หมวดสอง คนกับชีวิต

12 มกราคม 2565
เป็นตอนที่ 7 จาก 11 ตอนของ

หมวดสอง

คนกับชีวิต

๘. คนมีชีวิตอยู่อย่างมั่นใจ

(ชีวิตที่เลิศล้ำสมบูรณ์)

คนที่มีความมั่นใจในชีวิตของตน จนไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงแม้ต่อความตาย ก็เพราะได้ดำเนินชีวิตของตนอยู่อย่างดีที่สุด และได้ใช้ชีวิตนั้นให้เกิดคุณประโยชน์คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นอยู่อย่างผู้มีชัย ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต คนเช่นนั้นคือผู้ที่ได้เข้าถึงจุดหมายแห่งการมีชีวิต และดำเนินชีวิตของตนตามหลักการต่อไปนี้

ก. นำชีวิตสู่จุดหมาย คือ ดำเนินชีวิตให้บรรลุประโยชน์ที่เป็นจุดหมายของการมีชีวิต ที่เรียกว่า อัตถะ หรือ อรรถ ๓ คือ

๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ จุดหมายขั้นตาเห็น หรือ ประโยชน์ปัจจุบัน ที่สำคัญ คือ

ก) มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไร้โรค อายุยืนยาว

ข) มีเงินมีงาน มีทรัพย์จากอาชีพสุจริต พึ่งตนได้ทางเศรษฐกิจ

ค) มีสถานภาพดี มียศ เกียรติ ไมตรี เป็นที่นับถือในสังคม

ง) มีครอบครัวที่ผาสุก ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ
ทั้งหมดนี้ พึงให้เกิดมีโดยธรรม และใช้หรือปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สุขโดยชอบ ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

๒. สัมปรายิกัตถะ จุดหมายขั้นเลยตาเห็น หรือ ประโยชน์เบื้องหน้า ที่เป็นคุณค่าของชีวิต ซึ่งให้เกิดความสุขล้ำลึกภายใน โดยเฉพาะ

ก) ความอบอุ่นซาบซึ้งสุขใจ ด้วยศรัทธา มีหลักใจ

ข) ความภูมิใจ ในชีวิตสะอาด ที่ได้ประพฤติแต่การดีงามสุจริต

ค) ความอิ่มใจ ในชีวิตมีคุณค่า ที่ได้เสียสละบำเพ็ญประโยชน์

ง) ความแกล้วกล้ามั่นใจ ด้วยมีปัญญาที่จะแก้ปัญหานำพาชีวิตไป

จ) ความโปร่งโล่งมั่นใจ ว่าได้ทำกรรมดี มีหลักประกันวิถีสู่ภพใหม่

๓. ปรมัตถะ จุดหมายสูงสุด หรือ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การมีปัญญารู้เท่าทันความจริง เข้าถึงธรรมชาติของโลกและชีวิต อันทำให้จิตใจเป็นอิสระ

ก) ไม่หวั่นไหวหรือถูกครอบงำด้วยความผันผวนปรวนแปรต่างๆ

ข) ไม่ผิดหวังโศกเศร้าบีบคั้นจิตเพราะความยึดติดถือมั่นในสิ่งใด

ค) ปลอดโปร่ง สงบ ผ่องใส สดชื่น เบิกบานใจตลอดเวลา

ง) เป็นอยู่และทำการด้วยปัญญาซึ่งมองที่เหตุปัจจัย

อัตถะ ๓ ขั้นนี้ จัดแบ่งใหม่เป็น ๓ ด้านดังนี้

๑. อัตตัตถะ จุดหมายเพื่อตน หรือ ประโยชน์ตน คือ ประโยชน์ ๓ ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงทำให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง หรือพัฒนาชีวิตของตนให้ลุถึง

๒. ปรัตถะ จุดหมายเพื่อผู้อื่น หรือ ประโยชน์ผู้อื่น คือ ประโยชน์ ๓ ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงช่วยเหลือให้ผู้อื่นหรือเพื่อนมนุษย์ได้บรรลุถึง ด้วยการชักนำสนับสนุนให้เขาพัฒนาชีวิตของเขาเองขึ้นไปจนเข้าถึงตามลำดับ

๓. อุภยัตถะ จุดหมายร่วมกัน หรือ ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ ประโยชน์สุขและความดีงามร่วมกันของชุมชนหรือสังคม รวมทั้งภาวะและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทั้งทางวัตถุ เช่น ป่า แม่น้ำ ถนนหนทาง และทางนามธรรม เช่น ศีลธรรม วัฒนธรรม ซึ่งพึงช่วยกันสร้างสรรค์บำรุงรักษา เพื่อเกื้อหนุนให้ทั้งตนและผู้อื่นก้าวไปสู่จุดหมาย ๓ ขั้นข้างต้น อย่างน้อยไม่ให้การแสวงประโยชน์ตนส่งผลกระทบเสียหายต่อประโยชน์สุขของส่วนรวม ดังตัวอย่าง พระภิกษุเมื่อปฏิบัติตามพระวินัย ย่อมช่วยรักษาสามัคคีแห่งสงฆ์ อันเป็นบรรยากาศที่เกื้อหนุนให้ภิกษุที่อยู่ร่วมกันทุกรูปอยู่ผาสุก และเจริญงอกงามในการปฏิบัติ จนอาจลุถึงปรมัตถ์ คือประโยชน์สูงสุด

