เมื่อคนฝึกตนให้มีเมตตา สัตว์ป่าก็ปลอดภัย ใจคนก็เป็นสุข

8 กรกฎาคม 2538
เป็นตอนที่ 7 จาก 11 ตอนของ

เมื่อคนฝึกตนให้มีเมตตา
สัตว์ป่าก็ปลอดภัย ใจคนก็เป็นสุข

ถ้าเราพัฒนาคนไม่สำเร็จ แม้ว่าคนนั้นจะเป็นสัตว์เมืองก็จริง ตัวอยู่ในเมืองแต่หัวใจเป็นสัตว์ป่า และจะเป็นสัตว์ป่าที่ร้ายกว่าสัตว์ป่าชนิดไหนๆ ทั้งหมด

ดังจะเห็นได้ง่ายๆ ว่า กวางไม่หมดป่าเพราะเสือกัด แต่กวางอาจจะหมดป่าเพราะคนล่า

คนนี่แหละที่ได้ทำให้ทั้งสัตว์ป่าและต้นไม้สูญพันธุ์ไปแล้วมากมาย สัตว์ป่าฆ่ากันได้ก็ทีละตัว และโดยมากก็เพราะจะต้องกินอาหาร แต่คนอาจฆ่าสัตว์ป่าได้ทีละมากมาย ทั้งฆ่ากิน ฆ่าเอาไปขายหาผลประโยชน์ และแม้แต่ฆ่าเล่นสนุกมือ หรือฆ่าอวดกัน

สัตว์ป่าอย่างอื่นทำลายโลกไม่ได้ แต่มนุษย์ ที่เป็นสัตว์ป่าก็ได้ สัตว์เมืองก็ได้นี้ อาจจะทำโลกให้พินาศได้

ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไร ความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่ไหน ทางพุทธศาสนาบอกว่า ความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้

สัตว์ทั้งหลายอื่นนั้นสู้มนุษย์ไม่ได้ เพราะฝึกไม่ได้ โดยเฉพาะมันฝึกตัวเองไม่ได้ มันเกิดมาอย่างไร มีสัญชาตญาณอย่างไร มันก็อยู่ไปตามสัญชาตญาณนั้น จนตายก็อยู่อย่างนั้น แต่มนุษย์นี้ไม่อย่างนั้น มนุษย์พัฒนาได้ ฝึกได้ ความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่การฝึก จนกระทั่งคนไทยเราเรียกมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ

เราพูดถูกหลัก แต่ขาดเงื่อนไขไป ต้องพูดให้เต็ม ท่านให้หลักว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้ว ไม่ประเสริฐ ตัดเหลือแค่มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ อยู่เฉยๆ จะไปประเสริฐได้อย่างไร

ที่จริงนั้น มนุษย์แย่เต็มที มนุษย์ที่ร้ายกว่าสัตว์อื่นก็มีเยอะแยะ ฉะนั้นเราจะต้องมาทบทวนและตรวจสอบกันใหม่ เวลานี้คติความเชื่อต่างๆ มันกร่อนไป คำที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐนั้น เป็นคำพูดที่ไม่เต็ม ไม่สมบูรณ์ มันตกไป พร่องไป ต้องพูดว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก

อันนี้แหละที่สำคัญ คือคำว่า “ด้วยการฝึก” คำนี้แหละจะทำให้เราเห็นความประเสริฐของมนุษย์ เพราะว่ามนุษย์นั้น เมื่อฝึกขึ้นมาจึงมีความรู้ มีความดีงาม มีสติปัญญา มีความสามารถ ทำอะไรได้อย่างที่ไม่มีสัตว์อื่นชนิดไหนทำได้เลย

ตอนแรก เมื่ออยู่ด้วยสัญชาตญาณ มนุษย์สู้สัตว์ชนิดอื่นไม่ได้เลย มนุษย์นั้น โดยสัญชาตญาณ เป็นสัตว์ที่อ่อนแอที่สุด สู้สัตว์อะไรไม่ได้สักอย่าง จะอยู่ด้วยสัญชาตญาณ ก็อยู่ไม่รอด ต้องมีการเรียนรู้ ต้องมีพ่อแม่หรือมีผู้ใหญ่ถ่ายทอดให้ความรู้ ฝึกหัด อบรม มีการสืบต่อทางวัฒนธรรม

