ตัวอย่างสาเหตุของปัญหา ที่แฝงมาในพื้นเพของเราเอง

21 กันยายน 2530
เป็นตอนที่ 11 จาก 23 ตอนของ

ตัวอย่างสาเหตุของปัญหา ที่แฝงมาในพื้นเพของเราเอง

ขอยกตัวอย่าง จะพูดไปจากสภาพปัญหาที่ปรากฏนี้ เช่นว่า ทำไมคนไทยจึงทำงานเป็นทีมไม่ได้ ปัญหานี้จะสัมพันธ์กับลักษณะนิสัยของคนไทยอย่างหนึ่ง ขอพูดเป็นข้อเสนอไว้ว่า คนไทยนี้ มีลักษณะเด่นในแง่ของความเป็นผู้มีมานะมาก

คำว่า “มานะ” แปลว่าอะไร หลายท่านอาจจะบอกว่า มานะก็แปลว่า ความเพียรพยายาม เช่นในคำว่า ต้องมีมานะอดทน มีมานะพากเพียร

“มานะ” นี่เรามักจะพูดพร้อมกันไปกับคำว่า “อดทน” บ้าง “พากเพียร” บ้าง แต่ความจริง มานะไม่ได้แปลว่าพากเพียรเลย มานะนั้นแปลว่า “ความถือตัว” ความถือตัวสำคัญตน ความเชิดชูตัวให้เด่น ความเอาเด่น ความต้องการเด่นล้ำเหนือเขา ความต้องการที่จะยิ่งใหญ่ นี้คือความหมายที่แท้จริงของมานะ

แต่ “มานะ” ในภาษาไทย ได้กลายความหมายมาเป็น “ความเพียรพยายาม” เพียรแล้วบางทีก็ไปคู่กับอดทน เป็นมานะอดทน เช่น สอนเด็กๆ บอกว่า เธอต้องมานะอดทน หรือมานะพากเพียร เล่าเรียนหนังสือต่อไปให้สำเร็จ ต่อไปจะได้เก่ง ถ้าเป็นคนเก่าๆ บางทีก็บอกว่า “อ้าวหนู ตั้งหน้าตั้งตา มานะอดทน หรือว่ามานะพากเพียรเรียนไปนะ ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต”

คำว่า มานะ หรือตัวมานะนี่เราเข้าใจผิดแล้ว กลายไปเป็นความพากเพียร แต่ความหมายที่แท้จริงของมันซึ่งแฝงอยู่ ก็ไปโผล่ออกมาตรงข้างท้ายคือคำพูดที่ว่า จะได้เป็นใหญ่เป็นโต หรือเป็นเจ้าคนนายคน นั่นแหละคือตัวมานะ ความหมายที่แท้จริงของมานะไปโผล่ตรงที่ว่าจะได้เป็นใหญ่เป็นโต หรือจะได้เป็นเจ้าคนนายคน

คำว่ามานะนี่ เป็นคำที่เอามาใช้ในภาษาไทย สำหรับเป็นเครื่องกระตุ้นคน ให้มีความเพียรพยายามศึกษาเล่าเรียน และทำการงาน

ทีนี้ ก็มีคำถามว่า ทำไมมานะจึงถูกนำมาใช้จนติดปากและกลายความหมายไปอย่างนี้ ขอวิเคราะห์ว่า เพราะเราได้ใช้มานะเป็นตัวกระตุ้นให้กระทำ คือเอามานะเป็นแรงจูงใจ จนเป็นนิสัยของคนไทยที่ได้กระตุ้นคนด้วยมานะกันมานานแล้ว เราเอามานะเป็นตัวกระตุ้นเพื่อให้คนทำการงาน เอามานะมาใช้เป็นแรงจูงใจ จนกระทั่งมานะเองได้กลายความหมาย กลายเป็นตัวความพากเพียรไปเลย

ที่จริงมานะไม่ใช่ความเพียร แต่เป็นตัวกระตุ้นให้มีความเพียร กล่าวคือ เพราะต้องการใหญ่โต ต้องการเป็นเจ้าคนนายคน ก็จึงพากเพียร เพียรไป พยายามไป ทำไป เล่าเรียนไป เพื่อจะได้เป็นใหญ่เป็นโตสนองความต้องการของมานะนั้น มานะจึงเป็นแรงจูงใจ พูดตามภาษาวิชาการว่า ใช้มานะเป็นปัจจัยให้เกิดความเพียร หรือมานะเป็นปัจจัยแก่วิริยะ

