ถ้าสัตว์เมืองไม่พัฒนาจิตใจ ใครๆ ก็ช่วยสัตว์ป่าไม่ไหว

8 กรกฎาคม 2538
เป็นตอนที่ 5 จาก 11 ตอนของ

ถ้าสัตว์เมืองไม่พัฒนาจิตใจ
ใครๆ ก็ช่วยสัตว์ป่าไม่ไหว

ถ้าจะแก้ปัญหา เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องแก้ตามเหตุ แต่จะทำอย่างไร ในข้อที่ ๑ ก็บอกแล้วว่า เราล่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร คนไทยเราถือสืบกันมาว่า สัตว์ป่าเป็นอาหาร

ตัวอย่างหนึ่งก็เช่น กระรอก เรามีคำพังเพยหนึ่งบอกว่า “ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้

คำพังเพยนี้แสดงว่า เราเคยเห็นกระรอกเป็นอาหาร เป็นของปกติธรรมดา จนกระทั่งเกิดเป็นคำพูดนี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้น เราเข้าไปในป่า เราเห็นกระรอก เราก็จะเอามันกิน ก็คงติดนิสัยมาจนถึงทุกวันนี้ เห็นกระรอกแล้วก็จะจับจะกิน อย่างน้อยก็จะยิงเล่น

เดี๋ยวนี้ ความจำเป็นที่จะเอากระรอกเป็นอาหารไม่มี แต่เราอาจติดนิสัยเก่าที่เคยล่ามันเป็นอาหาร ก็จะต้องแกล้งมันละ มีไม้ก็ขว้างมัน ถ้าเป็นเด็กอาจมีหนังสติ๊ก ก็ยิงมัน อะไรทำนองนี้ ทั้งๆ ที่ว่าก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรมันแล้ว เพราะเหตุนี้กระรอกเห็นคนจะต้องหนีทันที

ตรงข้ามกับในบางประเทศ อย่างในอินเดีย เขาไม่ทำลายสัตว์ป่าทั้งหลาย พวกกระรอกก็ตาม พวกนกทั้งหลายก็ตาม ก็อยู่กันดี เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านี้จะเชื่อง เวลาเราเดินไปใกล้ สัตว์เหล่านี้ก็จะเดินเข้ามาหาอย่างสนิทสนมกับคน ดูมันน่ารัก คนก็ไปเล่นกับมัน

ไม่เฉพาะในประเทศอินเดีย เมืองฝรั่งก็เหมือนกัน อย่างไปประเทศอเมริกา เราไปที่มีต้นไม้ มีป่า กระรอกจะลงมาจากต้นไม้ บางทีก็เข้ามาหาคน พอเข้ามาใกล้คน มันก็มายืน ๒ ขา เอาขาหลังตั้งยืนขึ้นมา แล้วยกขาหน้าขึ้น แล้วก็ทำปากจุ๊บจิ๊บๆ คนก็ชอบไปเลี้ยงอาหารมัน ก็มีความสุขดีทั้งคนและกระรอก แต่ในเมืองไทยนี้ไม่อย่างนั้น พอกระรอกเห็นคน ก็รีบหนีทันที

ยกเว้นบางแห่ง อย่างที่สถานพำนักสงฆ์สายใจธรรมนี้ กระรอกเชื่องพอสมควร บางตัวเชื่องมาก เมื่อมีคนเข้าไป บางทีมันก็เข้ามาเล่นด้วย

แต่บางทีคนไปแกล้งมัน พอกระรอกมาให้เล่น คนไปแกล้งมัน มันก็เลยแกล้งบ้าง เล่นบ้าง บางทีมันกัดเอา เวลาคนมา มันลงมาหาเหมือนกัน แต่มันแกล้งกัด เพราะฉะนั้นก็ไม่ค่อยดีเหมือนกัน เราต้องระวังว่า สัตว์พวกนี้เป็นประเภทเลี้ยงลูกด้วยนม จึงอันตรายเหมือนกัน เพราะอาจเกิดมีโรคที่มีพิษร้าย เช่น โรคกลัวน้ำ ต้องระวังไว้บ้าง

รวมความว่า ถ้ามนุษย์เป็นมิตรกับมัน เราไม่แกล้ง ไม่รังแกมันๆ ก็จะเป็นมิตรกับคนเราด้วย มันจะเชื่อง

คนไทยเรานี้ ไม่รู้เป็นอย่างไร ติดนิสัยกันมา แม้แต่เด็ก ก็จะชอบรังแกนกและสัตว์เล็กๆ พอเห็นสัตว์ ก็ชอบวิ่งไล่จะฆ่ามัน จะทำร้ายมัน เอาไม้ขว้างมัน เอาก้อนดินขว้างมัน เป็นต้น อันนี้อาจติดมาจากคติเก่าที่ว่าเมื่อกี้นี้ว่า ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ คงจะใช้กันมาเป็นธรรมเนียม พอเห็นสัตว์พวกนี้ ก็จะต้องทำอะไรมันสักอย่าง

