การเดินทางยาวนานซึ่งยังไม่ถึงที่หมาย

3 มิถุนายน 2531
เป็นตอนที่ 2 จาก 15 ตอนของ

การเดินทางยาวนานซึ่งยังไม่ถึงที่หมาย

ว่าถึงการดำเนินการศึกษาของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่มาเปิดเป็นระดับปริญญาโทครั้งนี้ขึ้น โดยมีบัณฑิตวิทยาลัยนี้ คิดว่ามีความสัมพันธ์อยู่ไม่น้อย กับการเกิดขึ้นของกฎหมายที่เรียกว่า พ.ร.บ.กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พุทธศักราช ๒๕๒๗ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่ทำให้เกิดสภาพที่จะเรียกว่าความก้าวหน้าของการศึกษาของคณะสงฆ์ก็ได้ แต่ความจริง มันไม่เป็นความก้าวหน้าในตัวหรอก เพราะการศึกษาของคณะสงฆ์จะก้าวหรือไม่ก้าว ก็เป็นมาด้วยตนเองอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงว่าการที่ได้มีพระราชบัญญัตินี้ขึ้นมารับรอง ก็ช่วยให้เกิดมีฐานที่มั่นคงในการที่จะก้าวขึ้นสู่ขั้นต่อไป โดยเฉพาะขั้นปริญญาโทและขั้นปริญญาเอกที่อาจจะเปิดต่อไปข้างหน้าก็ต้องอาศัยฐานอันนี้ เพราะว่ามหาจุฬาฯ ได้คิดเรื่องที่จะดำเนินการศึกษาในระดับปริญญาโทมานานแล้ว แต่ก็ไม่อาจจะทำได้เพราะเหตุผลที่สำคัญกล่าวคือ ถ้าการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้น ยังไม่ได้รับการรับรอง เมื่อเราเปิดการศึกษาชั้นปริญญาโทขึ้นไป ก็จะพลอยเป็นโมฆะไปด้วยในแง่ของราชการ ฉะนั้น ถ้าฐานไม่มีแล้ว เปิดขึ้นไปสูงเท่าไรก็ไม่มีความหมาย ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการรั้งรอ เพื่อจะให้มีการรับรองในระดับปริญญาตรีเสียก่อน

ว่าถึงเรื่อง พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะของผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา ฉบับที่กล่าวถึงเมื่อกี้ว่า พ.ศ. ๒๕๒๗ นั้น กว่าจะเกิดขึ้นมาได้ ก็ต้องผ่านเวลายาวนานเหลือเกิน ถ้าหันหลังมอง นับจากนี้ไป มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เปิดการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ นี้นับเฉพาะเปิดการศึกษาแบบสมัยปัจจุบัน ถ้านับย้อนไปอีก ถึงการที่ได้สถาปนามหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเป็นมหาธาตุวิทยาลัยขึ้นก่อน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ แล้วมาได้รับพระราชทานนามเป็น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๙ ก็เป็นเวลานานเหลือเกิน เรียกว่ากิจการของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ ต้องเดินทางกันยืดยาวอย่างยิ่ง กว่าจะได้ก้าวหน้ามาแต่ละขั้นๆ ใช้เวลายาวนานอย่างมาก ในกรณีนี้ เรานับเฉพาะการศึกษาแบบสมัยใหม่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๙๐ เมื่อได้ดำเนินการศึกษามาแล้ว เราก็มีผู้สำเร็จการศึกษาจนถึงปริญญาตรีเป็นพุทธศาสตรบัณฑิต ตั้งแต่ประมาณ พุทธศักราช ๒๔๙๖ นับถึงบัดนี้ก็หลายรุ่น

เมื่อมีผู้สำเร็จการศึกษาพุทธศาสตรบัณฑิต เป็นปริญญาตรีแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะต้องคิดก็คือว่า ทำอย่างไรจะให้ปริญญานี้ได้รับการรับรอง โดยเฉพาะจากรัฐ ก็ได้มีการเพียรพยายามมามาก อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เป็นการเดินทางที่ยาวนานเหลือเกิน เราได้ขอให้ทางรัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้ แต่แล้วก็ต้องมีปัญหาอยู่เรื่อย เพราะเรื่องเดินหน้าไปได้สักหน่อยแล้วก็ล้มไปในระหว่าง เป็นอย่างนั้น หกล้มหกลุกอยู่ตลอดมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะจะมีข้ออ้างกันบ่อยในฝ่ายรัฐกล่าวคือ ทางโน้นจะบอกว่า แม้แต่ทางคณะสงฆ์เองก็ยังไม่รับรอง แล้วทางการจะไปรับรองได้อย่างไร หมายความว่า เมื่อเรื่องเดินไปทางด้านรัฐบาล ถึงขั้นสุดท้ายก็จะถูกตีตกมาด้วยคำพูดเช่นนี้ จนกระทั่งในที่สุด มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ต้องหาทางออก โดยการพยายามทำให้ทางมหาเถรสมาคม ได้ออกคำสั่งเรียกว่า คำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่องการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๒ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวใหม่ก้าวหนึ่ง ที่เดินหน้าไปสู่การรับรองตามลำดับ คือ ต้องดูว่า การก้าวหน้าได้ดำเนินมาทีละขั้นๆ กว่าจะสำเร็จ

