หมวดสี่ คนกับมรรคา

12 มกราคม 2565
เป็นตอนที่ 9 จาก 11 ตอนของ

หมวดสี่

คนกับมรรคา

๑๘. คนผู้สั่งสอนหรือให้การศึกษา

(ครู อาจารย์ หรือผู้แสดงธรรม)

ผู้ทำหน้าที่สั่งสอน ให้การศึกษาแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะครู อาจารย์ พึงประกอบด้วยคุณสมบัติ และประพฤติตามหลักปฏิบัติ ดังนี้

ก. เป็นกัลยาณมิตร คือ ประกอบด้วยองค์คุณของกัลยาณมิตร หรือ กัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการ ดังนี้

๑. ปิโย น่ารัก คือ มีเมตตากรุณา ใส่ใจคนและประโยชน์สุขของเขา เข้าถึงจิตใจ สร้างความรู้สึกสนิทสนมเป็นกันเอง ชวนใจผู้เรียนให้อยากเข้าไปปรึกษาไต่ถาม

๒. ครุ น่าเคารพ คือ เป็นผู้หนักแน่น ถือหลักการเป็นสำคัญ และมีความประพฤติสมควรแก่ฐานะ ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย

๓. ภาวนีโย น่าเจริญใจ คือ มีความรู้จริง ทรงภูมิปัญญาแท้จริง และเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตนอยู่เสมอ เป็นที่น่ายกย่องควรเอาอย่าง ทำให้ศิษย์เอ่ยอ้างและรำลึกถึงด้วยความซาบซึ้ง มั่นใจ และภาคภูมิใจ

๔. วตฺตา รู้จักพูดให้ได้ผล คือ รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไร อย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี

๕. วจนกฺขโม อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถาม แม้จุกจิก ตลอดจนคำล่วงเกินและคำตักเตือนวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ อดทนฟังได้ ไม่เบื่อหน่าย ไม่เสียอารมณ์1

๖. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้ คือ กล่าวชี้แจงเรื่องต่างๆ ที่ยุ่งยากลึกซึ้งให้เข้าใจได้ และสอนศิษย์ให้ได้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

๗. โน จฏฺาเน นิโยชเย ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่ชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสีย หรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร

(องฺ.สตฺตก.๒๓/๓๔/๓๓)

ข. ตั้งใจประสิทธิ์ความรู้ โดยตั้งตนอยู่ในธรรมของผู้แสดงธรรม ที่เรียกว่า ธรรมเทศกธรรม ๕ ประการ คือ

๑. อนุบุพพิกถา สอนให้มีขั้นตอนถูกลำดับ คือ แสดงหลักธรรม หรือเนื้อหา ตามลำดับความง่ายยากลุ่มลึก มีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปโดยลำดับ

๒. ปริยายทัสสาวี จับจุดสำคัญมาขยายให้เข้าใจเหตุผล คือ ชี้แจง ยกเหตุผลมาแสดง ให้เข้าใจชัดในแต่ละแง่แต่ละประเด็น อธิบายยักเยื้องไปต่างๆ ให้มองเห็นกระจ่างตามแนวเหตุผล

๓. อนุทยตา ตั้งจิตเมตตาสอนด้วยความปรารถนาดี คือ สอนเขาด้วยจิตเมตตา มุ่งจะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้รับคำสอน

๔. อนามิสันดร ไม่มีจิตเพ่งเล็งมุ่งเห็นแก่อามิส คือ สอนเขามิใช่มุ่งที่ตนจะได้ลาภ สินจ้าง หรือผลประโยชน์ตอบแทน

๕. อนุปหัจจ์2 วางจิตตรงไม่กระทบตนและผู้อื่น คือ สอนตามหลักตามเนื้อหา มุ่งแสดงอรรถ แสดงธรรม ไม่ยกตน ไม่เสียดสีข่มขี่ผู้อื่น

(องฺ.ปญฺจก.๒๒/๑๕๙/๒๐๕)

ค. มีลีลาครูครบทั้งสี่ ครูที่สามารถมีลีลาของนักสอน ดังนี้

๑. สันทัสสนา ชี้ให้ชัด จะสอนอะไร ก็ชี้แจงแสดงเหตุผล แยกแยะอธิบาย ให้ผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง ดังจูงมือไปดูเห็นกับตา

