บทบาทซ้อนอันแสนหนัก ที่สังคมไทยยัดเยียดให้

3 มิถุนายน 2531
เป็นตอนที่ 4 จาก 15 ตอนของ

บทบาทซ้อนอันแสนหนัก ที่สังคมไทยยัดเยียดให้

ก่อนอื่น การศึกษาของคณะสงฆ์ในปัจจุบันนี้ เราจะต้องทำความเข้าใจว่า ทำหน้าที่หรือมีฐานะอยู่ ๒ ประการ คือ ประการที่ ๑ การศึกษาของคณะสงฆ์ ทำหน้าที่เป็นสถาบันฝึกอบรมศาสนทายาท คือ ให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรที่จะทำหน้าที่เป็นผู้สืบต่ออายุพระศาสนาต่อไป สำหรับหน้าที่นี้หรือบทบาทอันนี้ เป็นที่รู้เป็นที่เข้าใจกันทั่วไป ใครๆ ก็ถือตามนี้ทั้งนั้น จัดเป็นหน้าที่หลัก แต่พร้อมกันนั้น การศึกษาของคณะสงฆ์ โดยเฉพาะในประเทศไทย ก็มีบทบาทประการที่ ๒ คือ เป็นทางผ่านของผู้ด้อยโอกาสในการศึกษา สำหรับบทบาทประการที่ ๒ นี้ เป็นบทบาทที่ความจริงเด่นชัดมาก แต่เพราะไม่มีการทำความเข้าใจและยอมรับกัน จึงกลายเป็นเรื่องที่เป็นปัญหามาก แล้วก็มาส่งผลกระทบ แม้ต่อเรื่องการรับรองปริญญาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วย กระทบอย่างไร เราจะเห็นว่า ในสภาพที่เป็นมา โดยเฉพาะ ถ้าถอยหลังไปสัก ๒๐-๓๐ ปีก่อน เมื่อพระภิกษุสามเณรเรียนวิชาการอย่างสมัยใหม่ หรือมาเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ จะมีผู้ที่ชอบพูดกล่าวตำหนิติเตียนว่า พระเณรมาเรียนหนังสือเพื่อสึกไปหางาน แย่งอาชีพชาวบ้าน เอาเปรียบชาวบ้าน นี้เป็นคำที่เราได้ยินมาก ในสมัยก่อนๆ โน้น แม้แต่ผู้ใหญ่ระดับสูงมากในวงการพุทธศาสนาเอง ก็พูดอย่างนี้ ทำให้มีทัศนะในทางที่ว่าจะต่อต้านการรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ ทัศนคติหรือท่าทีแบบนี้ได้ยืนอยู่นานมาก แล้วก็เป็นตัวอุปสรรคใหญ่ที่สุด ซึ่งขัดขวางไว้ และทำให้ออกกฎหมายรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่ได้ ในเมื่อมีทัศนคติอย่างนี้ ก็จึงมีผลตามมา ทำให้คนเหล่านั้นเห็นว่า ทำไมพระจะต้องมาเรียนวิชาทางโลกด้วย เมื่อบวชมาแล้วก็จะต้องเรียนวิชาทางศาสนา ทำหน้าที่ทางศาสนา ก็เรียนเรื่องของพระไป ทำไมจะต้องมาเรียนวิชาการสมัยใหม่ และทำไมจะต้องให้เขายอมรับฐานะด้วยการรับรองปริญญาอีกด้วย

