ถ้าพัฒนาคนให้ดี เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคือหูตาของชาวบ้าน ถ้าคนไม่พัฒนา เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าต้องหันหน้าสู้ชาวบ้าน

8 กรกฎาคม 2538
เป็นตอนที่ 6 จาก 11 ตอนของ

ถ้าพัฒนาคนให้ดี เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคือหูตาของชาวบ้าน
ถ้าคนไม่พัฒนา เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าต้องหันหน้าสู้ชาวบ้าน

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ ความเสื่อมทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการทำลายคติความเชื่อโบราณ สมัยก่อน เรามีวิธีรักษาสัตว์ป่าพร้อมทั้งป่าด้วยอีกอย่างหนึ่ง คือการเชื่อผีสางเทวดา เทพารักษ์หรือรุกขเทวดา (เทวดาประจำต้นไม้) โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ๆ จะเรียกว่าต้นไม้เจ้าป่า ซึ่งมีในภาษาบาลี

คิดว่าคตินี้คนไทยเอามาจากภาษาบาลี คือไม่ใช่เป็นความเชื่อของพุทธศาสนาโดยตรง แต่เป็นความเชื่อที่มีมาในอินเดียแต่เดิม และท่านนำมาเล่าไว้

ชาดกบางเรื่องเล่าถึงคติความเชื่อของคนโบราณก่อนพุทธกาลว่า มีต้นไม้ใหญ่ๆ เรียกว่า วนัปปติ = วนบดี ได้แก่ ต้นไม้เจ้าป่า ซึ่งจะมีรุกขเทวดาที่ศักดิ์สิทธิ์มาก สิงหรืออาศัยอยู่ คนไทยเราก็เชื่อถือสืบมา ถ้าจะไปตัดต้นไม้ใหญ่แม้เพียงต้นเดียว ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก คนจำนวนมากไม่กล้าตัด ถ้าจะตัด ก็ต้องมีพิธีบวงสรวงเป็นการใหญ่

อย่างตอนที่ตัดถนนผ่านดงพญาเย็น ก็มีเรื่องเล่ากันสืบมาว่า คนไปทำลายไม้เจ้าป่าแล้วเกิดอาเพศอาถรรพ์ มีอันเป็นไป คนโบราณเชื่อในเรื่องเทวดาผีสางต่างๆ อย่างนี้ จึงทำให้ชาวบ้านกลัว ไม่กล้าไปตัดไม้ทำลายป่า เพราะกลัวรุกขเทวดาจะมาลงโทษ

ต่อมาความเชื่อเก่าๆ เหล่านี้ได้ถูกทำลาย คนรุ่นหลังๆ เลิกเชื่อถือ เพราะเห็นว่าไม่จริง ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ทีนี้เราก็จะหันมารักษาป่ากันด้วยเหตุผลแบบคนที่มีการศึกษา ซึ่งถือว่า ต้นไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า และเป็นสภาพแวดล้อมที่สำคัญ ควรจะช่วยกันบำรุงรักษา ถ้าคนเราอยู่ในเหตุผล ต้นไม้ก็อยู่ได้ แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น

ปรากฏว่า ทั้งๆ ที่รู้เหตุรู้ผลว่า ถ้าทำลายต้นไม้ หรือทำลายสัตว์ป่าไป จะเกิดภัยอันตราย จะสูญเสียทรัพยากรของธรรมชาติ ธรรมชาติแวดล้อมจะเสื่อมโทรม แต่ทั้งๆ ที่รู้อย่างนี้ เราก็เห็นแก่ผลประโยชน์มากกว่า ความโลภชนะ

โลภะชนะปัญญา โลภะชนะเหตุผล ก็เลยเอาปัญญาไปรับใช้โลภะ เอาความรู้ที่มีอยู่มารับใช้ความโลภ เลยมีความสามารถในการทำลายป่าและทำลายสัตว์ป่าได้มากกว่าชาวบ้าน กลายเป็นว่าก่อปัญหาหนักขึ้น

