เมื่อสัตว์เมืองเจริญขึ้นมา สัตว์ป่าก็ล้มหาย

8 กรกฎาคม 2538
เป็นตอนที่ 3 จาก 11 ตอนของ

เมื่อสัตว์เมืองเจริญขึ้นมา
สัตว์ป่าก็ล้มหาย

ประเทศไทยนั้น เราอาจมองไปจากที่นี่เป็นตัวอย่าง อาตมาบอกเมื่อกี้ว่าบริเวณนี้เคยเป็นป่าใหญ่ แล้วก็หมดไปเพียงในเวลา ๓๐-๔๐ ปี ประเทศไทยทั้งหมดก็เป็นเช่นนี้

ถ้าเราจับเอาที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตัดตอนได้ มีสถิติบอกว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอยู่ประมาณ ๖๐% ก็เป็นธรรมดาว่า เมื่อมีป่ามาก สัตว์ป่าก็ย่อมมีมาก

นับจากปีสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๕ มาถึง พ.ศ. ๒๕๐๔ ป่าเมืองไทยลดจาก ๖๐% เหลือ ๕๓% ยังมีป่า ๑๗๑ ล้านไร่ คือ ประมาณ ๒๐ ปี ลดลงเพียง ๗% แสดงว่าลดลงไปนิดเดียวเท่านั้นเอง

จากปี ๒๕๐๔ นั้น มาดูอีกทีหนึ่ง พ.ศ. ๒๕๒๘ ป่าเมืองไทยลดจาก ๕๓% เหลือเพียง ๒๙.๐๑% เหลือป่าอยู่เพียง ๑๓.๑ ล้านไร่ คือประมาณ ๒๔ ปี ลดลงไปมากมายถึง ๒๓.๐๙% เป็นการลดวูบวาบ น้อยลงไปรวดเร็วอย่างน่ากลัว

จากปี ๒๕๒๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นเวลา ๑๐ ปีนี้ ไม่ทราบว่าป่าลดลงไปอีกเท่าไร1 สถิติว่า ในจำนวนป่าทั้งหมด เป็นป่าอนุรักษ์อยู่ ๑๕% รวมความว่า ป่าในเมืองไทยเราขณะนี้ร่อยหรอมาก

ในการที่ป่ากับสัตว์ป่าร่อยหรอลงไปนี้ ผู้ทำลายป่าและสัตว์ป่า หรือศัตรูสำคัญ คือใคร ถ้าตอบอย่างง่ายๆ ก็คือ สัตว์เมือง

สัตว์ป่านั้นคู่กับสัตว์เมือง สัตว์เมืองคือใคร ก็คือ คน คนนี่แหละเป็นสัตว์เมือง แต่ที่จริงนั้น เดิมแท้คนเรานี้กับสัตว์ป่า ก็เป็นสัตว์ป่าด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเกิดมาเดิม มนุษย์ก็เป็นสัตว์ป่า ฉะนั้นถ้ามองในแง่ว่าเป็นสัตว์ป่าด้วยกัน ก็ต้องนับว่าสัตว์ป่าที่เรียกว่ามนุษย์นี้ร้ายที่สุด เพราะได้ตั้งหน้าตั้งตาทำลายสัตว์ป่าชนิดอื่นให้ร่อยหรอหมดไป จนแทบจะเหลือแต่ตัวคนเดียว

ถ้ามองในแง่นี้จะเห็นว่า เมื่อเอาระยะสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นจุดกำหนด เราจะเห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มานี้ สัตว์เมืองเจริญมาก และสัตว์เมืองนี้มีความเจริญหลายด้าน ที่ทำให้สัตว์ป่าหมดไป

แต่ก่อนนั้น เราเรียกได้ว่าเป็นยุคสัตว์ป่า เพราะก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีสัตว์ป่ามาก แต่พอมาถึงยุคนี้ ก็กลายเป็นยุคสัตว์เมือง

