บันทึกที่ ๔ ปัญหาเพราะ ระบบศักดินา หรือ เข้าไม่ถึงสังคมไทย

25 พฤศจิกายน 2517
เป็นตอนที่ 13 จาก 20 ตอนของ

บันทึกที่ ๔
ปัญหาเพราะ

ระบบศักดินา หรือ เข้าไม่ถึงสังคมไทย

ปัญหาเรื่องนี้ ยกขึ้นพิจารณา เพราะปัจจุบันมักมีการตำหนิติเตียนเกี่ยวกับความประพฤติของข้าราชการว่า ไม่เข้าถึงประชาชน เพราะติดในระบบศักดินา หรือระบบเจ้าขุนมูลนาย ที่สืบต่อมาจากสังคมไทยเดิม

ในที่นี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ตัวจริงอันเดิมของระบบศักดินาหาได้เป็นสาเหตุตรงของปัญหานี้ไม่ ระบบศักดินาเดิมนั้น เป็นแต่เพียงส่วนเอื้ออำนวยหรือสนองความต้องการของผู้ที่ต้องการเครื่องมือสำหรับแยกฐานะของตนออกจากราษฎรต่างหาก และความต้องการนี้ มีสาเหตุมาจากการไม่สามารถเข้าถึงประชาชน เพราะไม่เข้าใจประชาชนแท้จริง และไม่สามารถทำให้ประชาชนไว้วางใจในตนเองได้สนิท เรียกง่ายๆ ว่า ขาดความเป็นผู้นำที่แท้จริง

นี่คือ ในกรณีของสังคมปัจจุบันนี้ มิใช่ระบบศักดินาเป็นเหตุให้เข้าไม่ถึงราษฎร แต่กลายเป็นว่า เพราะไม่สามารถเข้าถึงราษฎร จึงยังต้องรักษาระบบศักดินาไว้ ต่างหาก การมัวแต่โทษระบบศักดินาอยู่ จะเป็นการจับจุดของปัญหาผิด และจะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะตัวปัญหาที่แท้มันอยู่ที่การเข้าถึงกันด้วยความเข้าใจและไว้วางใจกันต่างหาก

ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะมีการศึกษาที่สามารถสร้างบุคคลให้เข้าใจชุมชน เข้าใจประชาชน ทำตนให้ประชาชนมีศรัทธาได้ ไปเป็นข้าราชการ เป็นต้น

ฐานะของข้าราชการนั้น อยู่ในขั้นเป็นผู้นำของชุมชน เมื่อไม่สามารถสร้างความเป็นผู้นำแบบกัลยาณมิตรขึ้นแก่ตนได้ ก็ต้องหาทางรักษาฐานะศักดิ์ศรีของตนไว้ ด้วยความเป็นผู้นำแบบเจ้านาย คือการให้เขายอมรับอำนาจ และการแสดงออกที่ให้เห็นว่าสูงกว่า เหนือกว่า ถ้าแก้ปัญหาถูกจุดแล้ว ระบบศักดินาซึ่งตระหนักกันอยู่แล้วว่าต้องการจะเลิก ก็หมดไปเอง

แต่ถ้าแก้ไม่ถูกจุด ระบบศักดินาก็ไม่หมด ถึงจะโค่นล้มภาพที่ยึดกันไว้ว่าเป็นระบบศักดินาลงไป ก็คงจะต้องมีระบบศักดินาแบบใหม่ หรือระบบการแบ่งแยกฐานะในรูปใดรูปหนึ่งต่อไป

อย่างน้อยประชาชนก็ยังคงรู้สึกว่า ท่านเหล่านี้เป็นคนจากสังคมอื่นเข้ามา เมื่อไม่ใช่เจ้านาย ก็เป็นผู้เจริญแล้ว กับผู้ล้าหลัง ในสภาพเช่นนั้น จะทำได้อย่างดี ก็เพียงทำใจแข็ง ตั้งใจแน่วแน่ว่า จะไม่ยอมนำเอาระบบศักดินามาใช้เสริมฐานะของตน สู้ทนยอมลำบาก ปรับตัวเองทั้งที่ไม่พร้อม