(ขุ.จู.๓๐/๗๕๕/๓๘๙)

ข. ภายในทรงพลัง คือ มีกำลังที่เกิดจากคุณธรรมความประพฤติปฏิบัติที่เป็นหลักประกันของชีวิต ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจในตนเองจนไม่มีความหวาดหวั่นกลัวภัย เรียกว่า พละ (ธรรมอันเป็นกำลัง) มี ๔ ประการ กล่าวคือ

๑. ปัญญาพละ กำลังปัญญา คือ ได้ศึกษา มีความรู้ความเข้าใจถูกต้องชัดเจน ในเรื่องราวและกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง ตลอดไปถึงสภาวะอันเป็นธรรมดาของโลกและชีวิต เป็นผู้กระทำการต่างๆ ด้วยความเข้าใจเหตุผล และสภาพความจริง

๒. วิริยพละ กำลังความเพียร คือ เป็นผู้ประกอบกิจทำหน้าที่การงานต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ด้วยความบากบั่นพยายาม ไม่ได้ทอดทิ้งหรือย่อหย่อนท้อถอย

๓. อนวัชชพละ1 กำลังสุจริต หรือกำลังความบริสุทธิ์ คือมีความประพฤติและหน้าที่การงาน สุจริตไร้โทษ สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีข้อที่ใครจะติเตียนได้

๔. สังคหพละ กำลังการสงเคราะห์ คือ ได้ช่วยเหลือเกื้อกูล ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ เป็นสมาชิกที่มีคุณประโยชน์ของชุมชน

ตัวอย่างเช่น เป็นข้าราชการ พึงจำสั้นๆ ว่า รู้งานดี ทำหน้าที่ไม่บกพร่อง มือสะอาด ไม่ขาดมนุษยสัมพันธ์

(องฺ.นวก.๒๓/๒๐๙/๓๗๖)

ค. ตั้งตนบนฐานที่มั่น ซึ่งใช้เป็นที่ยืนหยัดให้สามารถยึดเอาผลสำเร็จสูงสุดอันเป็นที่หมายได้ โดยไม่เกิดความสำคัญตนผิด ไม่เปิดช่องแก่ความผิดพลาดเสียหาย และไม่เกิดสิ่งมัวหมองหมักหมมทับถมตน ด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมที่เรียกว่า อธิษฐาน (ธรรมเป็นที่มั่น) ๔ ประการ คือ

๑. ปัญญา ใช้ปัญญา คือ ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ทำกิจการต่างๆ ด้วยความคิด เมื่อประสบเหตุใดๆ ก็ไม่วู่วามตามอารมณ์หรือหลงไปตามสิ่งที่เย้ายวน ศึกษาสิ่งต่างๆ ให้มีความรู้ชัด หยั่งเห็นเหตุผล เข้าใจภาวะของสิ่งทั้งหลายจนเข้าถึงความจริง

๒. สัจจะ รักษาสัจจะ คือ สงวนรักษาดำรงตนมั่นในความจริงที่รู้ชัดเห็นชัดด้วยปัญญา เริ่มแต่จริงวาจา จริงในหลักการ จริงในการปฏิบัติ จนถึงจริงปรมัตถ์

๓. จาคะ เพิ่มพูนจาคะ คือ คอยเสริมหรือทวีความเสียสละ ให้เข้มแข็งมีกำลังแรงยิ่งขึ้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันหรือทัดทานตนไว้มิให้ตกไปเป็นทาสของลาภสักการะและผลสำเร็จเป็นต้นที่ตนได้สร้างขึ้น อันคอยล่อเร้าเย้ายวน ให้เกิดความยึดติด ลำพอง และลุ่มหลงมัวเมา สิ่งใดเคยชินเป็นนิสัย หรือเคยยึดถือไว้ แต่ผิดพลาด ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ก็สามารถละได้ทั้งหมดเริ่มแต่สละอามิสจนถึงสละกิเลส

๔. อุปสมะ รู้จักสงบใจ คือรู้จักหาความสุขสงบทางจิตใจ ฝึกตนให้สามารถระงับความมัวหมอง ดับความขัดข้องวุ่นวายอันเกิดจากกิเลสได้ ทำจิตใจให้สงบผ่องใสรู้จักรสแห่งสันติ คนที่รู้จักรสแห่งความสุขอันเกิดจากความสงบใจแล้ว ย่อมจะไม่หลงใหลมัวเมาในวัตถุ หรือลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นต้น โดยง่าย

