ตัวอย่างที่ ๒: สันโดษ

21 กันยายน 2530
เป็นตอนที่ 17 จาก 23 ตอนของ

ตัวอย่างที่ ๒: สันโดษ

เมื่อใช้พลาด สันโดษเพื่อขยัน
กลายเป็นหนุนความเกียจคร้าน

ต่อไปอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ สันโดษ สันโดษนี่มันขาดวงจรไปเสียนานแล้ว สันโดษเราแปลกันว่า ความพอใจตามมีตามได้ พอใจในสิ่งที่ตัวมี สันโดษแล้วเป็นอย่างไร สันโดษแล้วก็จะได้มีความสุข เพราะว่าถ้าเราพอใจในสิ่งที่เรามีแล้ว เราก็ไม่ทะเยอทะยาน ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวาย ก็มีความสุขได้ นี่ก็ถูก ก็มีความจริง แต่อย่างนั้นเป็นความมุ่งหมายของสันโดษหรือเปล่า

ที่จริง การมีความสุข เป็นผลพลอยได้ของสันโดษ สันโดษทำให้มีความสุขได้ ถูกต้อง แต่มันครบวงจรหรือยัง

ในแง่หนึ่ง สันโดษนี้ป้องกันความโลภ คือไม่ให้โลภของผู้อื่น ให้มั่นอยู่ที่ของตัวเอง ให้พอใจในสิ่งที่ตัวมี ที่เป็นสมบัติของตัวเอง ซึ่งจะมีความหมายไปถึงว่า มีความพอใจในสิ่งที่เป็นของๆ ตน ที่ได้มาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตน และโดยชอบธรรม สันโดษนี้จึงป้องกันความโลภและการทุจริต คือ ต้องได้มาด้วยความเพียรพยายามของตนเอง และโดยชอบธรรม ไม่ใช่ไปลักของเขามา ไม่ได้ไปละเมิดคนอื่นมา ไม่ได้ไปเอาของใครมา

พอว่าอย่างนี้ ความหมายก็กว้างขึ้น และไปสัมพันธ์กับเรื่องอื่น สัมพันธ์ในแง่ที่ว่า เมื่อสันโดษ พอใจในของของตน แต่การที่จะได้เป็นของตัวเอง ก็ต้องได้มาด้วยความเพียรพยายามของตนเอง ต้องทำเอาเอง โดยชอบธรรม โดยสุจริต คราวนี้ความหมายเริ่มกว้างขึ้น แต่ก็ยังไม่ครบวงจร

จะให้ครบวงจรอย่างไร ก็ต้องถามต่อไปอีกว่า สันโดษเพื่ออะไร จริงอยู่ที่ว่า ถ้าสันโดษแล้วก็มีความสุข แต่บอกแล้วว่า ความสุขเป็นเพียงผลพลอยได้ของสันโดษเท่านั้น ตัวความมุ่งหมายของสันโดษยังไม่มา

ความสันโดษมีความมุ่งหมายอะไร สันโดษเพื่ออะไร คนที่ไม่สันโดษย่อมมุ่งแต่จะแสวงหาวัตถุมาบำรุงบำเรอตัวเอง เมื่อมุ่งแสวงหาวัตถุมาบำรุงบำเรอตัวเอง จิตใจก็กระวนกระวาย นี้เป็นผลด้านหนึ่ง แล้วอีกด้านหนึ่ง ก็คือด้านการใช้เวลาและแรงงาน เขาก็ต้องทุ่มเทอุทิศเวลาและแรงงานไป ในการแสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอตัวเองเหล่านั้น แรงงานและเวลาจะหมดเปลืองไปกับการแสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอ จนไม่เป็นอันทำกิจหน้าที่

สันโดษนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนเน้นเป็นพิเศษสำหรับพระสงฆ์ เพราะว่าชีวิตของพระสงฆ์นี้มีหลักการเบื้องต้นว่าเป็นคนที่ชาวบ้านเลี้ยง จึงต้องทำตัวให้เขาเลี้ยงง่ายแล้วก็จึงควรจะอยู่ง่าย อยู่ง่ายก็หมายความว่า มีวัตถุแต่เพียงพอประมาณ เท่าที่จำเป็นหรือเท่าที่เป็นสัปปายะ นี่ก็คือการที่จะต้องสันโดษ

เหตุผลที่พระสงฆ์ต้องสันโดษนั้น นอกจากเพื่อทำตัวให้เขาเลี้ยงง่ายแล้ว ที่สำคัญยิ่งและสัมพันธ์กับการเป็นผู้เลี้ยงง่ายนั้นเอง ก็คือ จะได้ตัดความวุ่นวายกังวลในการแสวงหาวัตถุ และจะได้มุ่งมั่นทำกิจหน้าที่หรืองานของพระสงฆ์ได้เต็มที่ คือ จะได้เอาเวลาและแรงงานของตัวเอง ไปใช้ในการทำกิจหน้าที่ของสมณะ ไม่ต้องมากังวลวุ่นวายกับการแสวงหาปัจจัยสี่ ไม่ต้องคิดว่าจะหาอาหารเอร็ดอร่อยฉันได้อย่างไร ไม่ต้องคิดเดือดร้อน กับการจะหาจีวรสวยๆ งามๆ มาห่ม หรือหาที่อยู่อาศัยที่หรูหรา อะไรต่างๆ ซึ่งจะทำให้ต้องแสวงหาวัตถุปัจจัยวุ่นวาย จะได้เอาเวลาและแรงงานนั้นไปใช้ทำหน้าที่การงานของสมณะ จะไปบำเพ็ญสมาธิ หรือจะไปเทศนาสั่งสอนประชาชน ก็มีเวลาอุทิศให้กับเรื่องเหล่านั้นได้เต็มที่

พร้อมกันนั้น สันโดษนี่ก็จะไปสนับสนุนความเพียรพยายาม สอดคล้องกับหลักทั่วไปที่สันโดษนี้มักจะมาคู่กับความเพียร

ขอให้ท่านสังเกตว่า ในหลักพระพุทธศาสนานั้น ธรรมะต่างๆ มักจะมาเป็นคู่กัน หรือ มาเป็นชุด เช่น ศรัทธามาก็จะให้มีปัญญาควบ ถ้าสันโดษมาความเพียรก็มักมาด้วย เพราะอะไร เพราะเมื่อสันโดษในเรื่องการบำรุงบำเรอตัวเองแล้ว ก็จะได้เอาเวลาและแรงงานที่สงวนไว้นั้น ไปใช้ในการเพียรพยายามทำกิจหน้าที่ของตน

สันโดษนั้น นำมาใช้กับฆราวาสได้ในแง่นี้ด้วย คือทำให้ไม่มัวเมา ไม่มัวหลงเพลิดเพลินกับการบำรุงบำเรอตัวเอง จะได้มุ่งหน้าทำหน้าที่การงานของตนอย่างเต็มที่ ในทางตรงข้าม ถ้าเราไม่รู้จักพอ มุ่งแต่จะหาวัตถุมาบำรุงบำเรอตัวเองแล้ว ก็จะไม่รักงาน จิตใจจะคอยใฝ่แสวงหาแต่สิ่งบำรุงบำเรอนั้น

เมื่อไม่รักงานแล้ว การทำงานก็จะเป็นเรื่องจำใจ เป็นเพียงเงื่อนไขเพื่อจะให้ได้สิ่งเสพหาความสุขหรือบำรุงความสุข ไม่ใช่เป็นตัวสิ่งที่เราอยากจะทำ ทีนี้ ถ้าเกิดว่าเราจะได้สิ่งบำเรอสุขนั้นโดยไม่ต้องทำงาน เราก็จะเอาทางนั้นใช่ไหม เพราะเป้าหมายของเราไม่ได้อยู่ที่ผลของงาน