แต่การปรับตัวอย่างนี้ หาใช่การปรับตัวที่แท้จริงไม่ เพราะเมื่อไม่ได้ทำด้วยความรู้ความเข้าใจเข้ากันได้เองจริงๆ อย่างเป็นธรรมชาติ ก็เป็นได้เพียงการฝืนใจตนเอง หรือการถูกกดดันจากภายนอก ทำให้เกิดปัญหาใหม่ซ้อนเข้ามา กลายเป็นการเสแสร้งหรือมิฉะนั้นก็เกิดปมด้อย ไม่ได้ผลดีตามความมุ่งหมาย

การโฆษณากล่าวคติสั่งสอนข้าราชการแบบข่มลงว่า เป็นผู้รับใช้ประชาชน ก็จัดเข้าในวิธีการแบบนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่ต้องระวัง ถ้าไม่ทำให้สบายใจกับความหมายของคำ ก็จะเป็นวิธีที่ฝืนความรู้สึก และบางทีแฝงด้วยความรู้สึกแก้แค้น ยากที่จะให้ได้ผลดีทางจิตใจ และในทางปฏิบัติ

ทางที่ถูกควรจะศึกษาความหมายของคำว่า “รับใช้” และความรู้สึกต่อความหมายของคำนี้ให้ดีเสียก่อน ไม่ใช่จะต้องลอกเลียนศัพท์คล้ายจากภาษาอื่นมาใช้เสมอไป เพราะความหมายกับความรู้สึก บางทีก็ร่วมกันไปไม่ได้

ไหนๆ จะปรับปรุงสังคมใหม่กันแล้ว ก็ไม่ต้องมากลับทาสเป็นนาย กลับนายเป็นทาสหรอก มาเป็นกัลยาณมิตรช่วยเหลือกัน จะได้ผลดีกว่า ทั้งในทางจิตใจ และในทางปฏิบัติ

การโทษระบบศักดินานั้น จะพลอยทำให้เห็นไปว่า นักวิชาการสมัยใหม่ที่ว่าเต็มไปด้วยสำนึกในความรับผิดชอบทางสังคม ก็ยังชอบปัดความรับผิดชอบอยู่นั่นเอง

ความจริงนั้น ระบบศักดินาเป็นสิ่งที่ตกลงกันว่าเลิกแล้วด้วยซ้ำไป แต่มีปัญหาว่าทำไมจึงเลิกไม่ได้ เลิกไม่ได้เพราะยังไม่สามารถสร้างความเป็นผู้นำแบบที่ต้องการขึ้นมาแทนที่ ตัวแท้ของปัญหาจึงอยู่ที่การสร้างความเป็นผู้นำที่แท้จริง (ที่เรียกกันว่า แบบประชาธิปไตย) ซึ่งยังขาดอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน

ผู้นำที่ดีแบบที่ต้องการ ก็คือ ผู้ที่คนเขาอยากตาม หรือพร้อมที่จะตาม พูดอีกอย่างหนึ่งว่า เขายินดีที่จะให้มานำเขาไป

ความอยากตามหรือพร้อมที่จะตาม จะเกิดขึ้นได้ นอกจากอาศัยคุณสมบัติต่างๆ ของผู้ที่จะมานำแล้ว พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ ก็คือ ความรู้สึกไว้วางใจว่าเป็นมิตรกับเขา คือเป็นพวกเดียวกับเขา และมีใจจะร่วมจะช่วยกันกับเขา

ความรู้สึกนี้มีรากฐานสำคัญ ๒ อย่าง คือ ความรู้ กับ เจตนา ความรู้ คือ ร่วมรู้ร่วมเข้าใจอะไรๆ กับเขาเท่าที่จำเป็น เริ่มแต่เข้าใจชีวิต ความรู้สึกนึกคิดจิตใจ ตลอดจนปัญหาของเขา เจตนา คือ มีความตั้งใจจริง จริงใจ ให้เขาเห็นได้ว่าทำงานโดยมีความประสงค์ดี ปรารถนาดี ต้องการให้เขาประสบผลดี

เมื่อหันไปดูสภาพสังคมของชุมนุมชนชนบทส่วนที่อยู่กึ่งกลาง คือที่กำลังเริ่มเจริญ มีการศึกษาประมาณสักชั้นมัธยมตอนต้น ก็จะเริ่มมองเห็นต้นตอของปัญหาทันที