พูดถึงเรื่องนี้เลยขอเล่าแทรกนิดหนึ่ง หลายปีมาแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา ไปที่วิทยาลัยแห่งหนึ่ง เขามีป่ามาก มีต้นไม้เยอะแยะไปหมด ตามต้นไม้ก็มีพวกกระรอกมาก

คนที่นั้นเล่าให้ฟังว่า กระรอกที่นั่นแต่ก่อนก็อยู่กันมาดีๆ แต่เวลานี้มีภัยแล้ว มีภัยอะไร ก็คือว่า มีคนลาวอพยพมาอยู่มาก พอมาอยู่เยอะ ก็จับกระรอกกินเลย ตอนนี้กระรอกจึงไม่ค่อยปลอดภัย และกระรอกไม่ค่อยเชื่องแล้ว อย่างนี้ก็เกิดปัญหา เคยกินกระรอกที่เมืองนี้ ก็ไปกินที่เมืองโน้นอีก

อันนี้เป็นข้อสังเกตในเรื่องที่ถือสืบกันมานาน แล้วเราจะแก้อย่างไร เดี๋ยวนี้เราไม่มีความจำเป็นที่จะกินกระรอกหรือสัตว์ป่าเหล่านี้ เราเจริญขึ้นมาแล้ว มีวิธีการหาอาหารอย่างอื่นต่างออกไปแล้ว ฉะนั้น เราต้องแก้นิสัย แก้ความเชื่อถือหรือธรรมเนียมเหล่านี้

ฝรั่งที่เคยชอบล่าสัตว์ เขายังเลิกได้ ทำไมคนไทยจะเลิกนิสัยจับสัตว์ป่าเล็กๆ น้อยๆ กินเล่นไม่ได้

ที่จริงปัญหาเหล่านี้มันพันกัน เหตุอย่างหนึ่งก็คือ ความยากจนขาดแคลน แม้เราจะบอกว่าสัตว์เหล่านี้น่าจะเลิกกินได้แล้ว แต่ถ้าคนยังยากจน เขาไม่มีอาหารอื่นกิน เขาก็ต้องจับมันกิน เพราะฉะนั้น เราจะต้องแก้ปัญหาที่ลึกลงไป คือความยากจนขาดแคลนไม่มีกิน ที่ทำให้ต้องไปเอาสัตว์ป่ามากิน และเมื่อไม่มีที่ทำกิน ก็ไปบุกรุกป่าทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า โดยทั้งสองวิธีนี้ก็คือการที่ความยากจนเป็นเหตุให้สัตว์ป่าหมดไป

ไม่เฉพาะคนยากจนที่มีความจำเป็นในการเลี้ยงชีวิตเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม แม้แต่คนที่ร่ำรวยแล้ว แต่โลภมากๆ ก็เป็นเหตุหนึ่งด้วย คือ เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ ก็เอาสัตว์ป่าไปหาผลประโยชน์ด้วยการค้าออกไปต่างประเทศ ลักลอบขายหาเงินมาเพื่อความร่ำรวยของตนเอง หรือตัดไม้ทำลายป่าเพื่อผลประโยชน์ของตนเองทั้งๆ ที่รวยอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้น คนรวยก็ร้ายมาก จึงยังมีทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งคนจนและคนรวย ช่วยกันทำลายป่า

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือความไม่รู้ว่าการทำลายป่ามีโทษอย่างไร และไม่รู้ว่าการที่ธรรมชาติแวดล้อมเสียหายแล้ว ภัยจะมาถึงมนุษย์อย่างไร ถ้าเขาตระหนักเห็นภัย ก็อาจจะได้ระมัดระวังบ้าง

ความไม่รู้ หรือขาดการศึกษา จึงเป็นปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ทางแก้ก็คือให้การศึกษาแก่คน เวลานี้เราก็ให้การศึกษากันมากขึ้น แต่จะตรงจุดหรือไม่ ก็ยังจะต้องพิจารณากันต่อไปอีก

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความมักง่าย นิสัยเสียคือ เอาแต่ง่าย เอาแต่สะดวก พอเห็นสัตว์ที่พอจะเอาได้ หรือเห็นไม้ที่พอจะฟันจะโค่นได้ จะเอามาทำประโยชน์ที่ตนต้องการ ก็ไม่คำนึงว่า ทำไปแล้วจะเกิดผลเสียอย่างไร ขาดความรับผิดชอบ เอาแต่ตัว หรือเอาแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า