มนุษย์มีการศึกษาเล่าเรียนถ่ายทอดวิชา เราฝึกฝนตนเอง ให้มีสติปัญญาสามารถ จนกระทั่งไม่มีสัตว์ชนิดใดสู้ได้ ทั้งในแง่ของความดีงาม ความสามารถ สติปัญญา และความรู้ ท่านสอนว่า มนุษย์นี้ ฝึกให้ดีจนกระทั่งเป็นพุทธะก็ได้ นี่แหละ ที่เรานับถือพระพุทธเจ้าก็เพราะว่า เป็นสัญลักษณ์ของการฝึกตนของมนุษย์

เป็นอันว่า มนุษย์นี้พัฒนาได้จนกระทั่งสุดยอดเป็นพุทธะ เราจึงถือว่า การฝึกมนุษย์นี้เป็นหน้าที่สำคัญ เป็นกิจการใหญ่ เป็นวัฒนธรรม เป็นอารยธรรม การที่มนุษย์จะมีวัฒนธรรม และอารยธรรม ก็อยู่ที่การฝึกฝนหรือการศึกษานี้ ฉะนั้น มนุษย์จึงต้องฝึกฝน

ทีนี้ ถ้าไม่ฝึก มนุษย์จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ฝึก มนุษย์ก็เป็นสัตว์ที่เลวร้ายที่สุด และความเลวร้ายของมนุษย์ ก็จะทำให้สัตว์เมืองนี้ร้ายกว่าสัตว์ป่า จนกระทั่งอาจจะทำให้สัตว์ป่าหมดไป และสัตว์เมืองเองก็จะหมดไปด้วย แต่มนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่ฝึกตนเองได้

อีกอย่างหนึ่งที่ควรจะแทรกเข้ามา คือว่า เมื่อมนุษย์ฝึกตัวเองได้ดีแล้ว นอกจากฝึกตัวเองแล้ว มนุษย์ยังไปฝึกให้สัตว์อื่นได้ด้วย อย่างช้างนี้ มันฝึกตัวเองไม่เป็น แต่คนฝึกมัน เอามาลากซุงก็ได้ เล่นละครสัตว์ก็ได้ ลิงก็ฝึกตัวเองไม่เป็น คนต้องเอามันมาฝึก ให้เล่นละครลิงก็ได้ เอามาขึ้นต้นมะพร้าวก็ได้

สัตว์หลายชนิดพอฝึกได้บ้าง แต่ต้องอาศัยมนุษย์ฝึกให้ มนุษย์เป็นผู้ฝึกตัวเองได้ จึงเป็นสัตว์ประเภทเดียวที่ว่าประเสริฐ

ทีนี้ สัตว์ป่าทั้งหลายนั้นมันร้ายก็จริง แต่มันก็ฆ่ากันได้ทีละตัวๆ เท่านั้น และฆ่าแล้วก็แล้วกันไป

แต่คนนี้ฆ่ากันทีละมากๆ บางทีคนเดียว ฆ่าคนได้เป็นแสนเป็นล้าน ถ้าลูกระเบิดมาตกตูมเดียวเท่านั้น เช่น ระเบิดไฮโดรเจน หรือนิวเคลียร์บอมบ์ ระเบิดขึ้นมา ก็อาจทำลายโลกได้

ยิ่งกว่านั้น ยังมีการขู่อาฆาตกันอีก ฆ่ากันครั้งนี้ไม่พอ ยังฆ่ากันไปจนถึงขั้นลูกหลาน อย่างเผ่านี้กับเผ่าโน้น หรืออย่างบางชาติ บางสังคม อาฆาตกันมา ฆ่ากันไม่รู้จักเลิก เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่มีในหมู่สัตว์ทั้งหลายอื่น สัตว์ทั้งหลายอื่นเหล่านั้นไม่มีการขู่อาฆาตจองเวรกันขนาดนี้

