ทันโลก ถึงธรรม (เหลียวหลัง แลหน้า พัฒนาพุทธธรรมศิริราช)

14 ตุลาคม 2564
เป็นตอนที่ 1 จาก 20 ตอนของ

ทันโลก ถึงธรรม
(เหลียวหลัง แลหน้า พัฒนาพุทธธรรมศิริราช)

ทางศิริราชนิมนต์ให้เขียนเรื่องตามหัวข้อที่ตั้งไว้ข้างบนนั้น เริ่มต้นด้วย “เหลียวหลัง” ซึ่งก็คือให้เล่าเรื่องเก่าในอดีต แต่อาตมาเวลานี้มีความจำเลือนรางอย่างยิ่ง เหตุการณ์ต่างๆ มากมายส่วนใหญ่ได้หายหมดไปจากความทรงจำ นึกได้ตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย เห็นเป็นภาพเหตุการณ์บางอย่างชั่วครู่ชั่วขณะผ่านๆ ไป เช่นว่า นานมาแล้ว ใกล้ พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น มีข่าวว่า ที่ศิริราช มีการจัดฝึกสมาธิ ศาสตราจารย์ นพ. โรจน์ สุวรรณสุทธิ ทดลองวัดคลื่นสมองของคนที่นั่งสมาธิ นึกได้แค่นั้น และในภาพหนึ่ง มองเห็นตนเองกำลังเดินเข้าไปข้างหน้าที่ประชุมฟังการบรรยายธรรม ของชุมนุมพุทธธรรมศิริราช และอาจารย์หมอประเวศ วะสี พูดนำแก่ที่ประชุมนั้น

พูดถึงท่านผู้ใหญ่สำคัญมาก ที่เป็นผู้เสนอจัดตั้ง ชุมนุมศึกษาพุทธธรรม (ศิริราช) คือ ศาสตราจารย์ นพ. อวย เกตุสิงห์ อาตมาจำนามของท่านได้แม่น ท่านประจำอยู่ในบรรยากาศของศิริราชในยุคสมัยนั้น แต่อาตมาระลึกเหตุการณ์อะไรๆ เกี่ยวกับตัวท่านไม่ได้ นอกจากเรื่องกว้างๆ ที่รางเลือน เช่น นามของท่านที่ผูกพันกับการแพทย์แผนไทย

อย่างไรก็ดี หลังจากเขียนเรื่องนี้จบไปแล้ว วันหนึ่ง พระครูสังฆวิจารณ์ที่อยู่ใกล้ๆ ได้ค้นหาพบในหนังสือเล่มหนึ่งบอกแหล่งข้อมูลว่า สารศิริราช ปีที่ ๒๒ ฉบับที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๑๓ หน้า ๖๑๓ – ๖๖๘ ลงพิมพ์คำอภิปราย เรื่อง “ธรรมกับการศึกษาแพทยศาสตร์” ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ซึ่ง ศาสตราจารย์ นพ. อวย เกตุสิงห์ เป็นผู้นำการอภิปราย และมีอาตมาเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมอภิปราย

แล้วอีกไม่ช้าก็มีคำบอกแจ้งมาแต่ไกล จากคุณหมอกาญจนา เกษสอาด ว่าท่านเองได้เป็นผู้ไปนิมนต์อาตมาให้มาแสดงพระธรรมเทศนา ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ นพ. อวย เกตุสิงห์

แต่ในเมื่อตัวอาตมาเองจำเรื่องราวได้ไม่ชัดเจน ไม่ปะติดปะต่อ ถ้าพูดบรรยายยืดยาวไป ก็คงได้ความไม่ชัด และเรื่องราวก็จะผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้ จึงไม่ขอพูดอะไรมากมายให้ยาวความ

อย่างไรก็ตาม ที่พอจะพูดได้บ้างก็คือ เมื่อมองกว้างออกไป ชุมนุมพุทธธรรมศิริราชนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้ พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่คนเก่าๆ ชาวบ้านเรียกว่าเป็น “กึ่งพุทธกาล” โดยถือกันว่าเป็นเวลาที่พระพุทธศาสนาจะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ จนถึงความสูญสิ้นไปในปีที่ครบ ๕๐๐๐

การที่บูรพาจารย์ของศิริราช คือบรรดาอาจารย์แพทย์เก่าก่อนในยุคนั้น ตั้งชุมนุมพุทธธรรมศิริราชขึ้นมาได้ในเวลานั้น แสดงถึงความเป็นผู้นำทางความคิด ที่มิได้ปล่อยตัวไปตามสภาพเสื่อมถอยอ่อนแอของสังคมรอบตัว แต่มีความไม่ประมาท เข้มแข็งจริงจัง พร้อมด้วยความปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนา ต่อสังคมประเทศชาติ เฉพาะอย่างยิ่งต่อนักศึกษา คนหนุ่มสาว และบรรดาประชาชน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปสังคมไทย ใกล้กึ่งพุทธกาล หันหลังให้วัด >>

No Comments

Comments are closed.