๒. สมาทปนา ชวนให้ปฏิบัติ บรรยายให้มองเห็นความสำคัญ และซาบซึ้งในคุณค่า เห็นสมจริง จนผู้ฟังยอมรับ อยากลงมือทำ หรือนำไปปฏิบัติ

๓. สมุตเตชนา เร้าให้กล้า ปลุกใจให้คึกคัก เกิดความกระตือรือร้น มีกำลังใจแข็งขัน มั่นใจที่จะทำให้สำเร็จ ไม่กลัวเหน็ดเหนื่อยหรือยากลำบาก

๔. สัมปหังสนา ปลุกให้ร่าเริง ทำบรรยากาศให้สนุกสดชื่น แจ่มใส เบิกบานใจ ให้ผู้ฟังแช่มชื่น มีความหวัง มองเห็นผลดีและทางสำเร็จ

จำสั้นๆ ว่า แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง

(เช่น ที.สี.๙/๑๙๘/๑๖๑)

ง. มีหลักตรวจสอบสาม เมื่อพูดอย่างรวบรัดที่สุด ครูอาจตรวจสอบตนเองด้วยลักษณะการสอนของพระบรมครู ๓ ประการ คือ

๑. สอนด้วยความรู้จริง รู้จริง ทำได้จริง จึงสอนเขา

๒. สอนอย่างมีเหตุผล ให้เขาพิจารณาเข้าใจแจ้งด้วยปัญญาของเขาเอง

๓. สอนให้ได้ผลจริง สำเร็จความมุ่งหมายของเรื่องที่สอนนั้นๆ เช่น ให้เข้าใจจริง เห็นความจริง ทำได้จริง นำไปปฏิบัติได้ผลจริง เป็นต้น

(องฺ.ติก.๒๐/๕๖๕/๓๕๖)

จ. ทำหน้าที่ครูต่อศิษย์ คือ ปฏิบัติต่อศิษย์ โดยอนุเคราะห์ตามหลักธรรม เสมือนเป็น ทิศเบื้องขวา3 ดังนี้

๑. แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี

๒. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

๓. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง

๔. ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ

๕. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ สอนฝึกศิษย์ให้ใช้วิชาเลี้ยงชีพได้จริง และรู้จักดำรงตนด้วยดี ที่จะเป็นประกันให้ดำเนินชีวิตดีงามโดยสวัสดี มีความสุขความเจริญ4

(ที.ปา.๑๑/๒๐๐/๒๐๓) 

 

๑๙. คนผู้เล่าเรียนศึกษา

(นักเรียน นักศึกษา นักค้นคว้า)

คนที่เล่าเรียนศึกษา จะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือนักค้นคว้าก็ตาม นอกจากจะพึงปฏิบัติตามหลักธรรมสำหรับคนที่จะประสบความสำเร็จ คือ จักร ๔5 และ อิทธิบาท ๔6 แล้ว ยังมีหลักการที่ควรรู้ และหลักปฏิบัติที่ควรประพฤติอีก ดังต่อไปนี้

ก. รู้หลักบุพภาคของการศึกษคือ รู้จักองค์ประกอบที่เป็น ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒ ประการ ดังนี้

๑. องค์ประกอบภายนอกที่ดี ได้แก่ มีกัลยาณมิตร หมายถึง รู้จักหาผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษา เพื่อน หนังสือ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทางสังคมโดยทั่วไป ที่ดี ที่เกื้อกูล ซึ่งจะชักจูง หรือกระตุ้นให้เกิดปัญญาได้ ด้วยการฟัง การสนทนา ปรึกษา ซักถาม การอ่าน การค้นคว้า ตลอดจนการรู้จักเลือกใช้สื่อมวลชนให้เป็นประโยชน์

๒. องค์ประกอบภายในที่ดี ได้แก่ โยนิโสมนสิการ หมายถึง การใช้ความคิดถูกวิธี รู้จักคิด หรือคิดเป็น คือ มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา สืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ออกให้เห็นตามสภาวะ และตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย จนเข้าถึงความจริง และแก้ปัญหาหรือทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้