แม้ว่าคณะสงฆ์จะออกคำสั่งให้เป็นการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้ว เรื่องก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อขึ้นไปถึงรัฐบาล เรื่องก็เวียนไปเวียนมา บางครั้งทำท่าจะรับรอง แต่ในที่สุดก็จะตีกลับมาด้วยข้ออ้างที่ว่า แม้จะเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์แล้วก็จริง แต่ไม่ทราบว่าทางคณะสงฆ์จะพอใจให้รับรองหรือไม่ ซึ่งก็เป็นปัญหาอีก จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๑๖ คือ อีก ๔ ปีต่อมา มหาเถรสมาคมจึงได้มีมติว่า ถ้าหากรัฐบาลจะรับรองปริญญาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็เป็นการสมควร นั่นเป็นเหตุการณ์ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ ณ ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ที่ตำหนักวาสุกรี วัดพระเชตุพนฯ แล้วก็เดินทางต่อมาเป็นเวลาอีกยาวนาน และในระหว่างนี้ ก็มีปัญหาแทรกแฝงอยู่ด้วยว่า จะออกกฎหมายรับรองปริญญา หรือรับรองสถานภาพ หรือรับรองทั้งสองอย่าง หมายความว่า เรื่องรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้จะต้องตกลงใน ๒ อย่าง คือ เรื่องรับรองปริญญาอย่างหนึ่ง รับรองสถานภาพอย่างหนึ่ง

การรับรองปริญญานั้นเป็นเรื่องแคบ คือรับรองเฉพาะปริญญาของผู้ที่สำเร็จการศึกษา โดยไม่เกี่ยวกับสถานภาพของมหาวิทยาลัย ส่วนรับรองอีกอย่างหนึ่งคือรับรองสถานภาพของมหาวิทยาลัยทั้งหมด สิ่งที่เราต้องการก็คือ รับรองสถานภาพของมหาวิทยาลัย ถ้ารับรองตัวมหาวิทยาลัยแล้วเราก็สามารถดำเนินกิจการได้เต็มที่ เช่น จะตั้งบัณฑิตวิทยาลัย จะเปิดปริญญาโท ก็ทำได้ แต่ก็ดังเป็นที่ทราบกันว่า เมื่อเรื่องเดินหน้ามาจนถึง พ.ศ. ๒๕๒๗ จึงได้มีพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะออกมา ซึ่ง พ.ร.บ.นี้ ก็กำหนดชัดว่า รับรองปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต พร้อมกันไปกับปริญญาตรีศาสนศาสตรบัณฑิตของมหามกุฏราชวิทยาลัย และเปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งเป็นการรับรองปริญญา ไม่ใช่รับรองสถานภาพ เพราะฉะนั้น ปัญหาจึงยังไม่จบสิ้น เมื่อรับรองปริญญา ก็กำหนดไว้ชัดเจนว่า รับรองปริญญาตรี จึงทำให้เกิดปัญหาอีกว่า ถ้าจะดำเนินการศึกษาระดับปริญญาโท จะทำอย่างไร จะทำได้หรือไม่

