ปฏิบัติธรรมให้ครบทั้งระบบ จบถึงจุดหมายของชีวิต

14 ตุลาคม 2564
เป็นตอนที่ 14 จาก 20 ตอนของ

ปฏิบัติธรรมให้ครบทั้งระบบ
จบถึงจุดหมายของชีวิต

การปฏิบัติธรรมที่ครบหลัก ตรงเรื่อง ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างผู้ไม่ประมาท เป็นบัณฑิต มีพุทธพจน์บอกไว้ว่า (เช่น ขุ.อิติ.๒๕/๒๐๑/๒๔๑)

อปฺปมตฺโต อุโภ อตฺเถ อธิคฺคณฺหาติ ปณฺฑิโต
ทิฏฺเ ธมฺเม จ โย อตฺโถ โย จตฺโถ สมฺปรายิโก
อตฺถาภิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ ฯ

แปลว่า: ผู้ไม่ประมาท เป็นบัณฑิต ย่อมจับเอาประโยชน์ไว้ได้ครบทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ในทิฏฐธัมม์ (ประโยชน์ในภาวะที่ตาเห็น) และประโยชน์ในสัมปราย์ (ประโยชน์เลยตาเห็น), เพราะลุถึงประโยชน์ที่เป็นจุดหมาย จึงเรียกธีรชนว่าเป็น “บัณฑิต”

๑. ประโยชน์ในทิฏฐธัมม์ หรือจุดหมายที่ตาเห็น หมายถึงประโยชน์ในชีวิตปัจจุบันทันตา หรือประโยชน์ที่เป็นเรื่องตามองเห็น เรียกเต็มคำว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” ได้แก่

ก) มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไร้โรค อายุยืน

ข) มีเงินมีงาน มีอาชีพสุจริต พึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ

ค) มีสถานภาพดี เป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม

ง) มีครอบครัวผาสุก ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ

การปฏิบัติธรรม หมายถึงการกระทำดำเนินการที่จะให้ประโยชน์เหล่านี้เกิดมีขึ้น และใช้มันปฏิบัติต่อมันอย่างถูกต้อง เช่น รักษาสุขภาพ ด้วยการรู้จักประมาณในการเสพบริโภค (โภชเนมัตตัญญุตา) กินพอดี กินด้วยปัญญา รู้จักสร้างสัปปายะ ใช้เวลาเป็น หรือในเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ก็ขยันหมั่นเพียร แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ไม่ใช้วิธีเลวร้าย ได้มาแล้ว เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว ให้อิ่มหนำเป็นสุข และแจกจ่ายแบ่งปัน ใช้ทรัพย์ทำการดีงามบำเพ็ญประโยชน์ มีปัญญารู้จักใช้ทรัพย์ให้ได้สมคุณค่าที่แท้ของมัน ไม่ติด ไม่สยบ ไม่มัวเมา มีใจเป็นอิสระ กินใช้ทรัพย์อย่างรู้เท่าทัน ไม่ให้เกิดโทษมีทุกข์เพราะทรัพย์นั้น

๒. ประโยชน์ในสัมปราย์ หรือจุดหมายเลยตาเห็น หมายถึงประโยชน์เบื้องหน้าคือชีวิตในอนาคต ภพหน้า หรือประโยชน์ที่ล้ำลึกเลยตาเห็น คือประโยชน์ทางจิตใจและทางปัญญา เรียกเต็มคำว่า “สัมปรายิกัตถะ” เช่นว่า

– มี ศรัทธา มีหลักการและจุดหมาย ที่ทำให้อุ่นใจเข้มแข็งโดยมั่นใจด้วยปัญญา

– มี ศีล ที่สามารถภูมิใจในชีวิตที่สะอาดสุจริต

– มี จาคะ ที่ทำให้อิ่มใจในชีวิตมีคุณค่าที่ได้มีน้ำใจเสียสละเป็นผู้ให้และได้ทำประโยชน์

– มี ปัญญา ที่ทำให้แกล้วกล้ามั่นใจในการดำเนินชีวิตที่จะแก้ไขปัญหาจัดภารกิจให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

ประโยชน์ขั้นสัมปราย์นี้ ที่เป็นเรื่องในระดับสูง บางทีก็เรียกชื่อแยกออกไปให้สังเกตได้ชัดว่า ปรมัตถะ หรือ ปรมัตถ์1 แปลกันว่าประโยชน์อย่างยิ่ง คือเป็นจุดหมายสูงสุด พูดสั้นๆ ว่า ได้แก่ วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ สุข เกษม นิพพาน การปฏิบัติธรรมในระดับนี้ พูดง่ายๆ ก็ได้แก่ สมถะ วิปัสสนา ซึ่งรวมทั้งการเจริญสมาธิอยู่ในตัว อย่างที่คนสมัยนี้มากมายเรียกการปฏิบัติธรรมด้วยความเข้าใจที่จำกัดอยู่แค่นี้