(ม.อุ.๑๔/๖๘๒/๔๓๗)

 

๙. คนประสบความสำเร็จ

(ชีวิตที่ก้าวหน้าและสำเร็จ)

ผู้ที่ต้องการดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะในด้านการศึกษา หรืออาชีพการงานก็ตาม พึงปฏิบัติตามหลักต่อไปนี้

ก. หลักความเจริญ ปฏิบัติตามหลักธรรม ที่จะนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ที่เรียกว่า จักร (ธรรมประดุจล้อทั้งสี่ที่นำรถไปสู่จุดหมาย) ซึ่งมี ๔ ข้อ คือ

๑. ปฏิรูปเทสวาสะ เลือกอยู่ถิ่นที่เหมาะ คือ เลือกหาถิ่นที่อยู่ หรือแหล่งเล่าเรียนดำเนินชีวิตที่ดี ซึ่งมีบุคคลและสิ่งแวดล้อมที่อำนวยแก่การศึกษา พัฒนาชีวิต การแสวงธรรมหาความรู้ การสร้างสรรค์ความดีงาม และความเจริญก้าวหน้า

๒. สัปปุริสูปัสสยะ เสาะเสวนาคนดี คือ รู้จักเสวนาคบหา หรือร่วมหมู่กับบุคคลผู้รู้ ผู้ทรงคุณ และผู้ที่จะเกื้อกูลแก่การแสวงธรรมหาความรู้ ความก้าวหน้างอกงาม และความเจริญโดยธรรม

๓. อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ถูกวิถี คือ ดำรงตนมั่นอยู่ในธรรมและทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ตั้งเป้าหมายชีวิตและการงานให้ดีงามแน่ชัด และนำตนไปถูกทางสู่จุดหมาย แน่วแน่ มั่นคง ไม่พร่าส่าย ไม่ไถลเชือนแช

๔. ปุพเพกตปุญญตา มีทุนดีได้เตรียมไว้ ทุนดีส่วนหนึ่ง คือ ความมีสติปัญญา ความถนัด และร่างกายดี เป็นต้น ที่เป็นพื้นมาแต่เดิม และอีกส่วนหนึ่ง คือ อาศัยพื้นเดิมเท่าที่ตัวมีอยู่ รู้จักแก้ไขปรับปรุงตน ศึกษาหาความรู้ สร้างเสริมคุณสมบัติ ความดีงาม ฝึกฝนความชำนิชำนาญเตรียมไว้ก่อนแต่ต้น ซึ่งเมื่อมีเหตุต้องใช้ ก็จะเป็นผู้พร้อมที่จะต้อนรับความสำเร็จ สามารถสร้างสรรค์ ประโยชน์สุข และก้าวสู่ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

(องฺ.จตุกฺก.๒๑/๓๑/๔๑)

ข. หลักความสำเร็จ ปฏิบัติตามหลักธรรม ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จแห่งกิจการนั้นๆ ที่เรียกว่า อิทธิบาท (ธรรมให้ถึงความสำเร็จ) ซึ่งมี ๔ ข้อ คือ

๑. ฉันทะ มีใจรัก คือ พอใจจะทำสิ่งนั้น และทำด้วยใจรัก ต้องการทำให้เป็นผลสำเร็จอย่างดีแห่งกิจหรืองานที่ทำ มิใช่สักว่าทำพอให้เสร็จๆ หรือ เพียงเพราะอยากได้รางวัลหรือผลกำไร

๒. วิริยะ พากเพียรทำ คือ ขยันหมั่นประกอบ หมั่นกระทำสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระ ไม่ทอดทิ้ง ไม่ท้อถอย ก้าวไปข้างหน้าจนกว่าจะสำเร็จ

๓. จิตตะ เอาจิตฝักใฝ่ คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำ และทำสิ่งนั้นด้วยความคิด ไม่ปล่อยจิตใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย ใช้ความคิดในเรื่องนั้นบ่อยๆ เสมอๆ ทำกิจหรืองานนั้นอย่างอุทิศตัวอุทิศใจ

๔. วิมังสา ใช้ปัญญาสอบสวน คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล และตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนเกินเลยบกพร่องขัดข้อง เป็นต้น ในสิ่งที่ทำนั้น โดยรู้จักทดลอง วางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น เพื่อจัดการและดำเนินงานนั้นให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไป

ตัวอย่างเช่น ผู้ทำงานทั่วๆ ไป อาจจำสั้นๆ ว่า รักงาน สู้งาน ใส่ใจงาน และทำงานด้วยปัญญา

(ที.ปา. ๑๑/๒๓๑/๒๓๓)

