หมวดสาม คนกับคน

12 มกราคม 2565
เป็นตอนที่ 8 จาก 11 ตอนของ

หมวดสาม

คนกับคน

๑๓. คนร่วมชีวิต

(คู่ครองที่ดี)

คู่ครองที่ดี ที่จะเป็นคู่ร่วมชีวิตกันได้ นอกจากกามคุณแล้ว ควรมีคุณสมบัติ และประพฤติตามข้อปฏิบัติ ดังนี้

ก. คู่สร้างคู่สม มีหลักธรรมของคู่ชีวิต ที่จะทำให้คู่สมรสมีชีวิตสอดคล้อง กลมกลืนกัน เป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้อยู่ครองกันได้ยืดยาว เรียกว่า สมชีวิธรรม ๔ ประการ คือ

๑. สมสัทธา มีศรัทธาสมกัน เคารพนับถือในลัทธิศาสนา สิ่งเคารพบูชา แนวความคิดความเชื่อถือ หรือหลักการต่างๆ ตลอดจนแนวความสนใจอย่างเดียวกัน หนักแน่นเสมอกัน หรือปรับเข้าหากัน ลงกันได้

๒. สมสีลา มีศีลสมกัน มีความประพฤติ ศีลธรรม จรรยา มารยาท พื้นฐานการอบรม พอเหมาะสอดคล้อง ไปกันได้

๓. สมจาคา มีจาคะสมกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความโอบอ้อมอารี ความมีใจกว้าง ความเสียสละ ความพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น พอกลมกลืนกัน ไม่ขัดแย้งบีบคั้นกัน

๔. สมปัญญา มีปัญญาสมกัน รู้เหตุรู้ผล เข้าใจกัน อย่างน้อยพูดกันรู้เรื่อง

(องฺ.จตุกฺก.๒๑/๕๕/๘๐)

ข. คู่ชื่นชมคู่ระกำ หรือ คู่บุญคู่กรรม คือ คู่ครองที่มีคุณธรรม ลักษณะนิสัยความประพฤติปฏิบัติ การแสดงออกต่อกัน ที่ทำให้เกื้อกูลกันหรือถูกกัน ก็มี ต้องยอมทนกันหรืออยู่กันอย่างขมขื่น ก็มี ในกรณีนี้ ท่านแสดง ภรรยา ประเภทต่างๆ ไว้ ๗ ประเภท คือ

๑. วธกาภริยา ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต คือ ภรรยาที่มิได้อยู่กินด้วยความพอใจ ดูหมิ่น และคิดทำลายสามี

๒. โจรีภริยา ภรรยาเยี่ยงโจร คือ ภรรยาชนิดที่ล้างผลาญทรัพย์สมบัติ

๓. อัยยาภริยา ภรรยาเยี่ยงนาย คือ ภรรยาที่เกียจคร้าน ไม่ใส่ใจการงาน ปากร้าย หยาบคาย ชอบข่มสามี

๔. มาตาภริยา ภรรยาเยี่ยงมารดา คือ ภรรยาที่หวังดีเสมอ คอยห่วงใย เอาใจใส่ สามีหาทรัพย์มาได้ ก็เอาใจใส่คอยประหยัดรักษา

๕. ภคินีภริยา ภรรยาเยี่ยงน้องสาว คือ ภรรยาผู้เคารพรักสามี ดังน้องรักพี่ มีใจอ่อนโยน รู้จักเกรงใจ มักคล้อยตามสามี

๖. สขีภริยา ภรรยาเยี่ยงสหาย คือ ภรรยาที่เป็นเหมือนเพื่อน มีจิตภักดี เวลาพบสามีก็ร่าเริงยินดี วางตัวดี ประพฤติดี มีกิริยามารยาทงาม เป็นคู่คิดคู่ใจ

๗. ทาสีภริยา ภรรยาเยี่ยงนางทาสี คือ ภรรยาที่ยอมอยู่ใต้อำนาจสามี ถูกสามีตะคอกตบตี ก็อดทน ไม่แสดงความโกรธตอบ

(องฺ.สตฺตก.๒๓/๖๐/๙๒)

