กระแสถึงกัน แต่สังคมห่างกัน

14 ตุลาคม 2564
เป็นตอนที่ 10 จาก 20 ตอนของ

กระแสถึงกัน แต่สังคมห่างกัน

ย้อนหลังไปดูเมืองไทยในช่วงใกล้ พ.ศ.๒๕๐๐ ที่ว่าคนสมัยใหม่หันหลังให้วัด มองว่าพระเทศน์มีแต่นิทาน นรกสวรรค์ ทำบุญนิดหน่อยได้อานิสงส์ไปเกิดในสวรรค์มีนางฟ้าเป็นบริวารเป็นโกฏิๆ และเรื่องอะไรๆ ที่เหลวไหลไม่มีเหตุผล เห็นพระพุทธศาสนาว่าคร่ำครึนั้น ก็มีสำนักหนึ่งที่เหมือนกับเป็นกระแสใหม่เด่นขึ้นมา ซึ่งได้สอนธรรมอย่างเป็นเหตุเป็นผล คือสวนโมกข์ ที่ไชยา โดยพุทธทาสภิกขุ ซึ่งทันกับคนสมัยใหม่ชั้นนำ ที่เรียกว่าปัญญาชน แต่สังคมใหญ่ก็ยังไกลจากกระแสนี้

เมื่อในตะวันตก อย่างในอเมริกา เกิดกระแสนิยมปฏิบัติ meditation กันขึ้นแล้วไม่นาน ที่เมืองไทยนี้ คนในเมืองในกรุง ซึ่งมีวิถีชีวิตระบบสังคมอยู่ในแนวทางตามอย่างตะวันตก และเข้าถึงกระแสความนิยมอย่างตะวันตกนั้น ก็ตื่นตัวฟื้นความสนใจสมาธิขึ้นมา และคนในเมืองไทยนี้ ที่สนใจหรือปฏิบัติอยู่ก่อนแล้ว ก็มีคุณค่าปรากฏตัวขึ้น

แต่ย้อนกลับไปดูกระแสนิยมสมาธิ-การปฏิบัติธรรม ในเมืองอเมริกา กับในเมืองไทย ที่เกี่ยวโยงกัน

เวลานั้น อเมริกาเจริญรุ่งเรืองมาก เฟื่องฟูด้วยประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์ (ประโยชน์ขั้นตาเห็น เช่น เงินทอง เกียรติยศ ความรุ่งเรืองทางวัตถุ) มีความมั่งคั่งพรั่งพร้อม เป็นสังคมบริโภคนิยม ผู้คนมีวิถีชีวิตแบบวัตถุนิยม พากันหาความสุขจากการเสพบริโภค แต่ความมั่งคั่งพรั่งพร้อมและความสุขจากการเสพบริโภคนั้น มาพร้อมกับการแข่งขันแย่งชิงกันกับคนอื่น และบีบคั้นกดดันตัวเอง ทำให้จิตใจคับเครียดกังวลวุ่นวายไม่มีความสุข คนรุ่นใหม่เบื่อหน่ายทนไม่ได้ พากันสลัดทิ้งวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบคับเครียดนั้น ออกจากสังคม ไปหาความโล่งเบาเป็นอิสระ และก็ได้การปฏิบัติเจริญสมาธิเป็นทางออกที่สดใสของชีวิตจิตใจอย่างหนึ่ง ซึ่งนิยมกันขึ้นมา

แต่การกระทำการปฏิบัติในการสร้างในการใช้ประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์ในวิถีชีวิตและระบบสังคม ซึ่งเป็นตัวปัญหาบีบคั้นที่ทำให้พวกเขาสลัดหนีออกมานั้น คนเหล่านี้ก็ไม่ได้ไปแก้ไข และการปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิที่พวกเขาเข้าไปรับเข้าไปร่วมกระทำนั้น โดยทั่วไปก็มุ่งเพื่อให้เป็นทางแก้ปัญหาชีวิตจิตใจที่เขามีติดตัวมา ให้มีความสุขขึ้นมาได้ มิใช่มุ่งให้เต็มตามหลักการในลัทธิของเจ้าสำนักนั้น

ทีนี้ หันมาดูเมืองไทย ดังได้ว่าแล้ว คนที่เข้าร่วมในกระแสนิยมสมาธิ-ปฏิบัติธรรมนั้น โดยทั่วไปเป็นคนในเมืองในกรุง ซึ่งมีฐานะในขั้นดีจนถึงมั่งมีร่ำรวย คือเจริญหรือพร้อมดีแล้วด้วยประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์ และที่ไปปฏิบัตินั้น โดยทั่วไปก็เพื่อให้เป็นทางห่างหายจากปัญหาชีวิตจิตใจ มีความสุขในทางของความสงบผ่อนคลาย มิใช่มุ่งมั่นแน่วไปในการที่จะบรรลุจุดหมายของการปฏิบัติแห่งพุทธธรรม

ที่ว่าอย่างนี้ ดูคล้ายว่าจะเหมือนกันกับกระแสการปฏิบัติในเมืองฝรั่งนั้น แต่ได้แค่คล้ายในข้อหลัง ส่วนข้อแรกมิใช่เหมือนกัน แต่ห่างไกลกัน จะต้องแยกแยะสักนิดให้เห็นชัดขึ้นสักหน่อย

