉพาะการที่จะร่วมมือ หรือสนับสนุนในระดับสถาบันเท่านั้น แต่นักการศึกษาจำนวนมากทีเดียวหันมาสนใจ ต้องการส่วนร่วม ความช่วยเหลือ ทางออกใหม่ หรือแม้กระทั่งการชี้นำของพระศาสนาหรือพุทธธรรมในระดับความคิด จึงมีการแสวงหาปรัชญาการศึกษาของไทยบ้าง พุทธปรัชญาการศึกษาบ้าง ว่าที่จริง ความสนใจหันมาหาศาสนาในระดับนี้ มีมูลเหตุมาจากปัญหาการศึกษาในระดับโลก ที่จะพูดต่อไปด้วย พระสงฆ์ในฐานะที่เป็นคนวงในของพระศาสนา โดยเฉพาะพระในวงการศาสนศึกษาระดับสูง ควรเตรียมตัวให้พร้อมที่จะทำหน้าที่นี้ สนองความต้องการของวงการการศึกษา และของนักการศึกษาให้ได้ ถ้าเราทำได้สำเร็จ เราก็เป็นผู้ให้ช่องทาง ให้ความรู้ ให้ความคิดแก่วงการการศึกษาของบ้านเมือง ช่วยแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศชาติด้วย

มองกว้างออกไปในสังคมโลก ปัญหาการศึกษาที่สำคัญ รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับวิทยาการสาขาต่างๆ ก็คือ ความเจริญในยุคอุตสาหกรรมนั้น เป็นความเจริญแบบที่ทำให้วิทยาการต่างๆ ก้าวหน้าขยายพุ่งออกไปแบบ Specialization คือ เป็นความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน คำนี้เป็นศัพท์ที่สำคัญมากในยุคอุตสาหกรรม ความเจริญในยุคที่ผ่านมานี้ ทุกอย่าง เจริญในรูปที่เรียกว่า ชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ถ้าแพทย์คนไหนเก่ง ก็ต้องชำนาญพิเศษในด้านหนึ่ง เช่น เป็นหมอทางตา หมอทางหู หมอทางจมูก หมอทางอะไรต่างๆ แม้แต่อวัยวะชิ้นเดียวกัน ก็อาจจะชำนาญแตกแขนงลงไปในส่วนหนึ่งๆ ของอวัยวะนั้น ในวิทยาการสาขาอื่นก็เช่นเดียวกัน ก็จะมีความเจริญในแบบที่เรียกว่า เจริญดิ่งไปๆ ในสาขาของตนเอง ชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน แต่ปัจจุบันนี้ ความเจริญของวิทยาการแบบเฉพาะด้าน ได้มาถึงจุดอับจน แก้ปัญหาไม่สำเร็จ ตัวอย่างเช่น เมื่อสร้างความเจริญทางเทคโนโลยีไปนานๆ เข้า จึงมารู้ว่า เทคโนโลยีที่ตนสร้างขึ้น เจริญด้วยอุตสาหกรรมอย่างสูงนั้น ได้สร้างปัญหาให้แก่สภาพแวดล้อม ทำให้เกิดมลภาวะ สิ่งแวดล้อมเสีย และทรัพยากรร่อยหรอ แล้วก็กลับมามีปัญหาแก่มนุษย์ เพราะสภาพแวดล้อมเสียนั้น ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สุขภาพ สิ่งที่คนสร้างขึ้นมาด้วยวิทยาการที่เจริญเฉพาะด้าน เช่น สารเคมีต่างๆ ที่ใช้ในการปลูกพืช เอามาใช้เป็นยาฆ่าแมลง เช่น ดี.ดี.ที. สารเหล่านั้นตอนต้นก็ใช้กันด้วยความนิยมเป็นอย่างมาก นึกว่าเป็นของวิเศษ แต่ต่อมาปรากฏว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องยกเลิก ต้องประกาศห้ามใช้ ในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนา ซึ่งรู้ปัญหาก่อน ก็เลิกใช้ไปก่อน หรือสารเคมีที่เอามาปรุงแต่งสีสัน และรสของอาหาร ก็เกิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคน

ความเจริญแบบชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ของยุคปัจจุบัน มีลักษณะสำคัญ คือ เป็นอันตรายต่อมนุษย์บ้าง เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมบ้าง เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ จึงได้มีทิศทางใหม่ในการที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์ และในการสร้างสรรค์อารยธรรม คือ หลักความคิดที่เขาเรียกว่า บูรณาการ เวลานี้คำนี้กำลังเกร่อขึ้นมา หมายถึงหลักความคิดแบบ integration หรือ หลักความคิดแบบ holism ซึ่งเป็นศัพท์ใหม่ที่ดูจะใช้กันเกร่อ เราถือว่า ความเจริญในยุคที่ผ่านมานี้ เป็นความเจริญแบบแตกแขนงออกไปเฉพาะด้าน แต่ต่อไปนี้จะต้องเอาส่วนต่างๆ มาประสานกลมกลืนกัน เช่น เขาคิดว่า จะสร้างความเจริญอย่างไร ที่ให้เกื้อกูลต่อธรรมชาติด้วย ต่อตัวมนุษย์ด้วย ให้ประสานกลมกลืน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ว่า การศึกษาของโลกมาถึงจุดที่จะต้องแก้ไข เมื่อเป็นเช่นนี้ ในทางธรรม เรามีทางที่จะช่วยเขาได้อย่างไร

อีกอย่างหนึ่ง การศึกษาเท่าที่ผ่านมานี้ ซึ่งมีลักษณะเป็น specialization ที่ชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ก็ได้ทำให้มีลักษณะอีกอย่างหนึ่งตามมาด้วย คือ กลายเป็นการศึกษาแบบวิชาการ ที่เรียกว่า academic การศึกษาแบบเน้นวิชาการนี้ มักไม่เข้าไปในชีวิตจิตใจของคน ไม่ก่อผลแก่ชีวิตจิตใจ คือเป็นความรู้ที่เล่าเรียน เป็นความรู้ในตำรา ที่ทางพระเรียกว่าเป็นสุตะ เรียนเป็นวิชาการกันไป เอามาพูดเอามาถกเถียง เอามาเขียนแสดงต่างๆ มากมาย แต่มันไม่ได้เกิดผลต่อชีวิตจิตใจของคนที่เล่าเรียนนั้นเลย นี้ก็เป็นข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาของการศึกษาในแง่ที่ว่า เป็นเรื่องความเจริญทางวิชาการล้วนๆ ไม่ได้เกิดผลแก่ชีวิตจิตใจของคน

ข้อต่อไป การศึกษาที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยเราก็ตามอย่างเขา เป็นกิจกรรมที่มุ่งผลเป็นความสำเร็จส่วนตัว มุ่งให้คนแสวงหาความสำเร็จ ก้าวหน้าในยศในตำแหน่ง หาเงินหาทอง อย่างที่เรียกว่า กาม กิน และเกียรติ ไม่แสวงหาความหมายและคุณค่าของชีวิตที่แท้จริง และในที่สุดก็มาถึงจุดที่คนจำนวนมากผิดหวัง กับการศึกษาแบบนี้ เพราะมองเห็นว่า การศึกษาไม่ช่วยให้เกิดคุณค่าที่แท้จริงแก่ชีวิต และจึงหันมาแสวงหาความหมายและคุณค่าที่แท้จริงแก่ชีวิต การที่คนในสังคมของประเทศตะวันตกหันมาสนใจตะวันออก หันมาสนใจลัทธิศาสนาต่างๆ ทางตะวันออก ก็เป็นเพราะเหตุนี้ด้วย คือเพราะปัญหาการศึกษาอย่างนี้ที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตก

อีกอย่างหนึ่ง ดังได้พูดมาแล้วว่า การศึกษาในยุคที่ผ่านมานี้ มุ่งให้คนมีความรู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้าน เป็นการสร้างคนเก่ง คือคนมีความสามารถในทางที่จะเอาเพื่อตัวให้ได้มากที่สุด ตลอดจนมีความสามารถที่จะพิชิตธรรมชาติ เอาธรรมชาติมาเป็นสิ่งสนองความต้องการส่วนตัวของมนุษย์ หลักความคิดของความเจริญในยุคอุตสาหกรรม ที่เป็นเป้าหมายสูงสุด ก็คือการเอาชนะธรรมชาติ หรือการพิชิตธรรมชาติ ซึ่งการศึกษาก็ได้ดำเนินมาในทิศทางนี้จนมาถึงจุดที่ว่า มนุษย์บอกว่าตัวเองได้ประสบความสำเร็จ ชนะธรรมชาติไปแล้วเป็นอันมาก แล้วก็นึกว่า มนุษย์จะประสบความอุดมสมบูรณ์ มีความสุข พรั่งพร้อมบริบูรณ์ทุกอย่าง แต่แล้วมาถึงบัดนี้ มนุษย์กลับต้องมาประสบความอุดตันที่ว่ามาเมื่อกี้ ซึ่งให้เห็นว่าการเอาชนะธรรมชาตินั้น ได้กลับเป็นโทษแก่มนุษย์เอง เช่น ทำให้สิ่งแวดล้อมเสีย และส่งผลสะท้อนกลับมาเป็นภัยอันตรายแก่มนุษย์เอง ถึงขนาดที่ว่า โลกนี้อาจจะต้องแตกดับสลายพินาศไปเพราะสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นมา เช่น เทคโนโลยี เป็นต้น ฉะนั้น ก็จึงต้องหยุดยั้งตั้งหลักคิดใหม่ว่า ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาไม่ให้สภาพแวดล้อมเสีย ให้มนุษย์อยู่กับระบบนิเวศได้อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ข้อต่อไป สืบเนื่องจากสภาพที่กล่าวถึงมาแล้วว่า การศึกษาที่ผ่านมา เจริญในทางวิชาการอย่างเดียว ไม่เข้าสู่เนื้อสู่ตัว ไม่ซึมซาบเข้าเป็นชีวิตจิตใจของคน สภาพอีกอย่างหนึ่งที่พ่วงมาด้วยกัน คือเป็นการได้สิ่งที่เรียกว่า information หรือ ข่าวสารข้อมูล มีข้อรู้ มีสุตะมากขึ้น โดยเฉพาะยุคต่อไปนี้ ก็จะเป็นยุค information หรือ ยุคแห่งข่าวสารข้อมูล แต่ทำอย่างไรจะให้ข่าวสารข้อมูลหรือสิ่งที่รู้นี้ กลายเป็นปัญญาขึ้นมา ข่าวสารข้อมูลหรือข้อรู้ ไม่ใช่ตัวปัญญา มนุษย์ในยุคการศึกษาที่ผ่านมานี้ มีความรู้ในข้อมูลต่างๆ เป็นอันมาก แต่บางทีไม่เกิดปัญญา ไม่รู้จักคิด คิดไม่เป็น ในสังคมไทย การศึกษาของเรามีปัญหานี้มากว่า สอนอย่างไรจะให้นักเรียนรู้จักคิด รู้จักพิจารณาปัญหาในสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นรอบตัวนี้ แล้วแก้ปัญหาได้อย่างถูกทาง ดำเนินชีวิตให้เกื้อกูลแก่สังคมของตนเองได้

ในยุคที่เทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูลเจริญมากนี้ การค้นคว้าหาความรู้ก็ง่ายขึ้นมาก รวมทั้งความรู้ทางพระศาสนาด้วย อย่างที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า เวลานี้ก็ได้มีพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์แล้ว การค้นหาคำศัพท์ พุทธภาษิต หรือข้อความใดๆ ก็ตามในพระไตรปิฎก แทนที่จะต้องเที่ยวเดินทางไปสอบถามท่านผู้รู้อย่างลำบากลำบน แทนที่จะต้องนั่งค้นกันเสียเวลาเป็นวันเป็นสัปดาห์เป็นเดือน หรือ แม้กระทั่งเป็นปี ก็เพียงกดปุ่มเรียกเอาได้ในเวลาชั่ววินาทีเท่านั้น เมื่อตัดภาระในด้านการหาข้อมูลไปแล้ว คนก็จะมุ่งเข้าสู่สาระและอัตถะของข้อมูลนั้นๆ ได้โดยตรงทีเดียว ในสภาพเช่นนี้ พระสงฆ์ก็ควรจะใช้โอกาสในการศึกษาปริยัติ ให้ช่ำชองเข้าถึงความหมายที่แท้จริง และปฏิบัติให้เกิดปัญญาที่แท้ซึ่งประจักษ์แจ้งจากประสบการณ์จริงในการปฏิบัติ เพื่อจะได้บรรลุผลแห่งการศึกษาสำหรับตนเอง พร้อมทั้งสามารถที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลให้ความกระจ่างแจ้งแก่ผู้อื่น ที่เล่าเรียนและปฏิบัติ ในส่วนที่เหนือจากการค้นคว้าหาข้อมูลนั้นขึ้นไป

ข้อสุดท้ายก็คือ การศึกษาอย่างที่จัดกันมานั้น เมื่อดำเนินไป ก็ไม่ช่วยให้มนุษย์มีความสุขที่แท้จริง ไม่ช่วยให้มนุษย์มีคุณธรรม ไม่ช่วยให้มนุษย์มีความดีงาม มีจริยธรรม เพราะเหตุเบื้องต้น คือ การเรียนรู้นั้นไม่ได้ทำให้เกิดปัญญาที่แท้จริง ปัญญาที่แท้นั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะทำให้มนุษย์พ้นจากกิเลส ตามหลักพุทธศาสนา ปัญญาเกิดขึ้น ก็ทำลายกิเลส เมื่อทำลายกิเลส ก็มีคุณธรรมมีจริยธรรม เมื่อมีจริยธรรม ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ก็มีความสุข