สัตว์เมืองเจริญมากเพราะอะไร ปัจจัยสำคัญประการแรก ก็คือ ประชากรของสัตว์เมืองเพิ่มมากมายและรวดเร็ว ถอยหลังไปเมื่อปี ๒๔๕๔ ในที่นี้ก็คงยังไม่มีใครเกิดเลย หรือจะมีบ้างก็ไม่ทราบ ถ้าเกิดปี ๒๔๕๔ เดี๋ยวนี้จะอายุเท่าไร ก็ ๘๔ ปี ถ้าอยู่ป่านนี้ก็อายุ ๗ รอบ ตอนปี ๒๔๕๔ นั้น ลองทายซิว่า ประเทศไทยมีประชากรเท่าไร ทายในใจแล้วอาตมาก็จะเฉลย ปรากฏว่าตอนนั้น มีประชากรของประเทศไทย ๘ ล้านคน

ต่อมาประชากรไทยก็เพิ่มมากขึ้นๆ จนหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาถึง ปี ๒๔๙๐ กลายเป็น ๑๘ ล้านคน แต่ก่อนนี้มีเพลงปลุกใจร้องกันอยู่เสมอ ถึงเรื่องประเทศไทยมีประชากรอยู่ ๑๘ ล้านคน

ลองเทียบกันดู จากปี ๒๔๕๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๐ ประชากรไทยเพิ่มขึ้นจาก ๘ ล้าน เป็น ๑๘ ล้านคน คือใน ๓๖ ปี เพิ่มขึ้น ๑๐ ล้านคน

แต่จากปี ๒๔๙๐ มาถึงปีนี้ ๒๕๓๘ ประชากรประเทศไทย เพิ่มขึ้นจาก ๑๘ ล้าน เกือบจะถึง ๖๐ ล้านคนแล้ว คือใน ๔๘ ปี เพิ่มขึ้น ๔๒ ล้านคน นี่แหละประชากรที่เรียกว่าสัตว์เมือง ได้เพิ่มขึ้นมากมายเหลือเกิน

เมื่อประชากรเพิ่มมาก เราก็ขยายที่ทำกิน และพร้อมกันนั้น ก็มีการพัฒนาประเทศ มีการสร้างสรรค์ความเจริญ ก็ใช้ไม้มาก จึงมีการตัดไม้ ทำลายป่า เพื่อหาที่ทำกิน สร้างบ้านเมือง ทำถนนหนทาง และเอาไม้มาใช้

ไม่เฉพาะใช้ในประเทศไทยเท่านั้น ยังมีการค้าขาย รวมทั้งการตัดไม้ส่งไปนอกประเทศเป็นสินค้าออกด้วย ความต้องการไม้มากทั้งในประเทศและนอกประเทศ ก็ทำให้มีการทำลายแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่า คือทำลายป่าไปมากมาย

สิ่งที่มาช่วยส่งเสริมการทำลายป่าหรือสัตว์ป่า ก็คือ เทคโนโลยี มนุษย์ยุคนี้เจริญด้วยเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก สัตว์เมืองมีเทคโนโลยีที่จะทำลายทั้งสัตว์ป่า และป่า

ยกตัวอย่าง ถ้าจะทำลายสัตว์ป่า เราก็มีปืนที่จะไปล่าสัตว์ได้สำเร็จอย่างง่ายดายและรวดเร็ว สามารถยิงทีหนึ่งๆ ได้มาก ทีนี้ถ้าจะทำลายป่าก็เช่นเดียวกัน เรามีเทคโนโลยีที่เจริญ แต่ก่อนต้องใช้เลื่อยมือ แล้วก็ขวาน ต้นไม้ใหญ่ๆ กว่าจะตัดเสร็จ ว่ากันหลายวัน แต่เวลานี้เรามีเลื่อยไฟฟ้า แม้แต่ต้นไม้ใหญ่ที่เจริญขึ้นมาใช้เวลาเป็นร้อยปี เราตัดไม่กี่นาทีก็หมด

ฉะนั้น ความเจริญทางด้านเทคโนโลยีก็เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้การตัดไม้ทำลายป่า และการทำลายสัตว์ป่าได้ผลรวดเร็วมาก

