สรุป
พุทธธรรมมองชีวิต โลก และสังคม ว่าเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ฉันใด พุทธจริยศาสตร์ โดยเฉพาะในระดับสังคม ย่อมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ ฉันนั้น อันที่จริง เพื่อให้เข้ากับลักษณะอันไม่หยุดนิ่งตายตัวของพุทธจริยศาสตร์ อาตมภาพอยากจะเปลี่ยนหัวข้อธรรมบรรยายด้วยซ้ำ โดยเปลี่ยนจาก “รากฐานพุทธจริยศาสตร์ทางสังคมในสังคมไทยร่วมสมัย” มาเป็น “รากฐานพุทธจริยศาสตร์สำหรับสังคมไทยร่วมสมัย” หรือไม่ก็เรียกง่ายๆ ว่า “รากฐานแห่งพุทธจริยศาสตร์ทางสังคม”
ธรรม | วินัย |
– เน้นมนุษย์ จิต และ บุคคล – เชื่อมโยงสู่โลกุตตรวิสัย – เกี่ยวพันกับการบรรลุธรรมส่วนตน |
– เน้นสภาพแวดล้อม วัตถุธรรม สังคม และระบบภายนอก – มุ่งไปที่โลกียวิสัย – เกี่ยวพันกับระเบียบทางสังคม |
เพื่อที่จะให้ภาพของพุทธจริยศาสตร์ทางสังคมชัดเจนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ควรเน้นย้ำประเด็น ๓ ประการต่อไปนี้
๑. ระบบพุทธจริยศาสตร์ประกอบด้วย มรรค และองค์คุณก่อนมรรค ทั้งนี้ในฝ่ายหลังนี่เอง โดยเฉพาะในองค์คุณอย่างที่สองอันเกี่ยวกับอิทธิพลภายนอกที่ดี หรือการมีกัลยาณมิตร ที่เราจะพบความคิดหลักๆ ว่าด้วยพุทธจริยศาสตร์ทางสังคม บัญญัติว่าด้วยกัลยาณมิตตตา (การคบมิตรที่ดี) ควรได้รับการศึกษาให้มากกว่านี้ กับควรย้ำไว้ในขณะเดียวกันด้วยว่า หมวดศีลในมรรคก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของพุทธจริยศาสตร์ทางสังคมด้วย
๒. คุณภาพทางใจ กับ ธรรมสำหรับการแสดงออกภายนอกนั้น เกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ที่ว่า อย่างแรกย่อมเป็นแหล่งที่มา หรือพื้นฐานของอย่างหลัง กล่าวโดยศัพท์ทางพุทธ ธรรมทั้งสองหมวดล้วนประมวลลงในไตรสิกขา หรือองค์มรรคทั้งสามหมวด อย่างแรกย่อมอยู่ในหมวดอธิจิตหรือสมาธิ คือการรู้จักบังคับปรับปรุงจิตใจ และอย่างหลังย่อมอยู่ในหมวดอธิศีล คือการรู้จักประพฤติปฏิบัติให้ถูกทำนองนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น อธิจิตย่อมโยงถึงอธิปัญญา ซึ่งเป็นยอดคำสอน หรือหัวใจของพุทธจริยศาสตร์ ถึงตรงนี้ เราย่อมเห็นได้เช่นกันว่า จริยศาสตร์ทางสังคมกับจริยศาสตร์ทางใจนั้น สัมพันธ์กันอย่างไร
๓. ธรรมในฐานะกฎธรรมชาติ และวินัยในฐานะกฎที่มนุษย์บัญญัติขึ้น ต่างเป็นส่วนประกอบของพุทธจริยศาสตร์ ในส่วนธรรม บุคคลย่อมมีความรับผิดชอบทางจริยธรรมต่อตนเอง ฉันใด ในทางวินัย ชุมชนหรือสังคมย่อมมีส่วนสนับสนุน หรือขัดขวางการกระทำของบุคคล ฉันนั้น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยขึ้น ก็เพื่อให้ผู้คนสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และพึ่งพาอาศัยกันอย่างถูกต้อง ส่วนธรรมนั้น ทรงบัญญัติอธิบายไว้เพื่อให้มนุษย์ได้บรรลุอิสรภาพ และเสรีภาพภายในใจ ในท่ามกลางโลกที่ทุกคนต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันนี้