ระบบการศึกษา และระบบทางสังคมอย่างอื่นๆ ในปัจจุบันของเรา มิได้แยกคนออกจากชุมชนเฉพาะในด้านการดำเนินชีวิตที่พยายามไต่ไปหาความก้าวหน้ามีฐานะสูงในเมืองและในกรุง อย่างที่กล่าวในบันทึกที่ ๑ อย่างเดียวเท่านั้น แต่แยกออกไปหมดทั้งชีวิตทีเดียว

พอเริ่มเข้าเรียนในโรงเรียนแล้ว เด็กจะเริ่มรู้เรื่องไกลตัว ที่ทั้งตัวเขาเองและพ่อแม่พี่น้องรู้สึกว่าเป็นของสูงของวิเศษเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ยังอยู่ในชุมชนนั้น แต่ชีวิตของเขาจะห่างชุมชนนั้นออกไป หรือเขาจะห่างจากชีวิตของชุมชนนั้นออกไปทุกที เขาเป็นผู้มีการศึกษาสมัยใหม่ เป็นคนรู้จักความเจริญ เป็นคนวิเศษออกไปต่างจากชาวบ้าน ตัวเขาก็รู้สึกอย่างนั้น ชาวบ้านก็รู้สึกอย่างนั้น

เวลามีกิจกรรมตามประเพณีท้องถิ่นของชาวบ้าน เขาไม่ร่วมด้วย แทนที่จะยิ่งเรียนสูงแล้ว สามารถมาจัดมาร่วมกิจกรรมนั้นๆ ให้แข็งขันยิ่งขึ้น บางทีกลับรู้สึกอายที่จะมาร่วมหรือทำกิจกรรมนั้น กลัวจะทำให้เป็นคนล้าสมัย

ความอายบางทีเป็นเพราะปมด้อยด้านหนึ่ง คือตนเรียนสูงแล้ว แต่ห่างชีวิตถิ่นออกไป วางตัวไม่ถูกในกิจกรรมของถิ่น จึงไปเสริมปมเด่นในแง่เป็นผู้เจริญ มีการศึกษาสูง ทำให้เข้ากันไม่ได้ยิ่งขึ้น

เด็กนี้ หรือบุคคลนี้ ทั้งที่ตัวยังอยู่ในถิ่นนั้น ในชุมชนนั้น ก็ได้เริ่มเป็นบุคคลในสังคมอื่น ทั้งในความรู้สึกของตนเองและความรู้สึกของชาวบ้าน มีข้อดีที่ชวนให้เขารักษาฐานะนี้ไว้ด้วยซ้ำ คือ สังคมอื่นที่เขาสังกัดนั้น เป็นสังคมที่เจริญแล้ว ดีกว่าของชาวบ้านที่อยู่รอบตัว

เมื่อเขาเรียนสูงขึ้นไป กลับมาสู่ถิ่นนั้นอีกครั้งหนึ่ง (ไม่ต้องพูดถึงคนที่อยู่ในสังคมเมืองมาแต่ต้นแล้วถูกส่งมาทำงาน) ในฐานะผู้ได้รับการศึกษาแล้ว จะมาช่วยชุมชน จะเป็นข้าราชการ หรือเป็นอะไรก็ตามที ความเคอะๆ เขินๆ ความผิดหูผิดตา ความตื่นๆ ความรำคาญกัน ก็เป็นอันจะต้องมีขึ้น

สำหรับชาวบ้าน ย่อมรู้สึกต่อเขาในทางที่ดี คือรู้สึกในทางยกย่องเชิดชูว่า เป็นผู้มีวิชาความรู้ เป็นคนเจริญกว่าสูงกว่าพวกชาวบ้าน แต่ความรู้สึกว่าสูงหรือเทียบกันนี้ พ่วงมากับความต่างโดยประเภท คือสูงหรือดีกว่าในสิ่งที่ต่างไปจากชาวบ้าน หรือในเรื่องที่ต่างหากจากชาวบ้าน เริ่มตั้งแต่มาจากสังคมอื่น หรือระบบอื่นที่เจริญกว่า มีความรู้อย่างอื่นที่ชาวบ้านไม่มี สามารถสนองความต้องการบางอย่างที่ยังขาดอยู่ของชาวบ้าน ช่วยชาวบ้านให้ได้รับผลิตผลของความเจริญแบบใหม่ที่ยังไม่มีได้