เพราะเหตุที่ป่าและสัตว์ป่าลดหดหายไปอย่างรวดเร็ว ต่อมาคนเราก็เห็นภัยอันตรายที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพราะป่าเป็นแหล่งธรรมชาติที่ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ถ้ามีแต่ความแห้งแล้ง มนุษย์ก็จะขาดแคลนอาหาร เป็นต้น ดินฟ้าอากาศก็จะแปรปรวน และยิ่งมาถึงสมัยนี้ ภัยอันตรายจากการที่ธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรมและทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ ก็ปรากฏชัดขึ้นทุกที

เมื่อคนเห็นภัยอันตรายมาถึงตัวแล้ว ก็เห็นความสำคัญของป่า จึงพยายามที่จะหาทางอนุรักษ์ป่าพร้อมทั้งสัตว์ป่าไว้

มนุษย์จะทำอย่างไร มนุษย์ก็ต้องหันมาสู้กับมนุษย์ด้วยกันเอง หมายความว่า ตอนนี้ สัตว์เมืองต้องมาสู้กับสัตว์เมือง เพื่อจะช่วยเหลือป้องกันป่าและสัตว์ป่าไว้ เช่น มีการออกกฎหมายแผ่นดินมาป้องกัน ให้สัตว์เมืองไม่ไปตัดไม้ทำลายป่าและไม่ไปยิงสัตว์ป่า

นอกจากออกกฎหมายแล้วทำอะไร ก็ตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบเป็นการใหญ่ ตอนนี้จึงเกิดมีสิ่งที่โบราณไม่เคยมี โบราณคงไม่เคยต้องออกกฎหมายมารักษาป่า ไม่เคยมีการตั้งหน่วยงานมารักษาป่า โบราณไม่เคยต้องมาเอาใจใส่ในเรื่องนี้

ยกตัวอย่างเช่น ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้เป็นปีแรกที่มี พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และปี ๒๕๐๔ ก็มี พรบ. อุทยานแห่งชาติ ต่อมาก็มีการตั้งกองอนุรักษ์สัตว์ป่าในปี ๒๕๑๘

จากนั้นก็มีการประกาศจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า มีการออกระเบียบการห้ามส่งสัตว์ป่าออกนอกราชอาณาจักร เป็นต้น

เรื่องนี้ในรายละเอียดไม่ต้องพูด เพราะอาตมาไม่ชำนาญอะไร มีท่านที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ที่เราจะหาความรู้หรือข้อมูลได้ ทั้งมีหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ และมีหนังสือตำรับตำรา อาตมายกมาพูดเพียงให้เห็นว่า มนุษย์เราได้เริ่มเห็นความสำคัญของป่าและสัตว์ป่า จึงมีการคุ้มครองป้องกันขึ้น

เรื่องที่อยากจะตั้งเป็นข้อสังเกต และเป็นความรู้ที่น่าสนใจ ดังที่ได้ยกมาพูดนิดๆ หน่อยๆ ก็คือเรื่องของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพืชพรรณและสัตว์ป่า อาจจะตั้งเป็นคำถามสำหรับทดสอบความรู้รอบตัว เช่น อาจจะถามขึ้นมาว่า อุทยานแห่งชาติแห่งแรกคือที่ไหน ตั้งขึ้นเมื่อไร

คำถามที่หนึ่ง ถ้าจะเฉลย ก็ตอบว่า ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ อุทยานแห่งชาติสถานที่แรกคือที่ไหน คือเขาใหญ่ และต่อมาแห่งที่ ๒ ลองทายซิที่ไหน ก็ปีเดียวกันนั้นเอง ใน พ.ศ. ๒๕๐๕ คือที่ภูกระดึง