(ม.มู.๑๒/๔๙๗/๕๓๙)

กล่าวโดยย่อว่า

ข้อหนึ่ง รู้จักสัมพันธ์ ให้ได้ประโยชน์จากคนและสิ่งที่แวดล้อม

ข้อสอง รู้จักพึ่งตนเอง และทำตัวให้เป็นที่พึ่งของผู้อื่น

ข. มีหลักประกันของชีวิตที่พัฒนา เมื่อรู้หลักบุพภาคของการศึกษา ๒ อย่างแล้ว พึงนํามาปฏิบัติในชีวิตจริง พร้อมกับสร้างคุณสมบัติอื่นอีก ๕ ประการให้มีในตน รวมเป็นองค์ ๗ ที่เรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม หรือ รุ่งอรุณของการศึกษา

องค์ ๗ นั้น พระพุทธเจ้าทรงเปรียบว่าเหมือนแสงอรุณเป็นบุพนิมิตแห่งอาทิตย์อุทัย เพราะเป็นคุณสมบัติต้นทุนที่เป็นหลักประกันว่า จะทําให้ก้าวหน้าไปในการศึกษา และชีวิตจะพัฒนาสู่ความดีงามและความสําเร็จที่สูงประเสริฐอย่างแน่นอน ดังต่อไปนี้

๑. แสวงแหล่งปัญญาและแบบอย่างที่ดี

๒. มีวินัยเป็นฐานของการพัฒนาชีวิต

๓. มีจิตใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์

๔. มุ่งมั่นฝึกตนจนเต็มสุดภาวะที่ความเป็นคนจะให้ถึงได้

๕. ยึดถือหลักเหตุปัจจัยมองอะไรๆ ตามเหตุและผล

๖. ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท

๗. ฉลาดคิดแยบคายให้ได้ประโยชน์และความจริง

ดูคําอธิบายใน หมวดนํา คนกับความเป็นคน ๑. คนผู้เป็นสัตว์ประเสริฐ

ค. ทำตามหลักเสริมสร้างปัญญา ในทางปฏิบัติ อาจสร้างปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒ อย่างข้างต้นนั้นได้ ด้วยการปฏิบัติตามหลัก วุฒิธรรม7 (หลักการสร้างความเจริญงอกงามแห่งปัญญา) ๔ ประการ

๑. สัปปุริสสังเสวะ เสวนาผู้รู้ คือ รู้จักเลือกหาแหล่งวิชา คบหาท่านผู้รู้ ผู้ทรงคุณความดี มีภูมิธรรมภูมิปัญญาน่านับถือ

๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังดูคำสอน คือ เอาใจใส่สดับตรับฟังคำบรรยาย คำแนะนำสั่งสอน แสวงหาความรู้ ทั้งจากตัวบุคคลโดยตรง และจากหนังสือ หรือสื่อมวลชน ตั้งใจเล่าเรียน ค้นคว้า หมั่นปรึกษาสอบถาม ให้เข้าถึงความรู้ที่จริงแท้

๓. โยนิโสมนสิการ คิดให้แยบคาย คือ รู้ เห็น ได้อ่าน ได้ฟังสิ่งใด ก็รู้จักคิดพิจารณาด้วยตนเอง โดยแยกแยะให้เห็นสภาวะและสืบสาวให้เห็นเหตุผลว่านั่นคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น จะเกิดผลอะไรต่อไป มีข้อดี ข้อเสีย คุณโทษอย่างไร เป็นต้น

๔. ธรรมานุธรรมปฏิบัติ ปฏิบัติให้ถูกหลัก นำสิ่งที่ได้เล่าเรียนรับฟังและตริตรองเห็นชัดแล้ว ไปใช้หรือปฏิบัติหรือลงมือทำ ให้ถูกต้องตามหลักตามความมุ่งหมาย ให้หลักย่อยสอดคล้องกับหลักใหญ่ ข้อปฏิบัติย่อยสอดคล้องกับจุดหมายใหญ่ ปฏิบัติธรรมอย่างรู้เป้าหมาย เช่น สันโดษเพื่อเกื้อหนุนการงาน ไม่ใช่สันโดษกลายเป็นเกียจคร้าน เป็นต้น