ทีนี้ การใช้มานะเป็นแรงจูงใจในการเพียรพยายามกระทำการ จะเป็นการงานหรือการเล่าเรียนหนังสือก็ตาม นี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้และเราก็ใช้กันมานานแล้ว แต่จะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขอพูดว่า มานะนี้น่าจะเป็นลักษณะเด่นในนิสัยของคนไทยอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น คนไทยก็จึงถือตัวสำคัญ มีความรู้สึกเกี่ยวกับการถือตัวมาก ชอบเอาดีเอาเด่นเฉพาะตัว ตลอดถึงมีการแสดงออกในลักษณะที่ไม่ยอมกัน ไม่ลงให้แก่กัน เมื่อมาทำงานก็เลยทำงานเป็นทีมไม่ได้ เพราะว่า ในเมื่อแต่ละคนถือตัวมากก็ตาม ต้องการเอาดีเอาเด่นคนเดียวก็ตาม มันก็ว่ากันไม่ได้ ไม่ฟังกัน ไม่ยอมกัน

เวลาทำงานร่วมกันเป็นทีมนี้ จะเอาเด่นเฉพาะตัวเอาหน้าเฉพาะตัวไม่ได้ จะต้องให้หมู่คณะเด่น หรือว่ายอมให้คนอื่นที่ควรจะเด่นนั้นเด่นขึ้นมา โดยที่เราต้องยอมให้ โดยมุ่งประโยชน์แก่งานเป็นสำคัญ คือ แล้วแต่ว่างานจะเดินไปดีได้อย่างไร และในการทำงานร่วมกันนั้น จะต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน จะมุ่งแต่เอาชนะกันไม่ได้ ต้องรับฟังคนอื่น แต่เมื่อมีมานะ ก็ทำให้ยอมไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองจะด้อยลงไป จะแพ้เขา เราแพ้ไม่ได้ ต้องชนะท่าเดียว อะไรทำนองนี้

เมื่อมานะเป็นตัวขับที่เด่นในจิตใจแล้ว มันจะต้องยอมกันไม่ได้ เมื่อยอมกันไม่ได้ ก็ทำงานเป็นทีมไม่ได้ ก็ยอมให้คนอื่นเด่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น งานก็ไม่สำเร็จ

อีกด้านหนึ่ง มานะก็ต้องการโก้เก๋ เมื่อต้องการโก้เก๋ ก็ไปส่งเสริมค่านิยมชอบบริโภคไม่ชอบผลิต การบริโภคของเรานี้จะสัมพันธ์กับลักษณะนี้ด้วย คือลักษณะของการอวดเด่นอวดโก้

การที่เราบริโภคนี้ บ่อยครั้งไม่ใช่บริโภคเพราะว่าชอบหรือว่าเอร็ดอร่อย บางทีของนั้นไม่ดีหรอก เช่น ของที่มาจากต่างประเทศ ไม่ใช่ว่ามันจะดีวิเศษอะไร แต่มันช่วยให้โก้ มันสนองความรู้สึกโก้หรือเด่นได้ เราจึงเอา จึงชอบไปบริโภคในแง่ของการที่จะได้อวดเด่นอวดโก้ ทั้งที่ของนั้นอาจมีราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น

บางทียิ่งแพงกลับยิ่งชอบซื้อ เพื่อสนองความอยากอวดโก้ เสริมมานะ ต้องการเด่นนั้นแหละ คือ เพื่อแสดงว่ามีฐานะดี หรือทันสมัยอะไรทำนองนั้น

จะเห็นได้ว่า เจ้าตัวมานะนี้มันแสดงออกได้หลายท่า แม้แต่การขาดระเบียบวินัยของคนไทยก็มีลักษณะอย่างหนึ่งที่ส่อถึงมานะ คือ พ่วงมากับความรู้สึกว่าถ้าฉันทำตามใจตัวเองได้ ก็แสดงว่าฉันนี่เก่งฉันนี่ใหญ่ เช่นอย่างเราจะเดินข้ามถนน ถ้าฉันไม่เดินที่ม้าลาย ก็แสดงว่าฉันแน่ ฉันอยู่เหนือกฎเกณฑ์ได้ ฉันละเมิดกฎหมายได้ ฉันไม่ทำตามกฎของสังคมได้

คนไทยจำนวนมากมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่ต้องทำตามกฎเกณฑ์ได้แสดงว่าเก่ง ลักษณะนิสัยนี้แสดงออกทั่วไปหมด แม้แต่ในการติดต่อกับราชการ ชาวบ้านคนไหนไม่ต้องเดินตามสายงาน ไม่ต้องเดินตามระเบียบราชการได้แสดงว่าแน่มาก เก่งมาก ยิ่งใหญ่มาก คุยอวดคนอื่นได้ การที่ไม่ต้องทำตามระเบียบของหมู่คณะได้แสดงว่าเป็นคนเก่ง กลายเป็นดีไป แทนที่จะเอาระเบียบของหมู่คณะเข้าว่า ถ้าทำตามระเบียบก็น่ายกย่อง ถ้าไม่ทำตามระเบียบ เป็นเรื่องน่าละอาย กลับนิยมกันในทางตรงข้าม

เมื่อแต่ละคนถือว่า การที่ฉันทำตามใจชอบได้นี่คือเก่ง คือการที่จะเป็นที่ยอมรับ ยกย่องในสังคม เมื่อเป็นอย่างนี้ การมีระเบียบวินัยก็เป็นไปไม่ได้

นี่เป็นตัวอย่าง ให้เห็นว่าการทำงานร่วมกันเป็นทีมไม่ได้ก็ดี ค่านิยมชอบบริโภคมากกว่าชอบผลิตก็ดี หรือแม้แต่การขาดระเบียบวินัยต่างๆ ก็ดี บางทีมันมาจากสาเหตุตัวเดียวกัน ซึ่งถ้าแก้สาเหตุตัวนั้นแล้ว ก็อาจจะแก้ตัวประกอบอื่นๆ ที่โยงหรืออิงกันอยู่ ตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่สืบเนื่องจากมันได้ทั้งหมด หรือแก้ง่ายขึ้น

คนไทยเราชอบแสดงออกอย่างนี้มาก แม้แต่เวลาไปต่างประเทศ คนไทยเราไปในที่ของเขา ประเทศของเขา เขามีระเบียบ มีกฎจราจร คนไทยมักจะมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเราฝ่าฝืนกฎจราจรอันนี้ได้ละ เราเก่ง แล้วบางทีก็ไม่ทำตามระเบียบ ตำรวจฝรั่งก็เผลอได้เหมือนกัน คนไทยเราก็ทำเพื่อแสดงความเก่งนั้น ก็รู้สึกตัวว่าเราแน่ที่ไม่ต้องทำตามกฎจราจร หรือฝ่าฝืนแล้วเขาจับไม่ได้ เราจะไม่มีความรู้สึกละอายในการกระทำอย่างนี้ เพราะเรารู้สึกว่าการทำได้อย่างนั้นเป็นเก่งเป็นโก้ไป นี่ก็เป็นลักษณะที่น่าสังเกต

เท่าที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่า ในการวิเคราะห์ปัญหานั้น เราจะต้องศึกษาลึกลงไปถึงสภาพพื้นเพจิตใจของเรา และหาสาเหตุที่ในนั้นด้วย บางทีสาเหตุอันเดียวอาจเป็นที่มาของปัญหาได้หลายอย่างเท่าที่เราพบประสบกันอยู่ ซึ่งจะต้องกำจัดสาเหตุอันนี้ให้ได้ นี้เป็นเพียงตัวอย่าง มิใช่หมายความว่ามีตัวเดียว แต่มันเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญมาก อาตมาเห็นว่า “มานะ” นี้เป็นตัวการสำคัญ มานะมีบทบาทมากจนกระทั่งว่า คนไทยได้ใช้มานะในความหมายที่ดีไปเสียแล้ว

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แก้ไขให้ครบทั้งด้านบวกด้านลบ และให้ลึกถึงสาเหตุ กำจัดเหตุเดียวได้ ปัญหาหมดไปเป็นพวงกิเลสใหญ่ชุดสำคัญ ที่บงการบทบาทของคน >>

No Comments

Comments are closed.