การแสดงออกอย่างเสรี คือความเหลวไหล ถ้าไม่สัมพันธ์กับจุดมุ่งหมาย

21 กันยายน 2530
เป็นตอนที่ 16 จาก 23 ตอนของ

การแสดงออกอย่างเสรี คือความเหลวไหล
ถ้าไม่สัมพันธ์กับจุดมุ่งหมาย

เรื่องตัวอย่างในประเทศอเมริกาที่เล่ามานี้ เป็นเรื่องของระเบียบที่ไม่เป็นทางการของสังคม เป็น tradition เป็นธรรมเนียมประเพณี แต่มันก็มีสาระที่บ่งชัดอยู่ในตัว คือ การที่จริยธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งจะมีอยู่ หรือเกิดขึ้นได้ โดยจะต้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันกับองค์ประกอบทางจริยธรรมอย่างอื่นๆ สมมุติว่า เราจะนำเอาการแสดงออกอย่างเสรีเข้ามาจากอเมริกานี่ เราได้นำเอาองค์ประกอบอื่นที่สัมพันธ์กับมันเข้ามาพร้อมด้วยหรือไม่ ทั้งตัวคุมคู่ดุล คือการรับฟังผู้อื่น และตัวคุมจุดหมาย คือการใฝ่แสวงปัญญานี้เป็นอย่างน้อยที่สุด

โดยเฉพาะอย่างที่สอง เป็นแกนสำคัญที่สุด เป็นพื้นฐานสำคัญกว่าอย่างอื่น คือในการที่คนใดคนหนึ่งแสดงออกโดยเสรีนั้น เขามีความใฝ่แสวงสัจจธรรมหรือใฝ่แสวงปัญญาอยู่หรือเปล่า หรือเป็นเพียงการแสดงออกโดยเสรีแบบเลื่อนลอยครึ่งๆ กลางๆ

ถ้าแสดงออกเสรีโดยเลื่อนลอย มันก็อาจจะกลายมาเป็นเครื่องสนองมานะ ที่เป็นตัวพื้นฐานนิสัยของคนไทยคนเดิม แล้วจะกลายเป็นตัวร้ายที่สุดเลย เมื่อนำเอามาแล้วแทนที่จะดี กลับยิ่งร้าย การแสดงออกเสรีนั้นแทนที่จะเป็นตัวสร้างเสริมประชาธิปไตย ก็จะกลับกลายเป็นเครื่องทำลายประชาธิปไตย ฉะนั้น ถ้าเราไม่ได้เอาสาระ คือการใฝ่แสวงปัญญา ความใฝ่รู้ความจริง หรือความต้องการเหตุผลมาด้วย การแสดงออกโดยเสรีก็จะกลายเป็นตัวสนองมานะ ดังเช่นที่ว่าเมื่อกี้ คือ ต้องการอวดเด่น แสดงออกโดยเสรี เพื่อให้เห็นว่าฉันแน่เท่านั้นเอง และก็จะต้องเอาชนะให้ได้ ยอมใครไม่ได้ ผลที่สุดการแสดงออกโดยเสรีอย่างนี้ ไม่มีทางส่งเสริมประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะไม่มีทางสำเร็จ

การเสาะแสวงปัญญา ก็มาคู่กับการยอมรับฟังผู้อื่นอย่างที่กล่าวแล้ว นี่เป็นตัวประกอบที่ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด แต่นอกจากนั้นแล้ว ยังมีตัวประกอบหรือตัวควบคุมอื่นที่จะมาช่วยอีก เช่นระเบียบวินัย กฎเกณฑ์ของสังคม tradition คือประเพณี หรือธรรมเนียมของสังคม อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ว่า จะละเมิดกันไม่ได้ ทุกคนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อผู้อื่นสูง เพราะเหตุที่ว่าต้องคอยระวังตัว