คนที่ไม่สันโดษ มุ่งความบำรุงบำเรอตนเองนี้ ใจจะไม่มุ่งไปที่ผลของงาน เขาไม่อยากทำงานเลยด้วยซ้ำ แต่ที่ทำงาน ก็เพื่อเป็นเงื่อนไขที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอความสุขเท่านั้น ดังนั้น ถ้าเขาจะได้สิ่งบำเรอสุขโดยไม่ต้องทำงานเลย เขาก็จะเอาทางนั้น เขาอาจจะพยายามหลีกเลี่ยงการทำงาน และอาจทำโดยทางลัด เพื่อให้ได้สิ่งบำรุงบำเรอหรือวัตถุนั้นมา ทำให้เกิดการทุจริตขึ้น

ในสังคมที่คนไม่สันโดษ มุ่งหาสิ่งบำเรอสุขโดยไม่ต้องเพียรทำงานแบบนี้ ก็ต้องมีการควบคุมกันอย่างแจทีเดียว จะต้องสร้างระบบควบคุมกันขึ้นมาหลายๆ ชั้น เพื่อจะให้มั่นใจว่า คนจะทำตามเงื่อนไข คือทำงานเพื่อจะให้ผลงานเกิดขึ้น ก่อนที่เขาจะได้เครื่องบำรุงบำเรอ มิฉะนั้นแล้วเขาจะหลีกเลี่ยงการทำงาน เพื่อจะได้เครื่องบำรุงบำเรอนั้นโดยทางลัด

โดยนัยนี้ สันโดษจึงต้องครบวงจร คือต้องทำให้คนเอาเวลาและแรงงาน มาอุทิศให้แก่การเพียรพยายามทำกิจหน้าที่และสิ่งที่ดีงาม ให้บรรลุผลสำเร็จโดยถูกต้อง

บางทีคนของเรานี้สันโดษจริง แต่ไม่ครบวงจร แล้วก็เกิดโทษขึ้นมา สันโดษเลยกลายเป็นตัวหนุนความเกียจคร้านไปเสีย คนที่สันโดษแบบนี้จะคิดว่า เอาละเราอยู่แค่นี้ก็มีความสุข สบายแล้ว พอแล้ว ก็เลยไม่ต้องทำอะไร เขาคิดถึงสันโดษเพียงเพื่อมีความสุข คิดเพียงเท่านี้ ไม่คิดโยงต่อไปถึงกิจหน้าที่และความดีงามที่จะต้องทำว่า เมื่อเราสบาย ว่างจากความวุ่น มีโอกาสดีอย่างนี้แล้ว ควรจะทำอะไร วัตถุประสงค์ของสันโดษก็เลยหายไป ไม่ครบวงจร ก็เลยเกียจคร้านไปเลย อยู่ไปวันๆ

แต่ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ทำไมสันโดษแล้ว ชอบบริโภคด้วย ก็ขัดกัน เขาว่าคนไทยสันโดษ แต่อีกด้านหนึ่งก็ว่าคนไทยมีค่านิยมชอบบริโภค การชอบบริโภคไม่แสดงว่าสันโดษเลย มันเป็นข้อขัดแย้งในทางจริยธรรมไปแล้ว ถ้าคนไทยสันโดษ ก็ต้องไม่มีค่านิยมบริโภค ถ้าคนไทยมีค่านิยมบริโภค ก็ต้องชอบฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยไม่สันโดษ จะต้องมาตรวจสอบกันใหม่ว่าคนไทยเป็นอย่างไรแน่

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การแสดงออกอย่างเสรี คือความเหลวไหล ถ้าไม่สัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายตัวอย่างที่ ๓: ปลงอนิจจังได้ สบายใจ >>

No Comments

Comments are closed.