บันทึกงาน-คำปรารภ-บทนำ

12 มกราคม 2565
เป็นตอนที่ 1 จาก 11 ตอนของ

บันทึกงาน

(ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒๓๖)

ก่อนขึ้นปีใหม่ ๒๕๖๕ หลานหนึ่งบอกมาว่ามีหนังสือ ธรรมนูญชีวิต ตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรกในเมืองไทย ชอบใจและได้ใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตเรื่อยมา เวลานี้อยากจะพิมพ์แจกขยายประโยชน์ออกไป ทำให้ผู้เขียนค้นหาต้นฉบับเพื่อจัดส่งไปให้นำไปพิมพ์ตามบุญเจตนา แต่หนังสือนี้เกิดมานานมากแล้ว และพิมพ์บ่อยนับได้ ๒๓๕ ครั้ง ได้ค้นพบต้นฉบับกว่า ๑๐๐ รายการ มีทั้ง .txt ทั้ง .doc และ .pdf (หนังสือเล่มนี้ยังไม่มีเป็น .docx) แถมพบที่เป็นเล่มหนังสือ ซึ่งไม่พบต้นฉบับที่เป็นดิจิทัล และทั้งหมดนั้น เท่าที่สำรวจตรวจสอบไม่อาจแน่ใจว่าอันไหนเป็นต้นฉบับสมบูรณ์ที่สุด

หนังสือ ธรรมนูญชีวิต มีมานานและได้พิมพ์มากครั้ง มีการปรับปรุงในโอกาสต่างๆ ทำให้มีต้นฉบับมากมาย และพาให้สับสน เริ่มจากเขียนเสร็จที่สวอร์ทมอร์ ในชื่อว่า คู่มือดำเนินชีวิต แล้ว ที่วัดวชิรธรรมปทีป นิวยอร์ก พระมีน้ำใจพิมพ์ดีดและโรเนียวทำเล่มแจกกันในปี ๒๕๑๙ จากนั้นมาได้ปรับปรุงเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันแล้วพิมพ์ในเมืองไทยครั้งแรกในปี ๒๕๒๒ แล้วปีต่อมา ๒๕๒๓ ก็ได้แก้ไขปรับปรุงให้อ่านง่ายจำง่ายขึ้น พอถึง พ.ศ. ๒๕๓๘ มีฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษขึ้นมาเข้าคู่ ต่อด้วยในปี ๒๕๔๐ นอกจากปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหาในพากย์ภาษาไทย พร้อมทั้งตรวจชำระคำแปลภาษาอังกฤษแล้ว ก็ได้นำเอาเรื่อง “มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ” มาพิมพ์เพิ่มเข้าเป็นส่วนนำหน้า จากนั้นไม่นาน ณ ๑๐ ส.ค. ๒๕๔๓ ก็ได้ปรับปรุง “มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ” นั้น และเปลี่ยนชื่อเป็น “วินัยชาวพุทธ” ซึ่งมีคำแปลภาษาอังกฤษพร้อมในปี ๒๕๔๖ ดังที่ปรากฏใน ธรรมนูญชีวิต ฉบับปัจจุบัน

เมื่อหาต้นฉบับเป็นที่ยุติไม่ได้ ในที่สุดจึงตกลงเลือกต้นฉบับแบบ .doc เท่าที่พบว่าน่าจะดีที่สุดขึ้นมาฉบับหนึ่ง ได้แก่ “520121 ธรรมนูญชีวิต 16 หน้ายก.doc” นำมาตั้งเป็นฉบับทำงาน โดยมีฉบับ .pdf และเล่มหนังสือ ที่เลือกแล้ว เป็นที่ตรวจสอบเทียบเคียง อีกส่วนหนึ่ง แล้วได้ดำเนินการตรวจชำระ จัดปรับ วางรูป ให้เข้าระบบเป็นระเบียบตลอดเล่ม (“อักษรย่อชื่อคัมภีร์” จัดไว้ท้ายเล่ม เพื่อให้เห็นง่าย ดูได้สะดวกเร็วไว) และตัดเติมแต่งแก้ขัดเกลาเล็กๆ น้อยๆ จนสำเร็จเป็นต้นฉบับชื่อว่า 65๐๑12 ธรรมนูญชีวิต Pr.236.docx หวังว่าต้นฉบับนี้ จะเป็นต้นแบบสำหรับการพิมพ์หนังสือ ธรรมนูญชีวิต (พากย์ภาษาไทย) สืบต่อไปได้ยืนยาว

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปยุตฺโต)