ท่านสอนให้ภรรยาสำรวจตนว่า ที่เป็นอยู่ ตนเป็นภรรยาประเภทไหน ถ้าจะให้ดี ควรเป็นภรรยาประเภทใด สำหรับชายอาจใช้เป็นหลักสำรวจอุปนิสัยของตนว่า ควรแก่หญิงประเภทใดเป็นคู่ครอง และสำรวจหญิงที่จะเป็นคู่ครองว่าเหมาะกับอุปนิสัยตนหรือไม่

แม้สามีก็ย่อมมีหลายประเภท พึงเทียบเอาจากภรรยาประเภทต่างๆ เหล่านั้น

ค. คู่ศีลธรรมคู่ความดี เอาหลักธรรมสำหรับการครองเรือน คือ ฆราวาสธรรม1 ประการมาใช้ต่อกันในบ้านด้วย ดังนี้

๑. สัจจะ ความจริง คือ ซื่อสัตย์ต่อกัน ทั้งจริงใจ จริงวาจา และจริงในการกระทำ

๒. ทมะ ฝึกตน คือ รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่องข้อขัดแย้ง ปรับตัวปรับใจเข้าหากัน และปรับปรุงตนให้ดีงามยิ่งขึ้นไป

๓. ขันติ อดทน คือ มีจิตใจเข้มแข็งหนักแน่น ไม่วู่วาม ทนต่อความล่วงล้ำก้ำเกินกัน และร่วมกันอดทนต่อความเหนื่อยยากลำบากตรากตรำ ฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน

๔. จาคะ เสียสละ คือ มีน้ำใจ สามารถเสียสละความสุขสำราญ ความพอใจส่วนตนเพื่อคู่ครองได้ เช่น อดหลับอดนอนพยาบาลกันในยามเจ็บไข้ เป็นต้น ตลอดจนมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อญาติมิตรสหายของคู่ครอง ไม่ใจแคบ

(สํ.ส.๑๕/๘๔๕/๓๑๖)

ง. คู่ถูกหน้าที่ต่อกัน สงเคราะห์ อนุเคราะห์กัน ตามหลักปฏิบัติในทิศ ๖ ข้อที่ว่าด้วย ทิศเบื้องหลัง2 คือ

สามีปฏิบัติต่อภรรยา โดย

๑. ยกย่องให้เกียรติสมฐานะที่เป็นภรรยา

๒. ไม่ดูหมิ่น

๓. ไม่นอกใจ

๔. มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้าน

๕. หาเครื่องแต่งตัวมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส

ภรรยาอนุเคราะห์สามี โดย

๑. จัดงานบ้านให้เรียบร้อย

๒. สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี

๓. ไม่นอกใจ

๔. รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้

๕. ขยัน ช่างจัดช่างทำ เอางานทุกอย่าง

(ที.ปา.๑๑/๒๐๑/๒๐๔)

จ. พ่อบ้านเห็นใจภรรยา สตรีมีความทุกข์จำเพาะตัวอีกส่วนหนึ่ง ต่างหากจากผู้ชาย ซึ่งสามีพึงเข้าใจ และพึงปฏิบัติด้วยความเอาใจใส่ เห็นอกเห็นใจ คือ

๑. ผู้หญิงต้องจากหมู่ญาติมาอยู่กับตระกูลของสามีทั้งที่ยังเป็นเด็กสาว สามีควรให้ความอบอุ่นใจ

๒. ผู้หญิงมีระดู ซึ่งบางคราวก่อปัญหาให้เกิดความแปรปรวนทั้งใจกาย ฝ่ายชายควรเข้าใจ

๓. ผู้หญิงมีครรภ์ ซึ่งยามนั้นต้องการความเอาใจใส่บำรุงกายใจเป็นพิเศษ

๔. ผู้หญิงคลอดบุตร ซึ่งเป็นคราวเจ็บปวดทุกข์แสนสาหัส และเสี่ยงชีวิตมาก สามีควรใส่ใจเหมือนเป็นทุกข์ของตน

๕. ผู้หญิงต้องคอยปรนเปรอเอาใจฝ่ายชาย ฝ่ายชายไม่ควรเอาแต่ใจตัว พึงซาบซึ้งในความเอื้อเฟื้อและมีน้ำใจตอบแทน

(นัย สํ.สฬ. ๑๘/๔๖๒/๒๙๗)

 

๑๔. คนรับผิดชอบตระกูล

(หัวหน้าครอบครัวที่ดี)

ผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว นอกจากปฏิบัติตามหลักธรรมอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เช่น เป็นคนที่รู้จักทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นต้นแล้ว พึงปฏิบัติตามหลักธรรมเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อวงศ์ตระกูลบางอย่าง ต่อไปนี้

ก. รักษาตระกูลให้คงอยู่ โดยปฏิบัติตามหลักธรรมสำหรับดำรงความมั่งคั่งของตระกูลให้ยั่งยืน หรือเหตุที่ทำให้ตระกูลมั่งคั่งตั้งอยู่ได้นาน เรียกว่า กุลจิรัฏฐิติธรรม ๔ อย่าง คือ

๑. นัฏฐคเวสนา ของหายของหมด รู้จักหามาไว้

๒. ชิณณปฏิสังขรณา ของเก่าของชำรุด รู้จักบูรณะซ่อมแซม

๓. ปริมิตปานโภชนา รู้จักประมาณในการกิน การใช้

๔. อธิปัจจสีลวันตสถาปนา ตั้งหญิงหรือชายมีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน

(องฺ.จตุกฺก.๒๑/๒๕๙/๓๓๗)

ข. บูชาคนที่เหมือนไฟ บุคคลต่อไปนี้เปรียบเหมือนไฟ ถ้าปฏิบัติถูกต้องจะเกิดคุณมาก แต่ถ้าปฏิบัติผิดอาจเกิดโทษร้ายแรง เป็นเหมือนไฟเผาผลาญตัว จึงควรปฏิบัติเหมือนอย่างมนุษย์บูชาไฟสมัยโบราณ ซึ่งบำเรอไฟที่ตนบูชาด้วยความเอาใจใส่ระมัดระวังตั้งใจทำให้ถูกต้อง เพราะมีความเคารพยำเกรง

หลักการปฏิบัติต่อบุคคลที่เหมือนไฟบูชานี้ เรียกว่า อัคคิปาริจริยา

ไฟ คือบุคคลที่ควรบูชาด้วยการใส่ใจบำรุงเลี้ยง และให้ความเคารพนับถือตามควรแก่ฐานะ ดุจไฟบูชาของผู้บูชาไฟ มี ๓ อย่าง คือ

๑. อาหุไนยัคคิ ไฟที่ควรแก่ของคำนับ คือ บิดามารดา

๒. คหปตัคคิ ไฟประจำตัวเจ้าบ้าน คือ บุตร ภรรยา และคนในปกครอง

๓. ทักขิไณยัคคิ ไฟทักขิไณย คือ พระสงฆ์ผู้ทรงศีล ซึ่งทำหน้าที่สั่งสอนธรรม ที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ไม่ประมาทมัวเมา

(ที.ปา.๑๑/๒๒๘/๒๒๙)

ค. ใส่ใจบุตรธิดา ในฐานะเป็นบิดามารดา พึงรู้จัก บุตร ๓ ประเภท และให้การศึกษาอบรมให้เป็นบุตรชนิดที่ดีที่สุด คือ

๑. อภิชาตบุตร บุตรที่ยิ่งกว่าบิดามารดา ดีเลิศกว่าพ่อแม่

๒. อนุชาตบุตร บุตรที่ตามเยี่ยงบิดามารดา เสมอด้วยพ่อแม่

๓. อวชาตบุตร บุตรที่ต่ำลงกว่าบิดามารดา เสื่อมทรามทำลายวงศ์ตระกูล

(ขุ.อิติ.๒๕/๒๕๒/๒๗๙)

ง. ทำหน้าที่ผู้มาก่อน คือ พึงอนุเคราะห์บุตรธิดาตามหลักปฏิบัติในฐานะที่บิดามารดาเป็นเสมือน ทิศเบื้องหน้า3 ดังนี้

๑. ห้ามปรามป้องกันจากความชั่ว

๒. ดูแลฝึกอบรมให้ตั้งอยู่ในความดี

๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา

๔. เป็นธุระในเรื่องจะมีคู่ครองที่สมควร

๕. มอบทรัพย์สมบัติให้เมื่อถึงโอกาส

(ที.ปา.๑๑/๑๙๘/๒๐๒)

จ. เป็นราษฎรที่มีคุณภาพ ครอบครัวเป็นหน่วยสังคมพื้นฐาน ที่จะเป็นส่วนประกอบช่วยให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองมั่นคง ดังนั้น หัวหน้าครอบครัวที่ดี พึงเป็นราษฎรที่ดีของรัฐด้วย โดยครองตนเป็นพลเมืองที่ดีตามหลักปฏิบัติในบทที่ ๑๑ ข้อ จ.

