บันทึกท้ายเล่ม

12 มกราคม 2565
เป็นตอนที่ 10 จาก 11 ตอนของ

บันทึกท้ายเล่ม

ที่มาท้ายหมวดธรรมแต่ละหมวดในหนังสือนี้ ได้แสดงไว้หมวดละที่มาเดียว พอเป็นหลักฐานเท่านั้น ส่วนความหมายและคำอธิบาย ได้ขยายบ้าง ย่อบ้าง ตามสมควร และได้ตรวจสอบกับที่มาแห่งอื่นๆ ด้วย ทั้งในพระไตรปิฎก และอรรถกถา แต่ไม่อาจแสดงที่มาไว้ให้ครบถ้วน เพราะจะทำให้หนังสือนี้มีลักษณะเป็นตำรามากเกินไป อย่างไรก็ดี มีข้อความบางตอนที่ควรสังเกต ขอชี้แจงไว้เป็นพิเศษ ดังนี้:-

๑. ใน สัปปุริสธรรม ๗ ประการ ธัมมัญญุตา ยังมีความหมายอีกแง่หนึ่งว่า เมื่อเห็นหรือได้ยินได้ฟังอะไร ก็จับหลักจับสาระมองเห็นเนื้อแท้ของสิ่งหรือเรื่องราวนั้นได้ อัตถัญญุตา มีความหมายว่า เมื่อเห็นหรือได้ยินได้ฟังอะไรก็เข้าใจความหมาย ความมุ่งหมาย วัตถุประสงค์ แนวทาง ที่จะขยายความของสิ่งนั้นเรื่องนั้นได้ ธรรม ๒ ข้อนี้ เป็นแกนของสัปปุริสธรรมทั้งหมด

๒. ใน อธิปไตยสูตร (องฺ.ติก.๒๐/๔๗๙/๑๘๖) พระพุทธเจ้าทรงแสดงความหมายของ อธิปไตย ๓ เฉพาะในแง่การปฏิบัติธรรมของพระภิกษุ แต่ความหมายเช่นนั้นอาจถือได้ว่า เป็นคำอธิบายเฉพาะกรณี หรือเป็นตัวอย่าง ดังจะเห็นว่า ธรรมาธิปไตย เป็นธรรมข้อหนึ่งของ พระเจ้าจักรพรรดิ (ดูบทที่ ๗) เป็นคุณสมบัติของนักปกครอง เช่นเดียวกับที่เป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า (องฺ.ติก.๒๐/๔๕๓/๑๓๙; องฺ.ปญฺจก.๒๒/๑๓๓/๑๖๙) ใน วิสุทฺธิมคฺค (๑/๑๒, ๑๖) ท่านจำแนกศีลเป็น ๓ ประเภท ตาม อธิปไตย ๓ นี้ นอกจากนั้น พระอรรถกถาจารย์มักใช้ อัตตาธิปไตย และ โลกาธิปไตย เป็นคำอธิบายความหมายของ หิริ และ โอตตัปปะ (ที.อ.๓/๒๑๕; ม.อ.๒/๔๒๒; อิติ.อ.๒๐๕; ชา.อ.๑/๑๙๘) ส่วนในหนังสือนี้ ได้นำมายักเยื้องอธิบายในแง่ของการปกครองทั้ง ๓ ข้อ เพราะเข้ากับเรื่องนี้ได้ดี และให้มองเห็นประโยชน์อีกด้านหนึ่ง

๓. จักรวรรดิวัตร ในพระบาลีมีเพียง ๔ หัวข้อใหญ่ แต่ในหนังสือนี้จัดเป็น ๕ (แยกข้อ ๑ เป็น ๒ ข้อ) เพื่อให้ดูง่ายขึ้น ส่วนที่เรียกกันว่า จักรวรรดิวัตร ๑๒ ดังรู้จักกันมากนั้น ท่านนำมาจากอรรถกถา (ที.อ.๓/๔๖)

๔. ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม นี้ ปรุงรูปศัพท์ตามบาลี ส่วนที่ท่านให้ชาวบ้านจำง่ายๆ พูดกันมาติดปากว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คำว่า ประโยชน์ เป็นคำสร้อยเติมไว้ให้คล่องปากเท่านั้น เพราะตรงกับ อัตถะ ที่มีอยู่แล้วนั่นเอง