ตามหลักพุทธศาสนา การศึกษาที่แท้จริงทำให้เกิดปัญญาที่นำมาซึ่งความดีงาม เป็นจริยธรรม และทำให้เกิดความสุขด้วย เพราะว่า เมื่อเข้าถึงแก่นแท้แล้ว ความจริง ความดีงาม และความสุขนั้น เป็นองค์ประกอบที่สัมพันธ์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในการศึกษาที่ผ่านมา ทั่วโลก การศึกษาไม่สามารถทำให้เกิดผลนี้ได้ จึงเป็นความผิดพลาดและทำให้ต้องหาทางแก้ไขกันอยู่ เพราะฉะนั้น จึงต้องสำนึกอยู่เสมอว่า การศึกษาของเรานี้เท่าที่ได้ดำเนินมา เรากำลังพยายามที่จะให้ได้ฐานะ อย่างน้อยในด้านรูปแบบ ให้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาทั่วไป ในบ้านเมืองไทยก็ตาม ในสังคมของโลกก็ตาม คือให้มีปริญญาเอก แต่เราจะหยุดแค่นั้นไม่ได้ จะต้องก้าวต่อไปสู่ความเป็นผู้นำในทางการศึกษา เริ่มด้วยความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ความเป็นเลิศทางวิชาการก็ยังไม่เพียงพอ จะต้องให้มาถึงขั้นเป็นผู้นำในการที่จะชี้ช่องทางใหม่ในการศึกษา แก่วงการศึกษาสมัยปัจจุบัน ตลอดจนอารยธรรมของโลกทั้งหมด ช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจากภาวะติดตันและปัญหาของยุคปัจจุบัน เข้าถึงความรู้จริง ความดีงาม และความสุข ซึ่งเป็นจุดหมายที่แท้ของการศึกษาและการสร้างสรรค์อารยธรรม

ผมก็ได้พูดมาเป็นเวลายาวนานมากแล้ว คิดว่าพอสมควรแก่เวลา การที่เราจัดให้มีการศึกษาในระดับปริญญาโทขึ้นมา และมุ่งให้มีปริญญาเอกต่อไปนั้น ในแง่หนึ่งก็เป็นการเดินทางถูกต้องแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีคุณค่า มีคุณค่ามาก หากแต่ว่า ขั้นนี้ยังไม่ถึงจุดหมายของเรา เพียงเป็นฐานเท่านั้น เราจะต้องถือว่าการมีปริญญาตรี – โท – เอก เป็นเพียงฐานและเป็นช่องทางของเราที่จะก้าวต่อไปสู่จุดหมายได้ง่ายขึ้น เมื่อเราทำได้ในรูปแบบ ได้การยอมรับสถานะทางสังคมแล้ว เราก็เอาสถานะนี้เป็นฐานของเรา ในการสร้างความเป็นผู้นำทางการศึกษา แล้วก้าวหน้าต่อไปสู่จุดมุ่งหมายในระดับ ๒ ระดับ ๓ ที่ว่ามาเมื่อกี้ เพราะฉะนั้น วันนี้ ผมจึงขออนุโมทนาด้วย ในการที่เราได้มีการศึกษาระดับปริญญาโทเกิดขึ้น และเราก็คงก้าวต่อไป สู่การศึกษาระดับปริญญาเอก ข้อสำคัญก็คือ เมื่อเรามีการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาแล้ว ก็ให้เรามีการศึกษานี้อย่างดีอย่างเลิศด้วย และความดีความเลิศของเรานั้น ก็ไม่ใช่ความดีความเลิศที่เลื่อนลอยสำหรับเอาไว้อวดใคร แต่เป็นความดีความเลิศ ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อชีวิตของมนุษย์แต่ละคนและแก่สังคมมนุษย์โดยส่วนรวม สมตามหลักการของพุทธธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน หรือชนจำนวนมาก

ผมได้พูดมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว คิดว่าเป็นการให้ความคิดเห็น เกี่ยวกับทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์ในบางประเด็น ก็ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้นั่งฟังอยู่ในที่ประชุมนี้จนจบ ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย อภิบาลรักษา และส่งเสริมกำลังใจ โดยเฉพาะนิสิตปริญญาโทรุ่นแรก ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่ชาวพุทธทั้งหลาย ควรจะฝากความหวังไว้ ในการที่จะสร้างสรรค์ทิศทางใหม่แห่งการศึกษาของคณะสงฆ์ให้สำเร็จ ขอทุกท่านจงเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา ในการที่จะศึกษาเล่าเรียนให้บรรลุผลสำเร็จ เกิดความก้าวหน้าใน ศีล สมาธิ ปัญญา ตามหลักการของพระพุทธศาสนา และขอให้ท่านผู้บริหารก็จงได้มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญาเช่นกัน ในการที่จะดำเนินการศึกษา ให้ประสบความเจริญก้าวหน้า บรรลุผลสมตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ด้วยดี โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการคำนำ >>

No Comments

Comments are closed.