เรื่องนี้ ถ้าไม่เข้าใจสภาพการศึกษาของคณะสงฆ์ในบทบาทประการที่ ๒ แล้ว ก็จะพูดกันไม่รู้เรื่องเลย เพราะฉะนั้น ในเวลาที่ผ่านมา จึงต้องพยายามทำความเข้าใจกันมากมายในเรื่องนี้ คือในเรื่องที่จะให้เห็นว่า การศึกษาของคณะสงฆ์ทำหน้าที่อะไรบ้างในสังคมไทย นอกเหนือจากการสร้างศาสนทายาท หรือพระสงฆ์ที่มีคุณภาพไว้สืบต่ออายุพระศาสนา เราต้องชี้แจงอธิบายให้เขาเห็น ให้เขามองการศึกษาของพระเณร และบทบาทหน้าที่ของวัด โดยสัมพันธ์กับปัญหาสังคมไทยทั้งหมดด้วย ให้เขาเห็นว่า สังคมไทยของเรานี้ ได้พยายามดำเนินการศึกษาแบบสมัยใหม่มาเป็นเวลานาน ตามหลักการที่จะให้การศึกษาแก่มวลชน ที่เรียกว่าทวยราษฎร์ ให้ได้มีการศึกษาทั่วถึง เราได้มีพระราชบัญญัติประถมศึกษา ทำให้เกิดการศึกษาภาคบังคับ และรัฐบาลก็พยายามที่จะให้เกิดความเสมอภาคในทางการศึกษา การที่รัฐทำอย่างนี้ ก็คือการที่รัฐนี้ได้พยายามทำหน้าที่แทนคณะสงฆ์ หรือวัดในสมัยโบราณ เพราะวัดในสมัยโบราณนั้น เป็นศูนย์กลางการศึกษาของประชาชน และได้ทำหน้าที่ดำเนินการศึกษาเพื่อมวลชนตลอดมา แต่ต่อมา เมื่อมีการศึกษาสมัยใหม่ รัฐก็ได้รับโอนเอาหน้าที่นี้ไป เหมือนกับว่าให้คณะสงฆ์หยุดทำหน้าที่ หยุดบทบาทในการให้การศึกษาแก่ประชาชน และถือว่า หรือมองว่า พระสงฆ์นั้น ต่อจากนี้ ก็ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่พระเณรที่สืบต่ออายุพระศาสนาอย่างเดียว ไม่มีหน้าที่ให้การศึกษาแก่เด็กเล็กลูกหลานชาวบ้าน หรือแก่ประชาชนโดยทั่วไป นี้เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อรัฐได้ดำเนินการศึกษาแบบสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐได้ดำเนินการศึกษามาแล้ว ไม่ประสบความสำเร็จในด้านนี้ คือไม่สามารถกระจายโอกาสในทางการศึกษาให้ทั่วถึง ประชาชนไม่มีความเสมอภาคในทางการศึกษา ประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกลและยากจน เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาของรัฐ ก็เลยต้องอาศัยช่องทางเก่าคือวัดนี้ ซึ่งเป็นแหล่งการศึกษาตามประเพณีที่ถูกยกเลิกแล้วนั้น เข้ามาบวชเรียน แล้วก็มีทางที่จะเลื่อนฐานะในทางสังคมบ้าง เพราะในสังคมไทยนั้น การศึกษามีความหมายสำคัญอย่างหนึ่ง คือเป็นเครื่องเลื่อนสถานะทางสังคม ชาวบ้านยากจน ลูกชาวนาชาวไร่ ถิ่นห่างไกล ไม่มีโอกาสที่จะเลื่อนฐานะในทางสังคมด้วยการศึกษาของรัฐ อย่างคนที่มั่งมีและอยู่ในถิ่นกลาง เขาก็เลยต้องอาศัยวัด ฉะนั้น วัดก็เลยมีลูกชาวบ้านมาบวชกันมาก อย่างนี้ เราจึงเรียกว่า วัดได้ทำหน้าที่เป็นช่องทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสในสังคม ตลอดจนเป็นเครื่องเลื่อนสถานะในทางสังคมของผู้ด้อยโอกาส อย่างที่กล่าวมาแล้ว นี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ เพราะว่า เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็จะได้เห็นว่า รัฐได้อาศัยคณะสงฆ์ไทยมาช่วยผ่อนเบาปัญหาของสังคม เพราะความไม่เสมอภาคในโอกาสทางการศึกษานั้น เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งรัฐได้พยายามแก้มานาน จนบัดนี้ ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่เรียกว่า น่าพอใจ คือยังอยู่ในขั้นของความพยายาม เมื่อคณะสงฆ์ทำหน้าที่นี้ ก็ช่วยแก้ปัญหาผ่อนเบาภาระของบ้านเมือง