ต่อไปลองทายซิที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ เอาแค่ห้าก็พอแล้ว มากนักก็เกินจำเป็น แห่งที่ ๓ ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ คือ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด แล้วต่อมาข้ามอีก ๖ ปี จึงได้ตั้งแห่งที่ ๔ คือ ปี ๒๕๑๕ อุทยานแห่งชาติเขาน้ำหนาว แล้วมาปี ๒๕๑๗ คืออีก ๒ ปีต่อมา หลังจากตั้งบนแผ่นดินมามากแล้ว ก็ออกไปตั้งนอกแผ่นดินบ้าง ที่ไหนดี ก็ที่เกาะตะรุเตา

นี้เป็นความรู้รอบตัว เผื่อว่าจะไปทายกัน ถ้าอาตมาได้ข้อมูลมาผิด โยมว่าตาม ก็ตอบผิดด้วย

เวลานี้มีสถิติที่น่าสนใจนิดหน่อยคือ เมื่อปี ๒๕๓๑ มีอุทยานแห่งชาติทั้งหมดไม่ใช่น้อย เพียงตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ มาถึง ๒๕๓๑ ปรากฏว่ามีอุทยานแห่งชาติเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน ๕๒ แห่ง รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมดถึง ๑๖.๗ ล้านไร่ และตอนนั้นกำลังเตรียมการจัดตั้งอีกแห่งหนึ่ง

นอกจากอุทยานแห่งชาติแล้ว ก็ยังมีสถานที่สำคัญที่จะรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไว้อีก ๒๘ แห่ง และมีเขตห้ามล่าสัตว์อีก ๓๘ แห่ง มีวนอุทยานอีก ๓๕ แห่ง นอกจากนี้ยังมีสวนรุกขชาติ สวนพฤกษศาสตร์ และอะไรต่างๆ อีก แสดงว่าเมืองไทยเรานี้ได้พัฒนาในเรื่องนี้มาก

เวลานี้เรามีป่าประเภทต่างๆ เอาไว้สำหรับรักษาสัตว์ป่าในบ้านเรามากมายหลายประเภทหลายชนิด แต่ทั้งๆ ที่ได้พยายามตั้งกันขึ้นมาอย่างนี้ เจ้าหน้าที่ก็ยังยอมรับว่า ถึงแม้เราจะได้มีการจัดตั้งหน่วยราชการขึ้นมาคุ้มครองช่วยเหลือสัตว์ป่า ถึงแม้จะมีสถานที่จัดไว้เฉพาะ เช่น อุทยานแห่งชาติ เพื่อรักษาป่าและสัตว์ป่า และยังมีกฎหมายคุ้มครองป้องกันอีกด้วย ก็ยังปรากฏว่า ไม่สามารถหยุดการทำลายป่าและสัตว์ป่าได้

เป็นที่น่าสังเกตและเป็นที่น่าเสียดายด้วยว่า ทั้งๆ ที่เราเพียรพยายามขนาดนี้ ป่าและสัตว์ป่าก็เหลือน้อยและร่อยหรอลงไปทุกที เจ้าหน้าที่เองก็ยังยอมรับเลยว่า สู้ไม่ไหว

เป็นอันว่า ในเมืองไทยนี้ การทำลายป่าและสัตว์ป่าก็ยังมีอยู่เรื่อยไป ป่าที่ว่าลดน้อยลงแล้ว ก็จะยิ่งลดน้อยลงไปอีก และการที่เรามาปลูกกันจะทันหรือเปล่า หลายคนคงบอกว่าไม่ทันหรอก การทำลายนั้นไวกว่าเราที่มาสร้างได้ทีละนิดหนึ่งๆ เราทำได้ทีละคืบ แต่เขาทำลายทีละวา ฉะนั้นจึงไม่ทันกัน

เวลานี้ขอความรู้รอบตัวอีกสักข้อหนึ่งว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ที่ไหน เฉลยว่าคือ ทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้ง ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด ๔,๘๓๑ ตารางกิโลเมตร ที่ว่าใหญ่ที่สุดนั้น ตอนนี้ไม่รู้ว่าจะรักษาความใหญ่ไว้ได้เท่าไร เพราะในเวลาแต่ละชั่วโมงที่ผ่านไป คนไทยเราก็ทำลายป่า และทำลายสัตว์ป่ากันไปตลอดเวลา