ค. หลักเผล็ดโพธิญาณ ดำเนินตามพระพุทธปฏิปทา ด้วยการปฏิบัติตามธรรม ๒ อย่างที่เป็นเหตุให้พระองค์บรรลุสัมโพธิญาณ เรียกว่า อุปัญญาตธรรม (ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติเห็นคุณประจักษ์กับพระองค์เอง) คื

๑. อสนฺตุฏฺตา กุสเลสุ ธมฺเมสุ ไม่สันโดษในกุศลธรรม คือ ไม่รู้อิ่ม ไม่รู้พอ ในการสร้างสรรค์ทำความดีและสิ่งที่ดี

๒. อปฺปฏิวาณิตา จ ปธานสฺมึ บำเพ็ญเพียรไม่ระย่อ คือ เพียรพยายามก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ยอมถอยหลัง ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมท้อถอยต่ออุปสรรค และความเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก

(ที.ปา.๑๑/๒๒๗/๒๒๓)

 

๑๐. คนรู้จักทำมาหาเลี้ยงชีพ

(ชีวิตที่เป็นหลักฐาน)

คนที่จะเรียกได้ว่า รู้จักหา รู้จักใช้ทรัพย์ หรือหาเงินเป็น ใช้เงินเป็น เป็นคนทำมาหากินที่ดี ตั้งตัวสร้างหลักฐานได้ และใช้ทรัพย์สมบัติให้เป็นประโยชน์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางเศรษฐกิจอย่างถูกต้อง ก็เพราะปฏิบัติตามหลักธรรมต่อไปนี้

ก. ขั้นหาและรักษาสมบัติ ปฏิบัติตามหลักธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน หรือหลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น ที่เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม2 ๔ ประการ

๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียร ในการปฏิบัติหน้าที่การงาน และการประกอบอาชีพที่สุจริต ฝึกฝนให้มีความชำนิชำนาญและรู้จริง รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง ตรวจตรา หาวิธีการที่เหมาะที่ดี จัดการและดำเนินการให้ได้ผลดี

๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รู้จักคุ้มครอง เก็บรักษาโภคทรัพย์และผลงานที่ตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม ด้วยกำลังงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย

๓. กัลยาณมิตตตา คบหาคนดีเป็นมิตร คือ รู้จักเสวนาคบหาคน ไม่คบไม่เอาอย่างผู้ที่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย เลือกเสวนาศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณ ผู้มีความสามารถ ผู้น่าเคารพนับถือ และมีคุณสมบัติเกื้อกูลแก่อาชีพการงาน

๔. สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตแต่พอดี คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่าย เป็นอยู่พอดีสมรายได้ มิให้ฝืดเคืองหรือฟุ่มเฟือย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้

(องฺ.อฏฺก.๒๓/๑๔๔/๒๘๙)

ข. ขั้นแจงจัดสรรทรัพย์ เมื่อหาทรัพย์มาได้แล้ว รู้จักจัดสรรทรัพย์นั้น โดยถือหลักการแบ่งทรัพย์เป็น ๔ ส่วน ที่เรียกว่า โภควิภาค ๔ คือ

– เอเกน โภเค ภุญฺเชยฺย

๑ ส่วน ใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรเลี้ยง และทำประโยชน์

– ทฺวีหิ กมฺมํ ปโยชเย

๒ ส่วน ใช้เป็นทุนประกอบการงาน

– จตุตฺถญฺจ นิธาเปยฺย อาปทาสุ ภวิสฺสติ

อีก ๑ ส่วน เก็บเป็นทุนประกันไวัเผื่อคราวจำเป็นหรือมีภัย

(ที.ปา.๑๑/๑๙๗/๒๐๒)

ค. ขั้นจับจ่ายกินใช้ พึงเข้าใจและคำนึงไว้เสมอว่า การที่เพียรพยายามแสวงหา รักษา และครอบครองโภคทรัพย์ไว้นั้น ก็เพื่อจะใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและคนอื่น ถ้าไม่ใช้ทรัพย์สมบัติให้เกิดคุณประโยชน์แล้ว การหาและการมีทรัพย์สมบัติก็ปราศจากคุณค่า หาความหมายใดๆ มิได้

ดังนั้น เมื่อมีทรัพย์หรือหาทรัพย์มาได้แล้ว พึงปฏิบัติต่อทรัพย์หนึ่งส่วนแรกในข้อ ข. ตามหลัก โภคาทิยะ (ประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคะ หรือเหตุผลที่อริยสาวกควรยึดถือ ในการที่จะมีหรือครอบครองทรัพย์สมบัติ) ๕ ประการ ดังพุทธพจน์ว่า

อริยสาวกแสวงหาโภคทรัพย์มาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง ความขยันหมั่นเพียรของตน และโดยทางสุจริตชอบธรรมแล้ว

