- (กล่าวนำ)
- คิดให้ชัด ถ้าจะบัญญัติให้พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ
- สังคมไทย ไฉนตกต่ำถึงเพียงนี้
- จะเอาวิธีของฝรั่งมาใช้ ก็เจาะจับเอาของจริงมาไม่ได้
- ดูของเขาก็ไม่เอาให้ชัด ด้านของเราก็ห่างเมินจนพร่ามัว
- พูดเรื่องเดียวกัน แต่เถียงกันคนละเรื่อง
- “รู้เขา” แค่เห็นเงามัว ๆ, “รู้เรา” ก็ไม่เห็นเนื้อตัว ผีฝรั่งจึงมาหลอกคนไทย ได้อย่างน่ากลัว
- รู้ความจริงไว้ เพื่อแก้ปัญหา มิใช่เพื่อมาเคืองแค้นกัน ศาสนาประจำชาติแบบฝรั่ง-ไทย มีความหมายตรงข้ามกัน
- เจอความจริงแม้ขื่นใจ ยังรักได้ นั่นคือใจเมตตาแท้ รู้ให้จริงแท้จึงแก้ปัญหา คือเมตตาคู่ปัญญาที่ต้องการ
- พุทธศาสนาประจำชาติ จะเอาไม่เอา อย่าเถียงแบบนักเดา ดูความหมายให้ชัดแล้วจึงตัดสินใจ ให้สมเป็นคนที่พัฒนา
- หาความรู้กันก่อนให้ชัดเจน อย่าเพิ่งใส่ความคิดเห็นเข้าไป
- มองแคบ คิดใกล้ ใฝ่ต่ำ เพราะคิดแต่จะตามเขา จิตของเราจึงตกต่ำลงไป
- “มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง” มีเมื่อไร คนไทยจะเป็นชาวพุทธได้อย่างดี
- เลิกเสียที ความสับสนพร่ามัว และความขลาดกลัวที่เหลวไหล แน่วแน่ ชัดเจน มั่นใจ คือทางออกอันเดียวของสังคมไทย
- สังคมไทย เลื่อนลอยกันต่อไป หรือเด็ดเดี่ยวด้วยจิตสำนึกที่จะแก้ไข
- คำปรารภ
คำปรารภ
ย้อนหลังไป ๑๓ ปีก่อนโน้น ใน พ.ศ. ๒๕๓๗ มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งคล้ายกับขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ เป็นช่วงเวลาแห่งการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
เหมือนเวลานี้ที่มีการเรียกร้องให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หวนกลับไป ๑๓ ปีก่อนนั้น ก็มีการ “รณรงค์” ให้บัญญัติเช่นเดียวกัน
ครั้งนั้น ผู้เรียบเรียงหนังสือนี้ ได้รับนิมนต์ให้ไปพูดในการประชุมสัมมนา (๑ ก.ย. ๒๕๓๗) เรื่อง “จิตสำนึกของชาวพุทธเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ” หลังจากพูดแล้ว ได้มีบุคคลและองค์กรต่างๆ ขอพิมพ์เผยแพร่ หนังสือออกมาในชื่อว่า อุดมธรรม นำจิตสำนึกของสังคมไทย
เมื่อมีบางท่านขอพิมพ์หนังสือเล่มนั้นอีกในช่วงที่ รธน. ฉบับใหม่ใกล้จะเสร็จ ในเดือน พ.ค. ๒๕๕๐ นี้ ผู้เรียบเรียงหันไปเปิดหนังสือเก่าอ่านดู ก็มองเห็นว่า การถกเถียงกันระหว่างผู้เห็นด้วย กับผู้ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ เมื่อครั้ง ๑๓ ปีก่อน เป็นอย่างไร คราวนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น แทบไม่มีอะไรต่างกัน คือ คนแทบทั้งหมดได้แต่ให้ความเห็น ที่แสดงว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจ อีกทั้งไม่สนใจที่จะหาความรู้ความเข้าใจ (ทั้งไม่รู้ และไม่คิดจะหาความรู้)
ก่อนพิมพ์ครั้งใหม่ มีผู้ต้องการพิมพ์หนังสือนี้นานแล้ว และผู้เรียบเรียงได้เขียนเนื้อหาด้านข้อมูลความรู้เพิ่มเติมอีกมาก เมื่อจะพิมพ์ครั้งนี้ ได้ยกมาดู แล้วตัดบ้างเติมบ้าง หนังสือหนาขึ้นอีกหลายหน้า และเปลี่ยนชื่อหนังสือใหม่ตามความประสงค์ของผู้ขอพิมพ์ว่า เจาะหาความจริงเรื่องศาสนาประจำชาติ
ไม่ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปอย่างไร หรือเรื่องจะจบลงอย่างไร ถ้าคนไทยมีความรู้ความเข้าใจอะไรๆ เพิ่มขึ้น ก็พูดได้ว่าไม่เสียเปล่า
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตโต)
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐
No Comments
Comments are closed.