เราต้องพยายามพูดให้รู้ให้เข้าใจกันให้มากให้กว้างขวางทั่วไป คนไทยจะได้รู้จักสังคมของตนเองตามความเป็นจริง ให้เขารู้ว่า วัดได้ให้การศึกษาแก่ลูกชาวบ้านอย่างไร จะต้องชี้ให้เห็นว่า พระเณรส่วนใหญ่ที่บวชอยู่ค่อนข้างประจำที่วัด ไม่ใช่พวกบวช ๓ เดือนในเวลาเข้าพรรษา หรือบวช ๕ วัน ๗ วัน ๑๕ วัน พวกที่บวชอยู่ค่อนข้างประจำ เล่าเรียนศึกษานั้น ก็มีแต่พวกที่มาจากชนบท เป็นลูกชาวไร่ชาวนาแทบทั้งสิ้น ซึ่งเราจะชี้ให้เห็นได้ว่า วัดแม้แต่ในส่วนกลางคือกรุงเทพฯ นี้ พระที่อยู่ประมาณไม่ต่ำกว่า ๙๕% เป็นชาวชนบท และส่วนมากก็เป็นลูกชาวนา ได้เคยสำรวจในมหาจุฬาฯ นี้ อย่างที่ตึกใหญ่ ผมเคยสำรวจเองเมื่อหลายปีมาแล้ว ประมาณสัก พ.ศ. ๒๕๑๖-๑๗ ตอนนั้น มีพระนิสิตนักเรียนอยู่ทั้งหมด ๖๗๘ รูป สำรวจแล้วปรากฏว่า เกิดในกรุงเทพฯ ๑ รูป ก็ไม่รู้จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ยังไง ๖๗๘ รูป เกิดในกรุงเทพฯ ๑ รูป นอกนั้น เกิดในชนบทหมด แล้วก็สำรวจอาชีพ ปรากฏว่าเป็นลูกชาวนา เป็นลูกกสิกรเป็นส่วนมากเกิน ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ตอนนั้น พอดีทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขาก็มีการสำรวจเหมือนกัน ปรากฏว่าสำรวจไปแล้วนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น มีผู้ที่เป็นลูกชาวชนบท ชาวไร่ชาวนาอยู่ไม่เกิน ๖ เปอร์เซ็นต์ แล้วในจำนวน ๖% นี้ ผู้ใหญ่ในธรรมศาสตร์เองก็ยังบอกว่า คงจะเป็นลูกชาวนาชั้นรวยเสียด้วย เพราะชาวนาก็ยังแยกได้เป็นชาวนาระดับเจ้าของนา กับชาวนาระดับผู้เช่านา ระดับลูกนา ชาวนาที่จะส่งลูกเรียนในมหาวิทยาลัยทางโลกได้นั้น โดยมากจะเป็นชาวนาชั้นที่มั่งมีหน่อย