ความเชื่อเก่าที่ช่วยรักษาป่า ก็หมดไป เหตุผลใหม่ที่จะช่วยรักษาป่า ก็ไม่เป็นผล

ที่ว่าวิธีรักษาป่าแบบเก่าหมดไป ก็คือความเชื่อและกลัวต่อผีสางเทวดาหมดไป แต่สิ่งใหม่คือเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ เราก็ไม่ยอมปฏิบัติ เราก็เลยเสียทั้ง ๒ อย่าง อันนี้ก็คือปัญหาการพัฒนา

ในที่สุด ปัญหามาอยู่ที่การพัฒนาคน ทั้งนั้น เราต้องยอมรับว่า เราพัฒนาคนไม่ทัน ถ้าคนไม่พัฒนาแล้วก็กลายเป็นว่า ให้คนยังโง่ เชื่องมงายอย่างคนโบราณดีกว่า คนโบราณที่เชื่อผีสางเทวดา กลัวรุกขเทวดาว่า ถ้าไปตัดต้นไม้ เทวดาจะมาหักคอ ยังช่วยรักษาป่าไว้ได้ แต่คนสมัยปัจจุบันนี้ จะอาศัยเหตุผลรักษาป่า ก็ใช้เหตุผลไปไม่รอด ความโลภเก่งกว่าปัญญา คนไม่พัฒนา เอาปัญญาชนะความโลภไม่ได้ กลายเป็นว่าเอาปัญญาไปเป็นข้าของความโลภ

ฉะนั้น จึงต้องให้เลือกดู เมืองไทยของเรานี้ อาจเป็นเพราะพัฒนาไม่พอดี สิ่งเก่าที่ควรจะรักษาเอาไว้ ก็ไปทำลายเสีย การพัฒนาคนในแบบใหม่ที่จะให้มีปัญญารู้จักใช้เหตุผลมาบังคับควบคุมพฤติกรรมของคน ก็ทำไม่ได้ เลยกลายเป็นเสียทั้ง ๒ ด้าน

นี่จึงกลายเป็นปัญหาที่น่าพิจารณา เช่นว่า ถ้าชาวบ้านยังมีความเชื่อในเรื่องนี้อยู่ เราควรจะสนับสนุนหรือไม่แค่ไหน แต่เวลานี้คงจะแก้ปัญหานี้ได้ยากแล้ว เพราะความเชื่อเรื่องรุกขเทวดาแทบจะไม่เหลือ ชาวบ้านเองก็ช่วยและร่วมมือทำลายป่าด้วย

ตอนนี้ การรักษาป่าและสัตว์ป่า ก็เลยมาเน้นกันมากในแง่ของการควบคุม เช่น ควบคุมการล่าสัตว์ ควบคุมการลักลอบล่าสัตว์ป่า วิธีการควบคุมนี้เป็นวิธีการที่ค่อนไปทางบังคับ การที่จะได้ผลจริงนั้น มันอยู่ที่จิตใจเอาด้วย

วิธีการแบบบังคับควบคุม ก็เหมือนกับต้องมีการต่อสู้กันตลอดเวลา ฝ่ายหนึ่งควบคุมคอยรักษา อีกฝ่ายหนึ่งก็จ้องทำลาย ถ้าใช้วิธีสู้กันแบบนี้ เห็นจะสำเร็จยาก เพราะฝ่ายที่จ้องจะทำลายมีมากกว่า คงจะชนะ ฝ่ายรักษาคงจะแพ้

เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรจะเน้นกันแต่ในด้านควบคุมว่าจะควบคุมได้อย่างไร การควบคุมนี้แก้ปัญหาไม่สำเร็จ ต้องแก้ที่สาเหตุอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เริ่มต้นตั้งแต่ปัญหาใหญ่ คือความยากจน แร้นแค้นขาดแคลน