สิ่งที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่า นอกจากจำนวนสัตว์ป่าจะลดลงแล้ว บางชนิดยังสูญพันธุ์ด้วย

ตอนนี้จะขอความรู้รอบตัวอีกสักอย่างหนึ่งว่า สัตว์ป่าอะไรที่มีอยู่เฉพาะในประเทศไทยแห่งเดียวในโลก และเวลานี้สัตว์ป่าชนิดนั้นสูญพันธุ์ไปแล้ว คำตอบคือ สมัน แต่ก่อนนี้ สมันมีมาก แถวรังสิตก็มี แต่เวลานี้หมดไปแล้ว

นอกจากนั้นก็ยังมีพวกสัตว์ป่าอื่น ที่หมดไปจากประเทศไทย แต่พอดียังเหลือที่อื่นบ้าง เช่น พวกแรด กระซู่ ละอง ละมั่ง สัตว์ป่าพวกนี้หมดจากประเทศไทยแล้ว

นอกจากสัตว์ป่าจะร่อยหรอลงไปแล้ว สัตว์อื่นๆ ก็มีจำนวนน้อยลง แล้วก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนนั้นเองที่ทำลายสัตว์ไป

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น นกลดน้อยลงเพราะอะไร เหตุหนึ่งก็คือ การที่คนเราทำเกษตรกรรม มีการใช้สารเคมี ซึ่งทำให้เป็นพิษ นกมากินพวกสัตว์ คือหนอนต่างๆ ที่มีพิษแล้ว นกก็ตายหรือบ้างก็อาจถึงกับสูญพันธุ์

ยังมีภัยอันตรายอื่นที่กลับมาถึงคนอีก เช่น คนเราทำลายสัตว์ป่า เช่น ฆ่างู เจ้างูนี่มันกินหนู เช่น หนูในนา พองูหมดไป ไม่มีงูมากินหนูนา หนูนาก็เจริญแพร่พันธุ์กันใหญ่ แล้วมันก็มากัดกินต้นข้าว ก็มนุษย์เองนั้นแหละที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำของตัวเอง ฉะนั้น เวลานี้จึงเป็นปัญหาที่พันกันไปหมด

ทางชาติบ้านเมืองมองเห็นปัญหาและความสำคัญในเรื่องนี้ ก็ได้ดำเนินการสงวนพันธุ์สัตว์ต่างๆ เวลานี้ ทางการได้กำหนดสัตว์คุ้มครอง โดยห้ามหรือจำกัดการล่าหรือการค้าขายมากมายถึง ๒๒๘ ชนิด แต่ถึงอย่างนั้นก็ป้องกันไม่ไหว

ที่ว่ามานี้ก็เป็นความรู้ต่างๆ ที่พวกเราคนไทยควรจะทราบเกี่ยวกับบ้านเมืองของตัวเอง ถ้าต้องการรู้เพิ่มเติมก็มีตำราเยอะแยะ และมีผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งมีหน่วยราชการที่รับผิดชอบ อาตมาบอกแล้วว่าไม่ได้มีความรู้อะไรในเรื่องนี้ เพียงแต่ยกเอาเรื่องราวข้อมูลที่น่าสนใจมาเล่าให้กันฟัง

แต่อย่างน้อย เราควรช่วยกันกระตุ้นให้คนไทยสนใจและหันมาเหลียวแลเรื่องป่า และสัตว์ป่ากันบ้าง

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ดูเขาดงยางเป็นตัวอย่าง ก็พอเห็นว่าสัตว์ป่าไปไหนถ้าสัตว์เมืองยังโหด ป่าก็ต้องหด สัตว์ป่าก็ต้องหาย >>

เชิงอรรถ

  1. ดร.สุรีย์ ภูมิภมร แจ้งสถิติจากภาพถ่ายผ่านดาวเทียม ปี ๒๕๔๐ ป่าเมืองไทยเหลืออยู่ ๒๕.๖%

No Comments

Comments are closed.