ที่พูดมานี้ ก็เป็นเครื่องส่องสภาพของสังคมไทย ซึ่งเมื่อเราเอามาชี้แจง ก็จะทำให้เห็นบทบาทหน้าที่ของวัด ของพระศาสนา หรือของคณะสงฆ์ที่สัมพันธ์กับปัญหาสังคมไทย ให้เห็นว่า การศึกษาของคณะสงฆ์นั้นได้ช่วยแก้ปัญหาของบ้านเมืองไปด้วย เรียกได้ว่า เป็นบทบาทและหน้าที่ที่สังคมไทยยัดเยียดให้แก่วัดและคณะสงฆ์ ซึ่งเมื่อสภาพยังเป็นอย่างนี้อยู่ ก็ต้องทำบทบาทและหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด จนกว่าสังคมจะพึ่งตนเองได้เต็มที่เมื่อไร วัดจึงจะสามารถทำหน้าที่โดยตรงของตัวเองในการฝึกอบรมศาสนทายาทได้เต็มที่เมื่อนั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ได้พยายามชี้แจงกันเรื่อยมา เรียกว่าไม่รู้ว่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ซึ่งยากที่จะทำให้เกิดความเข้าใจกันได้ แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า มันก็ไม่ไร้ผล เมื่อทำความเข้าใจกันมา พูดแล้วพูดอีกเป็นเวลานาน ก็เกิดมีความเข้าใจกันมากขึ้น จนกระทั่งว่า แม้แต่การที่ยอมให้ พ.ร.บ. กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนานี้ผ่านออกมาได้นั้น ก็ด้วยอาศัยที่หลายคน หรือคนจำนวนมากขึ้นในหมู่นักการเมือง ในหมู่ผู้ที่รู้ทางวิชาการ ได้เริ่มมีความเข้าใจอย่างนี้มากขึ้น กว้างขวางขึ้น

จากความเข้าใจอันนี้ที่สืบมาจนถึงปัจจุบัน ทางฝ่ายนักการศึกษาและนักวิชาการทางบ้านเมือง ก็ได้เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า คณะสงฆ์นี้มีบทบาทที่เอื้ออำนวยเกื้อกูลต่อการศึกษาของรัฐอย่างไร และการศึกษาของสังคมไทยนั้นจะทิ้งวัดไม่ได้ วัดมีบทบาทสำคัญในการให้การศึกษา ในความเป็นผู้นำ เป็นต้น ในชุมชน ซึ่งตอนนี้ก็ทำให้มีการหันหน้าเข้าหากันมากขึ้น ได้ทราบว่า นโยบายการศึกษาในยุคใหม่นี้ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการเอง และทางคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ก็โน้มเข้ามาให้ความสนใจใส่ใจ คำนึงถึงวัดและพระสงฆ์ด้วย ต้องการให้มีบทบาทร่วมกัน หรือหันมาส่งเสริมการศึกษาทางฝ่ายคณะสงฆ์ด้วย ในแง่หนึ่งก็นับว่าเป็นนิมิตดี ซึ่งถ้ามองย้อนหลังไปเมื่อสัก ๒๐ ปีมาแล้ว จะไม่มีทางเห็นสภาพอย่างนี้เลย เคยมีการประชุมร่วมระหว่างผู้แทนทางฝ่ายการศึกษาของคณะสงฆ์ ซึ่งมีมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ เป็นต้น กับทางฝ่ายบ้านเมือง ซึ่งมีทั้งผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และบางกรมในกระทรวงศึกษาธิการ ในการประชุมนั้น ผู้แทนบางท่านทางฝ่ายบ้านเมืองได้บอกว่า เขาไม่เห็นเหตุผลเลยว่า ทำไมพระจะต้องไปหาทางให้มีการร่วมมือกัน ถึงกับพูดในที่ประชุมว่า การศึกษาของวัดๆ ก็ทำไป การศึกษาของบ้านเมืองๆ ก็ทำไป ต่างคนต่างทำ เขาว่าอย่างนั้น นี้เป็นทัศนคติที่มีแพร่หลายในระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งบัดนี้คิดว่าความเข้าใจที่ถูกต้องตรงความเป็นจริง เกี่ยวกับปัญหาของสังคมไทยนั้นได้เกิดมีมากขึ้น และได้มาช่วยแก้ทัศนคติอันนี้ ช่วยทำความเข้าใจให้ถูกต้องมากขึ้น ซึ่งก็จะมีผลต่อการดำเนินการศึกษากันต่อไป แล้วพอดีบ้านเมืองระยะนี้ก็กำลังจะทำแผนการการศึกษาฉบับใหม่ขึ้น ความรู้ความเข้าใจนั้น ก็อาจจะมีผลในเรื่องนี้ด้วย แล้วก็เลยมาเกี่ยวข้องกับเรื่องทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์ไปด้วย เพราะการศึกษาของคณะสงฆ์ในบ้านเมืองไทยนั้น ไม่สามารถแยกออกโดยสิ้นเชิงจากการศึกษาของสังคม จากการศึกษาของรัฐหรือจากการศึกษาของประเทศไปได้ เพราะฉะนั้น การมองการศึกษาของคณะสงฆ์นั้น ไม่ใช่มองเฉพาะตัวเองอย่างเดียว จะต้องมองให้ทั่วถึงสังคมไทยทั้งหมด ถึงการศึกษาของรัฐ ถึงประเทศไทย หรือบ้านเมืองไทย โดยส่วนรวม