เมื่อวิเคราะห์ออกไปจึงปรากฏว่า ความเชื่อถือหรือความนิยมนับถือของชาวบ้านที่มีต่อเขา เป็นความเชื่อถือในสิ่งที่เขามีต่างจากชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านยังไม่มี หรือมีไม่เท่าเขาเท่านั้น หาได้เกี่ยวเข้าไปถึงเรื่องที่เป็นเนื้อตัวชีวิตของชาวบ้านไม่

นอกจากนั้น ความรู้สึกที่ว่าเป็นผู้เจริญมาจากสังคมอื่น ก็เป็นฉากกั้นไม่ให้เข้าถึงกันสนิทอีกด้วย ในกรณีนี้ ถึงชาวบ้านจะมองเห็นเจตนาดีของเขา ความเป็นมิตรที่จะร่วมเดินทางก็ยังมีไม่พอ เป็นได้เพียงสื่อที่จะช่วยให้เขาได้สิ่งบางอย่างที่เขาต้องการ ซึ่งยังไม่มีในหมู่พวกเขาเท่านั้น นี่เป็นขั้นตอนหนึ่งของปัญหา คือการเริ่มต้นด้วยความเป็นคนที่ต่างสังคมกัน

ขั้นตอนที่สอง ซึ่งจะกล่าวต่อไป ก็มีความสำคัญอย่างมากเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ในการพัฒนานั้น ไม่เพียงแต่จะต้องการช่วยเหลือให้ประชาชนได้พบความเจริญประสบสิ่งที่ดีงามเท่านั้น แต่ต้องการช่วยเหลือประชาชนให้หลุดพ้นออกมาจากสิ่งที่ไม่ดี จูงเขาออกมาจากค่านิยม ความเชื่อถือ ความประพฤติปฏิบัติที่ผิดพลาด ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติที่จะสร้างสรรค์ความเจริญได้อย่างดีอีกด้วย

ปัญหาในขั้นตอนนี้ เป็นขั้นเข้าถึงเนื้อตัวชีวิตของชาวบ้านทีเดียว ในกรณีนี้ ชาวบ้านมีความเชื่อถือ ค่านิยม ความประพฤติปฏิบัติของเขาเองที่เขายึดถืออยู่ ซึ่งเขาถือว่าเขามีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี แต่นักวิชาการหรือปัญญาชน เป็นต้น ซึ่งมาจากภายนอก เห็นว่าสิ่งที่ชาวบ้านยึดถือเหล่านั้น ไม่ดี มีโทษ เป็นผลเสีย ต้องการให้เลิกยึดถือเสีย จุดบรรจบจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ประการแรก นักวิชาการ หรือปัญญาชน จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่ชาวบ้านเชื่อถือประพฤติปฏิบัตินั้นละเอียดชัดเจนยิ่งกว่าชาวบ้าน ถึงขนาดที่สามารถบอกได้ว่ามันผิดพลาดอย่างไร มีผลดีผลเสียอย่างไร

ประการที่สอง จะต้องสามารถชักจูงชาวบ้านให้เห็นตาม จนเชื่อ คือยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามผู้ชักจูง

ตามปกติ ถ้าได้ประการแรกแล้ว ประการหลังก็ตามมาไม่ยาก แต่เมื่อนำหลักการนี้มาตรวจสอบกับสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ดูเหมือนจะไม่ได้ความสบายใจเลย

เริ่มต้น ยกตัวอย่างเรื่องค่านิยมต่างๆ มีค่านิยมของชาวบ้านไทยหลายเรื่องที่นักวิชาการว่าไม่ดี ทำให้เกิดผลเสีย ขัดถ่วงการพัฒนา เช่น ค่านิยมเรื่องกรรม ค่านิยมเกี่ยวกับบุญ เป็นต้น

กล่าวได้ว่า นักวิชาการเหล่านั้น มีความรู้เกี่ยวกับค่านิยมเหล่านั้น ทั้งสามารถอธิบายให้เห็นชัดเจนว่าเกิดโทษ มีผลเสีย ขัดขวางความเจริญมากมายอย่างไร แต่ความรู้นั้นลึกซึ้งแค่ไหน และเพียงพอใช้ประโยชน์หรือไม่ ตอบว่ายังแค่ครึ่งๆ กลางๆ และเสี่ยงภัย เพราะเป็นความรู้ที่เรียนต่อมาจากชาวบ้าน คือรู้ตามที่ชาวบ้านรู้ เข้าใจยึดถืออยู่ พอสำหรับชี้แจงอธิบายสภาพที่เป็นอยู่ แต่ไม่พอที่จะใช้ประโยชน์ในงาน คือการแก้ไขปรับปรุงความเชื่อถือของชาวบ้าน