(องฺ.จตุกฺก.๒๑/๒๔๘/๓๓๒)

ง. ศึกษาให้เป็นพหูสูต คือ จะศึกษาเล่าเรียนอะไร ก็ทำตนให้เป็นพหูสูตในด้านนั้น ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แจ่มแจ้งชัดเจนถึงขั้นครบ องค์คุณของพหูสูต (ผู้ได้เรียนมาก หรือผู้คงแก่เรียน) ๕ ประการ คือ

๑. พหุสฺสุตา ฟังมาก คือ เล่าเรียน สดับฟัง รู้เห็น อ่าน สั่งสมความรู้ ในด้านนั้นไว้ให้มากมายกว้างขวาง

๒. ธตา จำได้ คือ จับหลักหรือสาระได้ ทรงจำเรื่องราวหรือเนื้อหาสาระไว้ได้แม่นยำ

๓. วจสา ปริจิตา คล่องปาก คือ ท่องบ่น หรือใช้พูดอยู่เสมอ จนแคล่วคล่องจัดเจน ใครสอบถามก็พูดชี้แจงแถลงได้อย่างจะแจ้ง

๔. มนสานุเปกฺขิตา เจนใจ คือ ใส่ใจนึกคิดจนเจนใจ นึกถึงครั้งใด ก็ปรากฏเนื้อความสว่างชัดเจน มองเห็นโล่งตลอดไปทั้งเรื่อง

๕. ทิฏฺยา สุปฏิวิทฺธา ขบได้ด้วยทฤษฎี คือ เข้าใจความหมายและเหตุผลแจ่มแจ้งลึกซึ้ง รู้ที่ไปที่มา เหตุผล และความสัมพันธ์ของเนื้อความและรายละเอียดต่างๆ ทั้งภายในเรื่องนั้นเอง และที่เกี่ยวโยงกับเรื่องอื่นๆ ในสายวิชาหรือทฤษฎีนั้นปรุโปร่งตลอดสาย

(องฺ.ปญฺจก.๒๒/๘๗/๑๒๙)

จ. เคารพผู้จุดประทีปปัญญา ในด้านความสัมพันธ์กับครูอาจารย์ พึงแสดงคารวะนับถือ ตามหลักปฏิบัติในทิศ ๖ ข้อว่าด้วย ทิศเบื้องขวา8 ดังนี้

๑. ลุกต้อนรับ แสดงความเคารพ

๒. เข้าไปหา เพื่อบำรุง รับใช้ ปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำ เป็นต้น

๓. ฟังด้วยดี ฟังเป็น รู้จักฟังให้เกิดปัญญา

๔. ปรนนิบัติ ช่วยบริการ

๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ เอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ

(ที.ปา.๑๑/๒๐๐/๒๐๓)

 

๒๐. คนใกล้ชิดพระศาสนา

(อุบาสก อุบาสิกา)

พุทธศาสนิกชน มีหลักปฏิบัติที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตนกับพระพุทธศาสนา ดังนี้

ก. เกื้อกูลพระ โดยปฏิบัติต่อพระสงฆ์ เสมือนเป็น ทิศเบื้องบน9 ดังนี้

๑. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา

๒. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา

๓. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา

๔. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ

๕. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔

(ที.ปา.๑๑/๒๐๘/๒๐๖)

ข. กระทำบุญ คือ ทำความดีด้วยวิธีการต่างๆ ที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ (เรื่องที่จัดว่าเป็นการทำบุญ) ๓ อย่าง คือ

๑. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันทรัพย์สิ่งของ

๒. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีล หรือประพฤติดีปฏิบัติชอบ

๓. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือ ฝึกอบรมจิตใจให้เจริญด้วยสมาธิ และปัญญา

และควรเจาะจงทำบุญบางอย่างที่เป็นส่วนรายละเอียดเพิ่มขึ้นอีก ๗ ข้อ รวมเป็น ๑๐ อย่าง คือ

๔. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติสุภาพอ่อนน้อม

๕. ไวยาวัจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ ให้บริการ บำเพ็ญประโยชน์

๖. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการทำความดี

๗. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการพลอยยินดีในการทำความดีของผู้อื่น