เท่าที่ว่ามานี้เป็นการพูดในประเด็นที่ ๑ คือ เรื่องที่ว่าการศึกษาของคณะสงฆ์นั้น มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ ๒ ประการ โดยเป็นสถาบันฝึกอบรมศาสนทายาท และพร้อมกันนั้นก็เป็นทางผ่านของผู้ด้อยโอกาสในสังคมนี้ด้วย แต่ในการให้การศึกษานั้น ในคณะสงฆ์เองก็มีความขัดแย้งกันในเรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะทางบ้านเมืองเท่านั้น ที่มีทัศนคติต่อการศึกษาสมัยใหม่อย่างที่ว่ามาแล้วว่า พระนี้มาเล่าเรียนเพื่อจะสึก ไปแย่งอาชีพชาวบ้าน เอาเปรียบชาวบ้าน แม้แต่พระเถระผู้ใหญ่ของเราที่ผ่านมาไม่น้อย ก็มีทัศนคติแบบนี้ ซึ่งก็บอกได้ว่าเป็นตัวอุปสรรคสำคัญ ซึ่งทำให้ยากที่จะมีการรับรองปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยสงฆ์

ทีนี้ ฝ่ายผู้ที่ดำเนินการศึกษา ที่อาจจะเรียกว่าต่อสู้เพื่อความสำเร็จในด้านนี้ ก็ต้องพยายามที่จะให้เกิดความเข้าใจว่า การศึกษาของคณะสงฆ์นั้น ควรจะทำบทบาททั้ง ๒ อย่างอย่างไร เราจะต้องยอมรับที่จะยกเอาบทบาทประการที่ ๑ คือการฝึกอบรมศาสนทายาทนี้เป็นหลัก เราจะลดความสำคัญของบทบาทนี้ไม่ได้ ไม่ว่าในระยะสั้นหรือในระยะยาว ในระยะสั้น แม้ว่าเราจะพยายามหาทางให้ผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ มีโอกาสมากขึ้น แต่เราจะละทิ้งหน้าที่ในการฝึกอบรมศาสนทายาทที่มีคุณภาพไม่ได้ โดยเฉพาะในระยะยาว วัตถุประสงค์ในด้านนี้ ยิ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพของพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่ของพระโดยตรง หน้าที่ของพระ บทบาทของพระโดยตรงอยู่ที่ข้อนี้ คือการศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัยแล้วเผยแพร่พระธรรมวินัยนั้นแก่ปวงชน พระสงฆ์จะต้องมีคุณภาพที่ดี ฉะนั้น บทบาทประการที่ ๑ นี้ เราจะต้องถือไว้เป็นอันดับสูงสุด เป็นอุดมคติที่จะต้องทำให้สำเร็จ แต่ในเวลาเดียวกันนั้นเราก็จะต้องทำบทบาทอย่างที่สองด้วย ซึ่งการที่จะทำให้ได้ทั้งสองอย่างก็จะต้องรู้จักประสานประโยชน์ และการที่จะประสานประโยชน์ได้นั้นก็คือ เราจะต้องยอมรับความต้องการของทุกฝ่าย พระศาสนาก็มีความต้องการ พระศาสนาต้องการพระเณรที่มีคุณภาพ ในการที่จะสืบต่ออายุพระศาสนา เราจะตอบสนองความต้องการของศาสนา แต่ในเวลาเดียวกัน สังคมไทยก็มีพลเมืองจำนวนมากที่หาช่องทางเพื่อได้รับการศึกษาแล้วเลื่อนสถานะทางสังคมโดยเข้ามาอยู่ในวัด โดยเข้ามาอาศัยการศึกษาของคณะสงฆ์ และคนเหล่านี้ ส่วนมากจะกลับออกไปสู่สังคม เราจะช่วยให้เขามีคุณภาพและช่วยเหลือสังคมได้อย่างไร นี่ก็คือเรามีหน้าที่ในการสนองความต้องการของสังคมนั้นด้วย ประการสุดท้าย ในฐานะที่พระเณรแต่ละรูปนั้นก็เป็นพลเมืองชาวไทย แต่ละท่านๆ เข้ามาแล้ว ก็มีความต้องการของตัวเอง ในการที่จะได้รับการศึกษา ในการที่จะมีความเจริญก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ในการมีสถานะทางสังคม เราก็ต้องสนองความต้องการของบุคคลนั้นเท่าที่เป็นการชอบธรรมด้วย