ขอเทียบให้เห็นง่ายๆ ด้วยเรื่องที่กำลังกล่าวขวัญกันมาก คือ ประชาธิปไตย

หลักการ และเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งอย่างไร นักวิชาการเข้าใจดี

ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ ๔๒ ปีแล้ว และก็ถือกันว่า ประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย ชาวบ้าน ชาวเมือง ชาวกรุง ตลอดจนชาวบ้านนอก ก็รู้เข้าใจกันว่าอย่างนั้น ทุกคนได้รับรู้จากการเผยแพร่โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง และมีภาพของความเป็นประชาธิปไตยไว้จำเพาะตน ตั้งแต่ละเอียดลึกซึ้ง เป็นนามธรรมวิชาการล้วนๆ ไปจนถึงพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การเดินขบวน การนัดหยุดงาน ตลอดจนภาพเล่มสมุดในพานรัฐธรรมนูญ

สำหรับชาวบ้านทั่วๆ ไป ถ้าไปถามความหมายของประชาธิปไตย ก็น่าจะได้เพียงชิ้นส่วนเล็กน้อย และอาจจะผิดพลาดของประชาธิปไตย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยอมรับกันว่าเขาเป็นคนในประเทศประชาธิปไตย

ในกรณีนี้ ย่อมไม่มีปัญญาชนใดที่จะวัดความหมายและคุณค่าของประชาธิปไตย เพียงด้วยพฤติกรรมหรือคำอธิบายของชาวบ้านทั่วๆ ไปในประเทศที่เพียงแต่ประกาศตนว่า ได้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยแล้ว จะใช้วินิจฉัยได้ก็เพียงกล่าวว่า เป็นสภาพความเข้าใจประชาธิปไตยของคนในประเทศนั้น และใช้เป็นฐานสำหรับแก้ไขปรับปรุงความเข้าใจต่อไปเท่านั้น

ในแง่ของพระพุทธศาสนา ก็เช่นเดียวกัน เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทประกาศคำสอนให้ศึกษา แล้วพิจารณาปฏิบัติ ไม่ใช่ศาสนาประเภทกำหนดข้อบังคับอันจะต้องเชื่อให้ปฏิบัติ หลักธรรมต่างๆ จึงต้องอาศัยการศึกษาให้เข้าใจ และการสืบต่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะต้องอาศัยระบบที่มีการตามให้การศึกษาอยู่เสมอ

ในกรณีนี้ ความเข้าใจและการปฏิบัติที่กระจายออกมาถึงระดับชาวบ้าน และที่ชาวบ้านเองนำสืบๆ กันมา โดยไม่มีผู้คอยตรวจสอบซักซ้อมให้ ย่อมมีโอกาสที่จะเหลืออยู่ในรูปที่เลือนราง หรือเป็นเพียงบางแง่บางส่วนของความเข้าใจที่สมบูรณ์ หลายเรื่องก็ถึงขั้นเพี้ยนไปไกลลิบลับ ถ้าศึกษาเพียงให้ทราบสภาพความเข้าใจของชาวบ้านเกี่ยวกับหลักธรรมนั้น ก็เรียนต่อจากชาวบ้านได้ เป็นการเพียงพอ แต่ถ้าจะทำการใดที่ยิ่งไปกว่านั้น หาพอไม่

สภาพที่เป็นอยู่ คือ ความรู้ของนักวิชาการเกี่ยวกับหลักธรรม ความเชื่อถือต่างๆ นั้น เป็นความรู้ที่ว่าไปตามชาวบ้าน หรือเรียนต่อจากชาวบ้านเท่านั้น พูดได้เพียงว่าชาวบ้านเชื่อถือปฏิบัติกันอย่างนี้ แต่ไม่สามารถพูดลึกลงไปถึงขั้นที่แยกได้ว่า พุทธศาสนาสอนว่าอย่างนี้ หลักความเชื่อเดิมแท้ในเรื่องนี้ มีดังนี้ แต่ที่ชาวบ้านได้เชื่อถือกันมาและปฏิบัติกันอยู่ เป็นอย่างนี้