อาตมาเคยไปป่าทางภาคอีสาน อย่างที่เขื่อนสิรินธร ที่นั้นก็มีวัด พระที่วัดป่านั้น ถ้าใช้ภาษาชาวบ้านก็ว่า ต้องรบกับชาวบ้าน คือ ต้องคอยดูแล คอยบอก คอยไล่ คอยกัน เพราะว่า ในป่าที่วัดช่วยดูแลรักษาไว้จำนวนสัก ๒,๐๐๐ ไร่นั้น ชาวบ้านมักเข้ามาหาสัตว์ป่าและพืชพรรณ ตลอดจนผลที่เกิดจากต้นไม้ เช่น รังผึ้ง เป็นต้น

บางทีชาวบ้านต้องการรังผึ้งรังเดียว ก็ตัดไม้ทั้งต้น อย่างนี้เรียกว่าความมักง่าย เห็นแก่ประโยชน์เพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่ทำลายสิ่งที่มีค่ามากไปทั้งหมด หรือที่ยกตัวอย่างเมื่อกี้ก็เช่นว่า ต้องการยิงสัตว์เล็กๆ สักตัวสองตัว ก็เผาป่า ทั้งทำลายป่าและสัตว์อื่นก็พลอยตายเพราะถูกไฟเผาไปอีกมากมาย เพื่อให้เขาได้สัตว์แค่ตัว ๒ ตัวเท่านั้น ไม้ก็หมดไป สัตว์ป่าชนิดอื่นก็หมดไป

อันนี้เป็นอันตรายที่ร้ายแรง วัดป่า เช่น วัดเขื่อน ที่อุบลฯ ตอนนี้ต้องสร้างกำแพงสิ้นเงินไปมากมาย เพื่อกันชาวบ้านที่จะเข้ามาทำลายแบบนี้

เรื่องของการชอบแกล้งสัตว์ที่ว่าเมื่อกี้ อาจจะเป็นนิสัยที่ติดมาจากการที่เคยเอาสัตว์เหล่านั้นกินเป็นอาหาร แล้วก็อาจเกิดจากค่านิยมซึ่งไม่ยืนยันที่บอกเมื่อกี้

นั้นก็คือว่า สมัยก่อนฝรั่งชอบล่าสัตว์เห็นเป็นกีฬาสนุก แล้วก็มาล่าสัตว์ในเมืองไทย ผู้ใหญ่ผู้โตในเมืองเราก็เล่นกีฬาล่าสัตว์ด้วย ต่อมาชาวบ้านก็คงมีความนิยมชมชอบอย่างเดียวกัน โดยตามฝรั่งเห็นเป็นเรื่องโก้ แต่เป็นการทำลายสัตว์ป่า เป็นเรื่องของนิสัยใจคอที่สะสมกันมา จนกลายเป็นวัฒนธรรมในทางเสื่อม

นอกจากนั้นก็คือ จิตใจที่ขาดเมตตากรุณา ข้อนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ถ้ามีเมตตากรุณาเพียงอย่างเดียว ก็แก้ปัญหาได้หมด แต่มันเป็นเรื่องใหญ่มาก เราพูดได้ แต่แก้ยาก แต่ก็ต้องพูดไว้ว่าเหตุอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ การที่คนเราขาดความเมตตากรุณา ไม่เห็นแก่สุขทุกข์ของสัตว์

เวลาเห็นมันทุกข์ เราไม่มีความเห็นใจ เวลามันอยู่ดีๆ เราก็ไม่รักมัน ไม่เห็นแก่ความสุขของมัน เรียกว่าขาดความเมตตากรุณา

อีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญที่สุด เป็นเรื่องของ ผลประโยชน์ขัดกันระหว่างสัตว์บ้านกับสัตว์ป่า หรือสัตว์เมืองกับสัตว์ป่า

ที่ว่าผลประโยชน์ขัดกัน ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เช่นเราจะพัฒนาบ้านเมือง เราก็ต้องทำเขื่อน ทำถนนหนทาง ผลประโยชน์ของเราก็ขัดกับผลประโยชน์ของสัตว์ป่า

เรื่องนี้เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ก็เป็นข้อที่เสนอเพื่อพิจารณากัน เช่นการหาที่อยู่ทดแทนให้แก่สัตว์ป่า และเดี๋ยวอาจได้มาพูดกัน

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถ้าสัตว์เมืองยังโหด ป่าก็ต้องหด สัตว์ป่าก็ต้องหายถ้าพัฒนาคนให้ดี เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคือหูตาของชาวบ้าน ถ้าคนไม่พัฒนา เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าต้องหันหน้าสู้ชาวบ้าน >>

No Comments

Comments are closed.