๕. ใน สุขของคฤหัสถ์ ๔ สุขข้อสุดท้ายที่แปลกันมาว่า “สุขเกิดจากประกอบการงานที่ปราศจากโทษ” ชวนให้เข้าใจจำกัดเฉพาะการงานอาชีพเท่านั้น แต่ตามพระบาลีท่านหมายถึงกรรมดีทางไตรทวาร ในที่นี้จึงยักเยื้องคำแปลเสียใหม่เพื่อให้เข้าใจตรงตามพระบาลี (สุขเกิดจากการงานอาชีพสุจริต รวมอยู่ในสุขข้อที่ ๑ แล้ว)

๖. เมื่อว่าเต็มความหมาย ฆราวาสธรรม ใช้สำหรับการครองชีวิตโดยทั่วไปของชาวบ้าน และตามบาลีเดิมเรียกว่า ฆรเมสิธรรม (ธรรมของผู้แสวงเรือน) อนึ่ง ในที่นี้ ทมะ ท่านหมายเอาปัญญา ขันติ ท่านหมายเอาความเพียร (มาใน ขุ.สุ.๒๕/๓๑๑/๓๖๑ ด้วย; สํ.อ. ๑/๓๙๑; สุตฺต.อ.๑/๓๒๓)

๗. ในบาลีเดิม เรียกว่า อัตถทวาร (ประตูแห่งประโยชน์) อรรถกถาอธิบาย อัตถ ว่าได้แก่ “วุฒิ” ส่วน ทวาร มีคำไขความว่า “ปมุข” หรือ “มุข” จึงเรียกว่า วุฒิมุข ก็ได้ สำหรับ “วุฒิ” นั้น คนไทยคุ้นกับคำว่า วัฒน ซึ่งเป็นไวพจน์ ในที่นี้จึงใช้คำว่า วัฒนมุข (ปากช่องแห่งความเจริญ)

๘. บุคคลทั้งหลายในสังคมที่แวดล้อมตัวเราอยู่ ซึ่งเราควรจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์ให้ถูกต้อง ด้วยวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันไปตามสถานะแห่งความสัมพันธ์กับตัวเรา พระพุทธเจ้าตรัสเรียกด้วยคำเปรียบเทียบว่า ทิศ ๖ เพราะเป็นดุจด้านต่างๆ ของเทศะที่อยู่รอบตัวเรา กล่าวคือ

๑. ทิศเบื้องหน้า   คือ ผู้มาก่อน            ได้แก่ บิดามารดา

๒. ทิศเบื้องขวา   คือ ผู้ที่ควรเคารพ     ได้แก่ ครูอาจารย์

๓. ทิศเบื้องหลัง   คือ ผู้ตามมา             ได้แก่ บุตร ภรรยาหรือคู่ครอง

๔. ทิศเบื้องซ้าย   คือ ผู้เคียงข้าง          ได้แก่ มิตรสหาย

๕. ทิศเบื้องล่าง   คือ ผู้เป็นฐานกำลัง    ได้แก่ คนรับใช้และคนงาน

๖. ทิศเบื้องบน    คือ ผู้มีคุณความดีสูง   ได้แก่ พระสงฆ์

๙. หรชน เป็นศัพท์ตัดทอน บาลีเดิมเป็น อญฺทตฺถุหร

๑๐. อนุกมฺปี บาลีเดิมเป็น อนุกมฺปก

๑๑. ใน องค์คุณของกัลยาณมิตร ๗ ข้อ ๕ วจนกฺขโม คำบาลีท่านมุ่งความหมายว่า อดทนต่อคำพูดของผู้อื่น คือ รับฟังคำตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ได้ และพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงตน (ดูความหมาย ใน องฺ.อ.๓/๒๐๐ และตัวอย่างใน สํ.อ.๑/๑๔๕)