 

๑๕. คนสืบตระกูล

(ทายาทที่ดี)

ผู้เป็นทายาท นอกจากจะรับทรัพย์สมบัติและวงศ์ตระกูลมารักษาสืบต่อแล้ว จะต้องรับเอาหน้าที่และคุณธรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการรักษาวงศ์ตระกูล มาปฏิบัติสืบต่อไปด้วย แต่ในเบื้องต้น ในฐานะที่เป็นทายาทที่ดี พึงปฏิบัติตามหลักธรรมต่อไปนี้

ก. เปิดประตูสู่ความเจริญก้าวหน้า ดำเนินตามหลักธรรมที่เป็นทวารแห่งประโยชน์สุข หรือข้อปฏิบัติที่เป็นดุจประตูชัยอันเปิดออกไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของชีวิต ที่เรียกว่า วัฒนมุข4 ประการ ต่อไปนี้

๑. อาโรคยะ รักษาสุขภาพดี มีลาภอันประเสริฐ คือความไร้โรคทั้งใจและกาย

๒. ศีล มีระเบียบวินัย ประพฤติดีมีมรรยาทงาม ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม

๓. พุทธานุมัต ได้คนดีเป็นแบบอย่าง ศึกษาเยี่ยงนิยมแบบอย่างของมหาบุรุษพุทธชน

๔. สุตะ ตั้งใจเรียนให้รู้จริง เล่าเรียนค้นคว้าให้รู้เชี่ยวชาญ ใฝ่สดับเหตุการณ์ให้รู้เท่าทัน

๕. ธรรมานุวัติ ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม ดำรงมั่นในสุจริต ทั้งชีวิตและงานดำเนินตามธรรม

๖. อลีนตา มีความขยันหมั่นเพียร มีกำลังใจแข็งกล้า ไม่ท้อถอย ไม่เฉื่อยชา เพียรก้าวหน้าเรื่อยไป

(ขุ.ชา.๒๗/๘๔/๒๗)

ข. ปิดช่องทางที่เข้ามาของความเสื่อม หลีกเว้นความประพฤติที่เป็นช่องทางของความเสื่อมความพินาศ ซึ่งจะเป็นเหตุให้โภคทรัพย์ย่อยยับไป ที่เรียกว่า อบายมุข ๖ ประการ คือ

๑. ติดสุรายาเมา ซึ่งมีโทษ ๖

๑. ทรัพย์หมดไปๆ เห็นชัดๆ

๒. ก่อการทะเลาะวิวาท

๓. ทำลายสุขภาพ

๔. เสื่อมเกียรติเสียชื่อเสียง

๕. ทำให้แสดงด้าน ไม่รู้จักอาย

๖. ทอนกำลังปัญญา

๒. เอาแต่เที่ยวกลางคืน ซึ่งมีโทษ ๖

๑. เป็นการไม่รักษาตัว

๒. เป็นการไม่รักษาลูกเมีย

๓. เป็นการไม่รักษาทรัพย์สมบัติ

๔. เป็นที่ระแวงสงสัย

๕. เป็นเป้าให้เขาใส่ความหรือข่าวลือ

๖. เป็นทางมาของเรื่องเดือดร้อนเป็นอันมาก

๓. จ้องจะดูการเล่น ซึ่งมีโทษ ทำให้การงานเสื่อมเสีย เพราะใจกังวลคอยคิดจ้อง และเสียเวลาเมื่อไปดูสิ่งนั้นๆ เช่น เต้นรำที่ไหน ขับร้อง ดนตรีที่ไหน ไปที่นั่น

๔. ไม่เว้นการพนัน ซึ่งมีโทษ ๖

๑. เมื่อชนะ ย่อมก่อเวร

๒. เมื่อแพ้ ก็เสียดายทรัพย์ที่เสียไป

๓. ทรัพย์หมดไปๆ เห็นชัดๆ

๔. เข้าที่ประชุม เขาไม่เชื่อถือถ้อยคำ

๕. เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อนฝูง

๖. ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของผู้จะหาคู่ครองให้ลูกของเขา เพราะเห็นว่าจะเลี้ยงลูกเมียไม่ไหว