อัตถะ คือประโยชน์ที่มุ่งหมายนี้ แยกอีกแบบหนึ่งเป็น ๒ เหมือนกัน คือ

๑. อัตตัตถะ ประโยชน์ตน ตั้งแต่ทรัพย์สินเงินทองของตาเห็น ลึกเลยตาเห็นเข้าไปถึงคุณสมบัติในตัว เช่น การศึกษา ความเพียรพยายาม ขยัน อดทน เมตตา กรุณา สติ สมาธิ ปัญญา จนถึงการบรรลุวิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ สุข เกษม นิพพาน

๒. ปรัตถะ ประโยชน์ผู้อื่น คือ การช่วยเหลือทำให้คนอื่นๆ ได้ มี เข้าถึงประโยชน์ที่ว่าแล้ว เหล่านั้น

(บางครั้งก็ซอยละเอียดเป็น อัตถะ ๓ คือมีข้อ ๓. ว่า อุภยัตถะ ประโยชน์ร่วมกันทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งตนเอง และผู้อื่น เป็นส่วนรวม)

พุทธพจน์ที่ตรัสสอนให้ทำประโยชน์ครบทั้งสองด้านสองฝ่ายที่ว่านี้ พบบ่อยมากในพระไตรปิฎก

อัตถะ ๒ (หรือ ) สองชุดนี้ เป็นหลักใหญ่ของการปฏิบัติธรรมที่ครอบคลุมทั่วทั้งหมด

ทีนี้ ในขั้นต้น ปฏิบัติธรรมให้ได้ประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์อย่างไร?

เริ่มแรก ตั้งตัวให้มั่นอยู่ได้ในวินัย มีความประพฤติสุจริต ที่เรียกว่ามีศีล รวมทั้งละเว้นอบายมุขทั้งหลาย แล้วก็ปฏิบัติหลักธรรมเพื่อสร้าง ประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์ ที่รู้จักกันมากหน่อย คือชุดที่ว่าด้วยการทำการงานอาชีพหาเงินให้มีทุนทรัพย์ไว้อย่างดี ซึ่งมี ๔ ข้อ คือ

๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ทำการงานอาชีพด้วยความพากเพียร พร้อมด้วยวิมังสา ใช้ปัญญาเลือกเฟ้นวิธีจัดทำดำเนินการให้สำเร็จอย่างดี

๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา ดูแลถนอมทรัพย์ที่หามาได้ให้อยู่ดีปลอดภัย

๓. กัลยาณมิตตตา มีกัลยาณมิตร โดยรู้จักเลือกหาคนดีมีปัญญา ที่จะทรงตัวไว้ด้วยกัน และมาพบปะสนทนาถกถ้อยปรึกษา และศึกษาเยี่ยงอย่างคุณสมบัติที่ดี

๔. สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตแต่พอดี รู้ทันไว้ถึงช่องหดหายและทางเพิ่มขึ้นไปของทุนทรัพย์ เป็นอยู่พอเหมาะ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ฝืดเคือง ให้รายได้เหนือรายจ่ายเป็นสำคัญ

ธรรมที่จะปฏิบัติต่อประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์ มีอีกมากมาย เช่น ในด้านสุขภาพ อย่างที่ตรัสเรื่องมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในการบริโภค รู้จักพอดี แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล และในด้านการดำเนินชีวิตทั่วๆ ไป และการอยู่ร่วมในสังคม ก็มียืดยาวเต็มทั้งสิงคาลกสูตร ที่ถือว่าเป็นวินัยของชาวบ้าน (คิหิวินัย)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ปฏิบัติการต้นทาง ไม่ทำ จู่ๆ มาเพียรตอนท้าย อาจกลายเป็นเลื่อนลอยปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ จะได้การพัฒนาที่ยั่งยืน >>

เชิงอรรถ

  1. ในพุทธพจน์ คือที่พระพุทธเจ้าตรัส ทรงระบุไว้ ๒ อย่าง คือ ๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ และ ๒. สัมปรายิกัตถะ โดยทรงรวมปรมัตถะไว้ใน ๒. แต่ในคัมภีร์ชั้นอธิบาย มีการแยกปรมัตถ์ออกมาจัดเป็น ๓. ปรมัตถะ (เช่น ขุ.ม.๒๙/๒๙๒/๒๐๕)

No Comments

Comments are closed.