เพราะฉะนั้น แนวความคิดในการวางนโยบายการศึกษาของเราที่มุ่งจะให้เป็นทิศทางการศึกษานั้น อย่างน้อยในระยะต้นนี้ก็ถือว่า จะต้องให้การศึกษาของคณะสงฆ์นั้น สนองความต้องการ ทั้งของพระศาสนา ของสังคม และของบุคคล อันนี้เป็นหลักการใหญ่อย่างหนึ่ง ซึ่งพยายามหาทางที่จะให้คนทั่วไปยอมรับ ซึ่งก็จะต้องเริ่มตั้งแต่ในวงการคณะสงฆ์ด้วยกันก่อน ว่าจะต้องยอมรับสภาพความจริงนี้ จะเอาแต่สนองความต้องการของพระศาสนาอย่างเดียวไม่ได้ และไม่สำเร็จ เวลานี้ คนเราจะมองในแง่ต่างๆ กัน อย่างพระเถระนั้น บางท่านนะ ไม่ใช่ทั้งหมด ท่านหาว่า พระเณรที่มาเรียนนี้ เอาเปรียบชาวบ้าน เรียนแล้วก็สึกไป ไม่ควรจะเรียน การที่ท่านมองในแง่นี้ ก็คือมองแต่ในแง่สนองความต้องการของพระศาสนา ไม่มองถึงในแง่ของสังคม และของบุคคล ส่วนคนอื่น ก็อาจจะมองไปอีกแง่ มองกันคนละส่วนๆ เราก็พยายามที่จะเสริมความรู้ความเข้าใจให้มองกว้างและครอบคลุม ก็จึงตั้งหลักขึ้นมาว่า ให้การศึกษาของคณะสงฆ์นี้ สนองความต้องการได้ทั้งของพระศาสนา ของสังคม และของบุคคล อันนี้ก็เป็นเรื่องของการประสานประโยชน์ ที่จะต้องพยายามทำให้สำเร็จ ในการร่างนโยบายและแผนการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนา ซึ่งเพิ่งจะได้รับหลักการไปเมื่อไม่นานมานี้ ในการประชุมครั้งที่แล้ว หลักการนี้ เป็นเรื่องสำคัญข้อที่ ๑ ที่ต้องพูดไว้เพื่อให้เข้าใจสภาพปัจจุบัน ถ้ามีภาพนี้แล้ว เราก็จะมองเห็นทิศทางเดินได้สะดวก และชัดเจนขึ้นว่า เราควรจะทำอะไรบ้าง อย่างไร

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ๑. สภาพปัจจุบัน ปัญหาการศึกษาของคณะสงฆ์ความเป็นหลักและเป็นผู้นำในด้านศาสนศึกษา: ฐานะที่ยังเข้าไม่ถึง >>

No Comments

Comments are closed.