คนที่ยากจนขาดแคลนนั้นก็คือ คนที่สู้คนด้วยกันไม่ได้ คนที่เป็นสัตว์เมืองด้วยกันนี่แหละ ยังมีการแก่งแย่งกัน มีการแบ่งแยกกันเป็นคนเมืองกับคนป่า คนเจริญกับคนล้าหลัง คนเจริญแล้วก็เอาเปรียบคนที่ล้าหลัง คนเมืองก็เอาเปรียบคนบ้านนอก

เมื่อคนป่าหรือคนบ้านนอกขาดแคลน ไม่มีทางสู้ เขาสู้คนด้วยกันไม่ได้ ก็ไปรังแกสัตว์ และรังแกป่า หมายความว่า สัตว์เมืองที่สู้สัตว์เมืองด้วยกันไม่ได้ ก็ไปรังแกสัตว์ป่า

เมื่อความยากจนขาดแคลนเป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนต้องไปรุกรานทำลายป่า รังแกสัตว์ป่า เราก็ต้องหาทางให้เขามีทางทำกินอย่างอื่น หรือมิฉะนั้นก็ให้เขาช่วยรักษาป่า ด้วยวิธีแก้อย่างหนึ่ง คือ เมื่อเขาจะอยู่กับป่า ก็คือเขาจะต้องพึ่งพาอาศัยป่า เราก็ถือว่าเขาจะช่วยรักษาป่า และให้เขาได้รับผลประโยชน์จากป่าเป็นการตอบแทนด้วย

วิธีนี้จะเป็นการสอดคล้องกับเหตุผลตามธรรมชาติที่ว่า แต่ก่อนนี้ คนอยู่กับป่า ชีวิตก็ขึ้นกับป่า เขาจะอยู่ดีมีความสุข จะมีความอุดมสมบูรณ์หรือไม่ ก็ต้องอาศัยป่า เมื่อเขาอาศัยป่า ก็ต้องรักษาป่าด้วย

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไม่ลืมว่า ถ้าคนโง่เขลา ไม่พัฒนา บางทีเขาก็ทำลายประโยชน์หรือที่พึ่งอาศัยของเขาเสียเอง เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอย่างไร ก็ต้องพัฒนาคนไปด้วย

เวลานี้ เราจะรักษาป่า แต่เรามองคนเหมือนว่าเป็นศัตรูกับป่า เราก็เลยกันคนไม่ให้เข้าไปใช้ป่า ทีนี้ เมื่อคนเขาอาศัยป่า เขาไม่ได้ประโยชน์จากป่า เขาก็ไม่เห็นเหตุผลที่จะรักษาป่า และเมื่อเขายากจน ไม่มีทางหากินอย่างอื่น เขาก็จะต้องหาทางเข้าไปลักลอบเอาของในป่ามากินมาบริโภค

เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็เกิดการทำลายป่าทั้ง ๒ ประการ คือ ทั้งไม่ร่วมมือรักษา และหาทางลักลอบทำลาย

ฉะนั้น ในเรื่องปัญหาความยากจนข้นแค้นนี้ จะต้องพยายามให้มากว่า จะแก้ไขกันอย่างไร ไม่ให้คนจำนวนหนึ่งที่สู้คนด้วยกันไม่ได้ ต้องไปทำลายสัตว์ป่า แล้วก็ทำลายป่าให้หมดไป

อีกด้านหนึ่ง พอเราอนุรักษ์ป่า เพื่อประโยชน์ของสัตว์ป่า ให้สัตว์ป่าอยู่ได้ แต่การอนุรักษ์นั้นไปขัดกับการพัฒนาของสัตว์เมือง ไปทำลายผลประโยชน์ของสัตว์เมืองเข้า เมื่อผลประโยชน์ถูกขัดขวาง คนก็ต้องหาทางหลบเลี่ยงหรือลักลอบทำ กลายเป็นวิธีการแบบต่อสู้ ซึ่งยากจะประสบความสำเร็จ