๑. เลี้ยงตัว เลี้ยงมารดาบิดา บุตร ภรรยา และคนในปกครองทั้งหลายให้เป็นสุข

๒. บำรุงมิตรสหาย และผู้ร่วมกิจการงานให้เป็นสุข

๓. ใช้ปกป้องรักษาสวัสดิภาพ ทำตนให้มั่นคงปลอดจากภยันตราย

๔. ทำพลี คือ สละเพื่อบำรุงและบูชา ๕ อย่าง

(๑) ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ

(๒) อติถิพลี ต้อนรับแขก

(๓) ปุพพเปตพลี ทำบุญหรือสักการะอุทิศผู้ล่วงลับ

(๔) ราชพลี บำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น

(๕) เทวตาพลี ถวายเทวดา คือ ทำบุญอุทิศสิ่งที่เคารพบูชาตามความเชื่อถือ

๕. อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ และเหล่าบรรพชิตผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา

เมื่อได้ใช้โภคทรัพย์ทำประโยชน์อย่างนี้แล้ว ถึงโภคะจะหมดสิ้นไป ก็สบายใจได้ว่า ได้ใช้โภคะนั้นให้เป็นประโยชน์สมตามเหตุผลแล้ว ถึงโภคะเพิ่มขึ้น ก็สบายใจ เช่นเดียวกัน เป็นอันไม่ต้องเดือดร้อนใจในทั้งสองกรณี

(องฺ.ปญฺจก.๒๒/๔๑/๔๘)

การใช้จ่ายใน ๕ ข้อนี้ ท่านมุ่งแจกแจงรายการที่พึงจ่าย ให้รู้ว่าควรใช้ทรัพย์ทำอะไรบ้าง มิใช่หมายความว่าให้แบ่งส่วนเท่ากันไปทุกข้อ นอกจากนั้น ท่านมุ่งกล่าวเฉพาะรายการที่พึงจ่ายเป็นประจำสำหรับคนทั่วไป แต่ถ้าผู้ใดสามารถ ก็ควรบำเพ็ญประโยชน์ให้มากขึ้นไปอีก ตามหลัก สังคหวัตถุ (ในบทที่ ๔) เป็นต้น

 

๑๑. คนครองเรือนที่เลิศล้ำ

(ชีวิตบ้านที่สมบูรณ์)

คนที่จะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในการครองเรือน เป็นคฤหัสถ์หรือชาวบ้านที่ดี น่าเคารพนับถือเป็นแบบฉบับ ควรถือเป็นตัวอย่าง จะต้องวัดด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้

ก. มีความสุขสี่ประการ คือ ความสุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี หรือความสุขที่ชาวบ้านควรพยายามทำให้เกิดขึ้นแก่ตนอยู่เสมอ เรียกสั้นๆ ว่า สุขของคฤหัสถ์ (กามโภคีสุข) ๔ คือ

๑. อัตถิสุข สุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มและอุ่นใจว่า ตนมีโภคทรัพย์ ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง ความขยันหมั่นเพียรของตน และโดยทางชอบธรรม

๒. โภคสุข สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบนั้น เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงผู้ที่ควรเลี้ยง และบำเพ็ญคุณประโยชน์

๓. อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนเป็นไท ไม่มีหนี้สินติดค้างใคร

๔. อนวัชชสุข สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครติเตียนไม่ได้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ3

บรรดาสุข ๔ อย่างนี้ อนวัชชสุขมีค่ามากที่สุด

(องฺ.จตุกฺก.๒๑/๖๒/๙๑)

ข. เป็นชาวบ้านแบบฉบับ คนครองเรือน แยกได้เป็นหลายประเภท จัดเป็นขั้นๆ ได้ตั้งแต่ร้ายไปถึงดี และที่ดีก็มีหลายระดับ คฤหัสถ์ที่ดี น่าเคารพนับถือแท้จริง คือประเภทที่ ๑๐ ใน ชาวบ้าน ๑๐ ประเภทต่อไปนี้

กลุ่มที่ ๑ หาทรัพย์โดยทางไม่ชอบธรรม

๑. ได้ทรัพย์มาแล้ว ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ทั้งไม่เผื่อแผ่แบ่งปันและไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี = เสียทั้ง ๓ ส่วน

๒. ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข แต่ไม่เผื่อแผ่แบ่งปันและไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี = เสีย ๒ ส่วน ดี ๑ ส่วน

๓. ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุขด้วย เผื่อแผ่แบ่งปันและใช้ทรัพย์นั้นทำความดีด้วย = เสีย ๑ ส่วน ดี ๒ ส่วน