๘. ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรม ศึกษาหาความรู้ที่ปราศจากโทษ

๙. ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ถูกต้อง รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ

(ที.ปา.๑๑/๒๒๘/๓๓๐; ที.อ.๓/๒๔๖)

ค. คุ้นพระศาสนา ถ้าจะปฏิบัติให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น ถึงขั้นเป็นอุบาสก อุบาสิกา คือ ผู้ใกล้ชิดพระศาสนาอย่างแท้จริง ควรตั้งตนอยู่ในธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญของอุบาสก เรียกว่า อุบาสกธรรม ๗ ประการ คือ

๑. ไม่ขาดการเยี่ยมเยือนพบปะพระภิกษุ

๒. ไม่ละเลยการฟังธรรม

๓. ศึกษาในอธิศีล คือ ฝึกอบรมตนให้ก้าวหน้าในการปฏิบัติรักษาศีลขั้นสูงขึ้นไป

๔. พรั่งพร้อมด้วยความเลื่อมใส ในพระภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เป็น เถระ นวกะ และ ปูนกลาง10

๕. ฟังธรรมโดยมิใช่จะตั้งใจคอยจ้องจับผิดหาช่องที่จะติเตียน

๖. ไม่แสวงหาทักขิไณยภายนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา

๗. กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นที่ต้น คือ เอาใจใส่ทำนุ บำรุงและช่วยกิจการพระพุทธศาสนา11

(องฺ.สตฺตก.๒๓/๒๗/๒๖)

ง. เป็นอุบาสกอุบาสิกาชั้นนำ อุบาสก อุบาสิกาที่ดี มีคุณสมบัติที่เรียกว่า อุบาสกธรรม ๕ ประการ คือ

๑. มีศรัทธา เชื่อมีเหตุผล มั่นในคุณพระรัตนตรัย

๒. มีศีล อย่างน้อยดำรงตนได้ในศีล ๕

๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล มุ่งหวังผลจากการกระทำ มิใช่จากโชคลาง หรือสิ่งที่ตื่นกันไปว่าขลังศักดิ์สิทธิ์

๔. ไม่แสวงหาทักขิไณยนอกหลักคำสอนนี้

๕. เอาใจใส่ทำนุบำรุงและช่วยกิจการพระพุทธศาสนา12

(องฺ.ปญฺจก.๒๒/๑๗๕/๒๓๐)

จ. หมั่นสำรวจความก้าวหน้า กล่าวคือ โดยสรุป ให้ถือธรรมที่เรียกว่า อารยวัฒิ ๕ ประการ เป็นหลักวัดความเจริญในพระศาสนา

๑. ศรัทธา เชื่อถูกหลักพระศาสนา ไม่งมงายไขว้เขว

๒. ศีล ประพฤติและเลี้ยงชีพสุจริต เป็นแบบอย่างได้

๓. สุตะ รู้เข้าใจหลักพระศาสนาพอแก่การปฏิบัติและแนะนำผู้อื่น

๔. จาคะ เผื่อแผ่เสียสละ พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ซึ่งพึงช่วย

๕. ปัญญา รู้เท่าทันโลกและชีวิต ทำจิตใจให้เป็นอิสระได้

(องฺ.ปญฺจก.๒๒/๖๓-๔/๙๑-๒)

 

๒๑. คนสืบศาสนา

(พระภิกษุ)

พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา มีหน้าที่ศึกษาปฏิบัติธรรม เผยแผ่คำสอน สืบต่อพระพุทธศาสนา มีคุณธรรมและหลักความประพฤติที่ต้องปฏิบัติมากมาย แต่ในที่นี้จะแสดงไว้เฉพาะหน้าที่ที่สัมพันธ์กับคฤหัสถ์ และข้อเตือนใจในทางความประพฤติปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

ก. อนุเคราะห์ชาวบ้าน พระสงฆ์อนุเคราะห์คฤหัสถ์ตามหลักปฏิบัติในฐานะที่ตนเป็นเสมือน ทิศเบื้องบน13 ดังนี้