แต่ตามที่ปรากฏ นักวิชาการมักพูดรวบเข้าเป็นอันเดียวกัน ชาวบ้านเชื่อถืออันใด หลักธรรมสอนไว้ ก็อันนั้น นับเป็นความผิดพลาดอย่างสำคัญ

แต่ที่เป็นข้อเสียหายในทางปฏิบัติก็คือ เรื่องกลายเป็นว่า นักวิชาการ ปัญญาชน หรือผู้ได้รับการศึกษาแล้ว มีความรู้ในเรื่องที่ชาวบ้านเชื่อถือประพฤติปฏิบัติ เพียงเท่าที่เรียนรู้รับฟังต่อจากชาวบ้าน ซึ่งหมายความด้วยว่า น้อยลงไปกว่าชาวบ้านเสียอีก ถ้าชาวบ้านรู้ผิดแล้ว ปัญญาชนจะรู้พลาดสักเพียงไหน เมื่อรู้น้อยกว่าเขา จะไปแนะนำแก้ไขเขาได้อย่างไร

จริงอยู่ นักวิชาการและผู้ที่จะเข้าไปแก้ปัญหานั้น อาจจะรู้วิชาการอื่นๆ มากมาย ซึ่งชาวบ้านไม่รู้เลย แต่ความรู้ที่ไม่สัมพันธ์กับปัญหา มิใช่เรื่องที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ในกิจนั้น หานับเป็นความรู้ในกรณีนี้ไม่

โดยสรุปคือ ไม่รู้สิ่งที่เป็นปัญหา หรือรู้ตัวปัญหาน้อยกว่าชาวบ้าน จึงว่าเป็นปัญหาจากความไม่รู้ของนักวิชาการหรือปัญญาชน

ในทางที่ควรนั้น ผู้ที่จะเข้าไปแก้ปัญหา แก้ไขปรับปรุงความเชื่อถือปฏิบัติของประชาชน ซึ่งเป็นขั้นเข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตจริงของเขา จะต้องรู้เข้าใจและทำได้อย่างเขา ร่วมกิจกรรมต่างๆ กับเขาได้ ซึ่งเป็นขั้นรู้เข้าใจชีวิตความรู้สึกนึกคิดจิตใจของเขา ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นมิตรสนิทกับเขาได้จริง และศึกษาให้รู้ลึกซึ้งจริงจังกว่าชาวบ้าน จนรู้ว่าความเชื่อถือ การประพฤติปฏิบัตินั้นมีมาอย่างไร มีการแปรรูปอย่างไร คลาดเคลื่อนผิดพลาดอย่างไร หลักที่ถูกคืออย่างไร

ถ้าสามารถพูดกับเขาได้หมดอย่างที่เขารู้ ทำได้หมดอย่างที่เขาทำ แล้วยังบอกต่อไปได้อีก เลยจากที่เขารู้ รู้ดีกว่าเขาในสิ่งที่เขารู้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของเขา ถึงขั้นนี้จึงจะเป็นขั้นที่เขายอมตาม เพราะเชื่อถือไว้วางใจสนิทแล้ว จะแก้ไขปรับปรุงจูงเขาได้ เขาจะทำตามเอง เรียกว่านำเขาออกมาได้

ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็ได้แค่โจมตีกัน บอกว่า ชาวบ้านถือค่านิยมผิดอย่างนั้นๆ ทำให้ไม่เจริญก้าวหน้า เหมือนตะโกนด่าว่าเขาจากคนละฝั่งแม่น้ำ จะให้เขากระโดดมาอยู่กับตัวได้อย่างไร แถมเข้าภาษิตว่า

อนฺโธ ยถา โชติมธิฏฺฐเหยฺย

ขาดตาปัญญาเสียแล้ว ก็เหมือนคนตาบอด
เหยียบลงไปได้ แม้กระทั่งไฟที่ส่องทาง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บันทึกที่ ๓ ปัญหาเกี่ยวกับ ค่านิยมคลาดเคลื่อนบันทึกที่ ๕ ปัญหาเกี่ยวกับ การสร้างรากฐานของความเจริญที่แท้ >>

No Comments

Comments are closed.