รวมความว่า ปัญหาที่ค้างอยู่จนกระทั่งเวลานี้ก็คือ การที่จะต้องคิดกันให้ชัดในเรื่องของการพัฒนาประเทศ อย่างที่เรียกกันว่าการพัฒนาแบบยั่งยืน ทำอย่างไรจะให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน ถ้าพัฒนาแบบแก่งแย่งผลประโยชน์กัน หรือทำให้ผลประโยชน์ขัดกันแบบนี้ คงไปไม่รอด

การพัฒนาแบบยั่งยืนนั้น คือการพัฒนาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจะต้องทำให้ได้ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ต้องประสานผลประโยชน์ และต้องประสานความร่วมมือ แล้วก็อยู่ด้วยกันไปอย่างมีความสุขร่วมกัน ถ้าฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งเสีย อย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ มันก็ต้องชิงไหวชิงพริบกันตลอดไป การแก้ไขปัญหาก็จะไม่สำเร็จแน่ การพัฒนาก็ไม่ยั่งยืน

เราได้พยายามที่จะให้มีการพัฒนาแบบยั่งยืน เรียกว่า sustainable development แต่เวลานี้ศัพท์นี้ชักจะด้อยความนิยมลงไป ต่างกับเมื่อสัก ๒ ปีก่อน ศัพท์นี้ขึ้นมาก ไปไหนก็ได้ยิน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ยิน กลับมีศัพท์อื่นขึ้นมาแทน เช่น ศัพท์ว่า โลกาภิวัตน์ และรีเอ็นจิเนียริ่ง

ทั้งๆ ที่การพัฒนาแบบยั่งยืนนั้น ก็ยังไม่สำเร็จ แต่ตอนนี้คนแทบไม่เอาใจใส่แล้ว ความเป็นไปอย่างนี้แสดงว่า คนไทยเราตื่นเต้นและเอาใจใส่เรื่องอะไรต่างๆ เพียงชั่วครู่ วูบมาวาบไปเท่านั้นเอง

เรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืนนี้ ต้องคิดกันให้ชัด ดังในกรณีที่การพัฒนาเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ไปขัดกับผลประโยชน์ของสัตว์ป่า เป็นต้น เราทำอย่างไรจะประสานประโยชน์ให้กลมกลืนกันได้

แล้วทีนี้เรื่องนี้ก็จะโยงต่อไปอีก ยังมีปัญหาการรักษาป่าที่เราต้องตรากฎหมาย ตั้งเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆ ขึ้นมาทำงาน เช่น มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า แต่ถ้ามองดูสภาพการณ์แล้ว มันมีลักษณะของการที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ต้องสู้กับประชาชน หรือสู้กับชาวบ้าน

ขณะนี้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ๑ คน รับผิดชอบเนื้อที่ป่าประมาณ ๕๘ ตารางกิโลเมตร ทางบ้านเมืองจึงมองว่าเนื้อที่มากเกินไป เจ้าหน้าที่รักษาไม่ไหว จะต้องมีเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น แต่จะให้เฉลี่ยเท่าไรดี เวลานี้ ๑ คนต่อพื้นที่ ๕๘ ตารางกิโลเมตร เราใช้วิธีเพิ่มเจ้าหน้าที่จะสำเร็จผลหรือเปล่า

หัวใจของการแก้ปัญหาอยู่ที่ไหน คิดว่าเพิ่มเจ้าหน้าที่เท่าไร ก็คงไม่พอ ถ้าคนของเรายังเป็นอย่างนี้ หรือยังมีสภาพอย่างนี้ คือยังมีนิสัยจิตใจตลอดจนลักษณะการหาผลประโยชน์อย่างที่ว่ามา ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจที่ว่ายากจนข้นแค้น ถ้าเป็นอย่างนี้ ความสัมพันธ์ก็จะออกมาในรูปที่ว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสู้กับชาวบ้าน ถ้าจะให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสู้กับชาวบ้าน จะไปสู้อย่างไรไหว