กลุ่มที่ ๒ หาชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง

๔. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๑ = เสีย ๓ ดี ๑

๕. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๒ = เสีย ๒ ดี ๒

๖. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๓ = เสีย ๑ ดี ๓

กลุ่มที่ ๓ หาโดยชอบธรรม

๗. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๑ = เสีย ๒ ดี ๑

๘. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๒ = เสีย ๑ ดี ๒

๙. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๓ แต่ยังติด ยังมัวเมา หมกมุ่น กินใช้ทรัพย์สมบัติ โดยไม่รู้เท่าทันเห็นโทษ ไม่มีปัญญาที่จะทำตนให้เป็นอิสระเป็นนายเหนือโภคทรัพย์ได้ = เสีย ๑ ดี

พวกพิเศษ: ผู้ที่แสวงหาชอบธรรม และใช้อย่างมีสติ-สัมปชัญญะ มีจิตใจเป็นอิสระ มีลักษณะดังนี้

๑๐. แสวงหาทรัพย์โดยทางชอบธรรม;

  ได้มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข;

  เผื่อแผ่แบ่งปัน และใช้ทรัพย์นั้นทำความดี;

ไม่ลุ่มหลง ไม่หมกมุ่นมัวเมา กินใช้ทรัพย์สมบัติโดยรู้เท่าทัน เห็นคุณโทษ ทางดีทางเสียของมัน มีปัญญาทำตนให้เป็นอิสระ เป็นนายเหนือโภคทรัพย์

ประเภทที่ ๑๐ นี้ พระพุทธเจ้าสรรเสริญว่า เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ สูงสุด ควรชมทั้ง ๔ สถาน คือ เป็นคฤหัสถ์แบบฉบับ ที่น่าเคารพนับถือ

(องฺ.ทสก.๒๔/๙๑/๑๘๘)

ค. กำกับชีวิตด้วยธรรมสี่ คือ ปฏิบัติตามหลักธรรมสำหรับการครองชีวิตของคฤหัสถ์ ที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม4 ประการ ดังนี้

๑. สัจจะ ตรงจริง คือ ดำรงมั่นในสัจจะ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง จะทำอะไรก็ให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้

๒. ทมะ ฝึกตน คือ บังคับควบคุมตนเองได้ รู้จักปรับตัว และแก้ไขปรับปรุงตนให้ก้าวหน้าดีงามยิ่งขึ้นอยู่เสมอ

๓. ขันติ อดทน คือ มุ่งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็งอดทน ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมาย ไม่ท้อถอย

๔. จาคะ เสียสละ คือ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ ชอบช่วยเหลือเกื้อกูล บำเพ็ญประโยชน์ สละโลภ ละทิฐิมานะได้ ร่วมงานกับคนอื่นได้ ไม่ใจแคบเห็นแก่ตัวหรือเอาแต่ใจตน

(ขุ.สุ.๒๕/๓๑๑/๓๖๑)

ง. รับผิดชอบชีวิตที่เกี่ยวข้อง คือ มีความสัมพันธ์อันดีงามอบอุ่นเป็นสุขภายในครอบครัว ตลอดถึงญาติมิตร ผู้ร่วมงาน และคนที่พึ่งพาอาศัยอยู่ในปกครองทั้งหมด โดยทำหน้าที่มิใช่เพียงนำประโยชน์ทางวัตถุมาให้เขาอย่างเดียว แต่นำประโยชน์สุขทางจิตใจมาให้ด้วย โดยประพฤติตนเป็นตัวอย่าง ช่วยชักจูงให้คนในครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้นด้วยคุณธรรมที่เรียกว่า อารยวัฒิ ๕ ดังต่อไปนี้

๑. งอกงามด้วยศรัทธา คือ ให้มีความเชื่อความมั่นใจในพระรัตนตรัย และในการที่จะทำความดี มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ

๒. งอกงามด้วยศีล คือ ให้มีความประพฤติดีงาม สุจริต รู้จักเลี้ยงชีวิต มีวินัย และมีกิริยามารยาทอันงาม

๓. งอกงามด้วยสุตะ คือ ให้มีความรู้จากการเล่าเรียนสดับฟัง โดยแนะนำหรือขวนขวายให้ศึกษาหาความรู้ที่จะฟื้นฟูปรับปรุงชีวิตจิตใจ

๔. งอกงามด้วยจาคะ คือ ให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจต่อกัน และพอใจทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์

๕. งอกงามด้วยปัญญา คือ ให้มีความรู้คิด เข้าใจเหตุผล รู้ดี รู้ชั่ว รู้คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ มองสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง มีวิจารณญาณ รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาเหตุปัจจัย แก้ไขปัญหา และจัดทำดำเนินการต่างๆ ให้ได้ผลดี

(องฺ.ปญฺจก.๒๒/๔๐/๔๗)

จ. ครองตนเป็นพลเมืองที่ดี นำชีวิตและครอบครัวของตนไปสู่ความเจริญ สงบสุข และเป็นพลเมืองที่สร้างสรรค์สังคม โดยประพฤติ ดังนี้