๑๒ มกราคม ๒๕๖๕

คำปรารภ

หนังสือ ธรรมนูญชีวิต นี้ เมื่อแรกเรียบเรียงขึ้นและพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๑๙ มีชื่อว่า คู่มือดำเนินชีวิต ผู้เรียบเรียงได้แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาและเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบัน เมื่อพิมพ์ครั้งที่ ๔ ในเดือนมกราคม ๒๕๒๒ ต่อมาในเดือนเมษายน ๒๕๒๓ ได้แก้ไขปรับปรุงให้อ่านง่ายจำง่ายยิ่งขึ้น และนับแต่นั้นได้มีการพิมพ์ซ้ำเรื่อยมาจนใน พ.ศ. ๒๕๓๓ นับได้เกินกว่า ๑๐๐ ครั้ง แต่ต่อจากนั้นไม่นานก็เลิกติดตามสถิติการพิมพ์ เพราะเป็นการยากที่จะนับครั้งได้ครบถ้วน

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ อาจารย์บรูส อีแวนส์ (Bruce Evans) แห่งมูลนิธิพุทธธรรมได้แปล ธรรมนูญชีวิต เป็นภาษาอังกฤษ และหลังจากได้ตรวจสอบคำแปลแล้ว ก็ได้ตีพิมพ์ทั้งฉบับแปลภาษาอังกฤษ และฉบับสองพากย์ เป็นครั้งแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๙

สำหรับการพิมพ์ครั้งใหม่ในปี ๒๕๔๐ นี้ ธรรมนูญชีวิต ได้มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๒ ประการ คือ การปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหาในพากย์ภาษาไทย พร้อมทั้งตรวจชำระคำแปลภาษาอังกฤษ ทั้งส่วนเดิมและส่วนที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ประการหนึ่ง และการนำเอาเรื่อง มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ มาพิมพ์เพิ่มเข้าเป็นส่วนนำหน้า อีกประการหนึ่ง โดยมีเหตุปรารภดังนี้

(ก) ลุถึงปี ๒๕๔๐ นี้ อาจารย์บรูส อีแวนส์ เห็นว่า ธรรมนูญชีวิต ฉบับแปลที่ทำไว้เดิม เป็นการแปลแบบจับความ เมื่อมีการพิมพ์ทั้งพากย์ภาษาไทยและพากย์ภาษาอังกฤษรวมเป็นเล่มเดียวกัน ควรจะให้คำแปลนั้นตรงกับภาษาไทยอย่างแม่นยำและสมบูรณ์มากขึ้น จึงชำระคำแปลใหม่ ตลอดเล่ม

ระหว่างรอการสอบทานคำแปลก่อนจัดพิมพ์ ผู้เรียบเรียงเห็นเป็นโอกาสอันควรที่จะเพิ่มเนื้อหาบางอย่างที่คิดไว้ เพื่อให้หนังสือใกล้ความสมบูรณ์มากที่สุด จึงได้เพิ่มหลักธรรมสำคัญเรื่อง บุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของมรรค เข้ามา และจัดเป็นบทแรกของหนังสือ ให้ชื่อว่า “คนผู้เป็นสัตว์ประเสริฐ” กับทั้งได้เปลี่ยนชื่อ บทนำ ใหม่ จาก “คนเต็มคน” เป็น “คนกับความเป็นคน” นอกจากนี้ ใน หมวดสอง (คนกับชีวิต) ได้ย้ายบทที่ ๘ (คนไม่หลงโลก) ไปเป็นบทสุดท้ายของหมวด (บทที่ ๑๒) พร้อมนั้นก็ได้แทรกเสริมเพิ่มความปรับสำนวนในที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง เพื่อให้หนังสือได้ความครบถ้วนทางธรรม และสำเร็จประโยชน์แก่ผู้อ่านมากขึ้น

(ข) หลังจากที่งานปรับปรุง ธรรมนูญชีวิต เสร็จเรียบร้อยแล้ว ระหว่างรอการพิมพ์ มีเหตุประจวบให้ผู้เรียบเรียงจัดทำหนังสือเสร็จอีกเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือขนาดเล็ก ชื่อว่า มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ

มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ นั้น เดิมเป็นบทสรุป จัดไว้เป็นภาคผนวกของหนังสือที่มีชื่ออย่างเดียวกันนั้น ซึ่งเกิดจากธรรมกถาและคำอวยพรในพิธีลาสิกขาของผู้บรรพชาอุปสมบทตามประเพณีบวชเรียน และมีผู้ศรัทธาขอพิมพ์เป็นธรรมทานในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๗