๑. ห้ามปรามสอนให้เว้นจากความชั่ว

๒. แนะนำสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความดี

๓. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี

๔. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง

๕. ชี้แจงอธิบายทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง

๖. บอกทางสวรรค์ สอนวิธีดำเนินชีวิตให้ประสบความสุขความเจริญ

(ที.ปา.๑๑/๒๐๔/๒๐๖)

ข. หมั่นพิจารณาตนเอง คือ พิจารณาเตือนใจตนเองอยู่เสมอตามหลัก ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ (ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ) ๑๐ ประการ ดังนี้

๑. เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์ สลัดแล้วซึ่งฐานะ ควรเป็นอยู่ง่าย จะจู้จี้ถือตัวเอาแต่ใจตนไม่ได้14

๒. ความเป็นอยู่ของเราเนื่องด้วยผู้อื่น ต้องอาศัยเขาเลี้ยงชีพ ควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย และบริโภคปัจจัย ๔ โดยพิจารณา ไม่บริโภคด้วยตัณหา15

๓. เรามีอากัปกิริยาที่พึงทำต่างจากคฤหัสถ์ อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ และยังจะต้องปรับปรุงตนให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้16

๔. ตัวเราเองยังติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่

๕. เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้เป็นวิญญูชน พิจารณาแล้ว ยังติเตียนเราโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่

๖. เราจักต้องถึงความพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น

๗. เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น

๘. วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่

๙. เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่

๑๐. คุณวิเศษยิ่งกว่ามนุษย์สามัญที่เราบรรลุแล้วมีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมื่อถูกเพื่อนบรรพชิตถาม ในกาลภายหลัง

(องฺ.ทสก.๒๔/๔๘/๙๑)

 

๒๒. คนถึงธรรม

(ผู้หมดกิเลส)

หยาดน้ำไม่ติดใบบัว วารีไม่ติดปทุม ฉันใด มุนีย่อมไม่ติดในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน และในอารมณ์ที่ได้รับรู้ ฉันนั้น

(ขุ.สุ.๒๕/๔๑๓/๔๙๓)

ผู้ถึงธรรม ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่พร่ำเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดำรงอยู่ด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ฉะนั้นผิวพรรณจึงผ่องใส

ส่วนชนทั้งหลายผู้ยังอ่อนปัญญา เฝ้าแต่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง และหวนละห้อยถึงความหลังอันล่วงแล้ว จึงซูบซีดหม่นหมอง เหมือนต้นอ้อสด ที่เขาถอนทึ้งขึ้นทิ้งไว้ที่ในกลางแดด

(สํ.ส.๑๕/๒๒/๗)

ผู้ใดไม่มีกิเลสเป็นเหตุคอยกังวลว่า นี้ของเรา นี้ของคนอื่น ผู้นั้นไม่ต้องเผชิญกับเจ้าตัว “ของข้า” จึงไม่เศร้าโศกว่า ของเราไม่มี, เขาไม่กระวนกระวาย ไม่ติดข้อง ไม่หวั่นไหว เป็นผู้สม่ำเสมอในที่ทั้งปวง เมื่อเขาไม่หวั่นไหว มีความรู้แจ้งชัด จึงปราศจากความรู้สึกปรุงแต่งใดๆ เขาเลิกรำพึงรำพันหมดแล้ว จึงมองเห็นแต่ความปลอดโปร่งในที่ทุกสถาน

(ขุ.สุ.๒๕/๔๒๒/๕๑๙)

ผู้ถึงธรรมดับกิเลสเสียได้ อยู่สบายทุกเวลา ผู้ใดไม่ติดอยู่ในกามทั้งหลาย เขาจะเย็นสบาย ไม่มีที่ให้กิเลสตั้งตัวได้

ตัดความติดข้องเสียให้หมด กำจัดความกระวนกระวายในหทัยเสียให้ได้ พักจิตได้แล้ว จึงถึงความสงบใจอยู่สบาย

(องฺ.ติก.๒๐/๔๗๔/๑๗๕)

ถาม: นี่แน่ะพระ ท่านไม่มีทุกข์บ้างหรือ ท่านไม่มีความสนุกบ้างหรือ ท่านนั่งอยู่คนเดียวไม่เบื่อหน่ายบ้างหรือ?