๕. มั่วสุมมิตรชั่ว ซึ่งมีโทษทำให้กลายไปเป็นคนชั่วอย่างคนที่ตนคบ ทั้ง ๖ ประเภท คือ ได้เพื่อนที่ชักนำให้กลายเป็นนักการพนัน นักเลงผู้หญิง นักเลงเหล้า นักลวงของปลอม นักหลอกนักต้ม และนักเลงหัวไม้

๖. มัวแต่เกียจคร้าน ซึ่งมีโทษ ทำให้ยกเหตุต่างๆ เป็นข้ออ้าง ผัดเพี้ยน ไม่ทำการงาน โภคะใหม่ก็ไม่เกิด โภคะที่มีอยู่ก็หมดสิ้นไป คือ ให้อ้างไปทั้ง ๖ กรณี ว่า หนาวนัก ร้อนนัก เย็นไปแล้ว ยังเช้านัก หิวนัก อิ่มนัก แล้วไม่ทำการงาน

(ที.ปา.๑๑/๑๗๙/๑๙๖)

ค. เชื่อมสายสัมพันธ์กับบุรพการี คือ ในฐานะที่เป็นบุตรธิดา พึงเคารพบิดามารดา ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องหน้า5 ดังนี้

๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ

๒. ช่วยทำกิจธุระการงานของท่าน

๓. ดำรงวงศ์สกุล

๔. ประพฤติตนให้สมเป็นทายาท

๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

(ที.ปา.๑๑/๑๙๙/๒๐๒)

ง. มีหลักประกันของชีวิตที่พัฒนา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลูกๆ คือเด็กทั้งหลาย เป็นฐานรองรับมนุษยชาติ ลูกในครอบครัวคือเด็กในสังคม ควรได้รับการฝึกอบรมให้เป็นผู้มีคุณสมบัติที่เป็นต้นทุนในตัว ซึ่งจะทําให้พร้อมที่จะก้าวหน้าไปในการศึกษาพัฒนาชีวิตของตน และเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของสังคม ด้วยการปลูกฝังคุณสมบัติที่เรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม หรือ รุ่งอรุณของการศึกษา ๗ ประการ ดังนี้

๑. แสวงแหล่งปัญญาและแบบอย่างที่ดี

๒. มีวินัยเป็นฐานของการพัฒนาชีวิต

๓. มีจิตใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์

๔. มุ่งมั่นฝึกตนจนเต็มสุดภาวะที่ความเป็นคนจะให้ถึงได้

๕. ยึดถือหลักเหตุปัจจัยมองอะไรๆ ตามเหตุและผล

๖. ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท

๗. ฉลาดคิดแยบคายให้ได้ประโยชน์และความจริง

ดูคําอธิบายใน หมวดนํา คนกับความเป็นคน ๑. คนผู้เป็นสัตว์ประเสริฐ

 

๑๖. คนที่จะคบหา

(มิตรแท้-มิตรเทียม)

การคบเพื่อนเป็นเรื่องสำคัญ มีผลต่อความเจริญก้าวหน้าและความเสื่อมของชีวิตอย่างมาก จึงควรทราบหลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องมิตรที่เป็นข้อสำคัญๆ ไว้ ในที่นี้จะแสดงเรื่องคนที่ควรคบ คนที่ไม่ควรคบ และหลักปฏิบัติต่อกันระหว่างมิตรสหาย ดังต่อไปนี้

ก. มิตรเทียม พึงรู้จักมิตรเทียม หรือศัตรูผู้มาในร่างของมิตร (มิตรปฏิรูปก์) ๔ ประเภท ดังนี้

