ถึงกึ่งพุทธกาล ในอเมริกา พระพุทธศาสนา โผล่ขึ้นมากับคนรุ่นใหม่

14 ตุลาคม 2564
เป็นตอนที่ 3 จาก 20 ตอนของ

ถึงกึ่งพุทธกาล ในอเมริกา
พระพุทธศาสนา โผล่ขึ้นมากับคนรุ่นใหม่

หันไปดูเมืองฝรั่ง ที่ว่าเป็นอารยประเทศ เวลานั้น เป็นยุคสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใหม่ๆ อเมริกาเป็นประเทศผู้ชนะสงครามที่เสียหายน้อยที่สุด ไม่บอบช้ำ ได้รุ่งเรืองเฟื่องฟูโดดเด่นขึ้นมาเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุด เป็นสังคมที่มั่งคั่งพรั่งพร้อม ผู้คนมีชีวิตแบบวัตถุนิยม มุ่งหน้าแข่งขันหาเงินทองหวังความสุขจากการเสพบริโภค จนได้ชื่อว่าเป็นสังคมบริโภค หรือสังคมนักบริโภค (Consumer Society)

แต่ในสังคมที่ผู้คนต่างก็ตัวใครตัวมัน มุ่งหน้าแก่งแย่งแข่งขันเอาชนะกันอย่างสุดกำลัง โดยมีชีวิตหมกมุ่นอยู่กับการหาความสุขจากการเสพบริโภคนั้น เวลาผ่านไปไม่นาน คนเหล่านั้นมากมายกลับรู้สึกตัวว่าไม่มีความสุข จิตใจว้าวุ่นร้อนรนกระวนกระวาย เครียด อ้างว้าง โดดเดี่ยว เหงา แปลกแยกจากผู้คนด้วยกัน แปลกแยกจากงานการที่ทำ แล้วก็แปลกแยกกับชีวิตของตัวเอง

เวลาผ่านมาไม่นานนัก พวกคนรุ่นใหม่ ยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยเฉพาะที่เกิดหลังสิ้นสงครามโลกนั้น เติบโตขึ้นมาเป็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว มองเห็นตัวเองถูกกดถูกอัดบีบคั้นอยู่ในวิถีชีวิตและสภาพสังคมที่เป็นอย่างนี้ ก็ไม่พอใจ เบื่อหน่าย อยากมีชีวิตที่โล่งเบา เป็นอิสระ แล้วก็เริ่มมีปฏิกิริยา

ตอนนี้นี่เองก็มาถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่เรียกว่าเป็นปีกึ่งพุทธกาล เหตุการณ์ที่เป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญซึ่งเกี่ยวโยงมาถึง และกระทบพระพุทธศาสนา แทนที่จะเกิดขึ้นในเมืองไทย กลับไปเกิดขึ้นที่อเมริกา ที่ว่าเจริญร่ำรวยที่สุดในโลก มีขบวนการของคนรุ่นใหม่ ซึ่งสลัดทิ้งวัฒนธรรมอเมริกัน ปฏิเสธสังคมกระแสหลัก ที่เป็นบริโภคนิยม ปรากฏตัวเด่นดังชัดขึ้นมาในปี 1957 คือ พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น เรียกว่าคนรุ่นบี๊ต – Beat Generation คนหนุ่มพวกนี้มิใช่เป็นกลุ่มใหญ่โต และไม่ได้ออกมาปฏิบัติการโวยวายอะไร เขาแสดงออกทางความคิด เป็นงานวรรณกรรม เป็นกวีนิพนธ์ คนหัวหน้าหรือผู้นำ (Jack Kerouac) เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแบบเซน (Zen) ของญี่ปุ่น ถือหลักความเป็นอิสระเสรี และชีวิตที่ไม่ต้องมีเงินทอง

Jack Kerouac นำคณะออกเดินทาง โดยไม่มีเงินทองติดตัวเลย เร่ร่อนผจญภัยไปตลอดดินแดนประเทศอเมริกาจนถึงเม็กซิโก บอกว่าแสวงหาโมกษะ (freedom) และโพธิ (enlightenment) โดยม่วนยาเสพติด สุรา นารี ดนตรี พร้อมไปด้วย เขาเขียนเล่าการจาริกนี้เป็นหนังสือ (ชื่อว่า On the Road) ออกมาในปีกึ่งพุทธกาล ๒๕๐๐/1957 ซึ่งได้เป็นวรรณกรรมที่มีชื่อเสียง และทำให้ Beat Generation ปรากฏตัวโดดเด่นขึ้นมาอย่างที่ว่าแล้ว และในปีต่อมา เขาก็เขียนหนังสือเล่มใหม่ เรื่อง The Dharma Bums (คนติดธรรม) ว่าด้วยการแสวงธรรมในพระพุทธศาสนา และการบรรลุธรรมด้วยการปฏิบัติพุทธแบบเซน โดยเอาเพื่อนในกลุ่ม ชื่อ Gary Snyder เป็นตัวละคร

Gary Snyder นี้ ได้ไปเรียนพุทธศาสนาแบบเซน อยู่ในวัดญี่ปุ่นที่เกียวโต ถึง ๘ ปี (1956 – 1964, บ้างว่า ๑๒ ปี ถึง 1968) เป็นกวีที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ เขาชื่นชมชีวิตชุมชนอย่างสังฆะ รักความสงบในธรรมชาติ ชวนให้ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ทำลายธรรมชาติ และให้เห็นคุณค่าของ meditation (การเจริญสมาธิ) ต่อมา เมื่อถึงยุคของพวก hippies กวี Snyder นี้ ก็ได้เป็น hippie guru คือเป็นครู (“คุรุ” ที่คนไทยเรียกเพี้ยนเป็น “กูรู”) ของพวกฮิปปี้ด้วย เช่นเดียวกับกวี Allen Ginsberg ชาว Beat (beatnik) อีกคนหนึ่ง ซึ่งก็ได้ศึกษารู้พระพุทธศาสนามาก

อย่างที่ว่าแล้ว พวก Beat Generation เป็นกลุ่มคนที่ไม่มากมายใหญ่โต และไม่ได้ออกมาแสดงบทบาทโวยวายให้คนตื่นเต้นกันในสังคม ได้แต่เป็นเจ้าความคิด ที่แสดงออกมาทางหนังสือ แรงกระทบต่อสังคมและวิถีชีวิตอเมริกัน จึงยังไม่ทำให้กระเทือนหวั่นไหวมาก แต่มีความสำคัญในแง่ที่อาจจะเรียกว่าเป็นผู้จุดประกาย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สังคมไทย ใกล้กึ่งพุทธกาล หันหลังให้วัดตั้งแต่ฮิปปี้โผล่ออกมา อเมริกาวุ่นวายไปนาน >>

No Comments

Comments are closed.