ตอบ: นี่แน่ะท่านผู้ยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้าไม่มีความทุกข์หรอก ความสนุกข้าพเจ้าก็ไม่มี ถึงข้าพเจ้าจะนั่งอยู่คนเดียว ก็หามีความเบื่อหน่ายไม่

ถาม: นี่แน่ะพระ ทำอย่างไรท่านจึงไม่มีทุกข์ ทำอย่างไรท่านจึงไม่มีความสนุก ทำอย่างไรท่านนั่งคนเดียว จึงไม่หงอยเหงาเบื่อหน่าย

ตอบ: คนมีความทุกข์นั่นแหละ จึงมีความสนุก คนมีความสนุกนั่นแหละ จึงมีความทุกข์ พระไม่มีทั้งสนุก ไม่มีทั้งทุกข์ เรื่องเป็นอย่างนี้ จงเข้าใจเถิดนะท่าน

(สํ.ส.๑๕/๒๖๘/๗๖)

ความงุ่นง่านหงุดหงิด ย่อมไม่มีในใจของพระอริยะผู้ผ่านพ้นไปแล้วจากการ (คิดกังวล) ที่จะได้เป็น จะไม่ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านปราศจากภัย มีแต่สุข ไม่มีโศก แม้แต่เทวดาก็มองใจท่านไม่ถึง

(ขุ.อุ.๒๕/๖๕/๑๐๑)

ผู้ถึงธรรมไม่มีกิจ เพราะผู้ถึงธรรมทำกิจเสร็จแล้ว คนว่ายน้ำยังหาที่หยั่งไม่ได้ ตราบใด ก็ต้องเอาตัวกระเสือกกระสนไปจนเต็มที่ ตราบนั้น แต่พอหาที่หยั่งพบ ขึ้นยืนบนบกได้แล้ว ก็ไม่ต้องพยายาม เพราะเขาข้ามถึงฝั่งเสร็จแล้ว

(สํ.ส.๑๕/๒๓๑/๖๕)

ยังเป็นอยู่ก็ไม่เดือดร้อน เวลาจะตายก็ไม่เศร้าโศก ถ้าเป็นปราชญ์ มองเห็นที่หมายแล้วไซร้ ถึงอยู่ท่ามกลางโลกที่โศกก็หาโศกไม่

(ขุ.อุ.๒๕/๑๐๘/๑๔๒)

จะไปไหน ก็ไม่หวาด จะนอนไหน ก็ไม่หวั่น ทั้งคืนวันไม่มีเดือดร้อนใจ อะไรที่จะสูญเสียก็ไม่เห็นที่ไหนในโลก ดังนั้น จนหลับไป ก็มีแต่ใจหวังดีที่คิดปรานีช่วยปวงสัตว์

(สํ.ส.๑๕/๔๕๔/๑๖๒)

คาเม วา ยทิ วารญฺเ       นินฺเน วา ยทิ วา ถเล

ยตฺถ อรหนฺโต วิหรนฺติ        ตํ ภูมิรามเณยฺยกํ

ไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าป่า           ไม่ว่าที่ลุ่ม หรือที่ดอน

ท่านผู้ไกลกิเลสอยู่ที่ไหน     ที่นั้นไซร้คือถิ่นสถานอันรมณีย์

(ขุ.ธ.๒๕/๑๘/๒๘)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หมวดสาม คนกับคนบันทึกท้ายเล่ม >>

เชิงอรรถ

  1. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๑๑
  2. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๑๒
  3. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๘
  4. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๑๓
  5. ดู บทที่ ๙
  6. ดู บทที่ ๙
  7. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๑๔
  8. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๘
  9. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๘
  10. ตามพระวินัย ภิกษุบวชใหม่ จนถึงยังไม่ครบ ๕ พรรษา เรียกว่า นวกะ ภิกษุบวชครบ ๕ พรรษา แต่ยังไม่เต็ม ๑๐ พรรษา เรียกว่า มัชฌิมะ ภิกษุบวชครบ ๑๐ พรรษาแล้วขึ้นไป เรียกว่า เถระ
  11. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๑๕
  12. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๑๕
  13. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๘
  14. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๑๖
  15. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๑๖
  16. ดู บันทึกท้ายเล่ม ข้อ ๑๖

No Comments

Comments are closed.