ฉะนั้น การแสดงออกโดยเสรีก็ทำให้ต้องมีความรับผิดชอบด้วยอย่างสูง เพราะจะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อตนเอง และต่อผู้อื่น ด้วยเหตุว่า ถ้าละเมิดเขาแล้วตัวเองจะต้องถูกซู จะถูกเรียกค่าเสียหายได้ง่ายที่สุด แต่คนไทยเรานำหลักการแสดงออกโดยเสรีมาใช้นี่เป็นแบบครึ่งๆ กลางๆ เหลือเกิน

แม้แต่ในความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก ในสังคมของฝรั่งนั้น พ่อแม่กับลูกมีความสัมพันธ์ไม่เหมือนคนไทย ในสังคมอเมริกันนี่ พอลูกโตหน่อย พอวัยรุ่น อายุ ๑๗, ๑๘ พ่อแม่อาจจะบอกว่า เออ แกออกจากบ้านได้ ถึงเวลาที่แกจะดูแลรับผิดชอบตัวเอง หาเงินหาทองได้แล้ว ไปหาเงินหาทองรับผิดชอบตัวเอง

แต่พ่อแม่เมืองไทยเป็นอย่างไร เป็นลูกแหง่อยู่จนกระทั่งจบมหาวิทยาลัย แต่งงานมีครอบครัวแล้วก็ยังตามกันแจ พ่อแม่ตามดูแลเอาใจใส่ ลูกยังมาตามขอเงินขอทองพ่อแม่ได้อยู่ เป็นอย่างนี้ แต่มันก็มีแง่ดี ตามประเพณีของเรา คนแก่ได้รับความเคารพนับถือเอาใจใส่ ลูกมีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ มีความสัมพันธ์กันจนกระทั่งแก่เฒ่า เมื่อพ่อแม่แก่เฒ่าลูกก็ไม่ทิ้ง มันก็ดีไปทางหนึ่ง แต่ละระบบก็มีข้อดีและข้อเสียของตนเอง

อย่างเมืองฝรั่ง คนแก่ว้าเหว่มาก ลูกจะไปเอาใจใส่อะไรล่ะ เพราะฉันโตฉันก็เลี้ยงดูตัวเอง ตั้งแต่อายุ ๑๗, ๑๘ ฉันก็ออกจากบ้านไปหางานหาการทำ แม้แต่เรียนหนังสือ ในระบบฝรั่ง พ่อแม่มีเงิน ไม่ใช่ไม่มีเงินนะ แต่ลูกก็ไปหางานทำเพื่อเอาเงินมาเสียค่าเทอมของตนเอง จริงอยู่พ่อแม่ก็ยังช่วยบ้าง แต่การรับผิดชอบตัวเองของลูกนี่สูง ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่ก็จะต้องหัดที่จะให้ลูกรู้จักรับผิดชอบตัวเอง ฉะนั้น การแสดงออกโดยเสรีนี้ก็เป็นการฝึกฝนเตรียมไว้ ในการที่ตัวเขาจะต้องไปรับผิดชอบดิ้นรนต่อสู้ชีวิตของเขาเอง จะต้องเป็นผู้ใหญ่ รู้จักรับผิดชอบพึ่งพาตนเองได้

การแสดงออกโดยเสรีอย่างนั้น ก็เป็นอาการอย่างหนึ่งของระบบชีวิตที่ว่าจะต้องดิ้นรน รับผิดชอบตนเอง ทีนี้ฝ่ายคนไทยเรา นำเอามาไม่ครบกระบวนการ ไม่ครบวงจร เอามาใช้เฉพาะตัวการแสดงออกล้วนๆ ลอยๆ ก็เกิดปัญหาขึ้น เอาการแสดงออกเสรีมาปล่อยเข้าในระบบการเลี้ยงดูแบบตามใจลูก พ่อแม่ตามใจลูกหมด ลูกแสดงออกโดยเสรี ก็กลายเป็นลูกบังเกิดเกล้า เดี๋ยวนี้พูดกันบ่อย หมายความว่า ลูกจะเรียกร้องอย่างไร ก็ต้องตามใจใช่ไหม ลูกที่แสดงออกโดยเสรีแล้วนี่ ต่อไปก็เรียกร้องกันเรื่อย