จากที่พูดมานี้ เป็นที่น่าสงสัยว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐหรือไม่ประเสริฐกันแน่ ขอให้พิจารณาให้ดี ความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่ไหน พระพุทธศาสนาได้ย้ำเตือนว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้ว อาจจะเลวทรามมาก แต่ถ้าฝึกแล้ว จะประเสริฐสูงสุด

ในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมนั้น ก็ ฝึกคน โดยเริ่มให้มีศีล โดยเฉพาะศีล ๕ ในศีล ๕ นั้น ข้อแรกคืออะไร คือการเว้นจากปาณาติบาต คือเว้นจากการฆ่ากันทำร้ายร่างกายชีวิตกัน ในทางพระพุทธศาสนา ท่านยอมรับความจริงว่า คนเราจะให้เว้นทีเดียวหมดไม่ได้ ทำได้แค่นี้ก็ดีแล้ว

ในศีลข้อ ๑ นั้น เว้นฆ่ามนุษย์ก่อน พอเว้นฆ่ามนุษย์ได้แล้ว ต่อไปก็เว้นฆ่าสัตว์ที่มีคุณความดี สัตว์อะไรที่มีคุณความดีเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ เราก็อย่าไปฆ่ามัน

ท่านสอนว่า การฆ่าสัตว์ที่มีคุณมาก มีประโยชน์มาก เป็นบาปมาก ถ้าฆ่าสัตว์ที่มีโทษมาก มีคุณประโยชน์น้อย ก็บาปน้อย อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ชาวพุทธมีหลักในการปฏิบัติต่อสัตว์ทั้งหลาย อย่างช้างนี้ เรามีความใกล้ชิดกับมัน ได้อาศัยมันทำประโยชน์มามาก เราก็ไม่ควรไปรังแกมัน หรืออย่างกระรอก เวลานี้เราไม่จำเป็นต้องเอาเป็นอาหารแล้ว เราก็ควรแสดงเมตตากรุณาได้เต็มที่ และมันก็จะเป็นเครื่องประดับในธรรมชาติที่สวยงามด้วย

นี้ก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติ อย่างน้อยในขั้นต้น คือ ถือศีล ๕ ข้อที่หนึ่งว่า เราจะไม่รังแกสัตว์ เราไม่ไปทำร้ายมัน ได้แค่ศีล ๕ ข้อที่ ๑ นี้ ก็ช่วยรักษาสัตว์ป่าได้มากมาย

แต่นอกจากศีล ๕ แล้ว เรายังต้องพัฒนาคนต่อไปอีก การพัฒนาคนในทางพุทธศาสนาในแง่ที่เกี่ยวกับสัตว์ป่านี้มีหลายขั้น เริ่มด้วยการมีความรู้สึกที่ดีงามต่อสัตว์และป่า ความรู้สึกที่ดีงามส่วนหนึ่งก็คือ การมองธรรมชาติในด้านดีงาม และงดงาม

ในพระพุทธศาสนามีวรรณคดีต่างๆ ที่ให้คนมองธรรมชาติแวดล้อม ในแง่ความสวยงาม

อย่างในมหาเวสสันดรชาดก เช่น กัณฑ์จุลพน และมหาพน ซึ่งแต่ก่อนนี้ เอามาเทศน์มหาชาติกันทุกปี พอเทศน์มหาชาติ ก็มีการพรรณนาความงามของป่า และสัตว์ที่อยู่ในป่า ในด้านรูปบ้างเสียงบ้าง ทำให้เกิดความซาบซึ้งใจในความงามของธรรมชาติ ทำให้เรารักสัตว์และมีความสุข

เวลาเราเห็นธรรมชาติแวดล้อมสวยงาม เราก็มีความสุข เราได้ความสุขจากธรรมชาติแวดล้อม รวมทั้งจากสัตว์ เช่น นกที่มีสีสันสวยงามต่างๆ ส่งเสียงร้องแปลกๆ กันไป ในป่าในเขา เมื่อเห็นนกบิน ได้ยินเสียงนกร้อง เราก็มีความสุข พอเรามีความสุข เราก็รักมัน ทำให้เราช่วยกันรักษาป่าและสัตว์ป่าไว้ได้