จริยศาสตร์ในทางพุทธชี้ให้เห็นว่า การบรรลุธรรมส่วนบุคคล และความดีงามทางสังคมนั้น พึ่งพาอาศัยกันอย่างแยกจากกันไม่ได้ แม้แต่พระสงฆ์ผู้ซึ่งอุทิศตนให้แก่การบรรลุธรรมยิ่งกว่าผู้อื่น ก็ต้องอาศัยคฤหัสถ์ ทางด้านปัจจัยพื้นฐาน ในการดำรงชีพ ความข้อนี้จะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อสังคมสงบสุขร่มเย็น และทำนองเดียวกัน ที่สังคมจะร่มเย็นได้ พระสงฆ์ก็ต้องมีส่วนช่วยบำรุงรักษา เมื่อว่าถึงจริยศาสตร์ระดับที่ลุ่มลึกลงไป จะมีก็เพียงพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเท่านั้น ที่สามารถตรัสรู้โดยชอบได้ด้วยตนเอง บุคคลอื่นย่อมต้องอาศัยการชักนำ กระตุ้นเร้า และสั่งสอนโดยกัลยาณมิตร หรือไม่ก็โดยสมาคมกับกัลยาณชน ด้วยเหตุนี้ สามัญชนทุกคนย่อมต้องรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นให้ดี คือมีส่วนรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสังคม ให้อยู่ในสภาพที่เอื้อต่อการแสวงหากัลยาณมิตร ในขณะเดียวกัน ยิ่งบุคคลเข้าใกล้ปรมัตถธรรมได้เพียงใด เขาก็ย่อมเข้าใจได้มากขึ้นว่า อะไรเหมาะสมเกื้อกูลแก่สังคม โดยนัยนี้ เขาย่อมทำประโยชน์แก่สังคมได้ดียิ่งขึ้น
ในทางพุทธ โภคทรัพย์เป็นเพียงมรรควิธี หาใช่จุดมุ่งหมายไม่ ปัญหานั้นไม่ได้อยู่ที่ว่ามั่งมี หรือยากจน หากอยู่ที่ว่าจะเกี่ยวข้องกับโภคทรัพย์อย่างไร และโภคทรัพย์เป็นสิ่งจำเป็นในกรณีใด แค่ใด กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในทางพุทธ การมีโภคทรัพย์ย่อมจบลงที่ความเป็นอิสระจากโภคทรัพย์ ในกรณีที่โภคทรัพย์เป็นสิ่งจำเป็นในฐานะเป็นปัจจัยพื้นฐาน ก็ควรใช้มันให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เพื่อจะให้เกิดสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการพัฒนาธรรมส่วนบุคคลของสมาชิกทุกคนในสังคม หากปฏิบัติต่อโภคทรัพย์ดังนี้ได้ ก็ไม่ต้องสนใจดอก ว่าโภคทรัพย์นั้นเป็นของใคร ไม่ว่าเจ้าของจะเป็นบุคคล ชุมชน หรือสังคมก็ตาม โภคทรัพย์จะเป็นของส่วนบุคคลได้ ก็ต่อเมื่อผู้อุดมด้วยโภคทรัพย์ ดำรงตนในฐานะผู้จัดหาปัจจัยพื้นฐานให้แก่สังคม คือ เป็นเนื้อนาที่โภคทรัพย์งอกงามเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เพื่อนร่วมสังคม หากโภคทรัพย์มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ดังนี้แล้ว โภคทรัพย์ย่อมไร้คุณ คนมั่งมีก็ไร้ค่า การสั่งสมโภคทรัพย์ย่อมกลายเป็นอธรรม ยิ่งไปกว่านั้น การจัดแจงแต่งหาโภคทรัพย์ ก็พึงกระทำกันด้วยการรู้เท่าทันผลดี ผลเสีย อย่างตระหนักในขีดจำกัดของประโยชน์ของโภคทรัพย์ โดยสามารถมีใจเป็นอิสระจากมันด้วย ในกรณีของสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้มุ่งในนิพพาน เพื่อประโยชน์ของชนทั้งปวง โดยอาศัยปัจจัยพื้นฐานจากคฤหัสถ์ ควรให้ชีวิตเป็นไปโดยอิสระจากโภคทรัพย์ทั้งปวง นี้ย่อมหมายความว่า การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดนั้น ต้องอาศัยโภคทรัพย์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่ถึงขั้นหนึ่งแล้ว โภคทรัพย์ก็หาได้จำเป็นดังในระดับพื้นฐานไม่ ตรงจุดนี้ เราคงจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการบรรลุธรรมส่วนบุคคล กับความดีงามส่วนสังคม ได้อีกเช่นกัน นั่นก็คือ เมื่อรู้จักใช้โภคทรัพย์อย่างไม่ติดยึด โดยให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น โภคทรัพย์นั้นย่อมก่อให้เกิดความดีงามในสังคม และย่อมเกื้อกูลต่อการบรรลุธรรมส่วนบุคคล อันจะเป็นเหตุให้ความดีงามในสังคมงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป
No Comments
Comments are closed.