แท้จริงนั้น ความสำเร็จอยู่ที่ต้องให้เกิดเป็นสภาพอย่างใหม่ว่า ชาวบ้านต้องการรักษาป่า แล้วเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามาเป็นตัวแทนชาวบ้านในการดูแลป่า ถ้าอย่างนี้จึงจะสำเร็จ

ฉะนั้น ที่แท้แล้ว ต้องทำให้การรักษาป่า เป็นหัวจิตหัวใจของชาวบ้าน หรือของประชาชน แต่เพราะยังมีคนส่วนน้อยที่ทำลายป่า เราก็เลยต้องมีเจ้าหน้าที่ไว้ดูแลบ้าง นอกจากนั้น เหตุอาจมาจากเรื่องอื่นมากกว่าคน จึงทำให้เราต้องมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เช่น ไฟป่าอาจไหม้ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะทำหน้าที่พวกนี้ เท่ากับว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เป็นผู้ดูแลป่าแทนหูแทนตาประชาชน โดยที่ว่าฐานอยู่ที่ประชาชนชาวบ้านมีความรักป่า

แต่เวลานี้ไม่ใช่อย่างนั้น เรื่องกลายเป็นว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่านี้มาสู้กับประชาชน แล้วจะไปรอดได้อย่างไร ฉะนั้น อันนี้ต้องแก้ใหม่ และเป็นหัวใจอย่างหนึ่งของการที่จะแก้ปัญหาได้

เป็นอันว่า จะต้องแก้ปัญหากันเริ่มตั้งแต่ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้ถูกต้อง ให้เป็นว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า คือ ผู้ดูแลรักษาป่าแทนหูแทนตาประชาชน ไม่ใช่เป็นเจ้าหน้าที่ที่มาสู้กับประชาชน หรือสู้กับชาวบ้าน เวลานี้ เจ้าหน้าที่อยู่ในลักษณะที่สู้กับชาวบ้าน อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะแก้ปัญหา

ไปๆ มาๆ การที่จะรักษาทั้งป่า และสัตว์ป่าไว้ให้ได้นั้น ประมวลปัญหาแล้วอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ตัวคนนั่นเอง คืออยู่ที่กิเลสของคน เช่น ความโลภ และการขาดเมตตากรุณา เมื่อกี้จึงบอกว่าในที่สุดปัญหาอยู่ที่การพัฒนาคน ว่าทำอย่างไรเราจะพัฒนาคนได้สำเร็จ

เป็นอันว่า ตอนนี้ก็พูดวนไปเวียนมาในเรื่องการแก้ปัญหาการทำลายป่าและสัตว์ป่า โดยเน้นสิ่งที่จะต้องทำ ๒ อย่าง คือ

๑. การพยายามประสานประโยชน์ของทุกฝ่าย รวมทั้งการแก้ปัญหาความยากจนด้วยวิธีประสานผลประโยชน์นี้ และการสร้างระบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างความอยู่รอดของคน กับความอยู่รอดของป่าและสัตว์ป่า ให้เด่นชัดขึ้นมา

๒. การพัฒนาคน ให้ลดความโลภความเห็นแก่ตัว และความโหดเหี้ยม โดยปลูกฝังเมตตากรุณากันแต่เด็กๆ รวมทั้งให้มีปัญญามองเห็นคุณค่าของป่า และรักป่าด้วยใจที่มีปัญญาหนุนนำ

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถ้าสัตว์เมืองไม่พัฒนาจิตใจ ใครๆ ก็ช่วยสัตว์ป่าไม่ไหวเมื่อคนฝึกตนให้มีเมตตา สัตว์ป่าก็ปลอดภัย ใจคนก็เป็นสุข >>

No Comments

Comments are closed.