ฮิปปี้เงียบหาย กระแสนิยมสมาธิขยายยืนยาวต่อมา

14 ตุลาคม 2564
เป็นตอนที่ 9 จาก 20 ตอนของ

ฮิปปี้เงียบหาย
กระแสนิยมสมาธิขยายยืนยาวต่อมา

ท่ามกลางสังคมบริโภคนิยมนี้ ถึงแม้ขบวนการฮิปปี้และขบวนการสืบเนื่องทั้งหลายจะได้สลายหายไปแล้วบ้าง จืดจางเลือนรางไปบ้าง ก็ไม่ได้หายหรือจางไปเปล่า แต่ได้เป็นอิทธิพลทำให้สังคมอเมริกันมีความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เช่น ผ่อนคลาย ปล่อยสบายๆ เบาความเครียดเคร่งครัดในการถือแบบแผน ตั้งแต่แต่งตัวก็ง่ายๆ ขึ้น คนหันมาสนใจธรรมชาติเอาใจใส่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สนใจในเรื่องจิตใจมากขึ้น

โดยเฉพาะที่ได้เป็นการปฏิบัติของชีวิต ก็คือการเจริญสมาธิ หรือฝึกสมาธิ (meditation) ดังที่ J. G. Melton ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาศาสนาอเมริกัน เขียนไว้ในสารานุกรมฉบับใหญ่ที่รู้จักกันดีว่า (เวลานี้) เกินกว่า ๑ ใน ๕ ของคนวัยผู้ใหญ่ในประเทศตะวันตก ได้ปฏิบัติการเจริญสมาธิแบบใดแบบหนึ่ง (“New Age movement.” Encyclopædia Britannica, 2014.)

นอกจากนั้น การศึกษา การสื่อสารทางความคิดความเชื่อต่างๆ ที่มีสถาบันซึ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ เช่นอย่าง Naropa เป็นฐานเป็นที่รองรับขับเคลื่อน เวลานานผ่านไป จะเป็นกระแสใหม่ที่กลายเป็นส่วนประกอบร่วมอยู่ด้วยบ้าง กลมกลืนเข้าไปบ้าง ในวิถีชีวิตและสังคมอเมริกัน ความเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นไปเองในระยะยาว

ที่เมืองไทยนี้ ในเวลาไม่นาน อิทธิพลนำกระแสจากอเมริกาที่ว่านั้น ก็มาถึง ที่ปรากฏให้เห็นง่ายๆ ก็คือ หลังจากฮิปปี้โด่งดังในอเมริกาแล้ว คนไทยก็ได้เห็นฝรั่งที่เดินตามถนนในกรุงเทพฯ จำนวนมากแต่งตัวกันอย่างง่ายๆ ผมเผ้า เสื้อ กางเกง รองเท้า ว่ากันค่อนข้างตามสบาย ไม่ต้องถือแบบแผน บางทีเสื้อก็ไม่ใส่ ต่อมา ได้เกิดมีขบวนการนักศึกษา ที่คนหนุ่มไทยเองไม่น้อยแต่งตัวอย่างที่พูดกันว่า ผมยาว-รองเท้ายาง-กางเกงยีนส์ นั่นก็ด้านหนึ่ง

ทีนี้ ลึกลงไปถึงจิตใจ กระแสนิยมสมาธิ ก็เด่นขึ้นมาด้วย เมื่อกี้ได้เล่าไปแล้วว่า ที่กรุงเทพฯ ตอนกึ่งพุทธกาล คนไทยหัวเราะเยาะ ใครพูดถึงกรรมฐาน สมาธิ วิปัสสนา จะถูกมองว่าคร่ำครึ พูดเรื่องเหลวไหล แต่เมื่อเกิดวัฒนธรรมสวนกระแสขึ้นในอเมริกาแล้ว ต่อมาไม่นาน ในเมืองไทยนี้ คำว่าสมาธิก็กลายเป็นคำที่มีเกียรติ มีคุณค่าสำคัญ สามารถชูตัวคนที่พูด กระแสตื่นหรือนิยมสมาธิ ก็แพร่ไปในเมืองไทยด้วย

ควรเข้าใจให้ชัดว่า meditation ไม่ใช่สมาธิ แต่เป็นการปฏิบัติ เป็นการฝึกให้เกิดมีสมาธิ หรือให้เข้าถึงสมาธิ อย่างคำพระที่ว่า “เจริญสมาธิ” คือ สมาธิเป็นภาวะจิต ที่สำเร็จได้ถึงได้ด้วย meditation

แต่อย่างที่ว่าแล้ว สำนักศาสนาตะวันออกใหญ่ๆ เด่นดัง ที่เข้าไปตั้งในอเมริกานั้น ส่วนมากไปจากอินเดีย เป็นของฮินดู ดังนั้น สมาธิที่ฝรั่งรู้จักเข้าใจ จึงมักเป็นสมาธิตามความหมายของฮินดู ซึ่งไม่ใช่หลักพระพุทธศาสนา เช่นฝรั่งมักเข้าใจความหมายของสมาธินั้นว่า เป็นการเข้าถึงภาวะที่จิตดื่มด่ำดูดกลืนเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมัน หรือเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า หรือภาวะจิตที่สูงสุดถึงจุดหมาย

แต่ในพระพุทธศาสนา สมาธิคือภาวะที่จิตมั่นแน่ว อยู่กับสิ่งที่รับรู้อันหนึ่งอันเดียวได้ ซึ่งเป็นภาวะที่จิตนั้นพร้อมที่จะใช้เป็นฐานในการทำงานของปัญญา สมาธิอยู่ที่จิต ตัวที่จะพาไปให้ถึงจุดหมาย คือปัญญา

จะพูดเรื่องที่เมืองไทยนี้ เลยกลายเป็นว่าได้พูดเรื่องเมืองฝรั่งที่อเมริกามายืดยาว แต่คิดว่าไม่เป็นการใช้เวลาให้เสียเปล่า เพราะเป็นเรื่องที่ควรรู้เข้าใจชัดไว้ให้พอแก่การ

ไม่ว่าจะมองแง่ไหน ถ้าถือว่าเมืองอเมริกาเป็นที่พัฒนานำหน้า ก็ต้องรู้หน้าทันหลังของเขา ถ้าสังคมไทยรอรับคอยตามกระแสจากที่นั่น ก็ต้องมิใช่แค่ถูกพัดพาไหลไปตามกระแส แต่ต้องสามารถจัดการปรับแปรผันกระแสนั้นได้ ยิ่งกว่านั้น พูดได้ว่า ในเวลาที่ผ่านมานาน สังคมไทยได้พยายามแสดงตัวให้เห็นว่าเป็นอย่างเขา ทั้งที่สภาพของตัวมิใช่เป็นอย่างที่พยายามแสดง แถมตัวก็ไม่รู้ไม่เข้าใจมองไม่เห็นสภาพที่ไม่เป็นอย่างนั้นด้วย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บริโภคนิยมว่า กินให้เต็มที่ จะมีสุขเหลือล้น แต่ผลโชว์ว่า คนก็ฉุ โลกก็เน่ากระแสถึงกัน แต่สังคมห่างกัน >>

No Comments

Comments are closed.