ความต้องการสองด้านของสังคมไทย

21 กันยายน 2530
เป็นตอนที่ 8 จาก 23 ตอนของ

ความต้องการสองด้านของสังคมไทย

เมื่อเป็นอย่างที่ว่ามา ประเทศไทยของเรา ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนานี้ ก็เลยมีปัญหาทั้งสองด้าน ด้านหนึ่ง ก็คือปัญหาของตัวเองที่ยังไม่พัฒนาแล้วกำลังพัฒนาขึ้นไป ก็ปรากฏปัญหาด้านที่จะต้องกำจัด ความยากจนแร้นแค้น โรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น อีกด้านหนึ่ง ก็คือการไปตามอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วก็เลยได้ปัญหาอีกแบบหนึ่งมา แล้วก็เลยเป็นที่ประชุมของปัญหาทั้งสองแบบ

แต่รวมความแล้วมันก็เป็นเครื่องแสดงถึงความต้องการของสังคมของเรา กล่าวคือสังคมของเรานั้น

– ด้านหนึ่ง ก็มีความต้องการแบบประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีความขาดแคลนทางวัตถุ และต้องการความเจริญก้าวหน้า มั่งมีศรีสุข ความพรั่งพร้อมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความเจริญทางอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นี่เป็นความต้องการของประเทศของเรา ที่เราจะต้องยอมรับ

– แต่พร้อมกันนั้น เราก็มีปัญหาอีกด้านหนึ่ง คือปัญหาแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเราไปตามอย่าง ทำให้เรามีความต้องการอีกด้านหนึ่งติดมาด้วย คือ ความต้องการแบบประเทศที่ได้พัฒนาอย่างไม่สมดุล ซึ่งทำให้เกิดความขาดแคลนทางจิต และต้องการที่จะมีความสงบภายใน ความสุขของจิตใจ ความมั่นคงทางอารมณ์ ความอบอุ่น ความเกื้อกูลกัน ความมีศีลธรรม จึงเป็นความต้องการทั้งสองด้าน

ถ้าเรามองจำกัดเข้ามา แคบเข้ามายังบุคคล ก็จะเห็นว่า บุคคลผู้อยู่ในสังคมที่กำลังพัฒนาอย่างนี้ ก็จะมีความต้องการของเขา ที่สอดคล้องกับสภาพของสังคม กล่าวคือ บุคคลที่อยู่ในสังคมนี้จะมีความต้องการที่แยกได้เป็นสองด้านเช่นเดียวกัน

ความต้องการด้านหนึ่งก็คือ ความต้องการความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน การประสบความสำเร็จในชีวิต ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความสมบูรณ์พูนสุขอะไรต่างๆ ในการอยู่ในสังคมที่แข่งขัน อย่างที่เรียกว่ามีความปลอดภัย มีความมั่นใจในตัวเองพอสมควร อันนี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการดิ้นรนขึ้น ที่เขาศึกษาเล่าเรียนอะไรต่างๆ แข่งขันกันในปัจจุบันนี้ ก็มุ่งไปที่จุดหมายนี้กันมาก เป็นความต้องการของบุคคลที่เราจะต้องยอมรับความจริง

และพร้อมกันนั้น อีกด้านหนึ่ง เขาก็มีความต้องการทางด้านชีวิตจิตใจ ต้องการความอบอุ่น ความไม่อ้างว้างว้าเหว่ ความต้องการเป็นอิสระ ปลอดพ้นจากความเครียด ความกระวนกระวาย ในการดำรงชีวิตประจำวัน ในอาชีพการงานเป็นต้น

คนในสังคมปัจจุบันนี้ มีมากเหลือเกิน ประชากรของประเทศไทยนี่เพิ่มพูนจนกระทั่งมีตั้ง ๕๓ ล้านแล้ว กรุงเทพฯ ก็หนาแน่นมีคนอยู่ ถึง ๕-๖ ล้าน แต่ดูเหมือนว่า ยิ่งคนมากขึ้น แต่ละคนดูเหมือนว่ายิ่งอ้างว้าง โดดเดี่ยว เดียวดายยิ่งขึ้น ทำไมจึงเป็นอย่างนี้

ในสมัยที่คนยังน้อยอยู่ เรารู้สึกว่ามีความอบอุ่นมาก มีคนที่เป็นที่พึ่งพาอาศัยมาก มีคนที่รักใคร่กันมีมิตรไมตรีกันมาก ช่วยเหลือกันได้มาก แต่มาบัดนี้เมื่อคนมากขึ้น เรากลับโดดเดี่ยวเดียวดายยิ่งขึ้น อ้างว้างมากขึ้น ความเป็นอยู่เฉพาะตัว ตัวใครตัวมันมากขึ้น นี้มันเป็นอย่างไร มันกลับกัน อันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เราประสบในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดความต้องการของชีวิตส่วนบุคคลขึ้นด้วย เราต้องยอมรับความจริงว่า บุคคลมีความต้องการทั้งสองอย่าง

การแก้ปัญหาทางจริยธรรมนั้น จำเป็นจะต้องให้สนองความต้องการทั้งของบุคคล และของสังคม ถ้ามันไม่สนองความต้องการแล้ว การแก้ปัญหาก็ยากที่จะสำเร็จ จึงต้องยอมรับความจริง

ถ้าเราไม่รู้จักความต้องการของเขา ไม่ยอมรับความต้องการของคน เราก็จะยืนยันตามที่เรามอง หรือตามมาตรฐานของเราว่า ปัญหาจริยธรรมเป็นอย่างนี้ อย่างนั้นไม่ถูกต้อง มันจะต้องเป็นอย่างนี้ แล้วพยายามจะสร้างจริยธรรมขึ้นมา โดยไม่สอดคล้อง ไม่สนองความต้องการ ก็ยากที่จะสำเร็จ

เราจึงต้องเข้าใจความต้องการของทั้งบุคคลในสังคมและของสังคม แล้วก็แก้ปัญหาจริยธรรมนั้น โดยให้สอดคล้องกับความต้องการนี้ แต่เป็นการสนองความต้องการอย่างถูกต้อง ถ้าเป็นการสนองความต้องการอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะเกิดจริยธรรมขึ้นมา

ปัจจุบันนี้ เราพูดได้ในแง่หนึ่งว่า สังคมนี้ก็ดี บุคคลในสังคมนี้ก็ดี ไม่รู้จักความต้องการของตนอย่างถูกต้อง และปฏิบัติผิดในการสนองความต้องการนั้น จึงเกิดปัญหาในทางจริยธรรมขึ้นมา เราจะต้องหาทางให้เขาสนองความต้องการอย่างถูกต้อง

เท่าที่กล่าวมานี้ก็เป็นส่วนของการพูดทั่วๆ ไป เพื่อให้เข้าใจเรื่องความต้องการของสังคม ลักษณะหน้าตาของสังคม รวมไปถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งคลุมอยู่ในนั้น จากนี้เราก็จะสามารถก้าวขึ้นไปสู่การพิจารณาเรื่อง วิธีแก้ปัญหาจริยธรรมว่า ทำอย่างไรจะให้บุคคลมีคุณธรรมและจริยธรรมขึ้นมาได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปัญหาของประเทศพัฒนา ที่สังคมไทยตามรับเข้ามา– ๒ – หลักการและวิธีการทั่วไป ในการแก้ปัญหาจริยธรรม >>

No Comments

Comments are closed.