ในการออกพระราชบัญญัตินี้ ที่เรียกง่ายๆ ว่า พ.ร.บ. กำหนดวิทยฐานะฯ นั้น ก็ได้มีอยู่มาตราหนึ่ง (คือ มาตรา ๖) ที่กำหนดว่า ให้มีคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ขึ้น และในอีกมาตราหนึ่ง (มาตรา ๑๐) ก็กำหนดว่า ให้คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์นั้น มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผนการจัดการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาให้เจริญยิ่งขึ้น คณะกรรมการชุดนี้ จึงได้มาคิดใคร่ครวญว่า เมื่อมหาวิทยาลัยสงฆ์ดำเนินการในขั้นปริญญาตรี มาจนกระทั่งมีผู้สำเร็จการศึกษามากมายแล้ว ก็ควรจะได้ดำเนินการศึกษาในขั้นสูงขึ้นไป คือขั้นปริญญาโท จะได้หรือไม่ ที่ประชุมก็ได้พิจารณาพยายามหาทางออกให้ จนกระทั่งในที่สุด ก็ต้องขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นฝ่ายของรัฐบาล มีหน้าที่ในการที่จะตีความกฎหมายของรัฐ ดำเนินการพิจารณา ก็ส่งเรื่องไปให้ ในที่สุด คณะกรรมการกฤษฎีกาก็แจ้งลงมาว่า ตามพระราชบัญญัตินี้ รับรองเฉพาะปริญญาตรีเท่านั้น ทางมหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่สามารถอ้างพระราชบัญญัตินี้ ในการที่จะดำเนินการศึกษาชั้นบัณฑิตศึกษาตั้งแต่ปริญญาโทขึ้นไปได้ ทำให้ต้องคิดหาทางกันต่อไปว่าจะทำอย่างไร ขณะนี้ คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ก็มาถึงขั้นที่ว่า จะเสนอแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติฉบับที่กล่าวเมื่อกี้ ที่เรียกง่ายๆ ว่า พ.ร.บ. กำหนดวิทยฐานะฯ นั้น อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่กฎหมายนั้นยังไม่ออก ยังไม่มีการแก้ไขปรับปรุง ก็ให้เป็นการรู้กันในทีว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์จะดำเนินการศึกษาขั้นบัณฑิตศึกษา ตั้งปริญญาโทก็ทำไปเถิด แต่ต้องอาศัยวิธีการคล้ายๆ กับปริญญาตรีที่เคยจัดดำเนินการมา คือปริญญาตรีนั้นเราก็ได้จัดกันมาโดยที่รัฐก็ไม่ได้รับรอง และมีผู้สำเร็จการศึกษามาเรื่อยๆ แล้วก็ดิ้นรนหาทางกันไป จนกระทั่งในที่สุดรัฐอดรนทนไม่ไหว ก็รับรองจนได้ เราก็หวังว่า เมื่อทำปริญญาโทก็จะเป็นไปในทำนองเดียวกัน แต่ท่านทั้งหลายอย่าพึ่งท้อใจ อย่าไปคิดว่า โอ้โฮ พวกเรามาเป็นรุ่นแรก แล้วก็จะต้องเริ่มต้นหาทางกันไป ถ้าอย่างนี้ รออีกกี่รุ่นถึงจะได้รับรองปริญญาโท การรับรองในขั้นโทนี้ คงจะไม่ลำบากลำบนเหมือนสมัยปริญญาตรี เพราะเห็นกันอยู่ว่า เมื่อรับรองปริญญาตรีแล้ว ก็เป็นฐานสำคัญที่จะก้าวต่อไปได้ ตอนที่เดินเรื่องนั้นก็ได้คิดกันมากเหมือนกันว่า เรื่องการรับรองนี้จะยอมแค่รับรองปริญญา หรือจะต้องถึงขั้นรับรองสถานภาพ และเมื่อเขารับรองแค่ปริญญาตรีจะยอมหรือไม่ เมื่อพิจารณาแล้ว ก็เลยตกลงว่ายอมเอาแค่ปริญญาตรีก่อนให้ได้ไว้ทีหนึ่ง พอเป็นทางที่จะเดินต่อไปก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้เริ่มต้นสักที เรื่องก็เป็นอย่างนี้ด้วย

ดังนั้น การที่เราได้รับการรับรองปริญญาตรีนี้ ก็ถือว่าเป็นบันไดขั้นต้นในการที่จะก้าวต่อไป พระราชบัญญัติที่ออกมานั้นก็เป็นสิ่งที่แก้ไขปรับปรุงได้ อันนี้ก็เป็นความหวังไว้ว่าเรามีทางที่จะเดินต่อไปข้างหน้า เพราะฉะนั้น สำหรับท่านที่มาเรียนในรุ่นแรกนี้ จึงได้บอกว่าเป็นรุ่นบุกเบิกและนำทาง ซึ่งนอกจากนำทางในการเล่าเรียนศึกษาภายในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีความหมายต่อไปถึงการที่ว่า จะเป็นเหตุนำให้ทางการได้ออกกฎหมายใหม่ หรือทำการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เพื่อจะได้เป็นการรับรองปริญญาชั้นโท ตลอดจนชั้นเอกต่อไปด้วย ในโอกาสที่ควรเท่าที่ว่าจะมาถึง

ในวันนี้ ทางผู้ดำเนินกิจการ โดยเฉพาะ ท่านพระมหาประยูร ธมฺมจิตฺโต คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ได้ติดต่อขอให้มาพูดเรื่อง ทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์ การศึกษาที่เรามีขึ้นเป็นปริญญาตรี แล้วต่อขึ้นมาเป็นปริญญาโทในวันนี้ ก็เป็นเครื่องบ่งบอกทิศทางอันหนึ่ง ของการศึกษาทางคณะสงฆ์ อย่างน้อยก็เห็นชัดแล้วว่า เราต้องการจะเดินหน้าให้มีการศึกษาในระดับสูงขึ้นไปถึงชั้นปริญญาโท ปริญญาเอกให้ได้ จึงเป็นเครื่องบอกทิศทางอยู่ในตัวแล้ว อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทิศทางทั้งหมด คงไม่ใช่หมายถึงว่า เพียงมีปริญญาโทนี้ จะหมายถึงทิศทางทั้งหมดของการศึกษาของคณะสงฆ์ หรือพูดให้กว้างว่า การศึกษาของพระศาสนา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์๑. สภาพปัจจุบัน ปัญหาการศึกษาของคณะสงฆ์ >>

No Comments

Comments are closed.