๑๒. คำบาลี ๕ ข้อนี้ เป็นรูปที่ปรุงใหม่ ตามบาลีแท้เป็น

๑. อนุปุพฺพิกถํ        ๒. ปริยายทสฺสาวี      ๓. อนุทยตํ ปฏิจฺจ

๔. น อามิสนฺตโร    ๕. อตฺตานญฺจ ปรญฺจ อนุปหจฺจ

๑๓. หน้าที่ครูต่อศิษย์ ข้อที่ ๕ สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ อธิบายตามอรรถกถาว่า สอนให้เขาเอาวิชาความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและคุ้มครองตนได้ ตลอดจนเมื่อศิษย์ไปทำมาหากินที่อื่นแล้ว อาจารย์ก็แนะนำแก่ผู้อื่นให้เกิดความเชื่อถือ ไปหาศิษย์นั้น (ที.อ.๓/๑๘๓)

๑๔. วุฒิธรรม หรือ วุฒิ ๔ นั้น ตามพระบาลีเรียกว่า ปญฺาวุฑฺฒิธมฺม คือธรรมเครื่องเจริญแห่งปัญญา มิใช่ความเจริญทั่วๆ ไป ดังนั้น จึงนำมาจัดเข้าในหมวดการเรียนการศึกษา

๑๕. แปลรักษาศัพท์ว่า กระทำบุพการในศาสนานี้ ดังนั้นจะแปลว่า “ออกนำในการอุปถัมภ์และช่วยกิจการพระพุทธศาสนา” ก็ได้

๑๖. คำอธิบายถือตาม องฺ.อ.๓/๓๙๕ แปลกจากที่เรียนกันมาบ้าง

 

แถลงความเป็นมา

หนังสือนี้มีกำเนิดจากความคิดที่จะอนุโมทนาต่อศรัทธา และคุณงามความดี อันเป็นบุญจริยา ของพุทธศาสนิกชนชาวไทยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ไปช่วยอุปถัมภ์สนับสนุนการปฏิบัติศาสนกิจของผู้เขียน ระหว่างพำนักอยู่ ณ ประเทศนั้นใน พ.ศ. ๒๕๑๙

เรื่องมีว่า เมื่อต้น พ.ศ. ๒๕๑๙ ผู้เขียนได้รับอาราธนาไปเป็นวิทยากร ในวิชาฝ่ายพระพุทธศาสนา ณ สวอร์ทมอร์วิทยาลัย ในรัฐเพนน์ซิลเวเนีย โดยมีคุณบุญเลิศ โพธินี ร่วมเดินทางไปช่วยทำหน้าที่เป็นไวยาวัจกร ระหว่างพำนักอยู่ ณ ที่นั้น พุทธศาสนิกชนชาวไทยในถิ่นใกล้เคียง คือตำบลที่ติดต่อกับสวอร์ทมอร์บ้าง ในเมืองฟิลาเดลเฟียบ้าง ตลอดถึงบางเมือง ในรัฐนิวเจอร์ซี ได้ไปเยี่ยมเยียนและอุปถัมภ์อำนวยความสะดวกต่างๆ โดยเฉพาะด้านพาหนะ นอกจากนั้น ยังได้บริจาคปัจจัยทำบุญในโอกาสต่างๆ ด้วย ผู้เขียนได้เกิดความรู้สึกในเวลานั้นว่า การที่ท่านผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ไปถวายความอุปถัมภ์ด้วยภัตตาหาร และการอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็นับเป็นความเกื้อกูลอย่างยิ่งอยู่แล้ว สำหรับปัจจัยที่บริจาคถวายนั้นตั้งใจว่าจะส่งผลานิสงส์กลับคืนให้แก่ผู้บริจาคด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะเกิดดอกออกผลเป็นบุญกุศลเพิ่มพูนคุณความดียิ่งๆ ขึ้นไป โดยที่ทั้งผู้บริจาคและผู้รับบริจาคได้มีส่วนบำเพ็ญจาคธรรมร่วมกัน

