ขึ้นสหัสวรรษใหม่ คนเจอโรคระบาดใหม่ รับรองโดยองค์การอนามัยโลก

14 ตุลาคม 2564
เป็นตอนที่ 7 จาก 20 ตอนของ

ขึ้นสหัสวรรษใหม่ คนเจอโรคระบาดใหม่
รับรองโดยองค์การอนามัยโลก

สภาพปัจจุบันของโลกมนุษย์ในยุคบริโภคนิยมนี้ ก็คือ คนพากันตกลงไปจมอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) กันทั่วไปในโลก

คนในประเทศพัฒนาแล้ว ที่ร่ำรวย กินอยู่ฟุ่มเฟือย หรูหราฟู่ฟ่า ก็เสียสุขภาพ เป็นโรค เพราะกินเกินพอ (overnutrition/ภาวะโภชนาการเกิน) ส่วนคนในประเทศยากจน ด้อยพัฒนา ก็เสียสุขภาพ เป็นโรค เพราะกินไม่พอบ้าง ไม่มีจะกินบ้าง ขาดอาหาร (undernutrition/ภาวะพร่องโภชนาการ) พวกที่ร่ำรวยก็ไปช่วยเฉลี่ยเจือจานพวกที่ยากไร้ไม่ได้จริงจัง เพราะตัวเองต้องเที่ยวหาทรัพยากรที่กินใช้ไม่รู้จักพอ (อเมริกามีประชากร ๕ เปอร์เซ็นต์ของโลก แต่บริโภคทรัพยากรของโลก ๔๐ เปอร์เซ็นต์) ต้องวุ่นวายกับการไปหาที่ทิ้งขยะของเสีย มากกว่าจะมีเวลาคิดเอาของดีไปแบ่งปันให้ในที่คนไม่มีจะกิน

บริโภคนิยมนี้ เรียกอย่างคำพระที่ใช้กันมาแสนนานว่า ความไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ก่อปัญหาทุกด้าน ตั้งแต่ผลาญทรัพยากร ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ทั้งขยะ น้ำเสีย สารพิษ ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากเบียดเบียนธรรมชาติแล้ว ก็ทำให้คนเบียดเบียนกันเอง แก่งแย่งแข่งขันข่มเหงเอารัดเอาเปรียบกันในสังคม ส่งผลย้อนกลับเข้ามาที่ตัวคน เข้าไปถึงในจิตใจ ทำให้เครียด กังวล ร้อนรน เบื่อหน่าย แล้วก็บั่นทอนสุขภาพร่างกาย ทำให้เป็นโรคได้หลายอย่างมากมาย แล้วปัญหาด้านต่างๆ ทั้งหลายเหล่านั้นก็เป็นปัจจัยต่อกันย้อนไปย้อนมาซ้ำเติมเสริมกันนุงนัง

เมื่อกี้นี้ได้บอกว่า ในโลกยุคบริโภคนิยมนี้ ทั้งคนร่ำรวยมั่งมี และคนยากไร้ไม่มี ต่างก็ประสบภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) ไปด้วยกัน สำหรับคนยากจนขาดแคลนแล้วเป็นโรคขาดอาหาร พร่องโภชนาการ เป็น undernutrition นั้น ก็เป็นธรรมดา แต่คนร่ำรวยมีกินเหลือเฟือ ก็ทุพโภชนาการด้วย อันนี้เป็นเรื่องค่อนข้างแปลกใหม่ เป็นปัญหาใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย โดยเฉพาะอเมริกา เป็นปัญหาที่แก้ยาก ภาวะทุพโภชนาการของคนในประเทศร่ำรวยนั้น คือด้านโภชนาการเกิน เป็น overnutrition ที่สำคัญ ได้แก่ความอ้วน/obesity ซึ่งเวลานี้จัดเป็นโรคที่สำคัญโดดเด่น