ดังได้พูดแล้วแต่ต้นว่า ขบวนการสวนกระแสวัฒนธรรมอเมริกันทั้งหลาย เช่นฮิปปี้นั้น ได้เกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาต่อวิถีชีวิตที่มุ่งหาความสุขจากการเสพบริโภค ของสังคมที่มั่งคั่งพรั่งพร้อม ซึ่งเจริญด้วยประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์อย่างดีแล้ว (ที่จริง ลึกลงไปในสังคมที่เรียกว่ามั่งคั่งนี้ ก็มีปมปัญหาที่หนืดเหนียวยิ่งนัก เช่นการแบ่งแยกเหยียดผิว และความยากจนแร้นแค้นซึ่งแฝงซ่อนอยู่ในสังคมที่มั่งคั่งนั้น อันเป็นข้อที่เมืองไทยได้เปรียบ) แต่เมืองไทยนี้เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ยังยากจน ด้อยประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์

อย่างที่บอกแล้วว่า ตอนที่อเมริกามั่งคั่งนั้น ในเมืองไทย ความเจริญอย่างสมัยใหม่มีแต่ในเมืองในกรุง สังคมไทยส่วนใหญ่เป็นบ้านนอกในชนบท และชาวถิ่นชาวบ้านที่ห่างไกลความเจริญเหล่านั้น ก็ใฝ่ฝันอยากได้ พากันมองออกไปหาและรอรับความเจริญมั่งมีพรั่งพร้อมด้วยประโยชน์ทิฏฐธัมม์นั้น จากเมืองจากกรุง ผละละทิ้งหรือหันห่างออกไปจากวัด จากพระพุทธศาสนา จากวัฒนธรรมประเพณีไทย

กระแสการหันห่างจากวัดนี้ยังเป็นมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่ชาวบ้านในถิ่นมากมายเวลานี้ ขณะที่ในด้านหนึ่ง การแสวงหาสร้างประโยชน์ทิฏฐธัมม์ ทั้งการงานอาชีพ ทรัพย์สินเงินทองของเสพเครื่องใช้ ก็ยังด้อย อีกด้านหนึ่งก็เหินห่างธรรม ไม่มองวัดในถิ่นว่าเป็นวัดของหมู่บ้าน หรือเป็นวัดของตัว คนรุ่นใหม่ก็แปลกแยกจากวัด มากคนไปวัดเฉพาะแต่เมื่อมีงานพิธีเผาศพ และก็ไม่เคารพพิธีนั้น รับศีลก็ไม่ใส่ใจ เสร็จพิธีก็ตั้งวงเหล้าในวัด บ้างก็ถึงกับการพนันด้วย

ทีนี้ ทางด้านชาวเมืองชาวกรุง การเจริญสมาธิได้เฟื่องฟูต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนในปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นกระแสนิยมการปฏิบัติธรรม ที่คนในเมืองในกรุงผู้มีฐานะดีจนถึงมั่งคั่งร่ำรวย ปลีกตัวจากธุรกิจการงานและสังคมในเมืองนั้น เดินทางออกไปเข้ากรรมฐาน เจริญสมถะ วิปัสสนา ในสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในชนบท ซึ่งอาจจะจัดเป็น course สำหรับเวลาช่วงสัปดาห์ หรือปักษ์ เป็นต้น

คนมีฐานะดีหรือมั่งมีเดินทางจากเมืองจากกรุง ไปเข้าปฏิบัติในสำนักปฏิบัติธรรมซึ่งอยู่ในชนบท ก็ปฏิบัติกันไป ฝ่ายชาวบ้านในถิ่นมองดูรู้เห็นได้ยินจากในถิ่นไม่ใกล้ไม่ไกลแล้ว บอกว่า อ้อ… ที่ว่าปฏิบัติธรรมๆ คืออย่างนี้เอง มาพบกัน แต่งตัวกันอย่างนี้ เดินกันอย่างนี้ พูดกันอย่างนี้ๆ ทำกิจกรรมอย่างนี้ๆ คือปฏิบัติธรรม ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา พวกเราก็อยู่ของเราไป เราไม่ต้องปฏิบัติธรรม

เรื่องที่พูดมานี้ คือบอกว่า คนเมืองคนกรุงคนมีฐานะหรือผู้มั่งมี จะไปปฏิบัติธรรมเอาประโยชน์ขั้นสัมปราย์ (ประโยชน์ล้ำลึกเลยตาเห็น) หรือจะเอาขั้นปรมัตถ์อะไร ก็ปฏิบัติไป ก็ดีละ เป็นการเอาการปฏิบัติธรรมส่วนยอดมาช่วยฟื้นฟูจิตปัญญาของผู้ที่ตั้งตัวได้ในประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์แล้ว

แต่ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์นั้น คนกลุ่มนี้ก็ควรปฏิบัติธรรมในการใช้ในการปฏิบัติต่อประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์นั้นให้ได้อย่างดีด้วย

ความนิยมสมาธิ การปฏิบัติธรรมในขั้นนั้น เป็นกุศลภาวนา เป็นบุญกิริยาที่ดีมาก แต่การปฏิบัติธรรมมิใช่มีแค่นี้ ควรเป็นการปฏิบัติธรรมที่ครบตามหลัก ตรงตามเรื่อง

แล้วที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ จะต้องให้ชาวถิ่นชาวบ้าน ให้ประชาชนคนส่วนใหญ่ (ที่ค่อนข้างถูกละเลย) ปฏิบัติธรรมให้ได้ประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์อย่างเพียงพอ เป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งของสังคมนี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ฮิปปี้เงียบหาย กระแสนิยมสมาธิขยายยืนยาวต่อมาจะปฏิบัติธรรม พึงเห็นธรรมทั้งระบบ ครบกระบวน ทั้งลำดับขั้นตอน และความสัมพันธ์ >>

No Comments

Comments are closed.