ต่อมา เมื่ออธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ขออนุญาตพิมพ์บทสรุปนั้นแจกเป็นธรรมทานในวันขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคม ๒๕๔๑ ผู้เรียบเรียงได้ปรับปรุงให้กะทัดรัดอ่านง่ายและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยปรับข้อความและสำนวนตามหนังสือ ธรรมนูญชีวิต ที่เพิ่งแก้ไขปรับปรุงใหม่เสร็จเรียบร้อย และได้ขอให้อาจารย์บรูส อีแวนส์ แปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้เข้าชุดกันกับหนังสือ ธรรมนูญชีวิต ที่มีทั้งพากย์ภาษาไทย และพากย์แปลภาษาอังกฤษ

มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ นี้ เกิดจากความดำริที่จะย้ำเน้นถึงความสำคัญของการที่ชาวพุทธควรจะมีข้อปฏิบัติที่ยึดถือปฏิบัติกันอย่างจริงจัง โดยรื้อฟื้นข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ในสิงคาลกสูตร (ที.ปา.๑๑/๑๗๒-๒๐๖) ขึ้นมาส่งเสริมให้เป็นกฎเกณฑ์สำหรับชาวพุทธ ที่จะยึดถือปฏิบัติกันอย่างเป็นมาตรฐานทั่วไป ในการที่จะดำเนินชีวิตและร่วมสร้างสรรค์สังคมให้ดีงาม มีความสุขความเจริญ อันจะเป็นการสอดคล้องกับมติดั้งเดิมที่อรรถกถากล่าวว่า สิงคาลกสูตรนั้นเป็น “คิหิวินัย” คือ วินัยของคฤหัสถ์ หรือแบบแผนการดำเนินชีวิตของผู้ครองเรือน (ที.อ.๓/๑๓๔, ๑๕๑) คู่กันกับ “ภิกขุวินัย” คือ วินัยของพระภิกษุสงฆ์

เนื้อหาทั้งหมดของ มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ นี้ มีรวมอยู่แล้วในหนังสือ ธรรมนูญชีวิต ถือได้ว่า มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ เป็นเกณฑ์อย่างต่ำสำหรับการดำเนินชีวิตของชาวพุทธ ส่วน ธรรมนูญชีวิต เป็นประมวลหลักธรรมทั่วไปเพื่อการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ซึ่งอาจถือเป็นส่วนขยายของ มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ ผู้ปฏิบัติอาจใช้ มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ เป็นเกณฑ์ตรวจสอบเบื้องต้นสำหรับการดำเนินชีวิตของตน แล้วก้าวสู่คุณสมบัติและข้อปฏิบัติใน ธรรมนูญชีวิต เพื่อดำเนินชีวิตให้ดีงาม มีความสำเร็จ และเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น จนถึงความสมบูรณ์

ในด้านการแปล อาจารย์บรูส อีแวนส์ ได้ตั้งใจทำงานนี้ด้วยฉันทะ วิริยะ และอาศัยความชำนาญในการแปล งานจึงสำเร็จด้วยดี นอกจากนั้น ในระหว่างตรวจชำระและสอบทานคำแปล ก็ยังได้ปรับปรุงขัดเกลาถ้อยคำข้อความและสำนวนไปเรื่อยๆ ด้วยฉันทเจตนาที่จะให้ธรรมนูญชีวิตฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษนี้มีความถูกต้อง แม่นยำ น่าอ่านมากที่สุด จึงขออนุโมทนาอาจารย์บรูส อีแวนส์ ไว้ในที่นี้เป็นอย่างยิ่ง

อนึ่ง ระหว่างนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้เรียบเรียงมีงานต่างๆ คั่งค้างมาก และอาพาธบ่อยๆ ดร.สมศีล ฌานวังศะ รองศาสตราจารย์ แห่งสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความเอื้อเฟื้อประสานงานของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และโดยอนุมัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีน้ำใจมาช่วยให้กำลังร่วมมือสนับสนุน ผ่อนเบาภาระในการทำงานทางวิชาการ ข้อเสนอแนะต่างๆ และการร่วมพิจารณา ของ ดร.สมศีล ฌานวังศะ ได้อำนวยประโยชน์แก่งานนี้อย่างมาก ขออนุโมทนาความมีน้ำใจเกื้อหนุนของ ดร.สมศีล ฌานวังศะ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ส่วนในการจัดเตรียมต้นแบบเพื่อการตีพิมพ์ โดยเฉพาะฉบับสองพากย์ไทย-อังกฤษ ได้อาศัยพระครูปลัดปิฎกวัฒน์ (อินศร จินฺตาปญฺโ) ช่วยดำเนินการจนเสร็จเรียบร้อย จึงขออนุโมทนาพระครูปลัดปิฎกวัฒน์ เป็นอย่างมาก