วรรณคดีพุทธศาสนา เช่นเรื่อง มหาชาติเวสสันดรชาดก ได้ปลูกฝังจิตใจ ให้คนไทยมีความรักในป่าดงพงไพรและสัตว์ป่าน้อยใหญ่ แต่เวลานี้ เรื่องของวรรณคดีเหล่านี้กำลังเลือนลางจางไป เราจะทำอะไรทดแทนขึ้นมาได้ในเรื่องความรู้สึกต่อสัตว์ป่าในแง่ของความเมตตากรุณา การชื่นชมความงาม ความรักสัตว์ การอยู่อย่างเป็นมิตร คิดที่จะช่วยเหลือ อย่างน้อยไม่รังแกกัน

คนไทยเรามีวรรณคดีในพุทธศาสนาเกี่ยวกับเมตตากรุณาต่อสัตว์นี้มากมาย อย่างชาดกเรื่องหนึ่งในทศชาติ (มหาชาติก็อยู่ในทศชาตินั้นเอง แต่มหาชาติ หมายถึงเฉพาะเวสสันดรชาดก) ในชุดทศชาติ คือ ๑๐ ชาตินั้น มีชาดกหนึ่งที่เป็นเรื่องแสดงถึงความมีเมตตากรุณาต่อสัตว์ป่าโดยตรง คือ ชาดกเรื่องอะไร

ขอถามเป็นความรู้รอบตัว ใครทายได้บ้าง ชาดกนั้นคือ สุวรรณสามชาดก โยมเก่าๆ หลายท่านคงเคยได้ยิน

สุวรรณสามชาดก เป็นเรื่องที่แสดงเมตตาบารมี พระโพธิสัตว์เกิดอยู่ในป่า และอยู่กับสัตว์ป่าอย่างเป็นมิตร ไปไหนก็ไปด้วยกัน สัตว์ป่า เช่นกวาง เห็นสุวรรณสามแล้ว ไม่มีความหวาดกลัวเลย มีแต่เข้ามาหา มาแวดล้อม

เวลาสุวรรณสามไปเอาน้ำ ก็มีพวกกวางมาเดินไปด้วย เอาหม้อน้ำวางบนหลังกวาง แล้วก็พากันไปที่สระน้ำ ตักน้ำมาแล้วกวางก็ช่วยแบกหม้อน้ำมาที่อาศรม อะไรอย่างนี้ นี้เป็นชีวิตที่อยู่อย่างเป็นกันเอง ช่วยเหลือกัน เป็นมิตร มีความสุขด้วยน้ำใจไมตรี

ความมีเมตตากรุณาอย่างนี้ ปลูกฝังได้ เด็กของเรา เกิดมาแล้ว ก็ควรอยู่กับสัตว์อย่างเป็นมิตรกัน เช่นกระรอก ถ้าเราดีกับมัน ก็มีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย ต่อไปเราก็ไม่อยากรังแกมัน เราจะรักมันเหมือนกับเพื่อน นี้ก็เป็นคติอย่างหนึ่งในวิถีชีวิตของเราในแง่การปลูกฝังเมตตากรุณา แต่เวลานี้เรากำลังขาดไป

การศึกษาต้องมาช่วยเอาชาดกพวกนี้กลับคืนเข้าสู่วิถีชีวิตของคนไทย หรือเอาเข้ามาช่วยการศึกษาของเรา เป็นการช่วยกันสร้างสรรค์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถ้าพัฒนาคนให้ดี เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคือหูตาของชาวบ้าน ถ้าคนไม่พัฒนา เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าต้องหันหน้าสู้ชาวบ้านสัตว์เมืองอยู่ร่วมโลกกับสัตว์ป่า ควรศึกษาคติธรรม และมีน้ำใจไมตรี >>

No Comments

Comments are closed.