— การศึกษาระบบวัดที่ถูกเขาทิ้ง ทำอะไรอยู่ในสังคมไทย

25 พฤศจิกายน 2517
เป็นตอนที่ 3 จาก 20 ตอนของ

การศึกษาระบบวัดที่ถูกเขาทิ้ง ทำอะไรอยู่ในสังคมไทย

ลักษณะบางอย่างของการศึกษาในระบบสังคมไทยเดิม หรือระบบวัดนี้ ที่ควรสังเกต คือ

(๑) ให้ความเสมอภาคแห่งโอกาสในทางการศึกษามากพอสมควร

(๒) ผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว โดยทั่วไปจะอยู่รับใช้สนองความต้องการของชุมชนนั้นเอง

(๓) ผู้อยู่ในวัด ครองเพศเป็นพระภิกษุสามเณรนั้น แยกโดยกิจกรรมทางการศึกษา เป็น ๒ ประเภท คือ ผู้สอน กับผู้เรียน หรือผู้ให้การศึกษา กับผู้รับการศึกษา

ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่ก็คือผู้เรียน หรือผู้รับการศึกษา พระภิกษุสามเณรที่เป็นผู้เรียน จะต้องถูกมองในแง่ที่เป็น สมาชิกของชุมชนผู้เข้ามาเป็นภาระของสถาบันสงฆ์ เข้ามารับบริการจากสถาบันสงฆ์ เพื่อเอาประโยชน์ไปให้แก่ชุมชน ไม่ใช่มองในแง่ของผู้ที่ทำบทบาทของสถาบันสงฆ์ต่อชุมชน และสภาพเช่นนี้ ในสมัยปัจจุบัน ก็ยังคงอยู่อย่างเดิม

ความเข้าใจข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องย้ำไว้ เมื่อมองเข้ามาในวัด นึกถึงภาพของภิกษุสามเณร จะต้องนึกแยกอย่างนี้1

ถ้าจะเทียบ ก็คล้ายกับมองเข้าไปในโรงเรียน สมาชิกของโรงเรียนมี ๒ ประเภท ส่วนน้อยเป็นครู และส่วนใหญ่เป็น นักเรียน

นักเรียน คือสมาชิกของชุมชนที่เข้ามารับบริการจากโรงเรียน ชุมชนจะเรียกร้องบริการจากนักเรียนในนามของ โรงเรียนไม่ได้ เพราะแท้จริงแล้ว นักเรียนคือคนของชุมชนเองที่ไปรับบริการจากโรงเรียน

ข้อแตกต่างระหว่างวัดกับโรงเรียน หรือพระภิกษุสามเณร กับครูและนักเรียน ในแง่นี้ มีเพียงว่า บทบาทในฐานะผู้สอนกับผู้เรียน ของพระภิกษุสามเณร ซับซ้อนกว่าของครูกับนักเรียน

ซับซ้อนกว่าอย่างไร คือ ภายในวัด บทบาทของผู้สอนกับผู้เรียน มีโอกาสอยู่ในตัวบุคคลผู้เดียวได้มาก บุคคลผู้เดียวอาจเป็นทั้งผู้เรียน (ในชั้นสูงขึ้นไป) และเป็นผู้สอน (ในชั้นต่ำลงมา) เป็นทำนองระบบพี่สอนน้อง

เมื่อการศึกษาของไทยถูกยกออกไปจากวัด

๒. เมื่อประเทศไทยรับอารยธรรมตะวันตก และได้เริ่มจัดการศึกษาตามระบบใหม่อย่างตะวันตกแล้ว แม้ระยะแรกจะเป็นงานร่วมกันระหว่างรัฐกับสถาบันสงฆ์ แต่ต่อมาไม่นาน รัฐก็เข้ารับผิดชอบจัดการศึกษาของสังคมไทยเองโดยสิ้นเชิง บทบาทในการให้การศึกษาแก่ประชาชนในรูปที่เป็นระบบถูกยกออกไปจากวัด และแยกขาดจากวัด

พระสงฆ์ซึ่งประสบปัญหาในการปรับตัวเพื่อให้พร้อมที่จะเป็นผู้ให้การศึกษาในระบบใหม่ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกอยู่แล้ว เมื่อไม่ต้องเป็นภาระที่จะต้องจัดทำ ไม่ช้าไม่นานก็หมดความสนใจในทางการศึกษา และหมดประสิทธิภาพในทางการศึกษาไปด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชนลดน้อยลง วิถีหรือช่องทางของความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไป หรือเปลี่ยนจุดสนใจ พร้อมกับความคลาดเคลื่อนในด้านบทบาท ตลอดจนความผันแปรของภาพและฐานะของพระสงฆ์ในสายตาของประชาชน

