หมวดสอง นำชีวิตให้ถึงจุดหมาย

12 มกราคม 2565
เป็นตอนที่ 4 จาก 11 ตอนของ

หมวดสอง

นำชีวิตให้ถึงจุดหมาย

 

ก. จุดหมาย ๓ ขั้น ดำเนินชีวิตให้บรรลุจุดหมาย (อัตถะ) ๓ ขั้น คือ

ขั้นที่ ๑ ทิฏฐธัมมิกัตถะ จุดหมายขั้นตาเห็น หรือ ประโยชน์ปัจจุบัน
ก) มีสุขภาพดี  ร่างกายแข็งแรง ไร้โรค อายุยืน
ข) มีเงินมีงาน  มีอาชีพสุจริต พึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ
ค) มีสถานภาพดี  เป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม
ง) มีครอบครัวที่ผาสุก  ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ
ทั้ง ๔ นี้ พึงให้เกิดมีโดยธรรม และใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งแก่ตนและคนอื่น

 

ขั้นที่ ๒ สัมปรายิกัตถะ จุดหมายขั้นเลยตาเห็น หรือ ประโยชน์เบื้องหน้า
ก) มีความอบอุ่นซาบซึ้งสุขใจ ไม่อ้างว้างเลื่อนลอย มีหลักยึดเหนี่ยวใจให้เข้มแข็ง ด้วย ศรัทธา
ข) มีความภูมิใจ ในชีวิตสะอาด ที่ได้ประพฤติแต่การอันดีงาม ด้วยความ สุจริต (ศีล)
ค) มีความอิ่มใจ ในชีวิตมีคุณค่า ที่ได้ทำประโยชน์ตลอดมา ด้วยน้ำใจ เสียสละ (จาคะ)
ง) มีความแกล้วกล้ามั่นใจ ที่จะแก้ไขปัญหา นำชีวิตและภารกิจไปได้ ด้วย ปัญญา
จ) มีความโล่งจิตมั่นใจ มีทุนประกันภพใหม่ ด้วยได้ทำไว้แต่ กรรมที่ดี

 

ขั้นที่ ๓ ปรมัตถะ จุดหมายสูงสุด หรือ ประโยชน์อย่างยิ่ง
ก) ถึงถูกโลกธรรมกระทบ ถึงจะพบความผันผวนปรวนแปร ก็ไม่หวั่นไหว มีใจเกษมศานต์มั่นคง
ข) ไม่ถูกความยึดติดถือมั่นบีบคั้นจิต ให้ผิดหวังโศกเศร้า มีจิตโล่งโปร่งเบาเป็นอิสระ
ค) สดชื่น เบิกบานใจ ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง ผ่องใส ไร้ทุกข์ มีความสุขที่แท้
ง) รู้เท่าทันและทำการตรงตามเหตุปัจจัย ชีวิตหมดจดสดใส เป็นอยู่ด้วยปัญญา

ถ้าบรรลุจุดหมายชีวิตถึงขั้นที่ ๒ ขึ้นไป เรียกว่าเป็น “บัณฑิต”

 

ข. จุดหมาย ๓ ด้าน จุดหมาย ๓ ขั้นนั้น พึงปฏิบัติให้สำเร็จครบ ๓ ด้าน คือ

ด้านที่ ๑ อัตตัตถะ จุดหมายเพื่อตน หรือ ประโยชน์ตน คือ ประโยชน์ ๓ ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงทำให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง หรือพัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปให้ได้ให้ถึง

    ด้านที่ ๒ ปรัตถะ จุดหมายเพื่อผู้อื่น หรือ ประโยชน์ผู้อื่น คือ ประโยชน์ ๓ ขั้นข้างต้น ซึ่งพึงช่วยผู้อื่นให้ได้ให้ถึง ด้วยการชักนำสนับสนุนให้เขาพัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปตามลำดับ
    ด้านที่ ๓ อุภยัตถะ จุดหมายร่วมกัน หรือ ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ ประโยชน์สุขและความดีงามร่วมกันของชุมชนหรือสังคม รวมทั้งสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ ซึ่งพึงช่วยกันสร้างสรรค์ บำรุงรักษา เพื่อเกื้อหนุนให้ทั้งตนและผู้อื่นก้าวไปสู่จุดหมาย ๓ ขั้นข้างต้น

 

ชาวพุทธชั้นนำ

ชาวพุทธที่เรียกว่า อุบาสก และอุบาสิกา นับว่าเป็นชาวพุทธชั้นนำ จะต้องมีความเข้มแข็งที่จะตั้งมั่นอยู่ในหลัก ให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวพุทธทั่วไป นอกจากรักษาวินัยชาวพุทธแล้ว ต้องมีอุบาสกธรรม ๕ ดังนี้

๑. มีศรัทธา เชื่อประกอบด้วยปัญญา ไม่งมงาย มั่นในพระรัตนตรัย ไม่หวั่นไหว ไม่แกว่งไกว ถือธรรมเป็นใหญ่และสูงสุด

๒. มีศีล นอกจากตั้งอยู่ในศีล ๕ และสัมมาชีพแล้ว ควรถือศีลอุโบสถตามกาล เพื่อพัฒนาตนให้ชีวิตและความสุขพึ่งพาวัตถุน้อยลง ลดการเบียดเบียน และเกื้อกูลผู้อื่นได้มากขึ้น

๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม มุ่งหวังผลจากการกระทำด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามตามเหตุผล ไม่ตื่นข่าวเล่าลือโชคลางเรื่องขลังมงคล ไม่หวังผลจากการขออำนาจดลบันดาล

๔. ไม่แสวงหาพาหิรทักขิไณย์ ไม่ไขว่คว้าเขตบุญขุนขลังผู้วิเศษศักดิ์สิทธิ์ นอกหลักพระพุทธศาสนา

๕. ขวนขวายในการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ใส่ใจริเริ่มและสนับสนุนกิจกรรมการกุศล ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

หมายเหตุ:
– วินัยชาวพุทธ นี้ ปรับให้ง่ายขึ้น ณ ๑๐ ส.ค. ๒๕๔๓ จาก “ภาค ๑: มาตรฐานชีวิตของชาวพุทธ” ในหนังสือ ธรรมนูญชีวิต ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๔๐ (เมื่อเสร็จแล้ว ได้ขอให้ ดร.สมศีล ฌานวังศะ ปรับปรุงคำแปลภาษาอังกฤษฉบับเดิม ให้ตรงตามฉบับปรับปรุงนี้)

 

– คำว่า “ชาวพุทธ” ตามความเข้าใจของคนไทยโดยทั่วไป หมายถึงคฤหัสถ์, “วินัยชาวพุทธ” ในที่นี้จึงหมายถึงวินัยของคฤหัสถ์โดยเฉพาะ ต่างหากจากวินัยของพระภิกษุ

– วินัยของคฤหัสถ์ คือ คิหิวินัย ได้แก่พระพุทธโอวาท ในสิงคาลกสูตร พระไตรปิฎก เล่ม ๑๑ (ที.ปา.
๑๑/๑๗๒-๒๐๖/๑๙๔-๒๐๗)

– “อุบาสกธรรม ๕” มาในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ (องฺ.ปญฺจก.๒๒/๑๗๕/๒๓๐)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หมวดหนึ่ง วางฐานชีวิตให้มั่นภาค ๒ ธรรมนูญชีวิต >>

No Comments

Comments are closed.