ในอเมริกานั้น นานแล้วคนเป็นโรคอ้วนมากขึ้นๆ ถึงขั้นน่าเป็นห่วง แล้วก็จับตาดูกันมา ปรากฏว่า ในต้นทศวรรษ 1980s (๒๕๒๓-๒๕๓๒) คนอเมริกันในช่วงอายุ ๒๐ – ๗๔ ปี เป็นโรคอ้วน ๑๕%

โรคอ้วนนี้น่ากลัว เป็นตัวการเพิ่มความเสี่ยงต่อมรณกรรมก่อนวาระ เปิดทางแก่โรคหัวใจวาย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดอุดตัน โรคถุงน้ำดี โรคข้ออักเสบ จนถึงมะเร็ง ถึงประเทศจะเจริญมาก การแพทย์นำหน้า ก็ยากจะแก้ไข แถมว่ามักเป็นปมให้ขุ่นมัวอยู่ในใจ และในการอยู่ร่วมสังคม เช่นเป็นเป้าสายตาในเชิงผิดปกติ กลัวถูกล้อ เป็นต้น เป็นปัญหาซับซ้อนโยงใยทั้งทางกาย ทางจิตใจ และทางสังคม

บ้านเมืองยิ่งเจริญ คนเป็นโรคอ้วนยิ่งเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ไม่แต่ผู้ใหญ่ แต่เด็กๆ ทั้งหลายก็อ้วนกันเกร่อ

เข้าปี 2000/๒๕๔๓ เตรียมขึ้นสหัสวรรษใหม่ องค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่า คนเกินกว่า ๓๐๐ ล้านคนในโลกนี้ เป็นโรคอ้วน แล้วก็จัดให้โรคอ้วน เป็นโรคระบาดทั่วโลก แล้วถึงปี 2008/๒๕๕๑ ตัวเลขก็พุ่งสูงเร็วไวว่า คนวัยผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ ๒๐ ปีขึ้นไป มีน้ำหนักเกินปกติ ๑,๔๐๐ ล้านคน และเป็นโรคอ้วน ๕๐๐ ล้านคน

เฉพาะในอเมริกาที่ว่าต้นทศวรรษ 1980s คนเป็นโรคอ้วน ๑๕% นั้น ผ่านขึ้นสหัสวรรษใหม่มาถึงปี 2007/๒๕๕๐ คนอ้วนเพิ่มจำนวนเกินเท่าตัวเป็น ๓๔% แล้วจากนั้น ผ่านมาแค่ ๑๐ ปี (2017/๒๕๖๐ – 2018/๒๕๖๑) จำนวนคนอ้วนก็เพิ่มขึ้นเป็น ๔๒.๔%

พวกเด็กๆ ก็ไม่เบา พอถึงปี 2005/๒๕๔๘ สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน/American Academy of Pediatrics ก็ให้ชื่อโรคอ้วนว่าเป็นโรคระบาดกุมารเวชแห่งสหัสวรรษใหม่ (the pediatric epidemic of the new millennium) พอถึงปี 2010/๒๕๕๓ ปรากฏว่า เด็กอเมริกันทุก ๑ ใน ๓ คน น้ำหนักเกิน หรือไม่ก็เป็นโรคอ้วน สถิติเพิ่มสูงขึ้นเป็น ๓ เท่าของปี 1980/๒๕๒๓

อย่างที่ว่าแล้ว โรคอ้วนเป็นปมปัญหาซับซ้อนทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทางสังคม สัมพันธ์กับปัจจัยด้านวิถีชีวิตในสังคม รวมทั้งการงานอาชีพ คนนั้น ทั้งที่ไม่อยากอ้วน และก็รู้อยู่ว่ากินของอย่างนั้นมากๆ พร่ำเพรื่อ ไม่ดีเลย จะทำให้อ้วน แต่ก็อดไม่ได้ อย่างที่ว่ากินเข้าไปๆ เป็นทางระบายความอัดอั้น แก้เครียด แก้ความเบื่อหน่าย1