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)

๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๐1

บทนำ2

เมื่อพูดถึงเรื่องทั่วๆ ไปเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ศาสนาทั้งหลายมีแนวปฏิบัติแตกต่างกันเป็น ๒ แบบ กล่าวคือ แบบหนึ่งไม่ใส่ใจเรื่องอย่างนั้นเลยโดยสิ้นเชิง มุ่งเน้นเฉพาะแต่การบรรลุจุดหมายที่สูงส่ง คือการเข้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า หรือเข้าถึงปรมัตถสัจจะ ส่วนอีกแบบหนึ่งก็สั่งสอนข้อปฏิบัติเกี่ยวกับชีวิตประจำวันนั้นเสียอย่างละเอียดพิสดาร โดยกำหนดแก่เราว่าจะต้องคิดหมายใคร่ทำอะไรๆ แค่ไหนอย่างไร จะต้องกินอาหารอะไร จะต้องสวมใส่เสื้อผ้าแบบไหน ศาสนาสองแบบนี้น่าจะเป็นสุดโต่ง ๒ ด้าน

พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนสายกลาง หรือสอนความพอดี ในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ คำสอนในพระพุทธศาสนาดำเนินสายกลาง ระหว่างการเพิกเฉยไม่ใส่ใจเสียเลยต่อเรื่องที่จะต้องปฏิบัติในชีวิตประจำวัน กับการตราบทบัญญัติเป็นกฎข้อบังคับที่เคร่งตึงตายตัว พระพุทธศาสนาสอนแนวทางความประพฤติตามหลักสัจธรรมที่เป็นอกาลิโก ว่าด้วยประโยชน์สุขที่พึงได้ อันเกิดจากการอยู่ร่วมสัมพันธ์กันโดยใช้ปัญญาด้วยเมตตากรุณา และพร้อมกันนั้นก็มุ่งให้บรรลุถึงอิสรภาพทางจิตปัญญาที่เป็นจุดหมายสูงสุด ถึงขั้นที่ทำให้อยู่ในโลกได้โดยไม่ติดโลก หรืออยู่เหนือโลก

เนื้อหาในหนังสือนี้ ได้รวบรวมจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาทั้งหลาย ซึ่งเป็นคัมภีร์ของพระพุทธศาสนา (ยุคแรก) สายเถรวาท ที่ทุกวันนี้ยังใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต และถือปฏิบัติกันอยู่ ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำสอนนี้มีอายุเกินกว่า ๒๕๐๐ ปีแล้ว แต่มิได้คร่ำคร่าล้าสมัยแต่ประการใด ในสังคมปัจจุบันยุคถือหลักความเสมอภาค ที่แบบแผนความประพฤติต่างๆ ตามที่ถือสืบๆ กันมาแต่เดิม ได้ถูกล้มล้างลงไป หรือถูกตั้งข้อสงสัยไปหมด และทั้งๆ ที่มีแนวคิดภูมิปัญญาชนิดที่ว่า “รู้แจ้งเจนจบ” แพร่สะพัดไป แต่ชีวิตของผู้คนกลับสับสนวุ่นวายยิ่งกว่ายุคสมัยใดๆ ในสภาพเช่นนี้ คำสอนของพระพุทธศาสนาที่ย้อนยุคสมัย มีมาแต่ครั้งที่อะไรๆ ยังเป็นไปตามธรรมดาสามัญกว่านี้อย่างมากมายนั้น จะเป็นเสมือนกระแสอากาศสดชื่นบริสุทธิ์ที่ผ่านเข้ามาในห้องที่มีผู้คนแออัด บางทีอาจจะถึงเวลาแล้วที่เราจะหวนกลับไปหาคุณค่าที่ว่าเก่าๆ แต่คงทนดีกว่า

เมื่อการดำเนินชีวิตและกิจการต่างๆ ยึดหลักความเอื้ออาทรเห็นอกเห็นใจกัน มากกว่าจะมุ่งหาผลประโยชน์ให้แก่ตน ก็จะเห็นผลปรากฏว่าชีวิตและกิจการเหล่านั้นมิใช่จะเลวร้ายอย่างที่เราเคยคิด และที่แท้แล้ว มันจะช่วยให้ชีวิตของเราโปร่งโล่งเบาสบายขึ้นด้วย ลองนำแนวคิดของคนสมัยนี้จำนวนมากที่มองสังคมเป็นสนามชิงผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง กับคำสอนง่ายๆ ว่าด้วย “การปฏิบัติต่อกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง” หน้า ๖๒ มาเทียบกันดูซิว่าเป็นอย่างไร