๑. น สาธารณทารสฺส   ไม่ทิ้งบ้านไปสาธารณ์มั่วการเพศ

๒. น ภุญฺเช สาธุเมกโก   ไม่ใจแคบเสพสิ่งเลิศรสแต่ผู้เดียว

๓. น เสเว โลกายติกํ   ไม่พร่าเวลาถกถ้อยที่เลื่อนลอยไร้สาระ

๔. สีลวา   ประพฤติดี มีวินัย ตั้งอยู่ในศีล ๕

๕. วตฺตสมฺปนฺโน   ปฏิบัติกิจหน้าที่สม่ำเสมอโดยสมบูรณ์

๖. อปฺปมตฺโต   ไม่ประมาท กระตือรือร้นทุกเวลา

๗. วิจกฺขโณ   มีวิจารณญาณ ทำการโดยใช้ปัญญา

๘. นิวาตวุตฺติ อตฺถทฺโธ   สุภาพ ไม่ดื้อกระด้าง ยินดีรับฟังผู้อื่น

๙. สุรโต   คุมตัวให้สงบงาม รักความประณีตหมดจด

๑๐. สขิโล มุทุ   พูดจาน่าฟัง ทั้งใจกายก็อ่อนโยน ไม่หยาบคาย

๑๑. สงฺคเหตา จ มิตฺตานํ   มีน้ำใจเอื้อสงเคราะห์ต่อมิตรสหาย

๑๒. สํวิภาคี   เผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือคนทั่วไป

๑๓. วิธานวา   รู้จักจัดการงานให้เรียบร้อยและได้ผลดี

๑๔. ตปฺเปยฺย   บำรุงพระสงฆ์ทรงความรู้ ผู้ทรงศีลทรงธรรม

๑๕. ธมฺมกาโม   ใคร่ธรรม รักความสุจริต

๑๖. สุตาธโร   อ่านมากฟังมาก รู้วิชาของตนเชี่ยวชาญ

๑๗. ปริปุจฺฉโก   ชอบสอบถามค้นคว้า ใฝ่หาความรู้ยิ่งขึ้นไป

(ขุ.ชา.๒๘/๙๔๙/๓๓๒)

 

๑๒. คนไม่หลงโลก

(ชีวิตที่ไม่ถลำพลาด)

บุคคลที่ไม่ประมาทมัวเมาจนตกเป็นทาสของโลกและชีวิต อย่างที่เรียกได้ว่า หลงโลก เมาชีวิต ก็เพราะมีสติ รู้จักมอง รู้จักพิจารณา รู้จักวางตัววางใจต่อความจริงต่างๆ อันมีประจำอยู่กับโลกและชีวิตเป็นคติธรรมดา ดังนี้

ก. รู้ทันโลกธรรม คือ รู้จักพิจารณา รู้เท่าทัน ตั้งสติให้ถูกต้องต่อสภาวะอันหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ในชีวิตที่อยู่ท่ามกลางโลก ซึ่งเรียกว่า โลกธรรม (ธรรมดาของโลกหรือความเป็นไปตามคติธรรมดา ซึ่งหมุนเวียนมาหาชาวโลก และชาวโลกก็หมุนเวียนตามมันไป) ๘ ประการ คือ

   ชื่นชม                  ขมขื่น

๑. ได้ลาภ          ๒. เสื่อมลาภ

๓. ได้ยศ            ๔. เสื่อมยศ

๕. สรรเสริญ       ๖. นินทา

๗. สุข               ๘. ทุกข์

โลกธรรม ๘ นี้ จัดเป็น ๒ ฝ่าย คือ ที่ชื่นชมน่าปรารถนาน่าชอบใจ คนทั่วไปอยากได้ เรียกว่า อิฏฐารมณ์ พวกหนึ่ง ที่ขมขื่น ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ คนทั่วไปเกลียดกลัว เรียกว่า อนิฏฐารมณ์ พวกหนึ่ง แต่จะชอบใจอยากได้หรือไม่ก็ตาม โลกธรรมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แก่ทุกคน ทั้งแก่ปุถุชนผู้ไม่มีการศึกษา และแก่อริยสาวกผู้มีการศึกษา จะแตกต่างกัน ก็แต่การวางใจและการปฏิบัติตนต่อสิ่งเหล่านี้ กล่าวคือ

๑. ปุถุชนผู้ไม่มีการศึกษา ไม่รู้จักฝึกอบรมตน ย่อมไม่เข้าใจ ไม่รู้เท่าทันตามความเป็นจริง ลุ่มหลงลืมตน ยินดียินร้าย คราวได้ก็หลงใหลมัวเมา หรือลำพองจนเหลิงลอย คราวเสียก็หงอยละเหี่ยหมดกำลังหรือถึงกับคลุ้มคลั่งไป ปล่อยให้โลกธรรมเข้าครอบงำย่ำยีจิต ฟูยุบเรื่อยไป ไม่พ้นจากทุกข์โศก