๑. คนปอกลอก ขนเอาของเพื่อนไปฝ่ายเดียว (หรชน6) มีลักษณะ ๔

๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว

๒. ยอมเสียน้อย โดยหวังจะเอาให้มาก

๓. ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน

๔. คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ประโยชน์

๒. คนดีแต่พูด (วจีบรม) มีลักษณะ ๔

๑. ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย

๒. ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย

๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์มิได้

๔. เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง

๓. คนหัวประจบ (อนุปิยภาณี) มีลักษณะ ๔

๑. จะทำชั่วก็เออออ

๒. จะทำดีก็เออออ

๓. ต่อหน้าสรรเสริญ

๔. ลับหลังนินทา

๔. คนชวนฉิบหาย (อปายสหาย) มีลักษณะ ๔

๑. คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา

๒. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน

๓. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการละเล่น

๔. คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

ข. มิตรแท้ พึงรู้จักมิตรแท้ หรือมิตรด้วยใจจริง (สุหทมิตร) ๔ ประเภท ดังนี้

๑. มิตรอุปการะ (อุปการก์) มีลักษณะ ๔

๑. เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน

๒. เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน

๓. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้

๔. มีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก

๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ (สมานสุขทุกข์) มีลักษณะ ๔

๑. บอกความลับแก่เพื่อน

๒. รักษาความลับของเพื่อน

๓. มีภัยอันตรายไม่ละทิ้ง

๔. แม้ชีวิตก็สละให้ได้

๓. มิตรแนะนำประโยชน์ (อัตถักขายี) มีลักษณะ ๔

๑. จะทำชั่วเสียหาย คอยห้ามปรามไว้

๒. แนะนำสนับสนุนให้ตั้งอยู่ในความดี

๓. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง

๔. บอกทางสุขทางสวรรค์ให้

๔. มิตรมีใจรัก (อนุกัมปี7) มีลักษณะ ๔

๑. เพื่อนมีทุกข์ พลอยไม่สบายใจ (ทุกข์ ทุกข์ด้วย)

๒. เพื่อนมีสุข พลอยแช่มชื่นยินดี (สุข สุขด้วย)

๓. เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ให้

๔. เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน

(ที.ปา.๑๑/๑๙๒/๒๐๑)

ค. มิตรต่อมิตร พึงสงเคราะห์อนุเคราะห์กัน ตามหลักปฏิบัติในฐานะที่เป็นเสมือน ทิศเบื้องซ้าย8 ดังนี้

พึงปฏิบัติต่อมิตรสหาย ดังนี้

๑. เผื่อแผ่แบ่งปัน

๒. พูดจามีน้ำใจ

๓. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

๔. มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย

๕. ซื่อสัตย์จริงใจ

มิตรสหายอนุเคราะห์ตอบ ดังนี้

๑. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน

๒. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน

๓. ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้

๔. ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก

๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร

(ที.ปา.๑๑/๒๐๒/๒๐๔)

 

๑๗. คนงาน-นายงาน

(ลูกจ้าง-นายจ้าง)

คนที่มาทำกิจการงานร่วมกัน ในฐานะลูกจ้างฝ่ายหนึ่ง และนายจ้างฝ่ายหนึ่ง ควรปฏิบัติต่อกันให้ถูกต้องตามหน้าที่ เพื่อความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และเพื่อให้งานได้ผลดี โดยทำตามหลักปฏิบัติในทิศ ๖ ข้อที่ว่าด้วย ทิศเบื้องล่าง9 ดังนี้

ก. นายจ้าง พึงบำรุงคนรับใช้และคนงาน ดังนี้

๑. จัดงานให้ทำ ตามความเหมาะสมกับกำลัง เพศ วัย ความสามารถ

๒. ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่

๓. จัดสวัสดิการดี มีช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ เป็นต้น

๔. มีอะไรได้พิเศษมา ก็แบ่งปันให้

๕. ให้มีวันหยุด และพักผ่อนหย่อนใจ ตามโอกาสอันควร

ข. คนรับใช้และคนงาน มีน้ำใจช่วยเหลือนาย ดังนี้

๑. เริ่มทำงานก่อน

๒. เลิกงานทีหลัง

๓. เอาแต่ของที่นายให้

๔. ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น

๕. นำความดีของนายงานและกิจการไปเผยแพร่

(ที.ปา.๑๑/๒๐๓/๒๐๕)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หมวดสอง คนกับชีวิตหมวดสี่ คนกับมรรคา >>

เชิงอรรถ

  1. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๖
  2. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๘
  3. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๘
  4. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๗
  5. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๘
  6. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๙
  7. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๑๐
  8. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๘
  9. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๘

No Comments

Comments are closed.