เมื่อแสดงออกเสรี โดยไม่ฝึกให้รู้จักรับผิดชอบ ก็มีการแสดงออกเสรีแบบตามใจตัวเอง โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรต่อใคร ยิ่งมีแต่คนที่รอจะตามใจอยู่แล้วก็เลยเป็นการแสดงออกเสรีแบบตามใจตัวเองชนิดไม่มีเหตุผล โตขึ้นก็ติดความเคยตัวนี้ไป ต่างคนต่างเป็นอย่างนี้ ก็เลยคุมกันไม่อยู่ ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะการแสดงออกเสรี ไม่มาพร้อมกันกับองค์ประกอบอย่างอื่นๆ ของมัน นี้คือตัวอย่างอันหนึ่งของจริยธรรมที่ไม่ครบวงจร

ในระบบจริยธรรมที่ครบวงจร การแสดงออกโดยเสรีนั้น จะเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายที่แท้จริง โดยจะต้องเป็นพฤติกรรมแห่งการใฝ่แสวงปัญญา หรือแสวงหาสัจจธรรม ต้องการเข้าถึงความรู้จริง

เราให้มีการแสดงออกโดยเสรี เพื่อว่าคนจะได้ฝึกหัดใช้ความคิดและเหตุผล และจะได้มาแลกเปลี่ยนเสริมต่อความคิดเห็นของกันและกัน เอาภูมิปัญญามาช่วยเสริมกัน เป็นส่วนหนึ่งแห่งองค์ประกอบ ในกระบวนการที่จะเข้าสู่การรู้แจ้งสัจจธรรม และเป็นการดึงเอาศักยภาพของบุคคลแต่ละคนออกมาใช้ประโยชน์ หรือเปิดช่องทางให้ศักยภาพของบุคคลแต่ละคนนั้นหลั่งไหลออกมารวมกัน เป็นกระแสแห่งพลังปัญญาธรรม ที่จะแก้ปัญหา หรือทำการสร้างสรรค์ให้สำเร็จผล ตามหลักการแห่งประชาธิปไตย

หากปราศจากความมุ่งหมายเช่นนี้ การแสดงออกเสรีก็เลื่อนลอย ไร้ประโยชน์ และจะเฉออกไปสู่ทางแห่งการก่อโทษ

การแสดงออกโดยเสรีที่แท้ ย่อมเป็นอย่างนี้ เป็นอันว่า พื้นฐานและสาระอันนี้จะต้องหยิบขึ้นมาให้ได้ คือจะต้องฝึกการแสวงปัญญา ทำความใฝ่รู้ให้เกิดขึ้น พร้อมกันไปกับการรับฟังผู้อื่น ฝึกไปด้วยกัน

ฝึกเนื้อแท้ในใจ คือการใฝ่แสวงปัญญา และฝึกภายนอก คือการรับฟังผู้อื่น นอกจากนั้นก็ต้องฝึกความมีระเบียบวินัย คุมการแสดงออกให้อยู่ในขอบเขตแห่งกฎเกณฑ์ของสังคม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม ตลอดจนความรับผิดชอบต่อตัวเอง อย่างนี้จึงจะเป็นจริยธรรมที่ครบวงจร

แต่หันมาดู ปฏิบัติการทางจริยธรรมในปัจจุบัน มีการฝึกอย่างรายการสินค้า ยกเอามาเป็นอย่างๆ ว่า ข้อนี้มีความหมายอย่างนี้ มีวิธีการผลิตอย่างนี้ เป็นข้อๆ ไป โดยไม่สัมพันธ์ ไม่โยงกัน ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของจริยธรรม จึงยากที่จะได้ผลดี

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๓ – ระบบจริยธรรมที่ครบวงจรตัวอย่างที่ ๒: สันโดษ >>

No Comments

Comments are closed.