๒. ส่วนผู้มีการศึกษา เป็นอริยสาวก รู้จักพิจารณารู้เท่าทันตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ที่เกิดขึ้นแก่ตน ล้วนไม่เที่ยง ไม่คงทน ไม่สมบูรณ์ มีความแปรปรวนได้เป็นธรรมดา จึงไม่หลงใหลมัวเมาเคลิ้มไปตามอิฏฐารมณ์ ไม่ขุ่นมัวหม่นหมองคลุ้มคลั่งไปในเพราะอนิฏฐารมณ์ มีสติดำรงอยู่ได้ วางตัววางใจพอดี ไม่เหลิงในสุขและไม่ถูกทุกข์ท่วมทับ

ยิ่งกว่านั้น อริยสาวกอาจใช้โลกธรรมเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ เช่น ใช้อนิฏฐารมณ์เป็นบทเรียน บททดสอบ หรือเป็นแบบฝึกหัดในการพัฒนาตน และใช้อิฏฐารมณ์เป็นโอกาสหรือเป็นอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ความดีงามและบำเพ็ญคุณประโยชน์ให้ยิ่งขึ้นไป

(องฺ.อฏฺก.๒๓/๙๖/๑๕๙)

ข. ไม่มองข้ามเทวทูต คือ รู้จักมอง รู้จักพิจารณาสภาวะที่ปรากฏอยู่เสมอในหมู่มนุษย์ อันเป็นสัญญาณเตือนใจให้ระลึกถึงคติธรรมดาของชีวิต ที่ไม่ควรลุ่มหลงมัวเมา ซึ่งเรียกว่า เทวทูต (สื่อแจ้งข่าวของยมเทพ หรือตัวแทนของพญายม) ๕ อย่าง คือ

๑. เด็กอ่อน ว่าคนเราทุกคนเกิดมา ก็อย่างนี้ เพียงเท่านี้

๒. คนแก่ ว่าทุกคน หากมีชีวิตอยู่ได้นาน ก็ต้องประสบภาวะเช่นนี้

๓. คนเจ็บ ว่าภาวะเช่นนี้ เราทุกคนอาจประสบได้ด้วยกันทั้งนั้น

๔. คนต้องโทษ ว่ากรรมชั่วนั้น ไม่ต้องพูดถึงตายไป แม้ในบัดนี้ก็มีผลเดือดร้อนเป็นทุกข์

๕. คนตาย ว่าภาวะเช่นนี้ เราทุกคนต้องได้พบ ไม่มีใครพ้น และกำหนดไม่ได้ว่า ที่ไหน เมื่อใด

มองเห็นสภาพเช่นนี้เมื่อใด เช่น เมื่อผ่านเข้าไปในสุสาน ทัณฑสถาน และโรงพยาบาลเป็นต้น ก็มิให้มีใจหดหู่หรือหวาดกลัว แต่ให้มีสติ รู้จักใช้ปัญญาพิจารณา จะได้เกิดความสังเวช เร่งขวนขวายประกอบแต่กัลยาณกรรม คือ การกระทำที่ดีงาม ดำเนินชีวิตด้วยความไม่มัวเมา ไม่ประมาท

(ม.อุ.๑๔/๕๐๗/๓๓๕)

ค. คำนึงสูตรแห่งชีวิต แม้ไม่ใช่เวลาที่มองเห็นเทวทูต ก็ควรพิจารณาอยู่เสมอ ตามหลักที่เรียกว่า อภิณหปัจจเวกขณ์ (สิ่งที่ทุกคน ไม่ว่าหญิง ไม่ว่าชาย ไม่ว่าชาวบ้าน ไม่ว่าชาววัด ควรหัดพิจารณาเนืองๆ) ซึ่งมีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑. ชราธัมมตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้

๒. พยาธิธัมมตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความเจ็บป่วยไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้

๓. มรณธัมมตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

๔. ปิยวินาภาวตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจักต้องประสบความพลัดพราก ทั้งจากคนและของที่รักที่ชอบใจไปทั้งสิ้น

๕. กัมมัสสกตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น

เมื่อพิจารณาอยู่เสมออย่างนี้ ก็จะช่วยป้องกันความมัวเมา ในความเป็นหนุ่มสาว ในทรัพย์สมบัติ และในชีวิต เป็นต้น บรรเทาความลุ่มหลง ความถือมั่นยึดติด และป้องกันการทำความทุจริต ทำให้เร่งขวนขวายทำแต่สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์

(องฺ.ปญฺจก.๒๒/๕๗/๘๑)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หมวดหนึ่ง คนกับสังคมหมวดสาม คนกับคน >>

เชิงอรรถ

  1. แปลตามศัพท์ว่า กำลังการกระทำที่ปราศจากโทษ
  2. ดูบันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๔
  3. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๕
  4. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๖

No Comments

Comments are closed.