คนปัจจุบันจำนวนมากมองชีวิตทุกวงการเป็นการต่อสู้ระหว่างผลประโยชน์ที่ขัดกัน เกิดเป็นฝ่ายนายจ้างกับลูกจ้าง รัฐบาลกับราษฎร คนมีกับคนจน และแม้แต่หญิงกับชาย หรือลูกกับพ่อแม่ เมื่อคนถือเอาทรัพย์และอำนาจเป็นจุดหมายของชีวิต สังคมก็กลายเป็นสนามต่อสู้ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวที่ขัดกัน เราก็เลยต้องเที่ยวหาจริยธรรมสำหรับมาปกป้องผลประโยชน์เหล่านั้น นี่คือ “จริยธรรมเชิงลบ” กล่าวคือ สังคมยึดหลักผลประโยชน์แบบเห็นแก่ตัว โดยถือ “สิทธิของแต่ละคนที่จะแสวงหาความสุข” แล้วเราก็เลยต้องหาจริยธรรมดังเช่น “สิทธิมนุษยชน” มาคอยกีดกั้นกันและกันไว้ ไม่ให้คนมาเชือดคอหอยกัน ในระหว่างที่กำลังวิ่งหาความสุขนั้น

หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็น “จริยธรรมเชิงบวก” ประโยชน์สุขคือจุดหมาย หาใช่ทรัพย์และอำนาจไม่ พระพุทธศาสนาถือว่า สังคมเป็นสื่อกลาง ที่ช่วยให้ทุกคนมีโอกาสอันเท่าเทียมกันที่จะพัฒนาตนเอง และเข้าถึงประโยชน์สุขได้มากที่สุด และนำเอาจริยธรรมมาใช้เพื่อเกื้อหนุนจุดหมายที่กล่าวนี้

คำสอนที่แสดงไว้ในหนังสือนี้ ยึดถือตามหลักธรรมที่เป็นความจริงอันไม่จำกัดกาล กล่าวคือ กรุณา เมตตา สามัคคี สังคหะ และปัญญา คนสมัยใหม่ที่มองธรรมชาติคนว่าเห็นแก่ตัว อาจจะรู้สึกว่าคำสอนเหล่านี้เป็นเพียงอุดมคติ แต่ก็มิใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หลักธรรมเหล่านี้สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง อย่างไรก็ตาม จะต้องระลึกไว้ว่า คำสอนเหล่านี้เก่าแก่ถึง ๒,๕๐๐ ปีแล้ว อาจจะมีอยู่ ๒ – ๓ อย่างที่จะต้องนำมาแปลความหมายให้เข้ากับสภาพปัจจุบัน แต่ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า คำสอนเหล่านั้นง่ายพอที่ผู้อ่านจะกลั่นกรองความหมายเอามาใช้ได้ด้วยตนเอง ขอให้หลักธรรมดังกล่าวอำนวยประโยชน์แก่ท่านผู้อ่าน เหมือนดังที่ได้อำนวยประโยชน์แก่ชาวพุทธจำนวนมากมายทั่วทั้งโลก

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปภาค ๑ วินัยชาวพุทธ >>

เชิงอรรถ

  1. คำปรารภ ลว. ๒๕ ธ.ค. ๔๐ นี้ เป็นความที่เขียนปรับขยายคำปรารภเก่า ลว. ๒๗ ส.ค. ๔๐ ที่มี ๒ หน้า เพิ่มขึ้นเป็น ๔ หน้า เพื่อบอกแจ้งว่าในการพิมพ์ครั้งใหม่ภายหลังต่อมาไม่ถึง ๔ เดือนนี้ มีส่วนเพิ่มเติมโดยนำหลัก มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ มารวมเข้าด้วย
  2. บทนำนี้ Mr.Bruce Evans ได้เขียนขึ้นสำหรับ ธรรมนูญชีวิต ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ และเมื่อนำทั้งสองพากย์มาพิมพ์ไว้คู่กัน ได้แปลไว้เพื่อให้ทั้งสองพากย์เท่ากันครบถ้วน ต่อมา แม้เมื่อพิมพ์เฉพาะพากย์ไทย ก็พิมพ์คำแปลบทนำนี้ไว้ด้วย เพื่อให้ผู้อ่านได้ประโยชน์มากขึ้น

No Comments

Comments are closed.