สังคมทันสมัย การศึกษาเจริญแบบใหม่ เกิดอะไรที่วิปลาส

ยิ่งสังคมทันสมัยขึ้น การศึกษา(เรียกกันว่า)เจริญขึ้น ความวิปลาสคลาดเคลื่อนก็ยิ่งชัดเจนขึ้น

ในฝ่ายรัฐ เมื่อแยกเอาการศึกษามาจัดทำโดยสิ้นเชิงแล้ว ก็มุ่งที่จะอำนวยการศึกษาให้ทั่วถึงทุกท้องถิ่นใกล้ไกล และพยายามเข้าถึงจุดหมายในการให้ความเสมอภาคแห่งโอกาสในการได้รับการศึกษาแก่ประชาชนทั้งปวง ตามหลักการข้อสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมาช้านาน ผลได้ปรากฏดังนี้

ก. รัฐไม่สามารถจัดการศึกษาแม้เพียงขั้นมูลฐานระดับประถมศึกษา หรือแม้เพียงอ่านออกเขียนได้ให้ทั่วถึงทุกท้องถิ่น โดยเฉพาะในถิ่นกันดารห่างไกลและชายแดน จึงเป็นอันตัดประชาชนถิ่นนั้นๆ จากระบบการศึกษา และตัดโอกาสในการที่จะได้รับการศึกษาโดยสิ้นเชิง

ข. ในถิ่นที่สามารถจัดการศึกษาในขั้นต้นๆ ได้ เช่น ประถมศึกษา เป็นต้น การศึกษาระดับนั้นๆ ก็กลายเป็นทางไต่ไปสู่การศึกษาชั้นสูงขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ในเมืองและในกรุงตามลำดับ แม้ว่าเด็กทุกคนในถิ่นนั้นจะมีโอกาสเรียนจบการศึกษาขั้นต้นเหมือนกัน แต่ผลต่อไป มีดังนี้

(๑) เด็กที่พ่อแม่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเท่านั้น จึงจะมีโอกาสส่งไปเรียนต่อชั้นสูงขึ้นไปในเมืองและในกรุง

(๒) เด็กที่พ่อแม่ยากจน แม้จะมีสมองดี จบประถม ๔ แล้ว ก็ต้องกลับไปทำไร่ไถนากับพ่อแม่ต่อไป เว้นแต่สมองดีจริงๆ และมีระบบช่วยผ่อนเบาเช่นให้ทุนการศึกษาเป็นต้น จึงช่วยได้บ้าง (แต่น้อยอย่างยิ่ง) ส่วนที่ไปทำไร่ไถนา บางทีไม่นานก็ลืมหนังสือหมด

(๓) เด็กที่ได้เข้าไปเรียนต่อในเมืองและในกรุง เมื่อออกมาแล้ว ก็ออกจากชุมชนนั้นไปเลย มุ่งหน้าไปรับราชการหรือประกอบอาชีพชั้นสูงในเมืองหลวง ไม่กลับมาเหลียวแลรับผิดชอบชุมชนของตนอีก หรือแม้ถ้ามีเหตุให้ต้องกลับมาทำงานในถิ่นนั้นอีก ก็มักเข้ากับท้องถิ่นนั้นไม่ได้ดี เพราะการศึกษาในระหว่างนั้นได้ทำให้เขากลายเป็นคนในสังคมอื่นไปแล้ว

การศึกษาขึ้นไประดับสูง คนยิ่งเสียความเสมอภาค

ค. การศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย เป็นที่มุ่งหมายของทุกคนที่แสวงความก้าวหน้าในการศึกษาและในชีวิต เพราะหมายถึงฐานะทางเศรษฐกิจและทางสังคมทุกประการ แต่เมื่อโอกาสในการได้รับการศึกษาเปิดกว้างแก่ผู้มีฐานะเศรษฐกิจดี และผู้อยู่ในเมืองหรือในกรุง และปิดหรือแคบสำหรับผู้ยากจนและอยู่ในถิ่นห่างไกล จำนวนผู้มีโอกาสเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยปัจจุบัน จึงปรากฏเป็นสถิติที่ขัดตรงข้ามกับสถิติประชากรของประเทศ

ที่ว่านี้คือ ทั้งที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในชนบท และเป็นชาวไร่ชาวนาประมาณร้อยละ ๗๕-๘๐ แต่สถิตินิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมีลูกชาวไร่ชาวนาอยู่ไม่เกินร้อยละ ๖ นิสิตนักศึกษาส่วนมากกลับเป็นคนในเมืองและอยู่ในตระกูลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี

โอกาสในการศึกษา ย่อมหมายถึงโอกาสแห่งฐานะในสังคมด้วย เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ คนมีฐานะเศรษฐกิจดีอยู่แล้ว มีฐานะทางสังคมดีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย ก็จะยิ่งกลายเป็นผู้ผูกขาดการศึกษาขั้นสูง และกุมฐานะทางสังคมมากยิ่งขึ้น คนชนบทยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ก็จะยิ่งหมดโอกาสลงไปโดยลำดับ และการลงทุนของรัฐทางด้านการศึกษา ก็กลายเป็นการลงทุนเพื่อคนที่มีโอกาสเหนือกว่าและได้เปรียบอยู่แล้ว

ผลเสียที่เกิดจากผลที่ปรากฏเหล่านั้น นอกจากในด้านที่เป็นเรื่องของคณะสงฆ์โดยตรงแล้ว ยังมีดังนี้

(๑) ในท้องถิ่นกันดารห่างไกล ที่รัฐยังให้การศึกษาไม่ถึง เมื่อรัฐแยกเอาการศึกษามาจัดทำเองสิ้นเชิงแล้ว การศึกษาในระบบเก่า ทั้งไม่ได้รับการเอาใจใส่ด้วย ทั้งไม่รู้สึกว่าเป็นการศึกษาด้วย ก็เลยพลอยเสื่อมลงไปด้วย หรืออย่างน้อยก็ไม่อำนวยประโยชน์ที่ควรจะได้ เป็นการเสียสองชั้น

(๒) การศึกษากลายเป็นเครื่องมือแยกคนออกจากชุมชน โดยทำให้คนมีโอกาสดีกว่า ถูกแยกหรือแยกตัวออกมาจากชุมชนนั้นๆ กลายเป็นสิ่งที่ไม่สนองความต้องการของสังคม ทั้งในแง่ผลผลิต คือคน (พอจะมีความสามารถ ก็ออกจากชุมชนไปเสีย) และในแง่เนื้อหา (เช่น ถึงกลับมาอยู่ชุมชนนั้น ก็มักเข้ากับถิ่นไม่ค่อยได้)

การศึกษาในชุมชนนั้น ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของชุมชนเอง ไม่ได้ผลิตคนมีความสามารถเอาไว้ช่วยปรับปรุงชุมชน

เมื่อคนข้างในที่พอจะช่วยปรับปรุงชุมชนได้ ออกไปหมด ชุมชนนั้นก็อยู่ในสภาพที่ถูกทอดทิ้ง ให้ดิ้นรนต่อสู้ไปตามลำพัง และจะกลับยิ่งอ่อนเปลี้ยลง เพราะทรัพยากรคนถูกขุดเอาไปใช้ที่อื่นหมด

ประชาธิปไตยมา คนจนยิ่งด้อยโอกาสในการศึกษา

(๓) การศึกษากลายเป็นเครื่องมือแบ่งแยกชนชั้นของคนให้ห่างกันยิ่งขึ้น กลายเป็นว่า ตั้งแต่เรามีระบบประชาธิปไตยมา คนจนยิ่งมีโอกาสได้รับการศึกษาน้อยลงโดยลำดับ และทำให้คนมีฐานะดี ได้รับการศึกษามากขึ้น

ระบบประชาธิปไตยเท่าที่เป็นมา เลยดูเหมือนว่าจะทำให้คนแบ่งแยกชนชั้นมากขึ้น ทำให้คนมั่งมีห่างคนจนมากยิ่งขึ้น ช่องว่างห่างไกลกันมากขึ้น ทั้งที่ในสังคมเดิม จะเป็นสังคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือศักดินาก็ตาม คนยังมีโอกาสได้รับการศึกษาเท่าเทียมกันมากกว่า

ที่กล่าวมานี้ มิใช่หมายความว่าระบบการศึกษาอย่างเดียวที่ทำให้เกิดผลเสียเหล่านี้ แต่ระบบทางสังคมอย่างอื่นๆ ก็มีส่วนด้วย แต่ในที่นี้จะพูดปัญหาเกี่ยวกับสถาบันสงฆ์ จึงขอข้ามเรื่องนั้นไปก่อน

๓. ในฝ่ายสถาบันสงฆ์ เมื่อรัฐแยกเอาการศึกษาสำหรับประชาชนไปจัดดำเนินการเองฝ่ายเดียวแล้ว การศึกษาในวัดและสำหรับพระสงฆ์ ก็ถูกปล่อยขาดไปให้เป็นเรื่องของสถาบันสงฆ์จัดดำเนินการโดยลำพัง ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐ และไม่จัดเข้าเป็นส่วนใดในโครงการหรือแผนการศึกษาใดๆ ของรัฐ เป็นเพียงการสืบต่อสิ่งที่มีมาตามประเพณี

ในเมื่อเป็นเพียงการสืบต่อประเพณี ก็ย่อมกลายเป็นสิ่งเลื่อนลอย และอ่อนกำลังลงโดยลำดับ เพราะเป็นการคงอยู่ที่เดิมในเมื่อสังคมได้เคลื่อนจากไปแล้ว ไม่สัมพันธ์กับสภาพชีวิตจริงในสังคมขณะนั้น ไม่มีพลังจูงความสนใจ และไม่อยู่ในวงความสนใจของคนส่วนใหญ่อีกต่อไป