ในอเมริกานั้น ได้ยินมาหลายสิบปีแล้ว พวกพ่อค้ามีบริการเอาตู้หยอดตังค์ (vending machine, เริ่มแรก หยอดเหรียญ ต่อมาสอดธนบัตรก็ได้ แถมทอนเงินให้ได้ด้วย) ไปตั้งให้ถึงในสำนักงาน หรือห้องทำงาน เป็นน้ำอัดลมอย่างโค๊ก หรือเป็ปซี่บ้าง ของว่าง ของเคี้ยวกรอบบ้าง

คนทำงานนั่งทำงานไป เดี๋ยวก็หยอดเหรียญๆ เอาไปกินไปดื่มได้สะดวกง่ายๆ เรื่อยๆ ทำงานไป กินไป บางทีเรียกว่ากินแก้เซ็ง อย่างนี้ไม่ช้านัก ก็อ้วนได้ไม่ยากเลย และก็ได้ยินว่าบางแห่ง พบปัญหาโรคอ้วน จึงได้มีการพิจารณาจะห้ามเอาตู้หยอดเหรียญไปตั้งในที่ทำงานอย่างนั้น แต่เป็นเรื่องนานมากแล้ว จำได้ไม่ชัดเจน

เอาเรื่องตัวอย่างที่ชัดหน่อยตามตำราบอกไว้ ในอเมริกานั้น เมื่อปี 2004/๒๕๔๗ โรงเรียนจะแก้ปัญหาเด็กอ้วน จึงพิจารณากันว่าจะห้ามอาหารที่ทำให้เสียสุขภาพ อย่างเช่นน้ำอัดลม ลูกกวาด มันทอดกรอบ ไม่ให้ขายในโรงเรียน คราวนั้นก็เกิดข้อขัดแย้งที่สำคัญ คือ ที่คิดจะห้ามไม่ให้ขายน้ำอัดลมในโรงเรียนนั้น เป็นการขัดกับทางเขตการศึกษาอำเภอที่ได้ทำสัญญาอนุญาตให้พ่อค้าเอาน้ำอัดลมเข้ามาขายในโรงเรียนได้ โดยแบ่งผลกำไรให้แก่เขตการศึกษาอำเภอนั้น ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่โรงเรียนก็จึงมักไม่เต็มใจที่จะห้ามขายน้ำอัดลมในโรงเรียน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าห้ามไม่ให้เอาตู้หยอดตังค์มาตั้งขายน้ำอัดลมในโรงเรียนแล้ว รร.มัธยม ๔ แห่ง ในรัฐ Alabama/แอละแบมา ซึ่งได้เงินจากการขายน้ำอัดลมมาปีละ ๑๙๐,๐๐๐ ดอลลาร์ ก็จะอด จะไม่ได้เงินจำนวนนั้นอีก

เรื่องนี้นำมาเล่าไว้ให้เห็นตัวอย่างว่า นอกจาก fast food หรือ junk food แล้ว คนที่นั่นรู้กันดีเรื่องที่ตู้หยอดเหรียญกินสะดวกดื่มคล่อง เป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งที่พาโรคอ้วนมา พร้อมทั้งให้เห็นปมปัญหาของระบบผลประโยชน์ที่ซ้อนเข้ามาซ้ำปัญหาของบริโภคนิยม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บริโภคนิยมคายพิษภัยออกมา ไม่ช้าก็ชัดว่า เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนบริโภคนิยมว่า กินให้เต็มที่ จะมีสุขเหลือล้น แต่ผลโชว์ว่า คนก็ฉุ โลกก็เน่า >>

เชิงอรรถ

  1. อย่างที่หนังสือตำราอเมริกันบอกว่า:
    Often obesity results from using food as an inappropriate coping mechanism to deal with emotional stress. (“Obesity.The Year 2003 Grolier Multimedia Encyclopedia.)
    The stresses and tensions of modern living also cause some individuals to turn to foods and alcoholic drinks for “relief.” (“Obesity.” Encyclopædia Britannica, 2014.)

No Comments

Comments are closed.