อาศัยความตั้งใจนี้ ประกอบกับความคิดพื้นเดิมที่ว่า น่าจะมีหนังสือแสดงหลักธรรมพื้นๆ ง่ายๆ ที่เหมาะแก่คฤหัสถ์ทั่วไปสักเล่มหนึ่ง สำหรับมอบให้เป็นประโยชน์ด้านความรู้ทางธรรม แก่ท่านผู้ศรัทธาซึ่งอยู่ห่างไกล พร้อมทั้งจะได้เผยแพร่ให้เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนอื่นๆ กว้างขวางออกไปด้วย อาศัยข้อปรารภนี้ ผู้เขียนจึงได้ใช้เวลาช่วงท้ายของการพำนักที่สวอร์ทมอร์ หลังจากทำหน้าที่วิทยากรให้แก่วิทยาลัยนั้นเสร็จสิ้นแล้ว รวบรวมเรียบเรียงหนังสือ คู่มือดำเนินชีวิต ขึ้น งานเรียบเรียง แม้จะได้ใช้หนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ที่ผู้เขียนจัดทำไว้ก่อนแล้วเป็นฐาน ก็ยังกินเวลาในการปรุงแต่ง ขัดเกลาคำอธิบาย และตรวจสอบความหมายตามคัมภีร์ อีกมิใช่น้อย เมื่อเขียนเสร็จยังไม่ทันได้พิมพ์ ก็เดินทางออกจากสวอร์ทมอร์เสียก่อน

ต่อมาระหว่างพักอยู่ที่วัดวชิรธรรมปทีป นครนิวยอร์ก ตามคำอาราธนาของวัดนั้น จึงได้มีโอกาสจัดพิมพ์ขึ้น ในรูปตัวพิมพ์ดีด โรเนียวเย็บเล่ม โดยได้รับความช่วยเหลือจากพระสงฆ์วัดวชิรธรรมปทีป และได้ใช้ทุน ซึ่งผู้ศรัทธาได้บริจาคถวายที่สวอร์ทมอร์ สมตามความตั้งใจ นอกจากนั้น ทางวัดวชิรธรรมปทีปเองก็ได้พิมพ์เผยแพร่เพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งด้วย ต่อมา ทางเมืองไทย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเจ้าภาพอื่น บางราย ได้ขออนุญาตบ้าง ถือวิสาสะบ้าง นำไปพิมพ์แจกในโอกาสต่างๆ นับว่าหนังสือได้แพร่หลายมากขึ้น

ทางด้านผู้เขียนเอง เมื่อกลับเมืองไทยแล้ว ก็ได้ปรับปรุง คู่มือดำเนินชีวิต จัดพิมพ์เป็นธรรมทานใหม่อีก ในเดือนมกราคม ๒๕๒๒ นับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๔ มีที่แก้ไขปรับปรุงจากเดิมเป็นอันมาก และได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า ธรรมนูญชีวิต หลังจากนั้น มีผู้ขอพิมพ์เผยแพร่อีก ๒ – ๓ ครั้ง เฉพาะในการพิมพ์ครั้งใหม่นี้ ได้แก้ไขปรับปรุงอย่างมากตลอดเล่ม โดยมุ่งให้อ่านง่ายและจำง่ายยิ่งขึ้น1

ขออนุโมทนา และอำนวยพรแก่พุทธศาสนิกชน ย่านใกล้เคียงสวอร์ทมอร์ ในฐานะที่ท่านเหล่านั้นเป็นเจ้าของศรัทธาและบุญจริยา ที่เป็นแรงดลใจให้หนังสือเล่มน้อยนี้เกิดมีขึ้น และขออนุโมทนาอาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ที่ได้ช่วยอนุเคราะห์รับภาระเป็นไวยาวัจกรเพื่อการนี้โดยตลอด ขอทุกท่านจงเป็นผู้มีส่วนในความดีงาม และกุศลผลานิสงส์ ซึ่งจะพึงบังเกิดมีจากธรรมวิทยาทานนี้ทั่วกัน

พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

๑๙ เมษายน ๒๕๒๓

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หมวดสี่ คนกับมรรคาอักษรย่อชื่อคัมภีร์ >>

เชิงอรรถ

  1. กรมการศาสนาขอพิมพ์ใหม่ในชื่อว่า พุทธจริยธรรม
    (“แถลงความเป็นมา” นี้ ปรับขยายจากที่เขียนไว้ในการพิมพ์ครั้งที่ ๔ ซึ่งเป็นครั้งที่ ๑ ในประเทศไทย เมื่อ ๑๙ ม.ค. ๒๕๒๒)

No Comments

Comments are closed.