แต่ทั้งที่มีความหมายน้อยสำหรับสังคมส่วนใหญ่เช่นนี้ อาศัยบทบาทตามประเพณีที่ยังคงอยู่ และสืบต่อไว้อย่างเป็นไปเอง สถาบันสงฆ์ก็ยังมีคุณค่าอย่างสำคัญต่อสังคมปัจจุบัน โดยมีข้อควรสังเกต ดังนี้

(๑) ในสังคมเดิม คนทุกระดับฐานะและความสามารถ เข้ามาสู่สถาบันสงฆ์คือวัดในชุมชนนั้นๆ ผู้มีความสามารถดี ก็กลายเป็นผู้นำช่วยชุมชนนั้นได้

แต่ในระบบสังคมใหม่ คนมีโอกาสดี มีความสามารถดี แยกตัวจากชุมชนนั้นไปเสีย เหลือแต่ผู้ด้อยฐานะเข้ามา ถึงแม้บางคนจะมีความสามารถ แต่ก็เข้ามาสู่ระบบที่รัฐไม่ใส่ใจเสียแล้ว สถาบันสงฆ์ของชุมชนนั้นจึงไม่มีสภาพดีไป กว่าตัวชุมชนนั้นเองเท่าใด

ในกรณีนี้ ย่อมไม่อาจหวังให้สถาบันสงฆ์ช่วยเหลืออะไรสังคมได้มาก แต่ควรกล่าวว่าถูกทอดทิ้งให้เผชิญชะตากรรมร่วมอยู่กับชุมชนนั้นเองมากกว่า

ผู้ที่ควรจะช่วยชุมชนนั้นได้ คือผู้มีโอกาสมีความสามารถดีกว่า นอกจากไม่เข้าสู่สถาบันสงฆ์แล้ว ยังออกจากชุมชนนั้นไป และไม่กลับเข้ามาเสียอีก

คนที่ได้รับการศึกษาดีทั้งหลาย ทั้งที่ออกมาจากชุมชนนั้นเอง และที่อยู่ในสังคมโดยทั่วไปต่างหาก ที่ควรถูกกล่าวหาว่าไม่รับผิดชอบต่อสังคมของตน และควรเข้าไปช่วยชุมชนนั้นให้มองเห็นทางปรับปรุงตัว

ทั้งนี้ อาจเริ่มด้วยการไปช่วยให้สถาบันสงฆ์เกิดความรู้ความเข้าใจ เพื่อช่วยแนะนำแก่ชุมชนนั้นต่อไป ก็ได้

(๒) เมื่อคนมีโอกาสเหนือกว่า แยกตัวออกจากชุมชน ไปศึกษาหาความก้าวหน้าในเมืองและในกรุงแล้ว คนที่ไม่มีโอกาส เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ยากจน ก็ถูกทอดทิ้งอยู่ในชุมชนนั้น กลับไปทำไร่ไถนา อย่างดีอาศัยประเพณีเก่าที่สืบต่อกันมาเองนั้น ก็ไปวัด หรือเด็กในท้องถิ่น ห่างไกลกันดาร ไม่ได้เล่าเรียนเลย ก็เหมือนกัน ก็อาจจะไปวัด พอให้ได้มีโอกาสศึกษาบ้างเล็กๆ น้อยๆ พอเห็นทางก้าวหน้าหรือเปลี่ยนแปลงในชีวิตบ้าง

ลูกคนมี ออกจากวัดและชุมชนนั้นไป ลูกคนจน ก็เข้าวัด วัดยังเป็นช่องทางมองเห็นความหวังได้บ้าง และเด็ก ยากจนที่เข้าวัดนั้น บางทีก็ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เพราะวัดมีการติดต่อถึงกัน พระในเมืองในกรุงก็ชาวชนบทเหมือนกัน เมื่อหัวดีพอจะเรียนได้ สมภารวัดบ้านนอกก็อาจฝากเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ มีทางเจริญก้าวหน้าในชีวิต และใช้สติปัญญาของตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บันทึกที่ ๑ ปัญหาเกี่ยวกับ คุณค่าของสถาบันสงฆ์ในสังคมปัจจุบัน (พิจารณาในแง่การศึกษา)— สภาพสถาบันสงฆ์ บอกสภาพชนบทไทย >>

เชิงอรรถ

  1. การมองภาพสถาบันสงฆ์ด้วยท่าทีที่ผิด เกิดจากการนำเอาภาพสถาบันนักบวชของประเทศตะวันตกเข้ามาเป็นแบบวัด ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนอีกหลายอย่าง

No Comments

Comments are closed.